สังเกตกันไหมว่า…ใน 1 สัปดาห์ เรารับประทาน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” และ “อาหารแช่แข็ง – แช่เย็นสำเร็จรูป” (Frozen Food – Chilled Food) กี่มื้อ และอาหารพร้อมรับประทาน (Ready Meal) เหล่านี้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทย โดยเฉพาะคนเมืองได้อย่างไร ตั้งแต่เมื่อไร ?!?
MarketingOops! ชวนคุณผู้อ่านมาย้อนรอยต้นกำเนิด “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” และ “อาหารแช่แข็งสำเร็จรูป” รายแรกของโลก ซึ่งถือเป็น “นวัตกรรม” เพื่อมนุษยชาติก็ว่าได้ เพราะทุกวันนี้เข้าไปอยู่ในครัวเรือน และชีวิตประจำวันของคนทั่วโลก
พร้อมค้นคำตอบกันว่า “เมืองไทย” ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์อาหารการกินที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เจอร้านอาหาร โดยเฉพาะ “Street Food” แต่ผลจากค่าครองชีพขยับขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับคนไทยต้องการความสะดวกมากขึ้น ทำให้ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” และ “อาหารพร้อมรับประทาน” ที่ในอดีตเป็น “Niche Market” กลายเป็น “Mass Market” ที่ทุกวันนี้ได้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันคนไทย โดยแชร์ “อาหารมื้อหลัก” ในบางมื้อต่อหนึ่งสัปดาห์
“Nissin” – “Birds Eye” ผู้บุกเบิกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป – อาหารแช่แข็งรายแรกของโลก
ทั้ง “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” และ “อาหารแช่แข็ง-แช่เย็นสำเร็จรูป” ไม่ใช่นวัตกรรมอาหารที่ถือกำเนิดขึ้นในไทย แต่ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารทั้งสองอย่าง ได้กลายเป็น “อาหารมื้อหลัก” ของคนไทยในบางมื้อไปแล้ว แต่ก่อนจะลงรายละเอียด เราอยากพาไปย้อนรอยจุดกำเนิดของ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” และ “อาหารแช่แข็ง-แช่เย็น” ว่ามีที่มาอย่างไร กระทั่งทุกวันนี้เป็นนวัตกรรมอาหารของคนทั่วโลก…
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 “ประเทศญี่ปุ่น” ในเวลานั้นตกอยู่ในสภาวะยากแคลน อาหารการกินเป็นสิ่งหายาก และมีราคาแพง ทำให้ “มร.โมโมฟุกุ อันโด” (Momofuku Ando) ได้จุดประกายไอเดียหลังจากเห็นภรรยา นำบะหมี่สดไปทอดกรอบเพื่อเก็บไว้กิน เมื่อเห็นดังนั้น เขาจึงคิดต่อว่า หากนำบะหมี่กรอบ ไปใส่น้ำร้อน จะทำให้แปรเปลี่ยนเป็น “บะหมี่น้ำ”
มร.อันโด ไม่ให้ไอเดียนั้นเป็นเพียงแค่ความคิด เขาได้ลงมือพัฒนา และทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อให้ได้บะหมี่น้ำที่สามารถเก็บไว้ได้ กินที่ไหนก็ได้ ทำง่ายเพียงแค่เติมน้ำร้อน ในที่สุดได้ออกมาเป็น “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่” หรือ “Chicken Ramen” ที่ใช้เวลา 3 นาที ก็สามารถอิ่มอร่อยได้ พร้อมทั้งจัดตั้งบริษัท “Nissin Food Products” และเปิดตัวสู่ตลาดครั้งแรกในปี 1958
เพียงไม่นาน… “Chicken Ramen” ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นอย่างแพร่หลาย แต่ความฝันอันยิ่งใหญ่ของ “มร.อันโด” ไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะเขาต้องการให้ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” เป็นอาหารของชาวโลก ด้วยเหตุนี้เองในปี 1970 ได้ขยายธุรกิจออกนอกญี่ปุ่น โดยเลือกปักธงที่ “สหรัฐอเมริกา” เป็นประเทศแรก
กระทั่งในปี 1971 “มร.อันโด” ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในถ้วย” หรือ “Cup Noodles” ที่ออกแบบมาพร้อมกับ “ส้อม” ถือเป็นจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะด้วยแพ็คเกจจิ้งดีไซน์ ทำให้ผู้บริโภคทุกชนชาติ ที่แม้ไม่ได้ถนัดการใช้ตะเกียบ ก็สามารถบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ง่าย สะดวกทุกที่ ทุกเวลา
ทุกวันนี้ “Nissin Cup Noodle” เป็นอันดับ 1 ของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในญี่ปุ่น และจำหน่ายใน 80 ประเทศทั่วโลก
จากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป…มาต่อกันที่ “อาหารแช่แข็ง” อันที่จริงแล้วมนุษย์ได้ใช้วิธีแช่แข็งอาหารมาหลายพันปีแล้ว เพื่อเก็บรักษาอาหารไว้ได้นาน โดยชาวเอสกิโมที่ใช้กระบวนการทางธรรมชาติแช่แข็งปลา แต่สำหรับเทคโนโลยีอาหารแช่แข็ง ถูกคิดค้นขึ้นโดย “Clarence Birdseye” ในช่วงต้นทศวรรษ 1900 ระหว่างเดินทางผ่านทางตอนเหนือของแคนาดา เขาเห็นชาวเอสกิโม ได้ใช้น้ำแข็ง, ลม และอากาศแช่แข็งปลา ซึ่งวิธีการทางธรรมชาตินี้เรียกว่า “Flash Freezing” ที่ยังสามารถนำไปประยุกต์กับอาหารประเภทอื่นได้
หลังกลับจากอาร์กติก “Clarence Birdseye” ได้นำวิธีการดังกล่าว มาพัฒนาต่อยอด จนสามารถคิดค้นและจดสิทธิบัตร “Quick Freeze Machine” เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้อาหารแช่แข็งได้เร็วขึ้น โดยวัตถุดิบยังคงความสดใหม่ ซึ่งในเวลาต่อมาได้จัดตั้งบริษัทผลิต และสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง “Birds Eye”
นับจากนั้นมาได้ผลิตภัณฑ์ของ “Birds Eye” ได้เปลี่ยนวิถีการบริโภคของชาวอเมริกัน ที่หันมาซื้อผลิตภัณฑ์อาหารแข็งที่เก็บสะดวกไว้ได้นาน โดยในอเมริกาเกิดศัพท์คำว่า “TV Dinner” สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการกินการอยู่ของชาวอเมริกันอย่างชัดเจน นั่นคือ การนำอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานอุ่นไมโครเวฟ แล้วนำมานั่งหน้าจอทีวี พร้อมทั้งรับประทานไปด้วย ดูหนัง-ซีรีย์ หรือรายการบันเทิงต่างๆ ไปด้วย
“มาม่า” จาก Niche สู่ Mass ด้วยกลยุทธ์ตรึงราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้ถูกกว่า “Street Food”
พัฒนาการของ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ในไทยเริ่มต้นเมื่อกว่า 40 – 50 ปีก่อน แบรนด์แรกที่ทำตลาด คือ ซันวา ตามมาด้วยยำยำ, ไวไว และมาม่า โดยในช่วงแรกของการสร้างตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย ต้องใช้เวลาในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ประเภทนี้
ประกอบกับในยุคนั้น “ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ในไทย โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.50 บาทต่อซอง เมื่อเปรียบเทียบกับราคา Street Food ยอดนิยมของคนไทย เช่น ก๋วยเตี๋ยว ประมาณ 3 บาทต่อชาม ขณะเดียวกันในยุคนั้น ครอบครัวไทย ทำอาหารรับประทานเองเป็นหลัก
ทำให้สังคมไทยเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้วมองว่า “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย และเป็นความแปลกใหม่ที่สักครั้งหนึ่งในชีวิต อยากลิ้มชิมรสอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่เป็นสิ่งใหม่ของเมืองไทยในช่วงเวลานั้น (ไม่ได้ซื้อบริโภคบ่อยๆ หรือซื้อติดบ้านอย่างในทุกวันนี้)
จากยุคแรกของ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” มีราคาใกล้เคียงกับร้านอาหารข้างทาง ทำให้การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยอยู่ในวงจำกัด ถือเป็น Niche Market แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป “ค่าครองชีพ” ของคนไทยพุ่งสูงขึ้นทุกปี ส่งผลให้ราคา “Street Food” ต้องปรับราคาขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ และต้นทุนอื่นๆ เพิ่มขึ้น จากก๋วยเตี๋ยวชามละ 3 บาท ขยับขึ้นเป็น 5 บาท – 7 บาท – 10 บาท – 20 บาท – 25 บาท – 30 บาท กระทั่งปัจจุบันโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 40 – 50 บาทต่อชาม !!
ตรงกันข้ามกับ “ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” เวลาผ่านไปกว่า 40 ปี ปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยปัจจุบันราคาแบบซองเฉลี่ยอยู่ที่ 5 – 6 บาท เพราะด้วยการผลิตของแบรนด์ต่างๆ ที่ทำให้ได้ Economy of scale โดยเฉพาะ “มาม่า” ถือเป็นหัวขบวน หากไม่ปรับขึ้น แบรนด์คู่แข่งก็จะไม่ปรับขึ้นตาม
ถึงแม้ “มาม่า” ไม่ใช่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์แรกที่ทำตลาดในไทย แต่หัวใจสำคัญที่ทำให้ชื่อ “มาม่า” กลายเป็น Generic Name ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย และเป็นผู้นำตลาดที่ครองบัลลังค์แชมป์มายาวนาน ด้วยส่วนแบ่งการตลาดในปัจจุบัน 46% ประกอบด้วย
– ความได้เปรียบในฐานะที่เป็นแบรนด์ภายใต้ชายคา “กลุ่มสหพัฒน์” ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) รายใหญ่ในไทย จึงมีความพร้อมทั้งด้านเงินลงทุน และสรรพกำลังในการผลิตสินค้าได้จำนวนมาก ทำให้มี “Economy of scale” จึงสามารถตรึงราคาขายได้นาน
– ความแข็งแกร่งของระบบกระจายสินค้า โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายพันธมิตร “ยี่ปั๊ว” ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งต่อไปยัง “ซาปั๊ว” และกระจายเข้าสู่ “ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก” หรือที่เรียกกันว่า “ร้านโชห่วย”
– ผลักดันสินค้าเข้าสู่ “Modern Trade” ด้วยความที่เป็นสินค้ายอดขายดี กลุ่มสหพัฒน์ย่อมมีแต้มต่อในการผลักดัน “มาม่า” เข้าสู่ช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต เชนร้านสะดวกซื้อ
– นอกจากมีรสชาติขายดี เช่น ต้มยำกุ้ง, หมูสับ “มาม่า” ยังออกรสชาติใหม่ต่อเนื่อง เพื่อสร้างสีสันให้กับตลาด และสร้างความเคลื่อนไหวให้กับแบรนด์ ถ้ารสชาติไหนได้การตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี รสชาตินั้นจะถูกดันให้เป็นรสชาติหลักที่อยู่ไปตลอด พร้อมทั้งขยาย Sub-brand และ Product line ไปยังกลุ่มพรีเมียมมากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตด้าน Value จากที่ผ่านมาเติบโตจาก Volume เป็นหลัก
หรือแม้แต่ผู้ผลิตอื่น ไม่ว่าจะเป็น “ไวไว” “ยำยำ” และแบรนด์อื่น นอกจากรสชาติหลักแล้ว จะหารสชาติที่สร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ เพื่อทำให้แบรนด์มี Unique Selling Point และไม่ให้แบรนด์อยู่ภายใต้เงาของผู้นำตลาด
ผลจากกำลังการผลิตที่ได้ Economy of scale ประกอบกับกลยุทธ์การตลาด – การกระจายสินค้าเข้าถึงทุกช่องทางของ “มาม่า” และการออกสินค้าใหม่ต่อเนื่อง นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไม “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ในไทย ถึงเปลี่ยนจาก “Niche Market” ไปเป็น “Mass Market” ที่อยู่กับคนไทยทุกระดับชั้น – ทุกครัวเรือน และเป็น “อาหารมื้อหลัก” ของคนไทยในบางมื้อไปแล้ว
“อาหารแช่แข็ง – แช่เย็น” มื้อสะดวกใกล้ตัวคนไทย
เมื่อพูดถึง “อาหารแช่แข็ง และอาหารแช่เย็นพร้อมรับประทาน” (Ready to eat) ในทุกวันนี้ กลายเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี และอยู่ในชีวิตประจำวันไปแล้ว นี่เป็นพัฒนาการของตลาด Ready to eat หรือ Ready meal ในไทย ที่ก้าวข้ามจาก “Niche Market” ที่ในอดีตเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้วมี 2 ผู้ผลิตหลัก คือ “จิตรมาส” และ “เอสแอนด์พี” เพื่อรองรับพฤติกรรม TV Dinner แบบในต่างประเทศ โดยวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต
อย่างไรก็ตามด้วยโครงสร้างสังคมไทยเวลานั้น อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ส่วนใหญ่ทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน และเมืองไทยสามารถหาซื้ออาหารได้ง่าย เพราะวัฒนธรรม Street Food ฝังอยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน ทำให้ไม่ว่าจะไปไหนก็จะเจอร้านอาหารข้างทาง จึงง่ายและสะดวก
ขณะที่การเกิดขึ้นของ “อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน” ในไทยยุคแรก มาพร้อมกับ “ราคาจำหน่ายสูง” เมื่อเทียบกับร้าน Street Food อีกทั้งเป็นสิ่งใหม่ และคนไทยมองว่า “อาหารแช่แข็ง” ไม่สดใหม่เหมือนกับอาหารปรุงสดใหม่ๆ จึงต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนพฤติกรรม และทัศนคติของคนไทย
แต่แล้วในช่วง 10 ปีมานี้ จะสังเกตได้ว่า “อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน” (Frozen Food) และในเวลาต่อมามีในรูปแบบ “อาหารแช่เย็นพร้อมรับประทาน” (Chilled Food) เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันคนไทย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเมือง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ
– Urbanization หรือความเป็นสังคมเมืองเติบโต สร้างความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเมือง และวิถีชีวิตของคน โดย “คอนโดมิเนียม” กลายเป็นที่อยู่อาศัยหลักของคนในเมือง และคนแยกจากครอบครัวใหญ่ มาอยู่แบบ “ครอบครัวเดี่ยว” มากขึ้น โดยรูปแบบการอยู่อาศัย “Vertical Living” ที่ห้องครัวมีไมโครเวฟ เตาไฟฟ้า และตู้เย็น สำหรับทำอาหารง่ายๆ ไม่ซับซ้อน รวมทั้งสำหรับบริโภคอาหารแช่แข็ง – แช่เย็นสำเร็จรูป
ประกอบกับคนในยุคดิจิทัล มีไลฟ์สไตล์ On the go หรืออยู่นอกบ้าน มากกว่าในบ้าน อาหารการกินในระหว่างวัน จึงเน้นความสะดวก และรวดเร็ว ทำให้ “อาหารแช่แข็ง – แช่เย็น” ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนเมือง
– พัฒนาการของผลิตภัณฑ์อาหาร ที่เติมความหลากหลายของเมนู และรสชาติใกล้เคียงกับอาหารปรุงสด ในอดีตอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ไม่ได้มีหลากหลายเมนูดังเช่นทุกวันนี้ และรสชาติอาหาร – เนื้อสัมผัสมีความแตกต่างจากอาหารปรุงสด ส่งผลต่อทัศนคติของผู้บริโภคมองว่าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ไม่อร่อย ไม่สดใหม่
อย่างไรก็ตามด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีการผลิต ทำให้ปัจจุบันอาหารแช่แข็ง – แช่เย็นสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน หลากหลายประเภท ขณะเดียวกันรสชาติ และเนื้อสัมผัสใกล้เคียง หรือบางแบรนด์แทบไม่แตกต่างจากอาหารปรุงสด จึงสามารถทลายกำแพงทัศนคติของผู้บริโภคได้ในที่สุด
– ช่องทางการขายกระจายครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะการเติบโตอย่างรวดเร็วของ “เชนร้านสะดวกซื้อ” เปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ “อาหารแช่แข็ง – แช่เย็นสำเร็จรูป” เข้าไปเป็นหนึ่งในมื้อหลักของคนไทยมากขึ้น เนื่องจากในอดีตผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มนี้ จำหน่ายในช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ตตามห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้าที่ไม่ได้มีสาขากระจายเข้าถึงทุกตรอกซอกซอยอย่าง “ร้านสะดวกซื้อ” ในทุกวันนี้
เมื่อระบบการกระจายสินค้า ไม่ครอบคลุมมากพอ ทำให้โอกาสการผลักดันสินค้าถึงมือผู้บริโภคจึงน้อยตาม ขณะที่ปัจจุบัน “ร้านสะดวกซื้อ” กลายเป็น “Convenience Food Store” ของคนไทย โดยเฉพาะคนในเมืองตลอด 24 ชั่วโมงไปแล้ว
– ราคาจำหน่าย จาก “Premium” สู่ “Mass” ในยุคแรกของผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ราคาโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 70 – 100 บาท เมื่อเทียบกับรายได้ และค่าครองชีพยุคเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว จัดอยู่ในราคาสูง เป็นเซ็กเมนต์พรีเมียม
แต่แล้วในตลาดอาหารแช่แข็ง – แช่เย็นสำเร็จรูปยุคปัจจุบัน ผู้ผลิตที่ Dominate ตลาด คือ “กลุ่มซีพี” ทั้ง “ซีพีเอฟ” (CPF) ผลิตภายใต้แบรนด์ “ซีพี” เน้นเจาะตลาดกลาง – บน และ “ซีพีแรม” (CPRAM) ผลิตสินค้ากลุ่ม Ready Meal ภายใต้แบรนด์ “อีซี่โก” (EZYGO) ป้อนเข้า “เซเว่น อีเลฟเว่น” ทั่วไทย โดยเจาะตลาดแมส
ดังนั้น การกำหนดราคาขายของอีซี่โก รวมไปถึงแบรนด์ Ready Meal ของเชนร้านสะดวกซื้อรายอื่น จึงต้องนำ “ราคาร้านอาหารข้างทาง” มาเป็น Benchmark ในการกำหนดราคาขาย Ready Meal โดยใช้หลักต้องมีราคา “ถูกกว่า” หรือ “เท่ากับ” อาหารร้านข้างทาง โดยเฉลี่ยราคาอาหารแช่แข็ง – แช่เย็นพร้อมรับประทานของเชนร้านสะดวกซื้อ ในปัจจุบันเริ่มต้นที่ 29 – 50 บาท
“ราคาจำหน่าย” มีผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเป้าหมายหลักของ Reddy Meal สำเร็จรูปเหล่านี้ ต้องการเข้าไปแชร์ตลาด Street Food ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหารในไทย ในขณะที่ราคา “Street Food” นับวันมีแต่จะขยับขึ้นเรื่อยๆ !!
“แนวโน้ม Urbanization เข้ามาเปลี่ยนชีวิตคนในเมืองไปมาก จากสมัยก่อนคนอยู่บ้าน แต่ปัจจุบันคนหันมาซื้อคอนโดมิเนียมในเมือง ส่งผลให้ครอบครัวเล็กลง ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ทำอาหาร ทำให้ตลาด Ready Meal เป็นที่นิยม ขณะที่ “Street Food” ราคาแพงขึ้น ส่วน Ready Meal ไม่ปรับราคาขึ้น ทำให้ช่องว่างราคาระหว่าง “Street Food” กับ “Ready Meal” ใกล้เคียงกัน อีกทั้งคนต้องการอาหารสะอาด สะดวก และรสชาติที่เสถียร” คุณวิทวัส ตันติเวสส รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านการตลาดกลาง ซีพีเอฟ ฉายภาพแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคไทย
ทั้ง “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” และ “อาหารแช่แข็ง – แช่เย็นสำเร็จรูป” ไม่ได้เข้ามาเป็น “อาหารมื้อหลัก” ของคนไทยในทุกมื้อก็ตาม แต่แค่สามารถแชร์ตลาด Street Food เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกมื้อหลักของคนไทย เพียง 1 – 2 มื้อต่อวัน หรือประมาณ 10 มื้อหลักต่อสัปดาห์ ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว !!
Source : ประวัติ Nissin 1, 2, 3
Source : ประวัติ Birds Eye 1, 2