ใครที่เดินทางโดยรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวอยู่เป็นประจำ ในสถานีต่างๆ เช่น หมอชิต, อารีย์, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, เพลินจิต, พญาไท, เซนต์หลุยส์ จะเห็นร้านรีเทล “Turtle Shop” เปิดให้บริการอยู่ตรงกลางสถานีรถไฟฟ้า และเชื่อว่าหลายคนแวะซื้อของกินของใช้ก่อนเข้าออฟฟิศ ก่อนเข้าโรงเรียน หรือไปยังจุดหมายปลายทาง หรือก่อนกลับบ้าน
หลังจาก ซุปเปอร์ เทอร์เทิล (Super Turtle) ธุรกิจแพลตฟอร์มจัดจำหน่ายของ VGI ทดลองเปิดให้บริการ Turtle Shop ใน 3 สถานี คือ สถานีเซนต์หลุยส์, เพลินจิต และอนุสาวรีย์สมรภูมิ ถึงปัจจุบันมี 19 สาขาบนสถานีรถไฟฟ้า และอีก 1 สาขาโมเดลใหม่คือ “Turtle X” ในอาคารเดอะ ยูนิคอร์น บนถนนพญาไท ถือเป็น Retail Platform ที่สามารถเข้าถึงผู้คนที่เดินทางโดยรถไฟฟ้า BTS มากกว่า 40 ล้านคนต่อเดือน!
ไม่เพียงเท่านี้ ตาม Business Plan ต่อไปจะเห็นร้าน Turtle บนสถานีรถไฟฟ้า 115 สาขาครอบคลุมทั้งสายสีเขียว – สายสีเหลือง – สายสีชมพู เชื่อมโยงทั้งพื้นที่ในเมือง และรอบนอกเมือง
กางโรดแมป Turtle Shop เดินหน้าเปิด 115 สาขาบนรถไฟฟ้า
Turtle เป็นธุรกิจค้าปลีก หรือธุรกิจจัดจำหน่าย ภายใต้การบริหาร “บริษัท ซุปเปอร์ เทอร์เทิล จำกัด (มหาชน)” หรือเดิมคือ บริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) (NINE) ปัจจุบันอยู่ในเครือ VGI โดยหนึ่งในพันธกิจหลักคือ ให้บริการเครื่องดื่มและอาหารให้กับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ด้วย “ร้าน Turtle” และตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ “Turtle Vending Machine”
การออกแบบ Turtle Shop มีขนาด 200 ตารางเมตร เป็นรูปทรงแบบดัมเบล มีทางเข้าออกตรงกลางร้าน และตำแหน่งของร้านสร้างตรงกลางสถานีรถไฟฟ้า ทำให้เวลาผู้โดยสารขึ้นมาสถานี หรือลงจากชานชาลา ก็จะเห็นร้านได้จากทุกทาง
ขณะที่ Product Assortment เน้นกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ในรูปแบบ Grab & Go เช่น
– มุม Turtle Café ให้บริการเครื่องดื่มกาแฟและเครื่องดื่มชงสดเมนูต่างๆ
– มุม Turtle Tea ให้บริการเครื่องดื่มชา
– Turtle Bakery จำหน่ายเบเกอรีอบสดใหม่
– เมนูอาหารพร้อมรับประทาน (Quick Meal) และแซนด์วิช
– มุมจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
– ของใช้ทั่วไป
เริ่มดำเนินการเปิดให้บริการในปี 2021 เปิดร้าน Turtle สาขาแรกบนสถานีรถไฟฟ้าเซนต์หลุยส์ จากนั้นปี 2023 เปิดสาขา 2 บนสถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต และสาขา 3 บนสถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถึงปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 19 สถานี และการเติบโตยอดขายสาขาเดิม (Same Stores Sale Growth) 50% โดยตั้งเป้าเปิดบนสถานีรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวทุกสถานี ซึ่งครอบคลุมทั้งหมด 60 สถานี
นอกจากนี้ยังได้พัฒนา Store Format ใหม่คือ “Turtle X” ขนาด 60 ตารางเมตร ทดลองนำร่องสาขาแรกในอาคารเดอะ ยูนิคอร์น (The Unicorn) บนถนนพญาไท
ขณะที่ Business Roadmap ของการเปิดธุรกิจจัดจำหน่าย “Turtle” ซุปเปอร์ เทอร์เทิล ตั้งเป้าเปิด 115 สาขาครอบคลุมทั้งรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว – สีเหลือง – สีชมพู
– สายสีเขียว เปิดบนรถไฟฟ้า 60 สถานี
– สายสีเหลือง เปิดบนรถไฟฟ้า 23 สถานี
– สายสีชมพู เปิดบนรถไฟฟ้า 32 สถานี
มาค้นคำตอบกันว่าทำไม VGI ในเครือบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ถึงให้ความสำคัญกับการสร้าง Retail Platform “Turtle Shop” โดยโฟกัสทำเลบนสถานีรถไฟฟ้า และบทบาทของ บมจ.ซุปเปอร์ เทอร์เทิล จะมาเติมเต็ม Business Ecosystem อย่างไร ?!?
1. เข้าถึงผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ากว่า 40 ล้านคน – ตอบโจทย์ Daily Need
ปัจจุบันสาขาของ Turtle Shop ยังคงเน้นเปิดบนสถานีรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว เพราะเป็นสายหลัก และมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งหากนับเฉพาะจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว กลับมาเป็นปกติเหมือนเช่นก่อนเกิด COVID-19 แล้ว โดยเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 40 ล้านคนต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Millennials และ Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่าย (อ่านเพิ่มเติม: เปิดอินไซต์ “BTSumers” ผู้โดยสาร BTS) จึงเป็น Target Market ที่มีโอกาสทางการตลาดสูงในการพัฒนาธุรกิจค้าปลีก และคัดสรรแบรนด์สินค้าต่างๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง
ขณะเดียวกันต้องการเติมเต็มความครบวงจรของพื้นที่บนรถไฟฟ้า ที่นอกจากมีบริการจากร้านค้าเช่าอื่นๆ แล้ว ก็มี Lifestyle Store จำหน่ายของกินของใช้ในชีวิตประจำวันในรูปแบบ Grab & Go เพื่อตอบโจทย์ Daily Need
2. ต่อจิ๊กซอว์ Media Touchpoint “O2O” ของ VGI
อีกหนึ่งบทบาทของ Turtle Shop ไม่ได้เป็นเพียงร้านค้าปลีกบนสถานีรถไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังเป็นจิ๊กซอว์ Media Touchpoint “O2O” ของ VGI ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Offline-to-Online Solutions โดยมีจอโฆษณาของ VGI หลายจอติดตั้งอยู่รอบร้าน เช่น จอขนาดใหญ่ตรงประตูเข้า-ออกร้าน
ผนวกเข้ากับ “สื่อโฆษณา BTS” รูปแบบต่างๆ ทั้งทั้งสื่อบนสถานี บริเวณชานชาลา ภายในตู้โดยสาร ภายนอกขบวนรถไฟฟ้า และสื่อ OOH ที่อยู่ด้านนอกสถานีรถไฟฟ้า เช่น
– Street View สื่อนอกบ้าน (OOH) รูปแบบป้ายโฆษณาดิจิทัลที่ติดตั้งตรงเสาตอม่อรถไฟฟ้า
– On Station จอโฆษณาจุดต่างๆ ในชานชาลาขณะรอรถไฟฟ้า เช่น Screen Door จอ LED ตรงประตูเลื่อนเข้าออกตัวขบวนรถไฟฟ้า
– Platform Balustrade ป้ายบริเวณขอบรั้วชานชาลาขณะรอรถไฟฟ้า
– Platform Column พื้นที่โฆษณาตรงเสาในชานชาลา
– Platform Truss ป้ายขนาดใหญ่ในชานชาลา
3. ผสาน Loyalty Program “Rabbit Rewards” – เข้าถึง Transaction Data
ด้วยความที่อยู่ในเครือ VGI ทำให้ผสานพลัง Synergy เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และเสริมศักยภาพธุรกิจได้ อย่างการพัฒนาธุรกิจค้าปลีก ภายใต้แบรนด์ Turtle นอกจากจะเป็นจิ๊กซอว์ด้าน Media Touchpoint แล้ว ยังผนึกกำลังกับ “Rabbit” (แรบบิท) ในกลุ่มบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ผู้ให้บริการ e-Payment ที่มียอดผู้ถือบัตรไม่ต่ำกว่า 16 ล้านใบ และโปรแกรมสะสมคะแนน Rabbit Rewards (แรบบิท รีวอร์ดส) มีสมาชิกลงทะเบียนกว่า 5.8 ล้านคนขึ้นไป และมีการแลกคะแนนสะสม 60 – 65% ต่อเดือน
ภายใต้ Business Ecosystem ของบริษัทในเครือ ทำให้ Turtle เป็นช่องทางที่สมาชิก Rabbit Rewards นำคะแนนสะสมมาใช้รับสิทธิพิเศษซื้อสินค้าต่างๆ ภายในร้าน Turtle ได้ ขณะเดียวกันทำโปรแกรมสมาชิกลูกค้า สามารถสะสมคะแนนจากยอดซื้อและให้สิทธิประโยชน์แก่สมาชิกที่พิเศษกว่าลูกค้าทั่วไป
จากพลัง Synergy กลุ่มธุรกิจในเครือนี่เอง ทำให้ปัจจุบันมากกว่า 40% ของลูกค้า Turtle มี Rabbit Rewards ที่นำคะแนนสะสมมาใช้ พร้อมทั้งสะสมคะแนนผ่านการซื้อสินค้าภายในร้าน
การใช้จ่ายและใช้คะแนนสะสมผ่าน Rabbit มองว่าจะช่วยบริษัท ซุปเปอร์ เทอร์เทิล และร้าน Turtle ได้ฐานข้อมูลที่เป็น “Transaction Data” ของสมาชิก ทั้งพฤติกรรมการซื้อ รายการสินค้าที่ซื้อ และการใช้บริการ สะท้อนกลับไปสู่การคัดสรรสินค้าและบริการที่นำมาจัดจำหน่าย และให้บริการภายในร้านที่ตรงใจลูกค้าในแต่ละสาขาที่เปิดในโลเคชันต่างกัน ตลอดจนเสริมศักยภาพด้าน O2O Solutions ให้กับ VGI ได้เช่นกัน
“Turtle Shop ไม่ได้เป็นร้านสะดวกซื้อ แต่เป็น Lifestyle Store ไม่ว่าจากบ้านไปที่ทำงาน จากบ้านไปโรงเรียน หรือจากที่ทำงาน กลับบ้าน หรือจากที่ไหนก็ตาม กลับบ้านตัวเอง เราจับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้เดินทาง BTS พร้อมทั้งหาสินค้าและบริการที่เหมาะกับผู้บริโภค เพื่อเป็น Solution และเป็น Offline Touchpoint ให้กับที่ดีให้กับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า” คุณโยธิน ทวีกุลวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการของ Super Turtle ขยายความเพิ่มเติม
บริหารจัดการพื้นที่เช่าในสถานีรถไฟฟ้า – สร้างความร่วมมือพันธมิตรธุรกิจ
นอกจากดำเนินธุรกิจร้านค้าปลีกแล้ว บมจ.ซุปเปอร์ เทอร์เทิล ยังดูแลพื้นที่เช่าบนสถานีรถไฟฟ้า BTS โดยคัดเลือกร้านค้าที่มีสินค้าและบริการเป็นที่ต้องการของผู้มาใช้บริการ BTS
ลักษณะพื้นที่เช่าบนสถานีรถไฟฟ้า มี 3 รูปแบบคือ
– พื้นที่เช่าถาวร: รูปแบบห้อง มีขนาดประมาณ 10-20 ตร.ม. โดยมีระยะสัญญาเช่าอย่างน้อย 1 ปี ขึ้นไป เหมาะกับสินค้าที่ต้องการสร้างแบรนด์ หรือสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายระยะยาว
– พื้นที่ Kiosk: ลักษณะพื้นที่กึ่งเปิด มีขนาดประมาณ 3 – 6 ตารางเมตร โดยมีระยะสัญญาเช่าอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป เหมาะกับสินค้า หรือแบรนด์ที่ต้องการทดลองตลาดก่อน ไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ
– พื้นที่จัดกิจกรรมและตั้งตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ: ลักษณะพื้นที่เปิดโล่ง มีขนาดประมาณ 6 – 9 ตารางเมตร เหมาะสำหรับทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด และตั้งตู้ Vending Machine สำหรับแบรนด์ที่ต้องการทดลองตลาด สามารถทำสัญญาเช่าได้ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป
ขณะเดียวกันเพื่อเติมเต็ม Business Ecosystem ให้ครบวงจรยิ่งขึ้น อีกขาสำคัญของ บมจ.ซุปเปอร์ เทอร์เทิล คือ การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจต่างๆ
เช่น เป็น JV Partner กับ SuperRich 1965 ตั้งบริษัท “SuperRich Turtle” (SPRT) ให้บริการแลกเงินตราบนรถไฟฟ้า
และเมื่อปีที่แล้วเปิดตัว “Hibox” Smart Locker รับ-ส่งพัสดุตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้การจับมือกันระหว่าง Kerry Express ประเทศไทย กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ที่ VGI เข้าไปถือหุ้น กับ บริษัท Hive Box ผู้ให้บริการสมาร์ทล็อกเกอร์ในประเทศจีน โดยตั้งเป้านำร่องติดตั้ง 2,000 ตู้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล