true – dtac ย้ำควบรวมแข่งขันได้ดีกว่า รอ กสทช.ตั้งเงื่อนไขก่อนเดินหน้าขั้นตอนต่อไป

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

Photo Credit: Anusorn Abthaisong / Shutterstock.com

true กอดคอ dtac ตั้งโต๊ะชี้แจงประโยชน์ที่จะได้หลังการควบรวมกิจการ ชี้การควบรวมช่วยให้เกิดการแข่งขันกับผู้นำตลาดได้ หลังจากก่อนหน้านี้ dtac ไม่มีเงินประมูลคลื่นความถี่ทำให้ไม่มีศักยภาพในการให้บริการ ส่วน true ลงทุนมากเกินไปจนหมดเงินพัฒนาระบบ มั่นใจการควบรวมสำเร็จด้วยดี รอขั้นตอนพิจารณาเงื่อนไขของ กสทช.ก่อนเดินหน้าควบรวมธุรกิจในขั้นตอนต่อไป

 

หลังกลายเป็นข่าวการควบรวม Big Deal ระดับโลกระหว่าง 2 ค่ายผู้ให้บริการโทรคมนาคมของไทยอย่าง true corp และ dtac ภายใต้การบริหารของกลุ่ม Telenor ซึ่งขั้นตอนการควบรวมดำเนินไปถึงขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งหากยังไม่ผ่านขั้นตอนดังกล่าวการควบรวมกิจการจะต้องยืดระยะเวลาออกไปอีก

 

แรงกดดันอยู่ที่ กสทช. ควบรวมไม่ใช่เข้าซื้อ

ด้าน คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า การควบรวมกิจการแตกต่างจากการเข้าซื้อกิจการ (Take Over) ซึ่งการควบรวมกิจการตามกฎหมายกำหนดสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ กสทช.อนุมัติแต่อย่างใด แต่เนื่องจากกระบวนการควบรวมจะต้องให้ กสทช.เป็นผู้กำหนดเงื่อนไขในการควบรวม การควบรวมระหว่าง true และ dtac อยู่ในขั้นตอนดังกล่าว

นั่นเท่ากับว่าการควบรวมเป็นที่เสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากไม่รอให้ กสทช.กำหนดเงื่อนไขการควบรวมครั้งนี้ และดำเนินการควบรวมในขั้นตอนต่อไปทันที กสทช.อาจดำเนินการร้องขอต่อศาลปกครองให้ระงับการควบรวม ซึ่งไม่มีใครต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น แต่หากยิ่งรอเวลานานต่อไปอาจส่งผลกระทบต่อนักลงทุนและจะส่งผลต่อการพัฒนาธุรกิจ และเป็นแรงกดดันมหาศาลจากนักลงทุนที่ทาง true และ dtac ต้องประสบ

ไม่เพียงเท่านี้ยังอาจส่งผลต่อการพัฒนาในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการนวัตกรรมใหม่ๆ เข้าไปพัฒนา นอกจากนี้ยังทำให้แผนการพัฒนานวัตกรรมและแผนการพัฒนา Startup สู่การเป็น Digital Hub ต้องยืดระยะเวลาออกไป

 

ธุรกิจเปลี่ยน การควบรวมจะช่วยพัฒนา

ขณะที่ คุณซิกเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์ กรุ๊ป ในฐานะบริษัทแม่ของ dtac ชี้ว่า ธุรกิจโทรคมนาคมไม่ได้มีเพียง 3 ราย แต่การเข้ามาของ Big Tech ระดับโลกทำให้ตลาดเปลี่ยนแปลงไป การควบรวมจะช่วยให้ทั้ง 2 บริษัทมีศักยภาพที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ ซึ่งการแข่งขันในตลาดไม่ได้นับจำนวนผู้เล่น แต่นับที่ศักยภาพของผู้เล่น ถ้ามีผู้เล่น 2 รายที่มีศักยภาพเท่าเทียมกันน่าจะแข่งขันได้ดีกว่าการมีผู้เล่น 3 รายที่มีศักยภาพการแข่งขันเพียงรายเดียว แต่อีก 2 รายไม่สามารถแข่งขันได้

ด้าน คุณศุภชัย เสริมว่า ในอดีตผู้คนใช้โทรศัพท์คุยกันส่ง SMS หากัน แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครใช้โทรศัพท์แล้ว ส่วนใหญ่ใช้แอปฯ โทรหากัน SMS ที่เป็นรายได้ของธุรกิจโทรคมนาคมก็หันไปใช้การส่งข้อความผ่านแอปฯ หรือยกตัวอย่างที่ให้เห็นภาพชัดขึ้น ห้างค้าปลีกตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมาคู่แข่งจะเป็นห้างค้าปลีกด้วยกัน แต่ปัจจุบันคู่แข่งห้างค้าปลีกคือแอปฯ ช้อปปิ้งออนไลน์ที่มี Revenue ใกล้เคียงกับห้างค้าปลีก ทั้งที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี

 

ดังนั้น คู่แข่งปัจจุบันของธุรกิจโทรคมนาคมจึงไม่ใช่ธุรกิจโทรคมนาคมด้วยกันเอง ซึ่งการที่ให้บริษัททั้ง 2 บริษัทที่มีศักยภาพในการพัฒนาลดลงไปควบรวมเพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขัน จะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ดี โดยเฉพาะการเริ่มเข้ามาของเทคดนดลยี 6G

 

การควบรวมสู่การพัฒนาประเทศไทย

คุณศุภชัย ยังอธิบายว่า การควบรวมครั้งนี้จะเป็นการนำโครงสร้างพื้นฐานมาแชร์ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้มีโครงข่ายที่กว้างมากขึ้น และอาจจะสามารถขยายการทำธุรกิจไปสู่รูปแบบ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) หรือการให้ธุรกิจมาเช่าใช้สัญญาณและโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการ ในอดีตก็เคยมีผู้ให้บริการอย่าง SAMART ที่เป็นธุรกิจ MVNO ให้กับทาง TOT

นอกจากนี้จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านเทคโนโลยีทั้ง 5G, IoT, Edge Cloud, Security รวมไปถึง AI เพื่อพัฒนาประเทศไทย ไม่เพียงเท่านี้ Startup จะได้รับประโยชน์จากการควบรวมกิจการในครั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าอินโดนีเซีย เวียดนามและสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการสร้าง Startup แม้ว่าประเทศไทยจะมีการใช้เทคโนโลยีที่สูงแต่ Startup ของไทยกลับอยู่ในอันดับที่ 11 ของภูมิภาค โดยมี Startup ของไทยระดับ Unicorn เพียง 3 รายในปี 2564 (Bitkub, Ascend และ Flash Express) ชี้ให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตของ Startup

การควบรวมครั้งนี้จะมีการระดมเงินลงทุน (Venture Capital) กว่า 7.3 พันล้านบาทหรือราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีโอกาสระดุมได้สูงถึง 800-1000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะเน้นด้านศูนย์กลางนวัตกรรมที่จะสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจ Startup ที่แข็งแกร่งและสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านการเดินทางสู่การสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับภูมิภาค ด้วยศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีในอนาคต

 

สิ่งที่ต้องจับตานับจากนี้

การตั้งโต๊ะชี้แจงครั้งนี้ จึงเป็นการกดดัน กสทช.เพื่อให้เร่งการพิจารณาเงื่อนไขที่ทั้ง 2 บริษัทต้องดำเนินการ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการโต้แย้งการควบรวม และการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลระบุชัดเจนว่า “กสทช.มีอำนาจสั่งห้ามการรวมธุรกิจได้” ขณะที่คุณศุภชัยก็ย้ำชัดเจนว่า การควบรวมไม่ต้องรอให้ กสทช.อนุมัติหรือไม่ เนื่องจากไม่ใช่การเข้าซื้อกิจการ กสทช.จะต้องพิจารณาเงื่อนไขการควบรวมครั้งนี้ เพื่อให้ทั้ง 2 บริษัทปฏิบัติเท่านั้น

 

และคุณศุภชัยเองก็เข้าใจว่า เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ และทั้ง 2 บริษัทก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกับ กสทช. โดยคิดว่าการควบรวมไม่ควรไปจบลงที่ศาลปกครอง และไม่ควรล่าช้าไปกว่านี้

เรียกว่างานนี้ต้องติดตามจุด Climax อยู่ที่ กสทช.พร้อมจะพิจารณาเงื่อนไขหรือไม่ เพราะฝั่งที่คัดค้านก็คงต้องสร้างแรงกดดันไปยัง กสทช.เพื่อให้ระงับหรือชะลอการควบรวม ขณะที่ฝั่ง true – dtac ก็ต้องเดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อกดดันให้ กสทช.พิจารณาเงื่อนไขโดยเร็ว

 

สปอตไลท์จึงส่องไปที่ กสทช.ชนิดที่เรียกว่า เผือกร้อนถูกส่งให้จากทุกฝ่าย และการตัดสินใจของ กสทช.อาจพลิกโฉมธุรกิจโทรคมนาคมของไทยเลยก็เป็นได้


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา