เปิดใจ “ทรงพล ชัญมาตรกิจ” ผู้สร้างตำนาน “โอ้ว…พระเจ้าจอร์จ” ปรับใหญ่ “TV Direct” สู่ยุค Digital Transform

  • 248
  •  
  •  
  •  
  •  

TV Direct

“คุณเป็นคนหนึ่งที่ประสบปัญหาห่วงยางหน้าท้องใช่ไหม ? แต่จากนี้หุ่นคุณจะกระชับขึ้น เพรียวขึ้น ด้วยเครื่องออกกำลังกาย…”

“ราคา xxx บาท เราไม่ขาย เราขอเสนอคุณในราคาเพียง xxx บาท…”

“แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าคุณโทรเข้ามาภายใน 10 นาทีนี้ คุณจะได้รับข้อเสนอสุดพิเศษ…”

“สินค้ารับประกันความพึงพอใจ ยินดีคืนเงินภายใน 30 วัน…”

ทั้งการสาธิตสินค้า และแต่ละประโยคของโฆษณา “TV Shopping” ที่มีทั้งออกมาจากผู้ดำเนินรายการ หรือจากเสียงพากย์ เป็น tactic ที่ “ตรึง” คนดูให้ดูรายการแนะนำสินค้าจนจบ

ยิ่งเจอข้อเสนอจูงใจให้คนตัดสินใจเร็ว ก็ยิ่ง “ปลุกเร้า” คนดูรีบคว้าโทรศัพท์ โทรไปสั่งสินค้าผ่าน Call Center ทันที!! แม้สินค้านั้นไม่ได้อยู่ใน List ที่ตัวเองวางแผนจะซื้อมาก่อนก็ตาม

นี่คือ ศาสตร์ และศิลป์ของ “TV Shopping” การขายรูปแบบหนึ่งที่มีมายาวนานในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ที่อยู่คู่สื่อทีวีไทย และครัวเรือนไทยมานาน 30 ปี

เมื่อพูดถึง “TV Shopping” ในประเทศไทย เชื่อว่าหลายคนต้องรู้จัก “คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน)” ถือเป็น “เจ้าพ่อแห่งวงการทีวีช้อปปิ้งเมืองไทย” ก็ว่าได้ เพราะเป็นผู้ที่คว่ำหวอดกับธุรกิจ TV Shopping มายาวนานตั้งแต่ยุคแรกๆ

และยังเป็นผู้นำรายการแนะนำสินค้าจากต่างประเทศ ที่มี “จอร์จ-ซาร่า” เป็นผู้ดำเนินรายการเข้ามาในเมืองไทย พร้อมกับประโยคสุดฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองในเวลานั้น “โอ้ว…พระเจ้าจอร์จ มันยอดมาก” ซึ่งแปลมาจากต้นฉบับคือ “Oh! George It’s so amazing”

ผลปรากฏว่าทุกวันนี้ ไม่มีใครไม่รู้จัก “จอร์จ – ซาร่า” และประโยคสุดฮิตอย่าง “โอ้ว…พระเจ้าจอร์จ มันยอดมาก”

เส้นทางจุดกำเนิดธุรกิจ “TV Shopping” ในไทย จากอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาถึงปัจจุบัน และเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นหนึ่งในประโยคฮิตที่คนไทยจำได้ถึงวันนี้ พร้อมด้วยการปรับ Business Model ครั้งใหญ่ของ “TV Direct” หรือ “TVD” จะเป็นอย่างไร เพื่อรองรับยุค Disruption ?! ไปติดตามกันเลยยย

TV Direct

 

ย้อนรอยเส้นทาง “TV Shopping” ประเทศไทย

หากย้อนรอยพัฒนาอุตสาหกรรม “TV Shopping” ในไทย สามารถแบ่งออกเป็น 4 ยุคหลัก คือ

ยุค 1990 – 1995 จุดเริ่มต้นอุตสาหกรรม TV Home Shopping ในไทย โดย Player ในช่วงเวลานี้ เป็นบริษัทไทย เริ่มจากรายการ “ช้อปปิ้งกริ๊ง 7 สี” ของช่อง 7 เกิดขึ้นในปี 1990 ต่อจากนั้นเป็นรายการ “ช้อปเซลล์ ออนแอร์” ออกอากาศทางช่อง 5 และต่อด้วย “แป๊ะยิ้ม ทีวีช้อป” ของกันตนา ถือเป็น TV Home Shopping รายการที่ 3 ของไทย

TV Shopping

รายการ “แป๊ะยิ้ม ทีวีช้อป” คุณทรงพลเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการปลุกปั้นรายการ และหลังจากนั้นก็เกิดรายการ TV Home Shopping ตามมาอีกนับ 10 รายการ เช่น “เคาะแล้วขาย” ของแกรมมี่, ไทยแลนด์ เอาท์เลตมอลล์, แบทแมนช้อป, ธันเดอร์ช้อป ของทีวีธันเดอร์

ยุคปี 1996 เป็นต้นมา TV Home Shopping ต่างชาติเข้ามาบุกตลาดไทย ไม่ว่าจะเป็น TV Media ของสิงคโปร์ โดยมี “แป๊ะยิ้ม ทีวีช้อป” หุ้นส่วนด้วย, MOG (Mail Order Gallery) ที่ขยายในเอเชีย และไทยคือหนึ่งในนั้น, Quantum Television หรือ Quantum Group จากนิวซีแลนด์

“การเข้ามาของ Quantum Television สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจ TV Shopping ในไทย เพราะใช้รูปแบบ “รายการแนะนำสินค้า” ออกอากาศครั้งแรกทางช่อง 7 วันที่ 7 เดือน 7 ปี 1997 เวลาตีหนึ่ง จากเดิมในยุค 1990 – 1996 การสื่อสารของ TV Shopping ในไทย ใช้รูปแบบสปอตโฆษณาทั้งหมด ดังนั้นหลังจาก Quantum Television เข้ามา ตั้งแต่วันนั้น ทำให้คนไทยรู้จักรายการแนะนำสินค้า” คุณทรงพล ย้อนจุดเปลี่ยนสำคัญในอดีตให้ฟัง

TV Shopping

ยุคปี 1997 วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง สึนามิพัดพาธุรกิจ “TV Shopping” ในไทย ล้มหายเรียบ !! ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม “TV Shopping” ในไทยที่กำลังอยู่ในช่วงขยายตัว ต้องเจออุปสรรคครั้งใหญ่ สองเรื่องสำคัญคือ

1. ด้วยความที่เป็นธุรกิจขาขึ้น ทำให้เกิด Player มากมายสนใจธุรกิจนี้ กระโดดเข้ามาทำตลาด แต่การทำธุรกิจนี้ ไม่ง่าย! ส่งผลให้บางบริษัทที่ทำแล้ว ไม่ประสบความสำเร็จ ได้ตัดสินใจปิดบริษัทไป สร้างผลกระทบต่อลูกค้าที่ซื้อสินค้าจากบริษัทนั้นๆ เมื่อเกิดการติดตามทวงถาม ไม่สามารถหาตัวตนของบริษัทนั้นได้แล้ว

ทำให้ช่วงเวลานั้น ธุรกิจ “TV Shopping” ในสายตาคนไทย คือ เป็นธุรกิจที่โกงประชาชน!!

2. ไม่สามารถเลี่ยงสถานการณ์ “วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง” ในปี 1997 ต่อเนื่องไปถึงปี 1999 เพราะด้วยความที่สินค้าจำหน่ายบน TV Shopping มีทั้งสินค้าในประเทศ และส่วนหนึ่งเป็นสินค้าสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเมื่อลอยตัวค่าเงินบาท ย่อมกระทบต่อต้นทุนสินค้าพุ่งสูงขึ้น

“เหตุการณ์ต้มยำกุ้ง ล้างทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศไทยไปหมดเลย TV Shopping ในไทยกว่า 10 บริษัท และบริษัทต่างชาติ 3 บริษัท ไปพร้อมกันหมด”

TV Shopping

ยุคปี 1999 – ปัจจุบัน “TV Shopping” ฟื้นกลับมา และบูมอีกครั้ง หลังจากเจอคลื่นลูกใหญ่ที่พัดพาธุรกิจนี้หายไปหมดจากประเทศไทย แต่แล้วในช่วงปี 1999 ได้เกิด Player รายใหม่ของคนไทย ในชื่อ “TV Direct” ก่อตั้งโดยคุณทรงพล

แม้คนไทยจะรู้จัก “TV Shopping” แล้ว แต่นับเป็นความท้าทายใหญ่ของ “คุณทรงพล” ทั้งการฟื้นตลาดกลับมาอีกครั้ง และการดำเนินธุรกิจ ที่ยังมีปัจจัยค่าเงินบาท สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ

“การสร้างตลาดของ TV Direct เริ่มต้นจากต้องหา “สินค้า” ให้ได้ก่อน ก่อนหน้านี้ในปี 1997 เรารับดูแลระบบหลังบ้านให้กับ Quantum Television, ช้อปปิ้งกริ๊ง 7 สี, ช้อปเซลล์ ออนแอร์ แต่ด้วยความที่ Quantum มีแผนปิดบริษัทในไทย เพราะไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ เมื่อเรามาตั้งบริษัท จึงได้ติดต่อซื้อสินค้าจากทั้ง Quantum, MOG, TV Media ทำให้เราสามารถตั้งไข่ได้เร็วหน่อย

ขณะเดียวกันช่วงนั้นเราพยายามหาสินค้าของไทยมาจำหน่ายด้วย เพราะในปี 1999 ค่าเงินยังแพง ทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าสูงมาก ได้เจอกับ Supplier ที่ให้การสนับสนุนเราอย่างดี หนึ่งในนั้นคือ คุณชินการ สมะลาภา เจ้าของสมาพันธ์เทรดดิ้ง ผมโทรไปขอหา ขอนำผลิตภัณฑ์น้ำยาใส่ผม ที่มีวางจำหน่ายในร้านขายยา มาขายบน TV Direct ซึ่งการสื่อสารใช้กลยุทธ์ Tie-in เข้าไปตามรายการสำหรับผู้หญิง ผลปรากฏว่าประสบความสำเร็จ”

ไม่เพียงแต่ Tie-in สินค้าเข้าไปในรายการของฟรีทีวีเท่านั้น “TV Direct” ยังได้สื่อสารด้วยโมเดล “สปอตโฆษณา” และ “รายการแนะนำสินค้า”

ขณะที่ในปัจจุบันนอกจาก “TV Direct” เป็นผู้นำในตลาด TV Shopping เมืองไทย ธุรกิจนี้ยังกลับมาบูมอีกครั้ง โดยเกิดผู้เล่นรายใหม่เข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ เช่น True Select, O Shopping และยังมีเจ้าของสถานีโทรทัศน์รายใหญ่อีกหลายราย ขยายธุรกิจเข้ามาทำตลาด TV Shopping เพราะต้องการสร้าง “รายได้ใหม่” ให้กับองค์กร และมองว่ามีแพลตฟอร์มสื่ออยู่ในมือ และฐานคนดูอยู่แล้ว

TV Shopping

 

เบื้องหลังกว่าจะมาเป็น “จอร์จ – ซาร่า” กับประโยค “โอ้ว…พระเจ้าจอร์จ มันยอดมาก”

หนึ่งในเอกลักษณ์ที่ทำให้หลายคนจดจด “TV Direct” ได้ถึงวันนี้ คือ รายการแนะนำสินค้า ที่มีผู้ดำเนินรายการเป็นหญิงชายคู่หนึ่งชื่อ “จอร์จ” กับ “ซาร่า” ที่มาพร้อมกับประโยค “โอ้ว…พระเจ้าจอร์จ มันยอดมาก” ซึ่งในเวลาต่อมามีรายการตลกวาไรตี้ และโน้ส-อุดม แต้พานิช นำไปล้อเลียนในโชว์เดี่ยว 6 ทำให้ชื่อของจอร์จ – ซาร่า ที่มาพร้อมกับประโยคดังกล่าวเป็นที่พูดถึง และจดจำได้ถึงทุกวันนี้

“TV Direct ใช้รายการแนะนำของต่างประเทศ โดยได้ลิขสิทธิ์จากพาร์ทเนอร์ที่เราสั่งสินค้าเข้ามาจำหน่าย เมื่อเอาเข้ามาใช้ ต้องแปลบทสนทนาเป็นภาษาไทย ผมได้ปรึกษา “อาจารย์ไกรฤกษ์ บุณยเกียรติ” ถึงการเอารายการต่างประเทศ มาแปลเป็นภาษาไทย ท่านแนะนำให้ไปหา “อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ” ราชบัณฑิต

เมื่อพบได้เข้าพบอาจารย์จำนงค์ เราคุยกันในหลายเรื่องอย่างสนุก และอาจารย์ได้บอกว่าให้เอาที่แปลมาให้อาจารย์ดู ผมเอาที่แปล Script ภาษาอังกฤษ และถอดออกมาแปลเป็นภาษาไทย หนึ่งในประโยคนั้น คือ “Oh God! Gorge It’s so amazing” เป็นสินค้าเครื่องออกกำลังกายหน้าท้อง ซึ่งผมแปลเป็นภาษาไทยว่า “คุณพระช่วย! จอร์จ มันดีเหลือเกิน”

อาจารย์บอกประโยคดังกล่าวผิดหลัก เพราะเป็นการตีความ ไม่ใช่การแปลจากภาษาอังกฤษ มาเป็นภาษาไทย ต้องใช้การแปลแบบลงตัว อาจารย์จึงแปลให้ว่า “โอ้ว…พระเจ้าจอร์จ มันยอดมาก”

TV Direct

กระทั่งในวันหนึ่งรายการตลกวาไรตี้รายการหนึ่ง ได้นำรายการแนะนำสินค้าของ TV Direct ไปล้อเลียน และทางรายการได้ทำจดหมายขอยืมใช้สินค้าของ TV Direct นำไปเล่นโชว์ในรายการ

แม้เวลานั้น “คุณทรงพล” รู้สึกไม่พอใจที่ถูกนำไปล้อเลียน แต่ไม่อาจห้ามได้ และเมื่อคิดอีกที มองว่าเป็นข้อดีเหมือนกัน เพราะช่วยทำให้ “TV Direct” เป็นที่รู้จักมากขึ้น และยิ่ง “โน้ส – อุดม” นำไปล้อเลียนในการแสดงเดี่ยว กลายเป็นจุดพลุให้คนรู้จัก TV Direct ในฐานะ “โอ้ว…พระเจ้าจอร์จ มันยอดมาก”

“หลังจากถูกล้อเลียน เราได้ค้นพบ Motto ของเรา เนื่องจากผมเอนเตอร์เทนคน จึงเป็นที่มาสโลแกนเรา Entertaining People with Information เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ข้อมูลธรรมดา ให้ไม่ธรรมดา ไม่ได้แปลว่าโฆษณาเกินจริง

การใช้ภาษา เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับคน เป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นเวลาเขียนบท เราจะเขียนให้มีติดปลายฮา ในทุกๆ ข้อมูล จะมีเรื่องราวเหล่านี้ และมีความสวยงามของภาษา”

การนำเสนอสินค้าด้วยสไตล์ “สนุก” ไม่ได้ทำให้ความน่าเชื่อถือของผู้บริโภคที่มีต่อธุรกิจ TV Shopping ลดน้อยลง เพราะหลังจากที่ครั้งหนึ่งเกิดผู้เล่นหน้าใหม่ และต่อมาทยอยปิดตัว ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดนี้เป็นวงกว้าง แต่ความสนุก กลับดึงความสนใจของผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อสินค้าในที่สุด

ที่สำคัญ สร้าง Branding ให้กับ “TV Direct” และทำให้คนสนใจแมสเสจที่สื่อสาร นำไปสู่การตัดสินใจซื้อ
คุณทรงพล อธิบายที่มาของการวางคาแรคเตอร์แบรนด์ ให้สนุก ตลก เพราะมองว่า Emotional จะดึงความสนใจของผู้บริโภค และคนไทยซื้อสินค้าเพราะ Emotion โดยเฉพาะความสนุก – ตลก

TV Direct

“เคยมีทฤษฎีอันหนึ่ง อย่าไปแก้จุดอ่อน แต่จงเสริมจุดแข็ง ถ้าคุณฮาได้มากพอ คนจะลืมเรื่องพวกนั้น สนุก ดูหนังโฆษณาฮา จนตัดสินใจซื้อ ขณะเดียวกันเพื่อ Make sure เราจะใส่ว่า “รับประกันความพอใจ คืนเงินได้ภายใน 30 วัน” ใส่ทุกชอต ทุกโชว์ ใส่ทุกที่ที่ใส่ได้ แม้กระทั่งใบเสร็จรับเงินยังใส่

นอกจากนี้ ถ้าสังเกตรายการแนะนำสินค้า และโฆษณาของ TV Shopping จะต้องมี 2 กลยุทธ์ คือ รับประกันความพึงพอใจ และใช้โปรโมชั่น กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจทันที

“30 Days Guarantee เป็นหลักจริยธรรมของบริษัท Telesale ทั่วโลก และเราเป็นสมาชิก Direct Marketing Association (DMA) แต่เมื่อ 20 ปีก่อน ไม่มีใครการันตีแบบนี้ ขณะที่เราการันตี คืนได้ ตั้งแต่วันนั้น ถึงวันนี้ สัดส่วนของการรับคืนสินค้าอยู่ที่ 1% จากสินค้าที่ขาย โดยเหตุผล 70 – 80% ซื้อไปแล้ว ไม่เหมาะกับตัวเอง”

ขณะเดียวกันในโฆษณา หรือแนะนำสินค้า ต้องมี “Call to action” (CTA) เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้คนตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เช่น

“แต่เดี๋ยวก่อน…ถ้าคุณโทรเข้ามาภายใน 20 นาทีนี้ คุณจะได้รับข้อเสนอสุดพิเศษ”

“ราคา xxx บาท เราไม่ขาย เราขอเสนอคุณในราคาเพียง xxx บาท…”

“ทุกคนเวลาได้การบ้านไป มีเวลาทำ 7 วัน คนส่วนใหญ่ทำวันสุดท้าย เพราะเป็นสัญชาตญาณของเราอย่างนั้น เพราะฉะนั้นในการทำ Psychology การขายที่เร่งการตัดสินใจนิดๆ จะทำให้กระบวนการการสร้าง Immediate Response ที่นำไปสู่การขายง่ายมากขึ้น แต่เราต้องให้ลูกค้าอย่างที่ให้สัญญาไว้จริงๆ”

TV Direct Product Promotion

 

“เราจะเปลี่ยน ก่อนที่เราต้องเปลี่ยน” เคล็ดลับความสำเร็จจากยุค TV Shopping สู่ยุค Omni-channel

หัวใจสำคัญที่ทำให้ “TV Direct” เป็นผู้นำในธุรกิจ TV Shopping และอยู่มาถึง 20 ปี คือ การปรับตัว หรือที่ในสมัยนี้เรียกได้ว่า “ชิง Disrupt ตัวเอง ก่อนที่จะโดน Disrupt”

“กุญแจความสำเร็จของเรา คือ เราจะเปลี่ยน ก่อนที่เราต้องเปลี่ยน โดยจะมีอะไรสักอย่างหนึ่งมาส่งสัญญาณเราว่า Hey! It’s a time to change เพราะฉะนั้น Business Model ของเราตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนทุกๆ 5 ปี

จากโมเดล TV Shopping ขายสินค้าทางทีวีอย่างเดียว เริ่มมาทำ Direct Marketing มีทั้งทางเมล์, คอลล์เซ็นเตอร์, ร้านค้าปลีก เพราะฉะนั้นเราใช้หลักการ Direct Marketing หรือตลาดแบบตรง จากนั้นปี 2008 เราปรับมาเป็น Multi-channel

โมเดลระหว่าง Direct Marketing กับ Multi-channel แตกต่างกัน ตรงที่ Direct Marketing เป็น Multi-media คือมี 1 แมสเสจ ใช้แมสเสจเดียวยิงไปทุกสื่อ ขณะที่ Multi-channel แต่ละช่องทาง แต่ละสื่อ ต้องมีแมสเสจที่แตกต่างกัน คนดูเว็บไซต์ จะมีลักษณะหนึ่ง คนดูสินค้าจากร้านค้าปลีก มีลักษณะหนึ่ง คนที่ดูทีวีมีลักษณะหนึ่ง จะลงลึกเป็น Segmentation

จากนั้นปี 2015 เราเปลี่ยนเป็น Multi-screen เพื่อเตรียมความพร้อมในการแปลงร่างองค์กรมาเป็น Omni-channel ในวันนี้ รับยุคดิจิทัล เพราะผู้บริโภค Involve ตัวเองมาพอสมควร แต่ประเทศไทย มีผู้บริโภค 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่ง พัฒนาตัวเองจนทำได้ทุกช่องทาง กับอีกกลุ่มคือ ยังคงชอบบางช่องทางอยู่ บางคนชอบซื้อสินค้าผ่านร้านค้าปลีก เขาไม่ได้คิดจะเปลี่ยนอะไร และเขาไม่ได้เดือดร้อนที่จะไม่เปลี่ยน”

TV Direct Online
Photo Credit : YouTube TV Direct Public Company Limited

 

Rebranding ปรับโมเดลธุรกิจสู่ “Omni-channel” เต็มรูปแบบ รับมือความโกลาหลโลกดิจิทัล

หลังจากดำเนินธุรกิจครบ 20 ปี “TV Direct” ได้ทำ Digital Transformation ครั้งใหญ่ ทั้ง Rebranding และเดินหน้ากลยุทธ์ Omni-channel เต็มรูปแบบ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “TV Direct” หรือ “TVD” ตัดสินใจเดินกลยุทธ์ Digital Transformation ด้วยเพราะ

1. ประชากรมีแนวโน้มลดลง คาดว่าปี 2030 จะเป็นปีแรกที่ประเทศไทยเริ่มมีประชากรลดลง ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจจะต้องเผชิญภาวะกำลังซื้อถดถอย

2. พฤติกรรมคนไทยปรับเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล โดยข้อมูลเชิงสถิติ อาทิ

– ปัจจุบันคนไทยมีสมาร์ทโฟนกว่า 92.33 ล้านเครื่อง

– มีค่าเฉลี่ยการใช้โทรศัพท์มือถือสูงที่สุดในโลก 4.53 ชั่วโมงต่อคนต่อวัน ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลก 3.05 ชั่วโมงต่อคนต่อวัน

– คนไทยเล่น LINE 52 ล้านบัญชี / Facebook 49 ล้านบัญชี / Instagram 13.6 ล้านบัญชี / Twitter 12 ล้านบัญชี

– ส่งผลให้ปัจจุบันมีสัดส่วนประชากรที่รับข้อมูลข่าวสารทางออนไลน์เป็นหลัก 30% / ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ 15% / ออฟไลน์เป็นหลัก 55%

– โครงสร้างประชากรในไทยปัจจุบันมีกว่า 69 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มที่มีอายุไม่เกิน 24 ปี ประมาณ 21.6 ล้านคน / วัยทำงานอายุ 25 – 54 ปี มีประมาณ 31.7 ล้านคน / กลุ่มอายุ 55 – 64 ปีขั้นไป มีประมาณ 15.7 ล้านคน
สำหรับฐานลูกค้าหลักของ TVD มี 2 กลุ่ม คือ คนวัยทำงาน 25 – 54 ปี และกลุ่ม 55 – 64 ปี เป็นลูกค้าหลักที่มีกำลังซื้อ

TV Direct Organization Structure

“ความท้าทายยุคนี้ คือ โกลาหลมาก ทุกอย่างดูเหมือนไม่มีรูปแบบอะไรเลย ผู้บริโภครับสื่อเยอะมาก และมีการแข่งขันสูง เพราะฉะนั้นการปรับตัว ต้องมีหลายช่องทาง เราต้องไปอยู่ในทุกๆ ที่ที่ผู้บริโภคอยู่ และ Detect ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

เราจำเป็นต้องปรับองค์กร และรีโมเดลธุรกิจใหม่สู่ “Digital Transformation” โดยเน้นการใช้กลยุทธ์ Omni-channel เชื่อมโยงทุกช่องทาง ทั้งออนไลน์ เช่น เว็บไซต์, แอปพลิเคชัน, พันธมิตร e-Marketplace และออฟไลน์ เช่น ทีวี และร้านค้าปลีก TVD Shop รวมทั้งปรับทิศทางสู่การเป็น Video Marketer ที่มีครบทั้งภาพ – เสียง – คอนเทนต์ จากเดินใช้โมเดล TV Shopping เพื่อในที่สุดแล้วจะกลายเป็น Seamless

ดังนั้น การดำเนินธุรกิจนับจากนี้ TVD จะอยู่ภายใต้โมเดลธุรกิจใหม่ มุ่งเน้นการให้บริการ โดยไม่เป็นเพียงผู้จำหน่ายสินค้าเท่านั้น แต่จะเป็นผู้ให้บริการที่พร้อมสร้างประสบการณ์ และความสัมพันธ์ที่ดีแก่ลูกค้า เพื่อสร้างความผูกพัน ให้เกิดการซื้อสินค้าซ้ำ โดยปัจจุบันบริษัทมีฐาน Database กว่า 5 ล้านคน เราต้องรักษาสัมพันธ์คนเหล่านี้ ให้กลายเป็น “Relationship Database” ในจำนวนกว่า 5 ล้านคน มีการซื้อซ้ำ 30%”

TV Direct 20 Anniversary

 

เร่งเครื่อง “ช่องทางออนไลน์” มั่นใจ 50% ของยอดขายรวม 9,000 ล้าน

ปัจจุบันช่องทางที่ทำยอดขายหลักให้กับ “TVD” มาจากออฟไลน์ หรือ Physical Channel มากถึง 80% โดยมี “ทีวี” ทำยอดขาย 50% ขณะที่ออนไลน์ เมื่อปีที่แล้ว ทำสัดส่วนยอดขาย 10% และตั้งเป้าปีนี้เพิ่มเป็น 20% ของยอดขายรวม 4,800 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวมทั้งอุตสาหกรรม 15,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ทุกวันนี้คนใช้ชีวิตอยู่บนออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นจึง Go Online มากขึ้น โดยตั้งเป้าในปี 2020 สัดส่วนยอดขายจากช่องทางนี้ จะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 30% และปี 2022 เพิ่มเป็น 50% ของยอดขายรวม 9,000 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวม 20,000 ล้านบาท

“เรามั่นใจว่าเดินมาถูกทาง และจำทำให้บริษัทฯ มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่แบบ Total Change ทั้งองค์กร เพื่อเปลี่ยนผ่านบริษัทฯ เข้าสู่ Digital และสามารถตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคในวัยทำงาน และวัยใกล้เกษียณ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และฐานลูกค้าของบริษัทฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” คุณทรงพล กล่าวทิ้งท้าย

TV Direct Online Channel Sales Growth


  • 248
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ