เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย จับมือ ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัวนวัตกรรม “หมึกพิมพ์ลายนูน”

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

JWT-1

บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย จับมือ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงประกาศความสำเร็จในการคิดค้นนวัตกรรมหมึกปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมการพิมพ์เพื่อช่วยเหลือคนตาบอดครั้งแรกของโลก ภายใต้ชื่อ “หมึกพิมพ์ลายนูน” หรือ “ทัชเบิ้ลอิงค์” (Touchable Ink) โดยขณะนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังถือเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา และนำร่องทดสอบให้บริการการพิมพ์แก่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนด้านเครื่องมือและการปรึกษาด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจาก บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด

นางสาวปรัตถจริยา ชลายนเดชะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย กล่าวว่า “ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการสื่อสารชั้นนำของโลก ฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ของ เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ได้ทำงานร่วมกับฝ่ายวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อศึกษาความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคในหลากหลายกลุ่ม เพื่อใช้เป็นข้อมูลอันเป็นประโยชน์ในการคิดค้นแนวคิดใหม่ๆ ในการสื่อสาร ตลอดจนเป็นข้อมูลเพื่อเป็น Market Insight ให้แก่ลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม โครงการ Touchable Ink เกิดจากการลงไปศึกษาพูดคุยและตระหนักถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคกลุ่มเล็กๆ ในสังคม ซึ่งก็คือคนตาบอด ว่าพวกเขามีความต้องการไม่ได้แตกต่างจากคนปกติ คือ ต้องการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเหมือนผู้มีสายตาปกติ และมีความภาคภูมิใจในการที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ตลอดจนพึ่งพาผู้อื่นให้น้อยที่สุด”

JWT-2

“ทั้งนี้ นวัตกรรม ‘หมึกพิมพ์ลายนูน’ หรือ ‘ทัชเบิ้ลอิงค์’ (Touchable Ink) เป็นสิ่งที่เข้ามาตอบโจทย์ เนื่องจากในการเรียนรู้และสัมผัสโลกภายนอกของคนตาบอดนั้น ส่วนหนึ่งต้องอาศัยอักษรเบรลล์ (Braille Code) แต่เครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ที่มีอยู่ในตลาดนั้นมีราคาแพงกว่าเครื่องพิมพ์ธรรมดาหลายเท่าตัว จึงไม่ใช่คนตาบอดทุกคนที่มีทุนทรัพย์หาซื้อได้ ดังนั้น ฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ของเราจึงได้ใช้เวลาศึกษาในรายละเอียด และปรึกษากับดร.นพรัตน์ พฤกษ์ทวีศักดิ์ หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับการสนับสนุนด้านเครื่องมือและการปรึกษาด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจาก บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ในการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว จนพบว่ามีความเป็นไปได้ในการผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ทดลองเพื่อทดสอบให้บริการแก่คนตาบอดได้เป็นผลสำเร็จ”

JWT-3

นายสาธิต จันทร์ทวีวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “นวัตกรรม ‘หมึกพิมพ์ลายนูน’ หรือ ‘ทัชเบิ้ลอิงค์’ (Touchable Ink) คือการพัฒนาหมึกพิมพ์ธรรมดาให้มีคุณสมบัติพองตัวได้เมื่อถูกความร้อนในอุณหภูมิที่เหมาะสม และมีความนูนเพียงพอต่อ การสัมผัสและรู้สึกได้ถึงรายละเอียดแม้มองไม่เห็น ดังนั้นนวัตกรรม ‘หมึกพิมพ์ลายนูน’ จึงสามารถนำมาใช้พิมพ์อักษรเบรลล์บนกระดาษธรรมดาและทดแทนการพิมพ์ผ่านเครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ที่มีราคาสูงได้ และที่พิเศษยิ่งไปกว่านั้น หมึกดังกล่าว ยังสามารถพิมพ์เป็นอักษรพิมพ์ปกติ หรือลวดลายอื่นๆ ให้คนตาบอดได้สัมผัสจริงๆ ได้ ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูสู่โลกใหม่และเป็นการพลิกโฉมการเข้าถึงความรู้ของคนตาบอด โดยเฉพาะผู้ที่ตาบอดแต่กำเนิดและไม่เคยสัมผัสหลายต่อหลายสิ่งที่คนสายตาปกติเห็นเป็นเรื่องธรรมดา อาทิ สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ ลักษณะตัวโน้ต หรือแม้แต่ภาพวาดศิลปะ ดังนั้น ‘หมึกพิมพ์ลายนูน’ จะเป็นเหมือนกุญแจที่จะเปิดพาพวกเขาไปยังโลกใบใหม่ที่ช่วยให้พวกเขารับรู้สิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเพื่ออำนวยประโยชน์แก่การใช้ชีวิตประจำวัน หรือเพื่อการเข้าถึงการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ ดนตรี คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ ฯลฯ”

“โดยในขณะนี้บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทยและภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำนวัตกรรม ‘หมึกพิมพ์ลายนูน’ ดังกล่าวมานำร่องทดสอบให้บริการการพิมพ์แก่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยเป็นที่แรก โดยได้รับการสนับสนุนด้านเครื่องมือและการปรึกษาด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจากบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด โดยในขั้นต้นจะดำเนินการพิมพ์ที่สมาคมฯ ภายใต้การควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญ ดร.นพรัตน์ พฤกษ์ทวีศักดิ์ หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ทัชเบิ้ลอิงค์’ ถือเป็นนวัตกรรมที่น่าภาคภูมิใจมาก เนื่องจากเกิดการคิดค้นสร้างสรรค์ของคนไทย ที่หากนำไปพัฒนาต่อจะสามารถนำไปช่วยเหลือคนตาบอดได้ทั่วโลก เนื่องจากพวกเขาจะสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องพิมพ์ธรรมดาที่มีราคาเริ่มต้นไม่ถึง 2,000 บาท ซึ่งถูกกว่าเครื่องพิมพ์เบรลล์ซึ่งมีราคาเริ่มต้นสูงถึงหลักแสน โดยขณะนี้ ทางภาควิชาฯ กำลังร่วมกับบริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย พิจารณาดำเนินการจดสิทธิบัตร”

JWT-4

นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ตำแหน่ง นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย มีความยินดีและประทับใจเป็นอย่างมากที่ บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย, ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนคนตาบอด โดยทางสมาคมฯ มีความเชื่อมั่นว่านวัตกรรม ‘หมึกพิมพ์ลายนูน’ หรือ ‘ทัชเบิ้ลอิงค์’ (Touchable Ink) จะช่วยให้คนตาบอดสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายขึ้น และเข้าถึงการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อสามารถพัฒนาตนเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของสังคมได้เท่าเทียมคนปกติได้ในอนาคต”


  •  
  •  
  •  
  •  
  •