ตอนนี้ธุรกิจให้บริการ Video On Demand (VOD) ต้องยอมรับว่า แรงมาก ๆ อย่างในไทยเองเราจะเห็นการรุกตลาดอย่างหนักของผู้เล่นทั้งจากระดับโลกและในประเทศ อาทิ Netflix , iflix , LINE TV , MONO MAX ฯลฯ ที่ต่างงัดหมัดเด็ดมาดึงฐานแฟน ๆ ทั้งคอนเทนท์ และทำโปรโมชั่น
แอลฟาบีตา (AlphaBeta) บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และเศรษฐศาสตร์ ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาหัวข้อ เอเชีย ออน ดีมานด์: การเติบโตของการลงทุนในอุตสาหกรรมบันเทิงท้องถิ่นโดยผู้ให้บริการวิดีโอออนดีมานด์ (Asia-On-Demand: The Growth of Video-on-demand Investment in Local Entertainment Industries) โดยเสนอข้อมูลสำคัญ 7 เรื่อง ได้แก่
1. คาดว่า การลงทุนในบริการ VOD ในเอเชีย จะสูงถึง 10.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี พ.ศ. 2565 โดยผู้ให้บริการ VOD มีการใช้จ่ายทั่วโลกราว 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2560 ขณะที่ในเอเชียมีมูลค่าราว 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และจากการศึกษาเชื่อว่า การใช้จ่ายในเอเชียสามารถเพิ่มขึ้น 3.7 เท่าได้ภายในปีพ.ศ. 2565 ซึ่งงบประมาณดังกล่าวประมาณ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จะเป็นการลงทุนทางตรงโดยผู้ให้บริการ VOD ระดับโลก
2. ความต้องการคอนเทนต์ท้องถิ่นจะผลักดันการลงทุน เพราะจากการศึกษาครั้งนี้พบว่า ผู้ชมในเอเชียมีความต้องการรับชมคอนเทนต์ท้องถิ่นอย่างมาก และใช้เวลารับชมคอนเทนต์ท้องถิ่นเท่าๆ กับการรับชมคอนเทนต์จากต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า ผู้ชมที่จ่ายเงินค่าสมาชิกในเอเชียจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในระยะเวลา 5 ปี ดังนั้นผู้ให้บริการ VOD จึงต้องให้ความสำคัญกับการผลิตคอนเทนต์ท้องถิ่นคุณภาพสูงเพื่อดึงดูดสมาชิกใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิม
3. VOD ช่วยให้อุตสาหกรรมบันเทิงเอเชียเข้าถึงผู้ชมกว่า 450 ล้านคนทั่วโลกได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ซีรีส์เรื่อง เซเคร็ด เกมส์ (Sacred Game) จากอินเดียที่มีการรับชมออนไลน์จากมากกว่า 190 ประเทศ จึงเป็นโอกาสในการส่งออกอิทธิพลและความต้องการด้านวัฒนธรรมเอเชีย เช่น การท่องเที่ยว ฯลฯ
4. การลงทุนด้านคอนเทนต์โดยผู้ให้บริการ VOD จะมีแรงกระเพื่อมทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจมากกว่า 3 เท่าของเม็ดเงินลงทุน โดยการใช้จ่ายทางตรงภายในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการดำเนินงานหลักๆ เช่น อุปกรณ์ คมนาคมขนส่ง อาหารและการจัดเลี้ยง การตลาด ส่วนทางอ้อม อาทิ ซัพพลายเออร์ เช่น ค่าเลนส์ถ่ายภาพ อาหารและการจัดเลี้ยง ค่าเชื้อเพลิง เป็นต้น
5. ประโยชน์เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่มีต่ออุตสาหกรรมบันเทิงท้องถิ่น อาจมาในรูปของการสนับสนุนทางการเงินให้แก่ศูนย์กลางการผลิต การยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน การจัดจำหน่ายที่ถูกลง และความร่วมมือระดับโลก เพราะธุรกิจ VOD ไม่ได้นำมาแค่การใช้จ่ายด้านคอนเทนต์เท่านั้น ยังช่วยสร้างทักษะและการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกด้วย
6. ประเทศต่างๆ ในเอเชียมีโอกาสนำความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและสร้างสรรค์คุณค่าจากการผลิตคอนเทนต์ในส่วนต่างๆ กันในห่วงโซ่คุณค่า เช่น ด้านเทคนิคพิเศษด้านภาพ หรือการเป็นศูนย์กลางการผลิตคอนเทนต์ เป็นต้น
การผลิตคอนเทนต์เพื่อความบันเทิงเติบโตขึ้นทั่วโลก โดยผลงานหลายเรื่องได้ออกสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกมากขึ้น เช่น ภาพยนตร์เรื่อง เครซี่ ริช เอเชี่ยนส์ (Crazy Rich Asians) เป็นต้น ที่สร้างโอกาสให้กับประเทศต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในแต่ละส่วน เช่น มาเลเซียและไทยมีสตูดิโอตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือระดับโลกและมีการให้สิทธิพิเศษที่ดีในการดึงดูดผู้ผลิตคอนเทนต์จากต่างชาติ หรือสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางด้านเทคนิคพิเศษด้านภาพและแอนิเมชัน
7. มากกว่า 80% ของผู้บริหารบริการ VOD ระบุว่า บรรยากาศการลงทุนที่เป็นมิตร กฎระเบียบข้อบังคับอันเอื้อต่อการทำธุรกิจ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิตคอนเทนต์คุณภาพสูง คือปัจจัยสำคัญในการผลักดันการลงทุนด้านคอนเทนต์
“เนื่องจากบริการ VOD เพิ่งเริ่มไม่นาน ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากบริการนี้ในเอเชีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบันเทิง ยังได้รับความสนใจในวงจำกัด การศึกษานี้ จึงต้องการนำเสนอข้อเท็จจริงที่มีพื้นฐานจากศักยภาพในการสร้างคุณค่าของอุตสาหกรรมนี้ พร้อมระบุแนวทาง และข้อปฏิบัติเชิงนโยบายหลักๆ เพื่อช่วยให้ประเทศในเอเชียสร้างประโยชน์จากโอกาสนี้” คอนสแตนติน แมตตีส์ ผู้จัดการด้านเอ็นเกจเมนต์ ของแอลฟาบีตา กล่าว