‘ธุรกิจท่องเที่ยว’ สำหรับบ้านเราแล้วถือเป็นหนึ่งในเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่แม้ตอนนี้ยังมีการเติบโตอยู่ แต่จากปัจจัยหลายอย่าง และการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่อาจไม่ดีพอนัก จากการกระจุกของนักท่องเที่ยวในจังหวัดหรือแหล่งท่องเที่ยวหลัก รวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านในยุค Digital Transformation
สิ่งเหล่านี้ ทำให้การวิเคราะห์และวางยุทธศาสตร์ธุรกิจท่องเที่ยวไทย ต้องกลับมาคิดใหม่ ทำใหม่ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้โดยตรงอย่าง ‘การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท.’ ได้ประกาศแล้วว่า Big Data จะมาเป็นหัวใจต่อจากนี้
ที่สำคัญ จะเข้ามาช่วยสร้างตลาดใหม่ ๆ สำหรับเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ แก้ปัญหาการพึ่งพิงรายได้จากตลาดเดิม ๆ หรือตลาดใดตลาดหนึ่ง เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเติบโตได้อย่างแข็งแรงในระยะยาว
“เมื่อก่อนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยว เป็นการทำแบบสำรวจ และบางครั้งเป็นการคาดการณ์ ซึ่งอาจไม่ตรงกับทิศทางของธุรกิจและความต้องการของนักท่องเที่ยว แต่เมื่อ Big Data เราจะดูข้อมูลเชิงลึก ดูไลฟ์สไตล์นักท่องเที่ยวแต่ละประเทศ ใช้เทคโนโลยีมาช่วยวิเคราะห์และวางแผนได้ดียิ่งขึ้น เพื่อหาโอกาสใหม่ ๆ ให้ท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นข้อดีของ Big Data”ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน ททท.เล่าที่มาของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
และนี่ จึงเป็นที่มาของโครงการ “Tourism Smart Data Management” ในการรองรับ Smart Data สำหรับเป็นแหล่งข้อมูลด้านท่องเที่ยวในยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยจะทำบนแพลตฟอร์มเว็บไซต์ของ ททท. ก็คือ www.TourismThailand.org ภายใต้เป้าหมาย คือ
1. การเพิ่มรายได้ด้านท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเมืองรอง 55 จังหวัด เพราะอย่างที่ทราบกัน รายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวจะกระจุกตัวในเมืองท่องเที่ยวหลักใน 22 จังหวัด อาทิ เชียงใหม่ , กรุงเทพฯ , เชียงใหม่ ฯลฯ ทำรายได้สูงถึง 70% ขณะที่เมืองรองทำรายได้อยู่ที่ 30%
2. สร้างความยั่งยืนทางการท่องเที่ยว โดยปัญหาที่ได้พบและได้ยินอยู่เสมอ ก็คือ การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในช่วงเทศกาล และปัญหาที่ตามมา ก็คือ แหล่งท่องเที่ยวนั้นไม่สามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปได้ จนทำให้แหล่งท่องเที่ยวนั้น เกิดการเสื่อมโทรมและไม่สามารถอยู่ได้ในระยะยาว การมี Big Data จะเข้ามาช่วยวางแผนและแก้ไขในเรื่องนี้ได้
3. การพาองค์กรของ ททท. ก้าวสู่ Hi Performance Organization ที่จะขับเคลื่อนด้วยดาต้า ซึ่งถือเป็นสำคัญตามทิศทางของโลก และสอดคล้องกับทิศทางของประเทศไทย ในยุคไทยแลนด์ 4.0
“ดาต้าที่ได้ไม่ได้ใช้เฉพาะ ททท. เท่านั้น ยังเปิดให้ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว , สายการบิน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมและแคมเปญการตลาดให้สอดคล้อง รวมถึงตัวนักท่องเที่ยวเอง เพื่อให้สามารถวางแผนเดินทางและท่องเที่ยวได้ดี เป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดี”
สำหรับ Big Data ที่จะถูกนำมาใช้ในการวางยุทธศาสตร์ด้านท่องเที่ยวนั้น หลัก ๆ จะมาจาก 3 ส่วนหลัก นั่นคือ
1. Social Listening ดูกระแสการพูดถึงบนโลกโซเชียลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟสบุ๊ค , ทวิตเตอร์ , เว็บไซต์ ฯลฯ ว่า มีการพูดถึงประเด็นท่องเที่ยวของไทยในแง่มุมใดบ้าง และต้องการอะไร ฯลฯ โดยจากการสำรวจพบว่า Top 5 ที่นักท่องเที่ยวอยากได้ ได้แก่ อันดับ 1 แหล่งท่องเที่ยว อันดับ 2 ที่พัก อันดับ 3 การเดินทาง อันดับ 4 กิจกรรมด้านการท่องเที่ยว อันดับ 5 แหล่งช้อปปิ้งและร้านอาหาร
2. มาจากพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ อาทิ Online Travel Agency (OTA) , โอเปอเรเตอร์ระบบมือถือค่ายต่าง ๆ และเสิร์ช เอนจิ้น เช่น กูเกิล เป็นต้น และ 3.ความร่วมมือระหว่างรัฐกับรัฐ เช่น กระทรวงต่างประเทศ , กระทรวงไอซีที , กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ฯลฯ
ตามแผนที่วางไว้ Tourism Smart Data Management เบื้องต้นจะมีพาร์ทเนอร์ 10 ราย และในอนาคตพยายามจะขยายเพิ่มเติมให้คลอบคลุมมากขึ้น ซึ่งการใช้จะสามารถใช้ได้ในทุก Device และอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มให้สามารถเชื่อมต่อกันได้แบบ end to end
“ข้อมูลที่ได้จะทำให้เราวางแผนได้ตรงจุดจริง ๆ และเป็นสิ่งที่ทั้งผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวต้องการ เช่น ข้อมูลที่ได้จากค่ายมือถือ เราสามารถดูการโฟลว์ของคนในช่วงสุดสัปดาห์ หรือช่วงเทศกาลว่า คนไปกระจุกในพื้นที่ใดบ้าง แล้วนำมาวิเคราะห์วางแผนว่าควรทำอย่างไรในการรองรับ หรือกระจายไปสู่แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ เป็นต้น”
แม้ทาง ททท.จะยังประเมินไม่ได้ว่า การใช้ Big Data มาเป็นหัวใจของการวางยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวของไทยต่อจากนี้ เบื้องต้นจะสร้างการเติบโตได้เท่าไร แต่เชื่อว่า จะส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมดังกล่าวในระยะยาวแน่นอน
โดยเป้าหมายในปี 2561 ประเมินไว้ว่า รายได้จากการท่องเที่ยวจะมีมูลค่าราว 3 ล้านล้านบาท มาจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท และตลาดไทยเที่ยวไทยอีก 1 ล้านล้านบาท
ส่วนในปี 2562 คาดว่า รายได้ของท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 12% และนักท่องเที่ยวในประเทศ 10% ซึ่งถือเป็นความท้าทายไม่น้อย และยังมีอีกหลายเรื่องต้องดำเนินการ โดยเฉพาะการเรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวจีน ที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับ 1 ของไทยที่ตอนนี้ลดลง