ดูเหมือนว่าภาวะโลกร้อนจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน แม้จะไม่ใช่ผลกระทบจากกระบวนการผลิต แต่เป็นผลจากข้อกำหนดและแรงกดดันจากธุรกิจขนาดใหญ่และการค้าระหว่างประเทศ ทำให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวสู่ Green Transition ครั้งใหญ่ เพื่อสร้างความตื่นตัวและให้ภาคธุรกิจเข้าใจในผลกระทบของเรื่องนี้มากขึ้น
ทีทีบี ในฐานะสถาบันการเงิน จึงได้จัดงาน “ttb I Business Green Transition Forum 2024” ในการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเตรียมความพร้อมก้าวสู่โลกยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ธุรกิจต้องเตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลง
โดยช่วงแรกของงานสัมมนา “ttb I Business Green Transition Forum 2024” ได้รับเกียรติจาก คุณศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต ที่ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันสภาวะโลกร้อนกลายเป็นเรื่องหลักในทุกวันนี้ ซึ่งปัญหาโลกร้อนไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า แต่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 30-50 ปีข้างหน้า ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการเพื่อลดภาวะโลกร้อน จะส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงเพิ่มขึ้น 3-4 องศา จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน
“หากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1850 หรือในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นช่วงที่ Productivity ของโลกเพิ่มขึ้นแต่กลับแลกมาด้วยสภาพแวดล้อมที่แย่ลง ซึ่งก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 200-300 ตันเทียบเท่าคาร์บอนต่อปี แต่ปัจจุบันมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบ 40,000 ล้านตันเทียบเท่าคาร์บอนต่อปี เพิ่มขึ้นเกือบ 200 เท่า ดังนั้นถ้าเราไม่ทำอะไรผลกระทบจะรุนแรงมากและจะมากขึ้นไปเรื่อย ๆ”
ส่งผลให้ทั่วโลกเกิดความตื่นตัว และสร้างมาตรการต่าง ๆ ขึ้นมา เช่น มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่นำมาบังคับใช้กับบริษัทผู้ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป รวมไปถึงนโยบายเรื่องความยั่งยืนของประเทศไทยจากภาครัฐ ได้แก่ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ. Climate Change ที่จะมีผลบังคับใช้ในอนาคต ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงต้องเร่งหันมาปรับตัวและเปลี่ยนผ่านธุรกิจ หรือ Business Green Transition นำพาองค์กรก้าวสู่ธุรกิจสีเขียว
ในแง่ของธนาคารเอง การช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการด้าน Green Transition โดยที่ธุรกิจยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่จะช่วยเป็นฟันเฟืองสำคัญให้ภาคธุรกิจหันมาทำในเรื่องนี้อย่างจริงจัง และนอกจากองค์ความรู้ที่ ทีทีบี จะต้องช่วยให้ลูกค้าตระหนักและเข้าใจมากขึ้นแล้ว ทีทีบี ยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ธุรกิจสีเขียว (Transition Finance Solutions) ซึ่งจะมีผลประโยชน์พิเศษต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจ เป็นการแสดงจุดยืนว่า ทีทีบี พร้อมพาทุกธุรกิจก้าวข้ามผ่าน Green Transition ไปด้วยกัน
มาตรการภาครัฐด้านกฎหมายคาร์บอน
สำหรับในด้านสิ่งแวดล้อมในมุมมองของภาครัฐ คุณปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มองว่า ภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมากในประเทศไทย ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการเกษตรมีความเปราะบางและได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่มีศักยภาพในการรับมือได้น้อยกว่าสาขาอื่นมาก
สำหรับร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ. Climate Change ที่จะมีผลบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้นั้น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจ สังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืน โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรมผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมในการประเมินองค์กรเพื่อจัดทำข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจก และจัดทำแผนการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ และเทรนด์การค้าระดับสากล
ซึ่งในขณะนี้ผู้ประกอบการเองนับว่ามีความตื่นตัวในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว แต่ยังจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ซึ่งหากทำได้จะนำไปสู่การลดต้นทุนให้กับธุรกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ และที่สำคัญเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องดำเนินการร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายของประเทศไทยที่กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30-40% ภายในปี 2573
ส่งเสริมการลงทุนสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะที่มุมมองการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยภาครัฐ คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางการลงทุนของไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า จะประกอบด้วย ประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality & Net Zero อย่างแน่นอน
โดยในส่วนของ BOI ได้ผลักดันและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมุ่งลงทุนสู่ “ความยั่งยืน” ครอบคลุมทุกภาคอุตสาหกรรม โดยขอบเขตธุรกิจที่ BOI ให้การส่งเสริมนั้นมากกว่า 400 กิจการ ครอบคลุมตั้งแต่ภาคเกษตร ภาคการผลิต และภาคบริการ และแต่ละอุตสาหกรรม มีแนวทางการส่งเสริมครบวงจร
“สำหรับกิจการที่สนใจขอรับการส่งเสริม สามารถเริ่มต้นด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียงแค่ 1 ล้านบาทเท่านั้น ก็สามารถมาขอรับการส่งเสริมได้ หรือถ้าเป็นผู้ประกอบการ SMEs เงินทุนขั้นต่ำเพียง 500,000 บาท ก็สามารถเข้าสู่เกณฑ์การพิจารณาได้ นอกจากนี้ BOI ได้ออกมาตรการที่จะช่วยภาคอุตสาหกรรมในการลดก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่การเป็น Smart & Sustainable Industry ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ต่อไป
เปิดมุมมอง 3 องค์กรสู่ Green Transition
นอกจากจะได้รับมุมมองในเรื่องของสิ่งแวดล้อมทั้งจากภาครัฐและเอกชนแล้ว ยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารธุรกิจที่ได้ดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์และแนะนำวิธีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านเวทีเสวนา “เส้นทางการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ความยั่งยืน โอกาสของธุรกิจไทย”
โดย คุณสมิทธิพร เศรษฐปราโมทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ยอมรับว่า Climate Change เป็นเรื่องสำคัญและส่งผลกระทบกับหลากหลายธุรกิจ บ้านปู เน็กซ์ ได้ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจแบตเตอรี่ ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า ธุรกิจอี-โมบิลิตี้ และธุรกิจจัดการพลังงาน โดยมุ่งมั่นเป็นองค์กรสีเขียว และพร้อมเป็นที่ปรึกษาด้าน Net Zero Solutions ให้แก่ผู้ประกอบการ สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียวได้อย่างครบวงจร
“เรามีการจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่มีนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญระดับโลก ที่จะนำเทคโนโลยีและ AI มาใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ผู้ประกอบการจึงควรเร่งปรับเปลี่ยนวิธีในการทำธุรกิจ เพราะบริษัทที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากจะเสียปรียบในการแข่งขันด้านธุรกิจและการตลาดในอนาคต”
สำหรับ คุณพรเทพ ศุภธราธาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโน พรีคาสท์ จำกัด บริษัทในเครือของกลุ่มบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) แนะนำว่า การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม จะต้องทำทั้งองค์กร ต้องให้ความรู้แก่พนักงานและผู้บริโภค เข้าใจถึงคุณค่าของ ESG และให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอนด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้ เช่น การใช้เทคโนโลยีคาร์บอนเคียว ที่นำคาร์บอนมาผสมกับคอนกรีต เพื่อลดปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ และเพิ่มความแข็งแกร่งให้ผนังพรีคาสท์ การใช้โซลาร์เซลล์ รวมไปถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดูแลสิ่งแวดล้อม
“การเปลี่ยนผ่านธุรกิจไม่ใช่การลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่อาจใช้วิธีการลดต้นทุน เพื่อให้ได้มาซึ่งการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องมีการสื่อสารขององค์กรไปในทางเดียวกัน โดยตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องการลดคาร์บอนเท่าใด เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนกระบวนการ ลดต้นทุนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมองหาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้”
ขณะที่ คุณวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) มองว่า บรรจุภัณฑ์บนโลกกว่า 80% ทำจากพลาสติกหรือกระดาษ โดยบริษัทฯ เริ่มต้นจากการผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษ และต่อมาได้มีการเพิ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ครบวงจรมากขึ้น โดยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา กระแส ESG เริ่มมากขึ้นทั้งในส่วนพฤติกรรมผู้บริโภค กฎหมายและข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความเข้มข้นขึ้น
บริษัทได้ยึดหลัก ESG 4 Plus ที่มุ่งเน้นด้าน Net Zero, Go Green, Lean เหลื่อมล้ำ, ย้ำร่วมมือ Plus การดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส โดยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานเป็นพลังงานหมุนเวียน การใช้เทคโนโลยีมาปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ทำให้เกิดบรรจุภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่รีไซเคิลได้ง่ายขึ้น ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยผู้ประกอบการสามารถเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ เช่น การแยกขยะหรือการใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน
เรียกได้ว่าเป็นงานสัมมนาเชิงความรู้ด้านผลกระทบต่อธุรกิจ ที่ส่งมอบให้กับผู้ประกอบการให้เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการสัมมนาครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง เพราะยังมีรายละเอียดที่ลงลึกอีกมากในเรื่องของ Green Transition สำหรับธุรกิจ ซึ่ง ทีทีบี พร้อมเป็นพันธมิตรเคียงข้างลูกค้าธุรกิจและเอสเอ็มอี ส่งมอบองค์ความรู้เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถรับมือและก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ธุรกิจสีเขียว ไปพร้อม ๆ กัน
#ให้ชีวิตการเงินดีทั้งวันนี้และอนาคต #เปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น
#ttb #MakeREALChange