ถึงเวลานี้แทบไม่มีอุตสาหกรรมไหนที่ไม่เจอคลื่น Digital Disruption โดยเฉพาะอุตสาหกรรมธนาคาร นับเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดขึ้นของ FinTech และการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่วิถีชีวิตมีความแตกต่าง หลากหลาย และซับซ้อน
เพราะฉะนั้นธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกราก และท้าทายอย่างยิ่ง คือ องค์กรที่ไม่หยุดนิ่ง เรียนรู้ และพร้อมปรับตัวอย่างรวดเร็ว
แต่การจะทำอย่างนั้นได้ ธุรกิจธนาคารต้องทรานส์ฟอร์มองค์กรขนานใหญ่ ที่ลงลึกถึง Corporate Culture เพื่อปรับ Mindset หรือมุมมอง และกระบวนการทำงานจากที่เคยสวมหมวก “Banker” เปลี่ยนมาสวมหมวก “Customer” ด้วยการรับฟังทุกเสียงของลูกค้า เพื่อทำความเข้าใจ และพัฒนาผลิตภัณฑ์-บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง !!!
“TMB” นับเป็นธนาคารแรกๆ ในประเทศไทยที่ทรานส์ฟอร์มองค์กรครั้งใหญ่ ด้วยประกาศแนวคิด “Make THE Difference” ในปี 2554 เปรียบเป็น Motto การทำงานของทุกคนในองค์กรให้กล้าคิด และกล้าลงมือทำในสิ่งที่แตกต่าง โดยที่ความแตกต่างนั้น ต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหา “Customer Pain Point” ได้จริง
หนึ่งในวิธีการที่ “TMB” นำมาใช้ปรับวัฒนธรรมองค์กร มุมมองของพนักงาน และกระบวนการทำงานภายใน คือ “HACKATHON”
“HACKATHON” คืออะไร ?
หลังนำแนวคิด “HACKATHON” มาใช้แล้ว ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรมากน้อยแค่ไหน ?
ผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้มาจากแนวคิด “HACKATHON” มีอะไรบ้าง ?!?
Marketing Oops! จะพาไปค้นหาคำตอบกับ “คุณกาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร TMB” พร้อมด้วยสองตัวแทนพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ TMB HACKATHON ในปีนี้
จะเป็นแบงก์ที่ลูกค้ารัก! ต้องเปลี่ยนจาก “Product Centric” เป็น “Customer Centric”
ในอดีต รูปแบบการทำงานของธนาคาร เน้น “Product Centric” นั่นคือ ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ออกสู่ตลาด มาจากธนาคารเป็นผู้กำหนด เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เมื่อธนาคารหนึ่งออกโปรดักต์ใหม่ อีกไม่นานธนาคารต่างๆ ก็จะออกตามกันมาอีกเพียบ กลายเป็นว่าทั้งอุตสาหกรรมมีโปรดักต์ “ไม่แตกต่าง” และสุดท้ายไปแข่งขันกันที่จำนวนสาขา จำนวนพนักงาน และโปรโมชั่น หรือดอกเบี้ย เพื่อจูงใจผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การที่ธนาคารเป็นผู้กำหนดทิศทางการออกผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเองนั้น ผลิตภัณฑ์บางตัวอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเลยด้วยซ้ำ !!
แต่ในยุคดิจิทัล ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และเป็นยุคแห่งการแข่งขันเสรี ดังนั้นหากธนาคารใดธนาคารหนึ่ง ยังคงยึดแนวคิด Product Centric ไม่เปลี่ยนแปลง ผลที่สุดแล้วผู้บริโภคจะย้ายไปอยู่กับสถาบันการเงิน หรือแม้แต่ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงใจมากกว่า
ด้วยเหตุนี้เอง หัวใจสำคัญของการรักษาฐานลูกค้าเก่า ควบคู่กับการสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ คือ “Customer Centric” หรือการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ด้วยการรับฟังทุกเสียงของลูกค้า เพื่อทำความเข้าใจความต้องการ และปัญหาที่ลูกค้ากำลังประสบอยู่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยแก้ปัญหาได้จริง
“ภาพชินตาของทุกคนต่อการเป็น Banker ใส่สูท ผูกไทด์ และธนาคารในอดีตไม่ได้ต่างกันมาก ต่างกันแค่จำนวนสาขา จำนวนพนักงาน มาในยุคหลังนี้ มีเรื่องของบริการเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในยุคดิจิทัล ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากมาย เพราะฉะนั้นลูกค้าจะเริ่มเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่แต่ละธนาคารนำเสนอนั้น แตกต่างกันอย่างไร อีกทั้งยังถูกนำไปรีวิวโดยเหล่า Digital Influencer ด้วย
เพราะฉะนั้นธนาคารต้องปรับตัวรอบด้าน โดยเฉพาะ “Speed of Change” เพราะเมื่อดิจิทัลเข้ามา ทุกอย่างเร็วหมด จากสมัยก่อน 5 – 10 ปี มีนวัตกรรมการเงินตัวหนึ่งออกมา แต่ตอนนี้ Speed เร็วขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ธนาคารต้องปรับตัว คือ จะทำทุกอย่างเพียบพร้อม แล้วค่อยออกสินค้าใหม่ หรือ Innovation ใหม่ ไม่ได้แล้ว”
เมื่อ Speed to Market คือเรื่องสำคัญในการแข่งขันยุคนี้ “TMB” จึงได้นำแนวคิด “HACKATHON” มาประยุกต์ใช้กับการทำงานรูปแบบใหม่ ที่ช่วยสร้าง “Employee Engagement” และ “Collaboration” ภายในองค์กร เพื่อนำไปสู่การสร้าง Solution ได้เร็ว และตอบโจทย์ลูกค้าได้จริง
ถอดแนวคิด “HACKATHON” โมเดลการทำงานใหม่ของแบงก์ บนความเข้าใจปัญหาลูกค้า
“HACKATHON” คำๆ นี้เป็นที่คุ้นเคยกันอย่างดีในแวดวงสตาร์ทอัพ เป็นกิจกรรมการแข่งขันที่ส่วนใหญ่จัดกันในวงการสตาร์ทอัพ โดยผู้จัดมีโจทย์ให้ ขณะที่ผู้สนใจ จะฟอร์มทีมเข้ามาสมัคร ในการแข่งขัน แต่ละทีมช่วยกันระดมสมอง เพื่อหาไอเดีย และวิธีการแก้โจทย์ตามที่กำหนดไว้ ภายในเวลาอันจำกัด
ผลลัพธ์ คือ ทำให้ได้ Solution หรือไอเดียสดใหม่ และเร็ว โดยผู้จัดการแข่งขันจะนำไอเดียที่ชนะ ไปประยุกต์ใช้ หรือต่อยอดอีกที ไม่ว่าจะออกมาเป็นโปรดักต์ใหม่ หรือการพัฒนาปรับปรุงโปรดักต์ที่มีอยู่แล้ว ให้ดียิ่งขึ้น
จากข้อดีของ HACKATHON ดังกล่าว “TMB” นำมาประยุกต์ใช้ภายในองค์กร เพื่อปรับ Mindset บุคลากร และทลายรูปแบบทำงานเดิมๆ ที่เป็น Silo ให้เป็น Cross-Functional Collaboration ที่สร้างความร่วมมือระหว่างแผนกมากขึ้น
นี่จึงเป็นที่มาของ “TMB HACKATHON” เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2561 กับกลุ่มสายงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการเพื่อลูกค้า ทั้งลูกค้าบุคคล – ลูกค้า SME – ลูกค้าองค์กร และผลจากการตอบรับเป็นอย่างดีของพนักงาน ทำให้เดินหน้าจัดต่อเนื่องในปีนี้
ความน่าสนใจของ “TMB HACKATHON” แตกต่างจาก HACKATHON อื่นตรงที่ แต่ละทีมที่เข้าร่วมมาจากการรวมตัวกันของพนักงานจากแผนกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการทั้ง Value Chain เช่น สายงานไอที, สายงานออกแบบ, สายงานการเงิน, สายงานกฎหมาย, สายงาน TMB Analytics, สายงานการตลาด และที่สำคัญต้องเริ่มต้นจากการตั้งโจทย์ด้วยตนเองที่มาจาก “ปัญหาของลูกค้า” (Customer Pain Point) ไม่ใช่ผู้จัดกำหนดโจทย์มาให้
เพราะฉะนั้นในปี 2561 มี 9 ทีม (10 คนต่อทีม) เท่ากับว่ามี 9 โจทย์ ในขณะที่ปี 2562 มี 10 ทีม เท่ากับมี 10 โจทย์ที่ตั้งต้นจาก “ปัญหาของลูกค้า” และหา “Solution” ที่เป็นการแก้ปัญหาลูกค้าให้ได้ภายใน “48 ชั่วโมง”
“TMB HACKATHON ให้ความสำคัญกับการตั้งคำถาม เพราะเราเชื่อว่าถ้าเราตั้งคำถามถูก การไปหา Solution หรือการพัฒนาแอปพลิเคชันนั้น ไม่ยาก เพราะการตั้งคำถามได้ถูก ทำให้ไม่หลงทาง นั่นคือสิ่งที่ทำให้ HACKATHON ของเราแตกต่าง” คุณกาญจนา เล่าถึงเหตุผลว่าทำไมต้องตั้งต้นจาก Problem Statement ของลูกค้า
โปรเจค ไม่ใช่อยู่แค่ในกระดาษ แต่ต่อยอดให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์การเงินจริง!
เชื่อว่าองค์กรหลายแห่งมักประสบปัญหาไอเดีย หรือโปรเจคที่ตกผลึกแล้วในที่ประชุม หรือร่วมกันระดมสมอง สุดท้ายแล้วได้แต่อยู่บนกระดาษ หรือในไฟล์ Presentation ไม่ได้ถูกนำมาต่อยอดจริง
ในระยะยาวย่อมส่งผลให้ทีม หรือพนักงานต่างรู้สึกท้อ หรือเบื่อหน่าย เมื่อไม่เห็นว่าไอเดีย หรือโปรเจคนั้นๆ จะได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการต่อ
“การหา Idea Innovation สิ่งที่ทำให้คนท้อ คือ ประชุมก็แล้ว ระดมสมองก็แล้ว ได้ไอเดียแล้ว แต่ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น แต่สำหรับ TMB HACKATHON ตอนนี้เราเห็นพัฒนาการเกิดขึ้นเรื่อยๆ พนักงานเริ่มรู้ว่านี่คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้ไอเดียของทีมเกิดขึ้นจริง
โดยเฉพาะน้องๆ รุ่นใหม่ไฟแรง อยากเห็นงานที่ตัวเองทำออกไป ไม่ได้อยู่แค่ในกระดาษ แม้กระทั่งการจัด TMB HACKATHON ปีนี้เป็นครั้งที่สอง ตอนแรกเรานึกว่าพลังงานจะลดลง แต่ปรากฏว่ายังมี Good Idea กลับมา เพราะเขาเห็นว่าไอเดียสามารถทำได้ และถูกนำไปต่อยอด ทำให้เกิดขึ้น”
ผลิตภัณฑ์การเงินที่มาจาก “TMB HACKATHON” ครั้งแรกปี 2561 เวลานี้ได้เปิดตัวออกสู่ตลาดแล้ว คือ
– “TMB ALL FREE” ฟรีทั้งค่าธรรมเนียมกด-โอน-จ่าย-เติมเงิน, ไม่ชาร์จ FX Rate 2.5% เมื่อรูดบัตรที่ต่างประเทศ และได้เรทถูก ทุกสกุลเงินทั่วโลก, ฟรีความคุ้มครองจากประกันอุบัติเหตุ, ฟรีความคุ้มครองช้อปออนไลน์
– “Multi-Currency Account” บัญชีสำหรับบริหารหลายสกุลเงิน สำหรับธุรกิจส่งออก และลูกค้าที่มีการทำธุรกรรมสกุลเงินต่างประเทศ ให้สามารถบริหารจัดการหลายสกุลเงินสูงสุด 6 สกุล ทั้ง THB, USD, EUR, GBP, AUD และ JPY ในบัญชีเดียว
ครอบคลุมทั้งโอนเงิน, การแลกเปลี่ยนเงิน (Convert) และการเรียกดูรายการเดินบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ (eStatement) สะดวก ง่าย รวดเร็ว และทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่าน TMB Business Click
สร้าง “Employee Engagement” มองที่เป้าหมายเดียวกัน
“พนักงาน” เป็นหนึ่งใน Stakeholders สำคัญขององค์กร ผลจากการทำ TMB HACKATHON ปี 2561 – 2562 นอกจากทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการได้เร็ว – ตอบสนองต่อปัญหาของลูกค้าได้แล้ว ขณะเดียวกันยังสร้างให้เกิด “Employee Engagement” หรือความผูกพันระหว่างองค์กรกับพนักงาน และระหว่างพนักงานด้วยกันเองเช่นกัน
“การทำ HACKATHON นอกจากได้เรื่อง Customer Focus แล้ว สิ่งหนึ่งที่ได้ คือ เรื่องทีม เมื่อก่อนองค์กรทำงานเป็น Silo และรายงานตรงตามสายงานของตัวเอง แต่เมื่อมีกิจกรรม HACKATHON ที่ต้องมีการรวมทีมเพื่อมาทำงานร่วมกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน กลายเป็นว่าแต่ละทีมต้องพยายามแก้ปัญหาลูกค้า ด้วยเวลาอันจำกัด
ทำให้จากที่เคยทำงานแบบห่างเหิน แต่เมื่อทุกคน “ตั้งต้นที่ลูกค้า” ต้องช่วยกันแก้ปัญหาเดียวกัน เพื่อนในทีมเดียวกัน รวมถึงเพื่อนต่างทีม เป็นเพื่อนกันมากขึ้น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เข้าใจปัญหากันมากขึ้น กลายเป็นการสร้าง Culture โดยที่ไม่ต้องไปทำ Team Building
ขณะเดียวกัน TMB ทำ HACKATHON ไม่ได้ทำเพราะเป็นแฟชั่น หรือได้ชื่อว่าทำ แต่เราทำอย่างจริงจัง เอาโจทย์ของลูกค้ามาทำจริง โดยผู้บริหารให้การสนับสนุน และเข้ามามีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดกับทุกทีม ทำให้เปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน เพราะทุกคนรู้ว่าได้เรียนรู้ข้อคิดดีๆ จากผู้ใหญ่ และทุกคนกล้าที่จะสื่อสารกับระดับบริหารมากขึ้น ในขณะที่ผู้ใหญ่ก็มีโอกาสได้รับฟังไอเดียจากคนรุ่นใหม่”
ทำให้พนักงานเห็นทั้ง Value Chain ของการพัฒนาโปรดักต์
คุณบุษบา อำนวยพรสกุล หรือ คุณแอ้นท์ ทำงานที่ TMB มา 1 ปี ในตำแหน่ง Data Scientist ส่วนงาน TMB Analytics หรือศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB ได้เข้าร่วมกิจกรรม TMB HACKATHON ทั้งปี 2561 และปี 2562 เล่าถึงรูปแบบการทำงานก่อนร่วมกิจกรรมว่า ด้วยตำแหน่งเป็น Data Scientist ไม่มีโอกาสได้สัมผัสลูกค้าโดยตรง
สิ่งที่ส่วนงานวิเคราะห์ทำ คือ ได้รับ Requirement เพื่อให้ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าให้ ซึ่งความที่ไม่ได้เจอลูกค้าโดยตรง ก็จะเห็นแค่ส่วนที่วิเคราะห์เท่านั้น จาก Data ทั้งในธนาคาร และนอกธนาคารมาวิเคราะห์ว่าลูกค้าน่าจะเป็นประมาณนี้ พฤติกรรมลูกค้าเป็นแบบนี้ เพื่อตอบคำถามที่ส่วนงานอื่นขอข้อมูลมา ดังนั้นจะไม่ได้เห็นทั้งกระบวนการ Value Chain ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ
“เหตุผลที่ตัดสินใจร่วมกิจกรรม เพราะได้มีโอกาสรู้จักคนใน Value Chain ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์-บริการ และกระบวนการคิดผลิตภัณฑ์ โดยการใช้ “Data Driven” มาตอบสนองความต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกันทำให้ได้ร่วมงานกับคนหลากหลาย ได้มุมมองจากคนที่ทำงานในหลายส่วน ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เราพัฒนาออกมา มาจากการมองรอบด้านมากขึ้น”
ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ทีมของคุณบุษบา ได้รับรางวัลปีล่าสุด คือ “กองทุนรวม” (Mutual Fund) เป็นต้นแบบที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนที่จะเปิดตัวในอนาคต
“รู้สึกตื่นเต้นนะคะ เพราะที่ผ่านมาเราจะได้ทำแต่โปรเจคเล็กๆ แต่คราวนี้เป็นสเกลใหญ่ที่จะไปให้บริการแก่ลูกค้าจริงๆ ทำให้มี Purpose ในการทำงานมากขึ้น รู้สึก Engage กับทั้ง Value Chain มากขึ้น
เพราะก่อนเข้าร่วม HACKATHON จะรู้สึกว่า เราเป็นแค่หน่วยๆ หนึ่งที่ทำหน้าที่ Analysis ให้กับเขา แต่พอหลังจากเข้าร่วม HACKATHON แล้ว เรากลับรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของ Value Chain เพื่อที่จะขับเคลื่อนให้ใช้ Data Driven”
มองความเจ็บปวดของลูกค้าเป็นเรื่องใหญ่ – สร้าง Solution ให้ชีวิตลูกค้าดีขึ้น
คุณยศนันท์ วิชชุวิวรรธณ์ หรือ คุณเอก ทำงานอยู่ที่ TMB มา 5 ปีในหน่วยงานพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย ปีนี้เป็นปีแรกที่เข้าร่วม TMB HACKATHON และทีมได้รับรางวัลที่ 1 กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของการทำงานในช่วง TMB HACKATHON ว่า
“วิธีการทำงานของที่ TMB ประกอบด้วยหลายหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานมี KPI เฉพาะของตัวเอง ทำให้บางทีเราไม่ได้มองไปที่เป้าหมายเดียวกัน แต่เรามองที่เป้าหมาย KPI ของแต่ละแผนก แต่ละสังกัดที่เราอยู่มากกว่า ทำให้งานที่ได้แต่ละแผนก ออกมาเป็นชิ้นๆ ยังไม่เห็นเป็นภาพใหญ่
ผมเห็นกิจกรรม TMB HACKATHON เมื่อปีที่แล้ว ที่รวบรวมคนหลายแผนก หลายหน่วยงานในธนาคาร มาแชร์ มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ในเวลาอันจำกัด พอปีนี้เปิดโครงการ จึงได้สมัคร เพราะคิดว่าเราน่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาให้กับลูกค้า
การทำงานในโปรเจค HACKATHON ทำให้ได้เห็นการทำงานรูปแบบใหม่ แตกต่างจากเดิมที่เมื่อก่อน แผนกใดแผนกหนึ่งนั่งอยู่รวมกัน เป็นฟังก์ชั่นๆ ไป แต่พอเป็นโปรเจค HACKATHON มาจากหลายแผนก แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน มองเห็นความเจ็บปวดของลูกค้าในแต่ละมุมมองที่แตกต่างกัน พอมารวมกัน จะสามารถสร้าง Solution ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง และเร็วขึ้น
การที่โปรดักต์ของเรา สามารถเปิดตัว และใช้งานได้จริง ไปแก้ไขปัญหาที่ลูกค้ายังไม่เคยได้รับบริการจากสถาบันการเงินที่ไหนมาก่อน เรารู้สึกภาคภูมิใจที่สามารถทำให้ลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้นได้”
หลังจาก “TMB HACKATHON” ทั้งปี 2561 และ 2562 ประสบความสำเร็จ ภายในปีนี้ได้ขยายโปรเจคนี้ไปยังส่วนงานอื่น ทั้งด้านการตลาด, สาขาธนาคาร และสายงานลูกค้าองค์กรใหญ่ จากนั้นระยะยาว จะทำ HACKATHON ไปยังส่วนงานกลุ่ม Operation
“ตอนนี้เรากำลังทำ Marketing HACKATHON เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสายงานนี้ ได้เข้าใจ และพัฒนา Customer Decision Journey ตั้งแต่เริ่มสร้างการรับรู้ – การพิจารณาเลือกแบรนด์ – ขั้นตัดสินใจซื้อ ไปจนถึงมีประสบการณ์กับแบรนด์ และผลิตภัณฑ์แล้ว และสร้าง Brand Loyalty
ขณะที่อีก 1 – 2 เดือน เราจะทำ HACKATHON กับส่วนงานสาขา และกลุ่ม Wholesale Relation Management ที่ดูแลองค์กรใหญ่ ส่วนแผนในระยะยาว จะทำ HACKATHON กับส่วนงานอื่นๆ ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น” คุณกาญจนา สรุปทิ้งท้าย
เชื่อว่าเมื่อโปรเจค “TMB HACKATHON” ขยายไปยังแผนกต่างๆ ในองค์กรมากขึ้น ในที่สุดแล้วจะเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร TMB ครั้งใหญ่ให้เคลื่อนทัพแบบรุกรบเร็ว! โดยมี “Pain Point” ของผู้บริโภคเป็นจุดศูนย์กลางของการคิด และพัฒนาผลิตภัณฑ์-บริการ