ดูท่าจะใกล้ปิดดีลแล้ว หลังจากเป็นกระแสข่าวมาตั้งแต่ปลายปี 2561 กรณีการควบรวมกันระหว่างธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB กับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งล่าสุดทาง กรุงเทพธุรกิจ ได้รายงานว่า เร็ว ๆ นี้ จะมีการเซ็นต์ MOU เกี่ยวกับดีลครั้งนี้แล้ว
รายงานดังกล่าว ได้กล่าวถึง ‘ประสงค์ พูนธเนศ’ ปลัดกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ที่เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการคลัง กับพันธมิตรใหม่จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ในการควบรวมกิจการระหว่าง TMB กับธนาคารธนชาต
ตามหลักการแล้ว หลังควบรวมกิจการ ‘ธนาคารธนชาต’ จะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ธนาคารทหารไทย’ ซึ่งตอนนี้ได้ข้อสรุปทั้งหมดแล้ว เหลือรายละเอียดอีกเล็กน้อย โดยผู้ถือหุ้นของทั้งสองธนาคาร คือ ธนาคาร ING Bank N.V. ที่ถือหุ้นในทหารไทย 25.018% รองจากกระทรวงการคลัง และผู้ถือหุ้นรายใหม่คือ ธนาคารธนชาต ที่มีต่างชาติ คือ Scotia Netherlands Holding B.V. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 48.99% ต้องมีการหารือเรื่องนี้ร่วมกันด้วย ไม่ใช่เพียงเป็นการคุยกันระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารธนชาตแล้วดีลนี้จบ
ในรายงานดังกล่าว ยังบอกด้วยว่า การหารือกันของทั้ง 2 ธนาคาร จะไม่ยกเว้นภาษี หรือลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2561 ที่อนุมัติออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ตามความในประมวลรัษฎากรว่า ด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย ที่กำหนดว่า จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ รวมถึงค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารพาณิชย์ที่ควบรวมกัน หรือโอนกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนให้แก่กัน ที่จะสิ้นสุดมาตรการในช่วงสิ้นปี 2562
ส่วนกระบวนการควบรวมต่อจากนี้นั้น ฝ่ายบริหารของธนาคาร 2 แห่ง จะต้องวางแผนรวมกันในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การควบรวมสาขา , ปรับปรุงหน่วยงานบริการและอื่น ๆ เป็นต้น คาดว่า อาจใช้เวลาดำเนินการราว 3-6 เดือน
หากปิดดีลระหว่าง TMB และธนาคารธนชาตได้ จะทำให้ธนาคารใหม่ที่เกิดจากการควบรวมครั้งนี้มีสินทรัพย์รวมประมาณ 1.87 ล้านล้านบาท มีเงินฝากรวม 1.37 ล้านล้านบาทและสินเชื่อรวมราว 1.33 ล้านล้านบาท
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ