จะเกิดอะไร? เมื่อ dtac ผูกมิตร TOT ลงนามให้บริการ 4G คลื่น 2300 MHz

  • 334
  •  
  •  
  •  
  •  

700

เป็นประเด็นให้หลายฝ่ายจับตามองมาซักระยะหนึ่งแล้ว สำหรับ dtac กับคลื่นความถี่ 850 MHz และ 1800 MHz ที่กำลังจะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปีนี้ ซึ่ง dtac ถือครองคลื่นดังกล่าวรวม 35 MHz (แบ่งเป็น 10 MHz และ 25 MHz ตามลำดับ)

คำถาม คือ ถ้าหมดระยะเวลาสัมปทานคลื่นความถี่ดังกล่าวแล้ว dtac จะหาคลื่นจากที่ไหนมารองรับและให้บริการ? เพิ่มเติมจากคลื่น 2100 MHz ที่เหลืออยู่เพียง 15 MHz และใช้งานได้ถึงปี 2570

ล่าสุด มีการประกาศความคืบหน้าจาก dtac ว่า ได้มีการลงนามกับ TOT ในสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคม และสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศระบบ 2300 MHz เพื่อให้บริการ 4G LTE-TDD ผ่านแบนด์วิดท์ที่กว้างถึง 60 MHz เพื่อให้บริการโครงการโทรคมนาคม อาทิ การให้บริการไร้สายความเร็วสูง (Broadband Wireless Access, BWA),บริการบรอดแบนด์ไร้สายประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

ส่วนการลงนามความร่วมมือนี้ เป็นการดำเนินงานในนาม เทเลแอสเสท บริษัทลูกของดีแทค ไตรเน็ต ซึ่งมีระยะเวลาถึงปี 2568 ทำให้ TOT มีโอกาสรับรายได้จาก dtac ในการให้ใช้บริการโรมมิ่งเครือข่ายนี้ราว 4,510 ล้านบาทต่อปี

1

อย่างไรก็ตาม dtac ไม่ได้รับสิทธิ์ใช้โครงข่ายดังกล่าวทั้งหมดเพียงรายเดียว เพราะ TOT ใช้ความจุโครงข่ายส่วนหนึ่ง (Capacity) เพื่อให้บริการลูกค้าของตนเองและใช้กับงานนโยบายภาครัฐ

เรื่องนี้ คุณมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ TOT กล่าวว่า จากแนวนโยบาย แผนการบริหารและมาตรการต่างๆ ของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่กำหนดให้คณะกรรมการ TOT กำกับดูแลให้ TOT ดำเนินงานตามแผนพลิกฟื้นองค์กร ด้วยการจัดทำแผนดำเนินงานที่ใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนมาถึงวันนี้ TOT ได้รับความอนุเคราะห์และความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน ต้องขอบคุณ กสทช. ที่อนุญาตให้ TOT ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่ใช้งานอยู่เดิมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อนำมาให้บริการเสียง ข้อมูล และพหุสื่อ ภายใต้แผนการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz รวมถึง สำนักงานอัยการสูงสุดที่ให้ข้อสังเกตและข้อคิดเห็นเพื่อปรับปรุงร่างสัญญาจนสมบูรณ์เป็นอย่างดี

จากผู้สนใจ 6 ราย ที่เข้าร่วมยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นพันธมิตรคู่ค้าผ่านคลื่นความถี่ 2300 MHzกลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต เป็นผู้ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกมาอย่างโปร่งใส รัดกุม ทุกขั้นตอนโดยทีมงานที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ในการสรรหาคู่ค้าระดับโลก ซึ่งก็คือ บริษัท เดเทคอน และไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ ที่เริ่มกระบวนการคัดเลือกคู่ค้าตั้งแต่ปลายปี 2559 โดยกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการสรรหาคู่ค้าอย่างละเอียด ทั้งทางด้านเทคโนโลยี ผลงาน รวมถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา และตลอดจนผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ TOT มั่นใจว่าพันธมิตรคู่ค้าที่ผ่านการคัดเลือกจากที่ปรึกษาจะส่งเสริมการทำธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะบริการไร้สายในระยะยาว และสร้างหลักประกันด้านการเงินให้กับ TOT ได้เป็นอย่างดี

2

คุณลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร dtac กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีความสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตของคนไทยและการพัฒนาประเทศ เพราะเราได้คลื่น 2300 MHz ที่มีความกว้างถึง 60 MHz มาเพิ่มคุณภาพบริการ และพลิกประสบการณ์การใช้งานดิจิทัลของผู้บริโภคที่จะสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้น ลื่นขึ้นกว่าเดิม

สำหรับโครงข่าย 4G LTE-TDDบนคลื่นความถี่ 2300 MHz เหมาะกับการใช้งานเทคโนโลยี Time Division Duplex (TDD)ในทางเทคนิค TDDคือ การใช้งานคลื่นความถี่แบนด์เดียวทั้งรับและส่งข้อมูลในเวลาเดียวกัน มีศักยภาพในการรองรับการใช้งานดาต้าได้เป็นอย่างดี ตามรายงานของ GSMA Intelligence การขยายโครงข่าย LTE-TDD ของผู้ประกอบการทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยคาดว่า TDD จะมีสัดส่วนทั่วโลกถึง 22% ในปี 2563


  • 334
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน