ตั้งโจทย์ใหญ่! เปลี่ยนอุปสรรคเป็นโอกาส “TMB” เจาะ Insights เติมแกร่ง SME พ้นหล่มธุรกิจ

  • 493
  •  
  •  
  •  
  •  

TMB_SME_Thumbnail

มองย้อนไปในอดีต การทำธุรกิจเปรียบเสมือนความลับ ยิ่งประสบความสำเร็จแล้ว ยิ่งต้องคอยปกปิดไม่แพร่งพรายรายละเอียดหรือเคล็ดลับกับใคร ๆ เพราะกลัวถูกลอกเลียนความสำเร็จ หรือแม้กระทั่งกลัวจะมีคู่แข่ง

“แต่ธุรกิจในปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว SME คนรุ่นใหม่พร้อมจะบอก พูดคุย แนะนำกันอย่างจริงใจแม้ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจเดียวกัน” คุณชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี TMB เริ่มต้นการพูดคุยด้วยการเล่าถึงสภาพการทำธุรกิจของ SME ไทยในปัจจุบัน พร้อมอธิบายปัญหาของคนทำธุรกิจว่า… เราอยู่ในยุคที่ธุรกิจเก่าต้องปรับตัว จากออฟไลน์ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่บนออนไลน์ รวมถึงการเพิ่มเติมบริการใหม่ ๆ เพื่อความต้องการของลูกค้า เช่นเดียวกับที่ TMB พัฒนาและนำเสนอหลาย ๆ บริการเพื่อเป็นตัวช่วย SME ไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

SME แจ้งเกิดปีละ 70,000 ราย แต่เหลือรอดไม่ถึงครึ่ง!

คุณชมภูนุช ยังเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจของ SME ไทยอีกว่า สสว. (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ระบุสถิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีธุรกิจเกิดใหม่กว่า 70,000 รายต่อปี แต่มีเพียง 50% ที่สามารถก้าวผ่านปีแรกไปได้ และเมื่อผ่านปีแรก ก็จะมีอีก 10% ที่ไปไม่ถึงฝันและต้องปิดตัวลง

TMB หยิบ Pain Point มาขยี้ ประคองฝันคนทำธุรกิจ

สิ่งที่สะท้อนวงจรชีวิตของ SME ทำให้ TMB ตัดสินใจทำแบบสำรวจออนไลน์จากผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศซึ่งเลือกจากกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ย 1-50 ล้านบาทต่อปี โดยคละประเภทธุรกิจ คละอุตสาหกรรม รวม 200 คน

“เราทำ Insights เพื่อ SME เป็นครั้งแรกโดยร่วมกับบริษัทวิจัยชั้นนำ ภายใต้การดำเนินงานของทีม TMB SME Insight Hub ซึ่งจากนี้เราจะทำ Insights เช่นนี้ 2-3 ครั้งต่อปีหากเป็นไปได้ เพื่อสนับสนุนลูกค้า SME ให้สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย ซึ่ง Insights ครั้งแรกเป็นการตีโจทย์ใหญ่จากการวิจัยพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของ SME ไทย เพื่อค้นหาคำตอบว่าอะไรเป็นปัจจัยขัดขวาง SME ไม่ให้ไปถึงฝั่งฝัน และหวังว่า Insights ครั้งนี้จะช่วยจุดประกายให้ SME ได้เรียนรู้และเข้าใจ สามารถสร้างการเติบโตอย่างแตกต่าง Make THE Difference ให้กับธุรกิจของทุกคน”

ทั้งนี้ Insights ดังกล่าวจะแบ่งวงจรชีวิตของ SME ออกเป็น 3 ช่วงสำคัญ คือ ช่วงเริ่มต้น (Start) ซึ่งเงินทุนและแผนธุรกิจเป็นปัจจัยหลักในการตั้งต้นธุรกิจใหม่ ช่วงพัฒนาและช่วงอิ่มตัว (Growth & Mature) หากบริหารกำไรและเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งรู้จักมองหาตลาดใหม่เสมอ ย่อมทำให้ธุรกิจเติบโตถึงขีดสุด แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ไม่ว่าจะทำให้ธุรกิจขยายตัว ทรงตัว หรือถดถอย ล้วนถือเป็นความท้าทายที่ SME จะต้องใส่ใจและเตรียมรับมือเพื่อเลือกเส้นทางที่เหมาะสมต่อไป

“แม้เราจะอยู่ในฐานะธนาคารผู้ปล่อยกู้สินเชื่อ แต่ TMB ก็ตั้งเป้าหมายเติบโตอย่างมีคุณภาพ หมายถึงการเติบโตไปพร้อมกับลูกค้า ซึ่งแม้ว่าจะการเติบโตด้านสินเชื่อจะเป็นสิ่งที่เราคาดหวังแต่เราก็อยากเห็นลูกค้า SME สามารถเติบโตอย่างมีศักยภาพไปพร้อมกัน”

TMB_2

ถอดรหัส 7 หลุมพรางสกัดฝันผู้ประกอบการไทย

สำหรับข้อมูลสะท้อนพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของ SME ที่ TMB ได้จากการทำ Insights ดังกล่าว สามารถแบ่งได้เป็น 7 เรื่อง ดังนี้

หลุมพรางที่ 1 : ใช้เงินทุนโดยไม่วางแผน

โดย 84% ของ SME ใช้เงินเก็บส่วนตัวหรือของครอบครัวมาใช้เป็นเงินตั้งต้นธุรกิจ หากธุรกิจผิดพลาด ตนเองและครอบครัวย่อมจะได้รับผลกระทบทันที ที่น่าสนใจคือ SME ราว 27% เลือกใช้เงินทุนตั้งต้นธุรกิจจากการใช้บริการสินเชื่ออเนกประสงค์และการกดเงินสดจากบัตรเครดิต โดยยอมแบกรับกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินความคุ้มค่าระหว่างดอกเบี้ยกับกำไรของธุรกิจ

หลุมพรางที่ 2 : ทำธุรกิจโดยไม่ใช้แผนธุรกิจ

การวางแผนธุรกิจเป็นสิ่งที่จะทำให้ SME เติบโตอย่างยั่งยืน แต่ SME กว่า 72% ยอมรับว่าถึงจะมีแผนธุรกิจหรือไม่มี ก็ไม่เคยทำตามแผน จึงต้องคอยแก้ปัญหารายวันและปัญหาเฉพาะหน้าเพราะการวางแผนที่ไม่รอบด้านนั่นเอง

หลุมพรางที่ 3 : กระเป๋าธุรกิจ และกระเป๋าส่วนตัว คือกระเป๋าเดียวกัน

ราว 67% ของ SME มีพฤติกรรมการใช้ “เงินธุรกิจ” กับ “เงินส่วนตัว” ปนกัน อาทิ ให้คู่ค้าโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวโดยจำไม่ได้ว่าเงินของส่วนตัวมีอยู่เท่าไร, ไม่เคยตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง เมื่อต้องการใช้เงินส่วนตัวหรือครอบครัว มักจะเอาเงินได้จากบริษัทออกมาจ่าย, หยิบเงินสดจากเครื่องเก็บเงินหรือลิ้นชักออกมาจับจ่ายส่วนตัวโดยไม่ได้จดค่าใช้จ่ายไว้ เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการดำเนินธุรกิจให้เติบโตในระยะยาว

หลุมพรางที่ 4 : ยอดขายสูง แต่อาจไม่กำไร

การทราบต้นทุนที่ถูกต้องและครบถ้วนเป็นเครื่องการันตีกำไรของธุรกิจ แต่ 37% ของ SME เคยทำพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการขายของขาดทุน ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ 14% ลดราคาสินค้าโดยไม่ได้พิจารณาถึงต้นทุน 14% ลืมใส่เงินเดือนตัวเองลงไปในต้นทุนสินค้า และ 9% คิดเพียงว่าแค่ขายสินค้าให้มากกว่าราคาวัตถุดิบ ก็เท่ากับได้กำไร

หลุมพรางที่ 5 : ทุ่มเวลากับการผลิตจนไม่มีเวลาให้การตลาด

เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของ SME แบ่งเป็น 4 ส่วนงาน คือ 1.กระบวนการผลิต ได้แก่ การจัดหาวัตถุดิบ การบริหารสต็อคสินค้า การสรรหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเสริมทัพ การผลิตและการบรรจุ 2.งานสำนักงาน ได้แก่ การทำบัญชี การเงินและภาษี การวิเคราะห์ยอดรายรับ-รายจ่าย การบริหารพนักงานและสวัสดิการ การทำเอกสารซื้อ-ขาย 3.การขาย การเฝ้าหน้าร้าน การพบปะลูกค้าและการขายสินค้า และ 4.การตลาด ได้แก่ การตลาดและการสร้างแบรนด์ จึงพบว่า SME กว่า 87% ไม่มีเวลาให้กับการตลาด โดยระบุว่าหมดเวลาไปกับเรื่องต่าง ๆ เช่น 63% ระบุว่าใช้เวลาอยู่กับกระบวนการผลิต, 43% วุ่นกับงานในสำนักงาน, 30% การขาย และมีเพียง 13% ที่ทำการตลาด สิ่งเหล่านี้กลายเป็นอุปสรรคที่แบรนด์จะสามารถสร้างจุดเด่นหรือความแตกต่างจากคู่แข่งได้ทั้งที่มีโอกาส

หลุมพรางที่ 6 : ONE MAN SHOW…NO Stand-in

กลายเป็นเรื่องน่าตกใจที่ว่า 70% ของ SME ไทย ไม่สามารถหาบุคคลที่เป็น “ตัวตายตัวแทน” ตัดสินใจทางธุรกิจแทนได้เลย ขณะที่ 49% ยอมรับว่าพบปัญหาธุรกิจสะดุด หากตนเองไม่อยู่ดูแลหรือขายสินค้าเองในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ยอดขายลดลง ออเดอร์หรือฐานลูกค้าหายไปทันที

หลุมพรางที่ 7 : ไม่พร้อมรับมือกับสิ่งใหม่

จากข้อมูลพบว่ามี SME ถึง 62% ที่ขยันสรรหาสิ่งใหม่เพื่อพัฒนาธุรกิจเสมอ ขณะที่ 38% ยังไม่พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ ซึ่งราว 19% ให้เหตุผลว่าเกรงจะมีปัญหาในช่วงเริ่มต้นสิ่งใหม่ 14% ไม่เปิดรับหรือไม่มีเวลาหาข้อมูลสิ่งใหม่ และ 5% มองว่าธุรกิจที่ทำอยู่นั้นดีอยู่แล้วจึงไม่สนใจที่จะเปลี่ยนแปลง

TMB_3

ไข 7 เรื่อง(ไม่)ลับ มองหาทางรอดธุรกิจ

คุณชมภูนุช ได้บอกเคล็ดลับการนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จว่า หลายครั้งที่บางธุรกิจสามารถเติบโตและขยายสาขาไปได้มากแต่กลับต้องปิดตัว เนื่องจากไม่เข้าใจการคำนวณต้นทุนที่แท้จริง ขาดการบริหารจัดการวัตถุดิบ หรือแม้แต่การพิจารณาปิดสาขาที่ไม่ทำรายได้หรือกำไร รวมถึงปัญหาด้านวิธีคิด มุมมองใหม่ รวมถึงด้านเครื่องมือและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจได้ สิ่งเหล่านี้ต้องไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้ ไม่ใช่แค่มองตนเองแต่ต้องรู้จักมองคนอื่นด้วยว่ากระแสนั้นพัฒนาไปอย่างไรแล้ว

อย่างไรก็ตาม TMB มีคำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงและช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างรอบคอบ ได้แก่ 1. เลือกเงินทุนและจัดสัดส่วนเงินลงทุนอย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงความเสี่ยง 2. วางแผนธุรกิจคร่าว ๆ ด้วยตนเอง 3. แยกกระเป๋าธุรกิจออกให้เป็นสัดส่วน หรือทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้เห็นเงินเข้าออกอย่างชัดเจน 4. คิดต้นทุนให้ครบ 5. หาเครื่องทุ่นแรงหรือคนมาช่วยดูแลธุรกิจ 6. คัดเลือกหรือพัฒนาบุคลากรเพื่อวางรากฐานให้มั่นคง และ 7. หาความรู้เพิ่มเติมเพื่อต่อยอดธุรกิจ เช่น การเดินงานแฟร์ คุยกับที่ปรึกษา SME ร่วมงานสัมมนา หรือ SME Community ต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ประกอบการด้วยกัน

“สิ่งสำคัญที่ TMB ให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือ ความเข้าใจและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ง่าย สะดวก ทำให้ TMB สามารถเข้าใจความต้องการของกลุ่ม SME ได้ลึกซึ้ง รวมถึงสร้างแนวทางในการให้คำปรึกษาและสนับสนุนลูกค้าให้สามารถเติบโตได้มากกว่า สอดคล้องกับแนวคิด Get MORE with TMB ของเรา และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน”

TMB_4

เสริมความแข็งแกร่งด้วยสารพัดเครื่องมือ เพื่อ SME ตัวจริง

นอกจากคำแนะนำหรือแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อ SME ไทย TMB ยังพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ อาทิ บัญชีธุรกิจ TMB SME One Bank ซึ่งเปิดโอกาสให้ทำธุรกรรมฟรี ช่วยแก้ปัญหารายละเอียดการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในบัญชี ทำให้ลูกค้าสามารถรับทราบข้อมูลการเงินได้แบบเรียลไทม์โดยไม่จำเป็นต้องคอยจดบันทึกรายรับ-จ่าย ขณะเดียวกัน ผู้ใช้บัญชีดังกล่าวยังสามารถใช้บริการโอน ถอน จ่าย ได้ฟรี ซึ่งถือเป็นการลดภาระต้นทุนในการดำเนินธุรกิจได้เป็นอย่างดี แต่ไม่ได้มีเพียงบริการสำหรับผู้เริ่มต้นธุรกิจ TMB ยังมีแผนการดำเนินงานเพื่อตอบสนอง SME ที่ต้องการขยายธุรกิจเช่นกัน อาทิ บริการ Advisory ให้คำปรึกษาทางธุรกิจแก่ลูกค้า รวมถึงการให้คำแนะนำในการเลือกสินเชื่อ ขั้นตอนการขอกู้ เพื่อทำให้ลูกค้าสามารถใช้เงินทุนได้ตรงตามวัตถุประสงค์การกู้อีกด้วย

“วันนี้ TMB เปิดกว้างให้ลูกค้าอย่างเดียว เราเรียนรู้ลูกค้าไปด้วย ยกตัวอย่างการที่ลูกค้าใช้บัญชีของเรา ก็ทำให้เกิดโอกาสในการศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น นำไปสู่ขั้นตอนการแนะนำบริการทางการเงินได้ตรงใจ ทำให้เกิดความคุ้มค่ามากกว่าที่เคย”


  • 493
  •  
  •  
  •  
  •