ทุกภาคส่วนร่วมชี้ชะตา! ‘กัญชาไทย’ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต!

  • 93
  •  
  •  
  •  
  •  

ลั่นกลองรบและจบลงไปแล้วอย่างสวยงามสำหรับ Greenovation Cannabis Conference งานประชุมวิชาการด้านกัญชาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่จัดโดยสถาบันกรีนโนเวชั่น (Greenovation Institute) เปิดพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้ครั้งยิ่งใหญ่นับตั้งแต่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย จากผู้เชี่ยวชาญจากทุกสาขา ตั้งแต่ผู้ขับเคลื่อนนโยบายจากภาครัฐ ผู้ลงทุนทำธุรกิจภาคเอกชน ไปจนถึงนักวิชาการด้านกฎหมาย วิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ สังคมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวของกับกัญชา โดยภายในงาน มีประเด็นที่น่าสนใจติดตาม เพื่อเปิดสายตาให้ได้จับจ้องมองหาโอกาสใน ‘อุตสาหกรรมกัญชาไทย’ อยู่มากมาย

‘กัญชา’ ต้นแบบการบริหารจัดการพืชเศรษฐกิจยุคใหม่

พลเดช อนันชัย ผู้อำนวยการสถาบันกรีนโนเวชั่น ในฐานะผู้จัดการประชุมครั้งนี้ กล่าวถึงเป้าหมายและภารกิจของการกำเนิดสถาบันว่า “สถาบันกรีนโนเวชั่น มีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมกัญชาพัฒนาประเทศไทยได้จริงๆ ผ่านการทำงานใน 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายวิชาการ (Academics) ซึ่งมุ่งมั่นเผยแพร่ความรู้เชิงวิชาการผ่านการจัดงานประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Conference) และจัดทำหลักสูตรระดับประกาศนียบัตร (Certificate) และปริญญาโท-เอก (High Degree) ด้านกัญชาทางการแพทย์ร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้คนไทยทุกภาคส่วนได้เข้าใจและเข้าถึงอุตสาหกรรมนี้

ฝ่ายบ่มเพาะธุรกิจ (Incubator) ที่จะมีบริการให้คำปรึกษา (Consulting) กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน และการจัดการศูนย์วิจัย (Research Center) ของหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สามารถให้บริการเช่าห้องทดลอง เช่น ห้องทดลองเพาะปลูก (Co-Farming Space) และห้องทดลองสกัด (Co-Extracting Space) เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำงานวิจัยได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณสูง และฝ่ายกองทุนเงินร่วมลงทุน (Venture Capital Fund) ซึ่งจะช่วยบริหารเงินจากนักลงทุนให้อุตสาหกรรมนี้ได้งอกเงยและเติบโตอย่างยั่งยืน”

10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่แคลิฟอร์เนีย

“รายงานปี 2561 มูลค่าอุตสาหกรรมกัญชาที่แคลิฟอร์เนีย มูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มเติบโตเป็นเท่าตัวในปีนี้ เทรนด์จะที่เกิดขึ้นในเมืองไทยน่าจะมีความคล้ายคลึงกัน โดยในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาของการลงทุน ซึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกให้ได้วัตถุดิบ กับธุรกิจด้านการวิจัยไบโอเทค ซึ่งสามารถก้าวสู่การเป็นเจ้าของสิทธิบัตรนวัตกรรม ที่มีอำนาจในการกุมราคาสินค้า ส่วนธุรกิจข้างเคียงที่ได้อานิสสงค์ ก็ได้แก่ ธุรกิจเหล้าเบียร์บุหรี่ ที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ซึ่งมีแนวโน้มที่จะนำสารสกัดไปใช้เป็นรายแรกๆ เช่นเดียวกับธุรกิจสุขภาพที่จะนำไปใช้ในการรักษาโรคต่างๆ” นิรันดร์ ประวิทย์ธนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอวา แอดไวเซอรี่ ฮ่องกง จำกัด (AVA Advisory) ผู้พัฒนานวัตกรรมแพลตฟอร์มด้านการลงทุน กล่าว

สำคัญกว่าเปลี่ยนกฎหมาย คือเปลี่ยนวัฒนธรรมการใช้กัญชา

ทนายความตฤณ แก่นหิรัญ กรรมการบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์ ให้มุมมองเชิงกฎหมายต่อกัญชา อยู่ภายใต้ยาเสพติดให้โทษปี 2522 ว่า “ไม่เพียงแค่ตัวกฎหมายเท่านั้นที่ต้องมีการแก้ไขเพื่อรองรับกัญชาที่จะก้าวสู่พืชเศรษฐกิจนี้ ความรู้ความเข้าใจต่างหากที่เป็นสิ่งแรกที่เราต้องให้ความสำคัญ เราต้องเปลี่ยนสิ่งนี้ซะก่อน กฎหมายถึงจะเปลี่ยนตามเรา กัญชาก็เหมือนยา เราต้องใช้ให้พอดี หากเราใช้มากไปก็เปรียบเสมือนการใช้ยาเกินขนาด กฎหมายก็เช่นกัน…หากว่าเราเร่งมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดช่องโหว่ทั้งกับผู้ใช้และตัวผู้ออกกฎหมายเอง แต่การปิดกั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ควร เพราะฉะนั้น เราจึงต้องให้ความรู้ ความเข้าใจให้มันถูกต้อง ให้คนรู้ว่ากัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์แค่ไหนมากกว่า”

สังคมปลอดภัยลึก…ถึงระดับดีเอ็นเอ (DNA)

ผ.ศ.ดร. ศรีเมฆ ชาวโพงพาง ผู้เชี่ยวชาญเทคนิคอาวุโส ธนาคารทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีด้านพันธุศาสตร์ปัจจุบัน สามารถเติมสารพันธุกรรมบางอย่างลงไปได้ลึกถึงระดับดีเอ็นเอ โดยไม่ก่อให้หเกิดการกลายพันธุ์ เพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะให้กัญชาของแต่ละแหล่งผลิต ในกรณีที่มีการปลูกโดยไม่ได้รับอนุญาต สามารถตรวจสอบกลับไปยังแหล่งต้นกำเนิดของกัญชาแต่ละต้น ว่ามาจากแหล่งใด ซึ่งจะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างความปลอดภัยให้กับสังคมยิ่งขึ้น”

“กัญชาในยาแผนไทย รักษาโรคได้จริง”

นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้พูดถึง “กัญชารักษาโรค แนวทางการวิจัยพัฒนาและทดลองใช้กัญชาในการรักษาผู้ป่วยในประเทศไทย” ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ระบุให้กัญชา สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และการศึกษาวิจัยได้ โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ จึงได้ทำการศึกษาค้นคว้าการใช้ประโยชน์จากกัญชามากขึ้น เพื่อนำมาพัฒนาและนำมาเป็นส่วนประกอบในยาแผนไทย และได้กล่าวถึง ตำรับยาโอสถพระนารายณ์ ตำรับยาแผนโบราณที่มีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีสรรพคุณ แก้อาการปวดเมื่อย กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นผิดปกติ อัมพฤกษ์ อัมพาต และนำมาพัฒนาและใช้ประโยชน์ได้จริงในปัจจุบัน เนื่องจากกัญชามีสรรพคุณหลายอย่างในการรักษาโรค และมีส่วนช่วยในการรักษาอาการปวดเมื่อยได้

กัญชาพัฒนาประเทศกับจุดยืนนักการเมืองรุ่นใหม่

ไฮไลท์สำคัญของการประชุมในครั้งนี้ คือวงเสวนาพิเศษที่ได้รับเกียรติจากบรรดานักการเมืองรุ่นใหม่ ได้ขึ้นมาแสดงจุดยืนทางวิสัยทัศน์ส่วนตัวต่อกัญชา โดย ดร.ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “พืชพรรณที่จะเลือกมาส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรเพาะปลูกให้ได้ดีและมีความอยู่ดีกินดี จำเป็นจะต้องเลือกสรรและทำการศึกษาเกี่ยวกับพืชชนิดนั้นๆ ให้ได้อย่างครบถ้วนทุกมิติ ทั้งข้อดีข้อเสีย ในกรณีของกัญชานับเป็นต้นแบบของพืชเกษตรยุคใหม่ที่สามารถยกระดับไปสู่การเกิดศูนย์วิจัยเฉพาะทางในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ ให้ประเทศไทยได้เป็นผู้กำหนดมาตรฐานในระดับนานาชาติ ส่วนนี้จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมกัญชาไทยเกิดความยั่งยืน รายได้ที่ยั่งยืนแก่พี่น้องชาวไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้”

เท่าภิพภ ลิ้มจิตรกร สมาชิสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า “ควรศึกษาว่าเมื่อมีการปลดล็อกกฎหมายกัญชาแล้วจะมีผลต่อสังคมอย่างไร นำเอาวิธีการแซนด์บ็อกซ์ (Sand Box) มาใช้ ในพื้นที่ใด้พื้นที่หนึ่ง อำเภอหรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง เพื่อดูว่าเมื่อเกิดการบังคับใช้กฎหมายแล้ว จะส่งผลอย่างไรต่อพื้นที่นั้นๆ เช่น มีอาชญากรรมหรือการทำผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นหรือลดลง รายได้ต่อหัวของประชากรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายอย่าถ้วนหน้าทั่วประเทศ ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังคือกฎหมายต้องไม่เอื้อประโยชน์ให้ใครคนใดคนหนึ่ง ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง นอกเหนือจากผลักดันให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว การใช้กัญชาเชิงสันทนาการก็น่าสนใจ แต่ต้องมีการควบคุมและการบังคับใช้กฎหมายที่เฉียบขาด”

สื่อร่วมสร้างสรรค์วัฒนธรรมแห่งความจริง

ดร.อภิวัฒน์ จ่าตา ผู้อำนวยการสำนักข่าว Ganja TV กล่าวว่า “กัญชาเป็นพืชที่อยู่คู่ไทยมานานแล้ว เป็นพืชที่คนไทยมีความคุ้นเคย และมีหลากหลายพันธุ์ขึ้นอยู่ตามแหล่งกำเนิด ทั้งที่ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2522 ก็มีการนำมาปรุงร่วมกับตำรับยา ก่อนที่จะมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมเสียอีก เรื่องสันทนาการเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ซึ่งกัญชาแท้จริงแล้วสามารถรักษาโรคได้มากมายกว่าที่เราคิด ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สกัดได้เป็นทั้งยารักษาโรค รวมไปถึงยาบำรุง ถ้าเราสามารถนำกัญชามาสกัดเป็นยาได้อย่างถูกกฎหมาย ประเทศไทยจะสามารถรักษาคนเจ็บป่วยได้อีกเยอะเลยทีเดียว

ในฐานะที่เป็นอดีตสื่อมวลชนด้านการเกษตร และทำสื่อที่เจาะประเด็นเรื่องกัญชาโดยเฉพาะ คงต้องบอกว่าวันนี้บทบาทของสื่อมวลชนสำคัญมาก โดยเฉพาะกับการสร้างวัฒนธรรมการนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน ให้ข้อเท็จจริง ทั้งคุณ ทั้งโทษ ไม่ใช่เอาแต่นำเสนอให้กัญชาดูเป็นผู้ร้ายหรือพระเอกอย่างใดอย่างหนึ่งเสียทีเดียว”

การประชุมวิชาการครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังการเปิดเผยโดย พล.ต. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นจากกระทรวงอื่นๆ นับเป็นการส่งสัญญาณจากภาครัฐที่น่าจับตามอง ต่อ ‘กัญชา’ พืชที่เป็นทั้งความหวังและความกังวลจากหลายฝ่าย หลังประเทศไทยได้ก้าวสู่การเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการปลดล็อกกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา


  • 93
  •  
  •  
  •  
  •