เป็นอันสิ้นสุดข่าวลือเรื่องการควบรวมของธนาคารธนชาต (TBANK) และธนาคารทหารไทย (TMB) ที่มีมาข้ามปี เพราะล่าสุด เช้าวันที่ 27 ก.พ. ได้มีการแถลงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงที่ TMB ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Non-binding Memorandum of Understanding) กับTBANK ร่วมด้วย ING Groep N.V., บริษัททุนธนชาตจำกัด (มหาชน) หรือ TCAP และ The Bank of Nova Scotia จำกัด (มหาชน) หรือ BNS ที่ได้ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อวานนี้
ในงานแถลงข่าวเต็มไปด้วยกองทัพนักข่าว ขณะที่บนเวทีประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงการคลัง และผู้บริหารจาก TMB พร้อมด้วยผู้บริหารจาก TBANK ผู้บริหารจากกลุ่มทุนธนชาต (TCAP) ผู้ถือหุ้นใหญ่ TBANK และผู้แทนจาก ING ผู้ถือหุ้นหลักของ TMB โดยไม่ปรากฏเงาตัวแทนจากทาง Scotiabank หรือ BNS
การแถลงข่าวเริ่มจาก คุณจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลังในฐานะตัวแทนประธานกรรมการธนาคาร TMB กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการของธนาคารทีเอ็มบี มองว่าแผนการรวมกิจการในครั้งนี้มีความลงตัวเหมาะสม เป็นการผนึกกำลังอย่างชัดเจนซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทำให้ธนาคารมีความมั่นคงมากขึ้นทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิดของภาครัฐในการส่งเสริมการรวมกิจการเพื่อเพิ่มขนาดกิจการและศักยภาพในการแข่งขัน โดยกระทรวงการคลังยินดีที่การควบรวมครั้งนี้เกิดขึ้น และจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารใหม่ (Merged Bank) ต่อไป”
ด้าน คุณปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB อธิบายว่า หลังจากเซ็นเอ็มโอยูร่วมกันในวันนี้แล้ว ภายใน 2-3 เดือนนี้ ทั้งสองธนาคารจะต้องมีการทำ Due Diligence ซึ่งก็คือการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ พิจารณา ต่อรอง และหาข้อสรุปสุดท้ายเพื่อตกลงเข้าทำสัญญา ถ้าหากคู่สัญญาทุกฝ่ายสามารถยุติกันได้ตามหลักการที่ตกลงกันไว้ใน MOU ขั้นตอนต่อไป TMB จะต้องจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (EGM) เพื่อขออนุมัติเพิ่มทุน โดยผู้นำการเพิ่มทุน ได้แก่ กระทรวงการคลัง และ ING ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน กระบวนการควบรวมและเพิ่มทุนต่างๆ จะจบสิ้นภายในปี 2562 นี้
เสริมจุดแกร่ง ผสานจุดแข็ง
สำหรับเป้าหมายการควบรวมกิจการครั้งนี้ คือการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยธนาคารใหม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น แข็งแกร่งขึ้น ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการประหยัดต้นทุนต่อขนาด (Economy of Scale) นอกจากนี้ยังช่วยให้มีผลิตภัณฑ์และช่องทางการบริการที่ครอบคลุมทำให้ตอบสนองลูกค้าได้ดีขึ้น และยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย
ปัจจุบัน TBANK มีสาขาทั้งสิ้น 512 สาขา มีพนักงานราวม 1.2 หมื่นคน และมีฐานผู้ใช้บริการ Mobile Banking กว่า 1 ล้านราย ขณะที่ TMB มีจำนวนสาขาทั้งสิ้นกว่า 500 สาขา มีพนักงานกว่า 8,000 คน และมีฐานผู้ใช้ Mobile Banking 1.5 ล้านราย
คุณศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหารจาก TCAP กล่าวว่า “TCAP สนับสนุนแผนการรวมกิจการในครั้งนี้ เพราะทำให้ธนาคารหลังการรวมกิจการมีศักยภาพมากขึ้น มีเงินทุนมากเพียงพอ มีช่องทางการให้บริการที่เพิ่มขึ้นมากเป็นเท่าตัว ธนาคารธนชาตเองในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการให้บริการสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ เป็นผู้นำอันดับ 1 ของตลาด เมื่อรวมกับ TMB ที่มีจุดเด่นในการระดมเงินฝาก จะทำให้ธนาคารหลังรวมกิจการมีต้นทุนการทำธุรกิจที่สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น มีศักยภาพในการสนับสนุนลูกค้าได้มากขึ้น โดยทาง TCAP ยินดีเป็นบริษัทที่ถือหุ้นรองจาก ING”
ด้าน คุณประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ TBANK จุดประสงค์เพื่อการรวมกิจการระหว่าง TMB และ TBANK เพื่อร่วมยกระดับการให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้า และมุ่งสู่การเป็นธนาคารชั้นนำของไทย ขณะที่ คุณสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ TCAP กล่าวเสริมว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้จะทำให้ธนาคารใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกลายเป็นธนาคารใหญ่อันดับที่ 6 ในประเทศไทย ที่มีทรัพย์สินรวมกัน 1.9 ล้านล้านบาท และทำให้มีฐานลูกค้าประมาณ 10 ล้านราย อีกทั้งยังเป็นการดึงจุดแข็งของแต่ละธนาคารมารวมเข้าไว้ด้วยกัน เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ซึ่ง TBANK เป็นผู้นำตลาด หลังการควบรวมจะทำให้ธนาคารใหม่กลายเป็นผู้นำตลาดนี้ทันที เป็นต้น ขณะเดียวกันจะกลายมาเป็นอันดับ 3-4 ในตลาดสินเชื่อด้านที่อยู่อาศัย และอันดับ 5 ในตลาดสินเชื่อเอสเอ็มอี
โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่
ทั้งนี้ ก่อนการควบรวมกิจการ TMB จะมีการเพิ่มทุน จากนั้น TBANK ก็จะมีการปรับโครงสร้างและลดขนาดให้ใกล้เคียงกับ TMB หลังเพิ่มทุน โดยขายธุรกิจบางส่วนออกเพื่อลดขนาดธุรกิจ ซึ่งเงินส่วนนี้จะถูกเตรียมไว้เพื่อการเพิ่มทุนในการควบรวมครั้งนี้ และหากทุกอย่างดำเนินเป็นไปตามแผน ทั้งการทำ Due Diligence และการเพิ่มทุนเป็นไปตามที่ตกลงไว้ใน MOU ครั้งนี้ โครงสร้างผู้ถือหุ้นในธนาคารใหม่นี้ จะประกอบด้วยผู้ถือหุ้นหลัก 3 ราย ได้แก่ กระทรวงการคลัง ซึ่งจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ต่อไป ขณะที่ ING และ TCAP แต่ละรายจะถือหุ้นในสัดส่วนมากกว่า 20% แต่ยังบอกตัวเลขที่ชัดเจนไม่ได้ ต้องรอหลังการทำ Due Diligence เสร็จสมบูรณ์
ขณะที่ BNS จะไม่มีการเพิ่มทุน ดังนั้น สัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารแห่งใหม่นี้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้บริหารจาก TCAP เป็นตัวแทนตอบถึงสาเหตุของการลดสัดส่วนการถือหุ้นของ BNS ธนาคารใหม่ว่า อาจเป็นเพราะ BNS อยากจะกลับไปโฟกัสตลาดในทวีปอเมริกาเหนือ ขณะที่วิสัยทัศน์ 10 ปีก่อนหน้านี้ ทาง BNS เคยมีแผนอยากจะรุกธุรกิจเข้ามาในเอเชียและประเทศไทย
ตรงกันข้ามกับ ING โดยตัวแทนจาก ING กล่าวถึงสาเหตุที่ ING ยังยินดีที่จะเป็นผู้ถือหุ้นหลักในธนาคารใหม่นี้ เพราะมองว่า อุตสาหกรรมการเงินการธนาคารในไทยยังมีศักยภาพในการเติบโต และที่ผ่านมา ING ก็เป็นพันธมิตรกับ TMB มานานกว่า 10 ปี แล้ว โดยตลอดระยะเวลานั้น ING ก็ได้มีการสนับสนุนช่วยเหลือ TMB ในด้านการพัฒนาธนาคารในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะช่วงหลัง ING ได้ให้การสนับสนุน TMB อย่างมากในการปรับตัวเป็น Digital Banking
มูลค่ารวมธุรกรรมครั้งนี้ 1.3-1.4 แสนล้านบาท
ผู้บริหารจากทาง TCAP ระบุว่าการรวมกิจการครั้งนี้จะใช้วิธีการโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer) โดยจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้ันประมาณ 130,000-140,000 ล้านบาท ซึ่งอาจมีการปรับมูลค่าในขั้นตอนสุดท้ายหลังการทำ Due Diligence ทั้งนี้ ประมาณ 70% ของเงินทุนที่ต้องจัดหาทั้งหมดนั้น จะมาจากการออกหุ้นเพิ่มทุน และส่วนที่เหลือ 30% จะดำเนินการจัดหาด้วยการออกตราสารหนี้ โดย TMB เป็นฝ่ายดำเนินการจัดหาเงินทุน
ในส่วนของการออกหุ้นเพิ่มทุนนั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกมูลค่าประมาณ 50,000-55,000 ล้านบาทจะเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุนให้แก่TCAP และ BNS เพื่อให้มีสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารใหม่ไม่ต่ำกว่า 20% โดยคาดว่าจะคิดมูลค่าหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารเท่ากับ 1.1 เท่าของมูลค่าทางบัญชีล่าสุดของธนาคาร สำหรับหุ้นเพิ่มทุนส่วนที่เหลือประมาณ 40,000-45,000 ล้านบาทนั้น TMB จะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นปัจจุบันของธนาคาร รวมทั้งอาจมีการเสนอขายหุ้นแก่นักลงทุนรายใหม่ในวงจำกัดอีกด้วย
สองธนาคารยังดำเนินงานต่อ…อย่างช้าถึงสิ้นปี
Mr. Philippe G.J.E.O. Damas ประธานกรรมการบริหาร TMB ระบุว่า ระหว่างนี้ ธนาคารทั้งสองแห่งยังคงดำเนินงานภายในชื่อธนาคารเดิมต่อไป เนื่องจากกระบวนการในการเลือกชื่อของธนาคารหลังการควบรวมกิจการอาจต้องใช้เวลาเป็นหลักเดือนหรือหลักปี โดยหลักการเดียวกันนี้ก็ถูกนำไปใช้กับการทำงานของพนักงานของทั้งสองธนาคาร กล่าวคือระหว่างนี้พนักงานของทั้งสองแห่งก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไปได้ ส่วนประเด็นว่าใครจากฝั่งไหนจะมาเป็น CEO ของธนาคารใหม่ ผู้บริหาร TMB กล่าวว่า ยังไม่มีการตัดสินใจ
เช่นเดียวกับลูกค้าของทั้งสองธนาคาร โดยคุณปิติ กล่าวว่า ฝากถึงลูกค้าของทั้งสองธนาคารยังสามารถใช้บริการและทำธุรกรรมกับธนาคารได้เหมือนปกติ ทั้งทางช่องทางสาขา และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เพราะก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการให้บริการแก่ลูกค้าได้ ธนาคารใหม่จะต้องมีการรวมข้อมูลและปรับ (Integrate) ระบบหลังบ้านให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน
คลังยืนยัน “ดีลนี้สำเร็จแน่นอน”
อย่างไรก็ดี เนื่องจากข้อตกลงตาม MOU นี้เป็นเพียงข้อตกลงในการเจรจาเบื้องต้นแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ดังนั้น ความไม่แน่นอนก็ยังมีอยู่ไม่น้อย จึงเป็นที่มาของคำถามทิ้งท้ายจากกองทัพนักข่าวที่ว่า ดีลนี้จะมีโอกาสสำเร็จกี่เปอร์เซนต์ โดยตัวแทนจากกระทรวงการคลัง คุณจุมพลกล่าวว่า “เนื่องจากดีลนี้จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการธนาคารของไทย และระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่าดีลนนี้จะต้องสำเร็จอย่างแน่นอน”
ขณะที่ตัวแทนจากทั้ง TMB และ TBANK บนเวที ก็สรุปตรงกันว่า เนื่องจากความท้าทายในการแข่งขันของโลกการเงินการธนาคารยุคดิจิทัล จำเป็นต้องอาศัยต้องมีความได้เปรียบในเรื่องของขนาดกิจการที่ใหญ่ (Scale) เป็นหัวใจในการสร้างความสามารถทางทางการแข่งขัน การควบรวมกิจการครั้งนี้จะทำให้ธนาคารใหม่มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“ดีลนี้ไม่มีใครแพ้ ใครชนะ แต่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และหลังจากนี้ทุกอย่างจะถูกจัดสรรอย่างยุติธรรม” หนึ่งในผู้บริหารกล่าว
สุุดท้ายแล้ว หลังจากรวมกันแล้ว ธนาคารใหม่ (Merged Bank) จะแข็งแกร่งแค่ไหน โปรดติดตามตอนต่อไป…