ทีวีไดเร็ค (TVD) เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น และล่าสุดกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เมื่อเข้าไปซื้อหุ้น 90.1% ในกิจการทีวีดิจิทัลนั่นคือ “สปริงนิวส์”
หลังจากเป็นข่าวมาช่วงหนึ่งเกี่ยวกับการซื้อหุ้นสปริงนิวส์ฯ วันศุกร์ที่แล้วกระแสเริ่มมีการรับรู้ เข้าสู่เช้าวันเสาร์ข่าวตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับแจ้งโดยหนังสือ ถึงการเข้าซื้อหุ้นสปริงนิวส์ของทีวี ไดเร็ค ก็ถูกเผยแพร่ เช้าวันจันทร์ที่ผ่านมาได้มีการจัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ
ถึงวันนี้ (26 กันยายน) มีการเซ็นสัญญาซื้อหุ้นสปริงนิวส์เป็นทางการ โดยคุณทรงพล ชัญมาตรกิจ (ที่ 3 จากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) หรือ TVD และ คุณวทันยา วงษ์โอภาสี (ที่ 4 จากซ้าย)รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด รวมทั้งคุณอารักษ์ ราษฎร์บริหาร (ที่ 5 จากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น เข้าร่วม
วันนี้ MarketingOops! จะพาไปรู้จักทีวีไดเร็ค กันให้มากขึ้น และเขาได้อะไรจากการซื้อกิจการทีวีครั้งนี้ รวมถึงสปริงนิวส์ เป็นใครมาจากไหน “กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่” คือใครกัน เมื่อขายสปริงนิวส์ แล้วจะไปทำอะไรตรงไหนต่อ
“ซ้ง” หรือ คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ คือ บุคคลผู้ก่อตั้ง “ทีวีไดเร็ค” ปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นถือหุ้นใหญ่และเป็น CEO ของ TVD
ทีวี ไดเร็ค มีชื่อเต็มว่า บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) หรือ TVD ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2542 เพื่อทำตลาดแบบตรง หรือขายสินค้าผ่านโทรทัศน์ทั้งดิจิทัล ทีวี, ทีวี ดาวเทียม, เคเบิ้ลทีวี และต่อมาเพิ่มช่องทางการขายให้มากขึ้น ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ไดเร็คเมล์ และระบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์
ต่อมาได้ขายสินค้าปลีกผ่านร้านค้า TV Direct Showcase และขายส่งให้ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทีวี ไดเร็ค เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2555
กิจการของทีวีไดเร็ค ยังขยายตลาดไปยังประเทศกลุ่ม CLMV และประเทศอื่นๆ ในย่านอาเซียน เช่น มาเลเซีย ซึ่งปัจจุบัน ทีวี ไดเร็ค มีทุนจดทะเบียน 325.15 ล้านบาท
การเข้าซื้อหุ้นในสปริงนิวส์จำนวน 90.1% ใช้เงินกว่า 950 ล้านบาท ถือเป็นกิจการทีวีที่เป็น “ดิจิทัลทีวี” แรกของทีวีไดเร็ค หลังจากก่อนหน้านี้ พวกเขามีกิจการทีวีเป็นของตัวเองอยู่แล้วผ่านช่องทีวีดาวเทียม 5 ช่อง แบ่งเป็นในชื่อของทีวีไดเร็ค 3 ช่อง และอีก 2 ช่อง เป็นการร่วมทุนกับกลุ่มโมโนของไต้หวัน
ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมเวลา ที่ทีวีไดเร็คเข้าไปซื้อจำนวนมากเพื่อขายสินค้า
สำหรับในสปริงนิวส์นั้น ทางทีวี ไดเร็ค เริ่มจากการเข้าไปซื้อช่วงเวลา แต่ยังคงคอนเทนท์ หรือเนื้อหาที่มีสาระให้เป็นไปตามเกณฑ์ของ กสทช. (ประมาณ 35-40%) โดยยังมีทีมงานของสปิงนิวส์ ผลิตรายการต่างๆ ให้แต่อาจจะมีบางรายการที่ทีวีไดเร็ค ได้ซื้อของสปิงนิวส์เพิ่ม เพื่อนำไป “รีรัน“ ด้วยเหตุผลให้เป็นไปตามเกณฑ์ของกสทช.
ว่ากันว่า นับจากที่ทีวีไดเร็ค เริ่มจากการเข้ามาซื้อช่วงเวลานั้น ได้สร้างรายได้ให้กับทีวีไดเร็คจำนวนมาก และมียอดขายเฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40 ล้านบาท
แม้ว่าหลังการเข้ามาของทีวีไดเร็คในสปริงนิวส์ในช่วงแรก ทำให้เรตติ้งของสปิงนิวส์มีอันดับร่วงไปอยู่ท้ายๆ เพราะรายการข่าวที่เคยมีหายไปจำนวนมาก โดยมีรายการขายสินค้าเข้ามาแทนที กระทั่งล่าสุดเรตติ้งหล่นไปอยู่อันดับ 24 จากจำนวนทีวีดิจิทัล 24 ช่อง
แต่นั่นไม่ได้ทำให้ทีวีไดเร็คมองว่าคือปัญหา เพราะยอดขายสินค้าผ่านทีวีช่องนี้นั้น “คุ้ม” กับเงินที่ลงทุนไป
ทีวีไดเร็คนั้น มีแผนที่จะซื้อสปิงนิวส์ อยู่แล้ว เพื่อที่จะพัฒนาให้เป็น “ฟรีทีวี” ที่ขายสินค้าของทีวีไดเร็คโดยเฉพาะ
แต่ยังคงติดขัดเกณฑ์ของ กสทช.ที่ห้ามผู้ถือใบอนุญาตกิจการทีวีดิจิทัล เปลี่ยนมือ หรือขายต่อ
ดังนั้นทางออกก็คือ การใช้วิธีเข้าไปซื้อหุ้นที่เป็นเจ้าของใบอนุญาต ซึ่งวิธีการนี้จะเหมือนกับที่ “กลุ่มเสี่ยเจริญสิริวัฒนภักดี” เข้าซื้อหุ้น 60% ใน “อมรินทร์ทีวี” และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดในขณะนี้
หลังมีข่าวนี้ทีวีไดเร็ค ซื้อหุ้นสปริงนิวส์ ทำให้ราคาหุ้นของทีวีไดเร็ค หรือ TVD ขยับขึ้นมามากกว่า 10% เมื่อวันจันทร์ที่ 24 กันยายน 2561
ขณะที่ทีวีไดเร็ค ตั้งเป้ารายได้จากการขายสินค้าผ่านสปริงนิวส์ช่อง 19 ในปี 2561 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของเป้าหมายยอดขายรวม 3,990 ล้านบาทและ 15% ในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นปีละ 5%
โดยคาดว่าจะคืนทุนได้ในช่วง 6-7 ปีข้างหน้าโดยจะมีสัดส่วนรายได้ จากการขายสินค้าผ่านช่องสปริงนิวส์ราว 10% และ 15% ในปี 63 หรือเพิ่มขึ้นปีละ 5%
และยังวางแผนที่จะเจรจากับทีวีดิจิทัลอีก 2-3 ราย เพื่อเข้าไปร่วมผลิตรายการ
เป้าหมายสำคัญของทีวีไดเร็ค จึงน่าจะต้องการรักษาการเป็นผู้ขายสินค้า หรือ “ทีวีช้อปปิ้ง” รายใหญ่สุดต่อไป
“ปัจจุบันยังคงมีผู้บริโภคที่รับชมทีวีดิจิทัลอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้การเสนอขายสินค้าทางรายการโฮมช้อปปิ้ง มีผลตอบรับที่ดี ดังนั้น การขายสินค้าที่ได้ผลในยุคนี้ จึงไม่สามารถพึ่งพาช่องทางทีวี ช่องทางออนไลน์หรือร้านค้า เพียงทางใดช่องทางหนึ่ง แต่ต้องรุกทุกช่องทางไปพร้อมกัน โดยการลงทุนในสปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จะช่วยเพิ่มแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจ และช่วยเสริมประสิทธิภาพ กับการเสนอขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และร้าน TV Direct Showcase ที่ขยายสาขามาอย่างต่อเนื่อง”ผู้บริหารทีวีไดเร็ค กล่าว
ทีวี ไดเร็ค ที่ทำธุรกิจขายสินค้าและบริการผ่าน Omni Channel ตกลงที่จะลงทุนครั้งใหญ่ ด้วยการก้าวสู่การบริหารช่องทีวีดิจิทัลเต็มตัว กับนิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น ที่ได้รับใบอนุญาต (License) ดำเนินกิจการโทรทัศน์สปริงนิวส์ ดิจิทัล ช่อง 19 จาก กสทช. โดยจะพัฒนาช่อง 19 ให้เป็นรายการนำเสนอสินค้า ควบคู่กับรายการข่าวสาร
รวมทั้งทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ช และโซเชียลมีเดียอย่าง Google, Shopee, Facebook, JD และ Line โดย ทีวี ไดเร็ค จะมีเวลาออกอากาศ รวมทั้งลดต้นทุนออกอากาศระยะยาว ส่วนสปริงนิวส์ก็จะต่อยอดการเป็นคอนเทนท์โพรไวเดอร์เต็มรูปแบบ
ทีวี ไดเร็ค ได้ร่วมผลิตรายการกับช่องสปริงนิวส์มาตั้งแต่ไตรมาส 2/61 จนปัจจุบันสามารถเพิ่มยอดขาย และสร้างผลกำไรจากการขายสินค้าผ่านช่องสปริงนิวส์ได้เป็นที่น่าพอใจ และตั้งเป้าว่าจะมีรายได้ จากการขายสินค้าผ่านช่อง 19 ในปีนี้ คิดเป็นสัดส่วน 5% ของเป้าหมายยอดขายรวม 3,990 ล้านบาท
มาถึงสปริงนิวส์กันบ้างว่าเพราะเหตุใดจึงขายหุ้น
ผู้ถือใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ช่อง 19 นั้นคือ บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด (SPTV)
โดย SPTV มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (SPC) ในสัดส่วน 90.1% ขณะที่ SPC ก็ถูกถือหุ้นใหญ่ โดยบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS ในสัดส่วน 99.99% และ NEWS เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
มีคำถามว่า แล้วกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ใน NEWS ที่เป็นเจ้าของสปริงนิวส์ คือใคร
คำตอบก็คือ เป็นนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีชื่อว่า “ฉาย บุนนาค” ซึ่งแม้ตามรายชื่อที่ระบุในตลาดหลักทรัพย์ จะไม่มีชื่อของเขา แต่เรื่องนี้ก็เป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปว่า เขาอยู่เบื้องหลังของการขับเคลื่อนธุรกิจสปริงนิวส์อยู่ โดยมีภรรยาของเขา นั่นคือ วทันยา วงษ์โอภาสี หรือ มาดามเดียร์ อดีตผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย รุ่น 23 ปี เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการใน NEWS อยู่
ที่ผ่านมาผลประกอบการของสปริงนิวส์ขาดทุนมาโดยตลอด
ที่ผ่านมา NEWS แก้ปัญหาการขาดทุน ด้วยการเพิ่มทุนมาโดยตลอด ทำให้ปัจจุบัน NEWS มีทุนจดทะเบียนจำนวน 2.88 แสนล้านบาท และเป็นทุนชำระแล้ว 67,866 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน สปริงนิวส์ได้พยายามลดต้นทุนในหลายด้าน เช่น การปรับลดพนักงาน แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยให้กิจการพลิกกลับมาเป็นกำไรได้ ท่ามกลางการแข่งขันของทีวีดิจิทัลที่รุนแรง และการเข้ามาของสื่อออนไลน์อื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างการเติบโต และรายได้ของสปริงนิวส์
อย่างไรก็ตาม NEWS หรือ นิวส์ เน็ตเวิร์คฯ ไม่ได้มีทีวีดิจิทัล เพียง สปริงนิวส์ ช่อง 19 เท่านั้น
นอกจากนี้ NEWS ยังเข้าไปถือหุ้น 9.96% ในบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ NMG รวมทั้งยังได้สิทธิบริหารหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ อีกด้วย
ปัจจุบัน ทีมงานฝ่ายบริหารของสปริงนิวส์ ได้มีการโยกย้ายเข้าไปบริหารงานในกลุ่มเนชั่นค่อนข้างมาก
ส่วนทีมงานข่าวของสปริงนิวส์เดิม ก็มีการย้ายเข้าไปทำงานในเนชั่นทีวี และช่อง NOW 26 ด้วยเช่นกัน ท่ามกลางข่าวก่อนหน้านี้ที่ว่า กลุ่มผู้ถือหุ้น หรือกลุ่มที่มีบทบาทใน NEWS ต้องการที่จะขายสปริงนิวส์ ช่อง 19 ออกไป เพื่อที่จะปลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ และมุ่งที่จะบริหารกิจการที่เนชั่นอย่างจริงจังต่อไป
ส่วนช่องสปริงนิวส์ที่ตกอยู่ในมือของทีวีไดเร็ค ก็จะถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ในช่วงต้นปี 2562 หลังจากธุรกรรมการซื้อขายทั้งหมดนี้จะแล้วเสร็จในช่วงเดือนธันวาคม 2561