ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดคำศัพท์ฮิตมากมายในโซเชียลมีเดีย แต่คงหนีไม่พ้นคำพูดติดปากที่พูดไปเรื่อยจนเกิดเป็นกระแสใหม่ ๆ ทั้งคำพูดที่ผู้คนนำมาใช้กันเองจนแพร่หลาย ไปจนถึงคำพูดจากเหล่าอินฟลูอินเซอร์หรือศิลปินชื่อดัง Wisesight ได้ทำการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 – 13 มกราคม 2568 พบว่ามีการพูดถึงคำศัพท์สุดฮิตโดยรวมกว่า 84,553 message ได้รับเอ็นเกจเมนต์รวมกว่า 20 ล้านครั้ง ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงมาก
วันที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดคือวันที่ 5 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันที่เกิดหลากหลายเหตุการณ์บนโลกออนไลน์ ทั้งโพสต์จากศิลปินและอินฟลูเอนเซอร์ เช่น Khunpol Busofficial, Prin Panissara, และ Tattoo Colour Band รวมถึงคอนเทนต์จากเหล่าแฟนคลับที่นำคำอวยพรปีใหม่ของบิวกิ้นและพีพีมาต่อยอดจนเกิดเป็นคอนเทนต์หลากหลายบนโซเชียลมีเดีย
ช่องทางที่พูดถึงกลุ่มคำศัพท์ฮิตเหล่านี้มากที่สุดคือ TikTok ที่ได้รับความนิยมไปมากถึง 8,311,761 engagement (42.77%) คิดเป็น 813 message โดยเนื้อหาส่วนใหญ่บน TikTok เป็นการเล่าถึงความรู้สึกท้อแท้ในชีวิตและการระบายเชิงตลกขบขันว่า ทำไมเรื่องร้าย ๆ มันถึงเกิดแต่กับเค้า สะท้อนผ่านคีย์เวิร์ด “เกิดแต่กับกู” ที่ได้รับความนิยมมากถึง 3.2M engagment เรามาดูกันว่า มีคำไหนที่น่าสนใจหรือว่าเป็นคำที่เราเคยใช้กันบ้าง
คำว่า “ชีเสิร์ฟ”
เมื่อสำรวจความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียพบว่า คีย์เวิร์ด “ชีเสิร์ฟ” ได้รับความนิยมมากถึง 6,345,737 engagement คิดเป็น 24,437 message และช่องทางที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือบน TikTok ที่พูดถึงมากกว่า 250 message หรือคิดเป็น 2,249,833 engagement เนื้อหาส่วนใหญ่ที่ถูกพูดถึงนั้นมาจากคอนเทนต์ “ขอให้ชีเสิร์ฟทั้งปี” ของศิลปิน บิวกิ้น พุฒิพงศ์ ซึ่งเหล่าแฟนคลับแซวกันอย่างสนุกสนานว่าเป็นคำอวยพรที่ไม่ได้มีความหมาย แต่ผู้พูดถือคติว่า “ขอพูดไปก่อน” นอกจากนี้ คลิปเดินแบบ Full Turn พร้อมแคปชั่น “ชีเสิร์ฟละ” ของคุณ โยชิ ก็ได้รับ engagement สูงไม่แพ้กัน ด้วยท่าเดินที่โดดเด่นและหุ่นที่จึ้งมาก จนคนบนโซเชียลต่างอดแซวกันว่า “ชีเสิร์ฟหนักมาก”
นอกจากนี้ เนื้อหาส่วนใหญ่ที่มาควบคู่กับ “ชีเสิร์ฟ” คือการชื่นชมว่ามันจึ้งมาก เริ่ด ทั้งจากการแสดงออกหรือการกระทำที่โดดเด่นจนดึงดูดสายตา สร้างความประทับใจ หรือทำออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมเสิร์ฟความปังให้คนบนโซเชียลได้ชมกันอย่างเต็มที่จริง ๆ
คำว่า “เกิดแต่กับกู”
ในขณะที่คีย์เวิร์ดที่ได้รับความนิยมต่อมาคือ “เกิดแต่กับกู” ได้รับความสนใจอย่างมากไม่แพ้กัน โดยคำนี้ได้รับความนิยมมากถึง 4,976,309 engagement คิดเป็น 24,437 message เนื้อหาส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดนี้มักมาในรูปแบบการตั้งคำถามในเชิงตัดพ้อ เช่น ‘ทำไมเหตุการณ์ร้าย ๆ มันถึงเกิดขึ้นแต่กับฉัน’ หรือการประชดประชันเชิงตลกขบขันว่า ‘ ให้มันเกิดขึ้นแต่กับฉันนี่แหละ’
จากคอนเทนต์ “เกิดแต่กับกู” นี้เอง สะท้อนให้เห็นว่าคนไทย แม้จะเผชิญกับเรื่องราวมากมายเพียงใด แต่ก็ยังคงใช้ความตลกและอารมณ์ขัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และการมองโลกในแง่บวกที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย
คำว่า “มันจะไอนั่น”
อีกหนึ่งคำที่ฮิตติดปากไม่แพ้กันคือ “มันจะไอนั่น” ที่ได้รับความนิยมมากถึง 2,963,091 engagement หรือคิดเป็น 14,857 message โดยคำนี้มักถูกใช้ในกลุ่มสาววายที่แสดงความเขินอายหรือฟินกับคู่จิ้น จนทำให้เกิดคอนเทนต์ที่กลายเป็นกระแสและติดเทรนด์บนโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย ซึ่งสุดท้ายแล้ว “ไอนั่น” ที่ถูกพูดถึงนั้นจะหมายถึงอะไร ก็ขึ้นอยู่กับจินตนาการและการตีความของเหล่าผู้อ่านเอง
คำว่า “เหยิน”
เป็นอีกคำที่มาจากเหล่าแฟนคลับที่จิ้นศิลปินจนเกิดเป็นไวรัลคือ “เหยิน” ที่ได้รับความนิยมมากถึง 2,499,656 engagement หรือคิดเป็น 24,486 message โดยความหมายของคำว่า “เหยิน” ในบริบทนี้ หมายถึงอาการเขินมากจนไม่สามารถหุบยิ้มได้จนทำให้ฟันยื่นออกมา ถือเป็นการแสดงออกถึงความฟินหรือความประทับใจในตัวศิลปิน นอกจากนี้ คำว่า “เหยิน” และ “ฮ้อบ” ยังถูกใช้ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน โดยมักมาจากแฟนคลับที่แสดงความเขินหรือความตื่นเต้นผ่านข้อความที่สื่อถึงความชื่นชอบและความประทับใจในศิลปินของพวกเขา จนกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมบนโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง
คำว่า “ฮ้อบ”
หากพูดถึงคำที่เป็นไวรัลควบคู่กับคำอย่าง เหยิน, มันจะไอนั่น, และ ชีเสิร์ฟ อีกหนึ่งคำที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือ “ฮ้อบ” ซึ่งมักมีการเขียนในหลากหลายรูปแบบ เช่น ฮ้อบ, ฮว้อป, หรือ ฮ้อป โดยได้รับความนิยมไปมากกว่า 1,889,176 engagement หรือคิดเป็น 14,095 message
รูปแบบการใช้ส่วนใหญ่มักอยู่ในลักษณะการตั้งคำถาม เช่น “มันฮ้อบอ่อออ?” โดยความหมายของ “ฮ้อบ” สื่อถึงความรู้สึกเขินอายจนต้องกลั้นยิ้มหรือฟินไม่ไหว และมักใช้เพื่อแสดงออกถึงความชื่นชอบหรือชื่นชมในตัวศิลปิน ซึ่งสะท้อนถึงอารมณ์สนุกสนานและการอินไปกับโมเมนต์ที่แฟนคลับสร้างขึ้นบนโซเชียลมีเดีย
จะเห็นได้ว่า คำศัพท์มากมายที่ได้รับความนิยมบนโซเชียลมีเดียนั้น มักเกิดจากการผสมผสานหรือดัดแปลงคำจนกลายเป็นไวรัลที่แพร่หลาย บางครั้งอาจมาจากคำติดปากของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่เผยแพร่ออกไปจนกลายเป็นกระแสในวงกว้าง แม้ที่มาของคำเหล่านี้อาจไม่แน่ชัด แต่ส่วนใหญ่มักเริ่มต้นจากกลุ่มพี่ ๆ กะเทย หรือแก๊งแฟนคลับนางงาม ซึ่งมีความสามารถในการสร้างคำใหม่ ๆ และพร้อมเสิร์ฟสีสันให้โซเชียลมีเดีย สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมักจะนิยมชอบเล่นคำใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มอรรถรสและสร้างอารมณ์ขันในบทสนทนา และในอนาคตเชื่อว่ายังมีคลังคำศัพท์ใหม่ ๆ รอให้ถูกค้นพบและพัฒนาไปสู่ไวรัลที่ช่วยเพิ่มสีสันให้กับโลกโซเชียลอย่างต่อเนื่องแน่นอน