จากแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่มียอดผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 1.6 ล้านราย (ณ ปี 2022) และคาดการณ์ว่าในปี 2023 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 ล้านราย ทำให้ทุกวันนี้ “TikTok” เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มทรงพลังที่ไม่ใช่แค่เพียงเป็น Entertainment Platform เท่านั้น แต่ยังต่อยอดสู่การเป็น “Commerce Platform” ที่เข้าถึงผู้คนได้มหาศาล ด้วยการเปิด “TikTok Shop” ซึ่งเป็น Solution Commerce อยู่บนแพลตฟอร์ม TikTok เพื่อเชื่อมต่อการสร้างประสบการณ์ “Shoppertainment” หรือ การค้าผ่านความบันเทิง
ล่าสุด Bloomberg รายงานว่า “ByteDance” บริษัทแม่ของ “TikTok” มีแผนรุกบริการอีคอมเมิร์ซมากขึ้น เพื่อชิงตลาดการค้าออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดหวังว่าต่อไปธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเป็น Key Driver สร้างรายได้หลักให้กับ TikTok ในขณะที่รายได้จากโฆษณา ผันผวนตามสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว
โดยเมื่อปี 2022 “TikTok Shop” มีมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Value: GMV) อยู่ที่ 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเป้าหมายในปี 2023 “ByteDance” ต้องการเพิ่มขนาดธุรกิจอีคอมเมิร์ซ TikTok Shop ให้ได้มากกว่า 4 เท่า โดยคาดว่า GMV จะแตะระดับ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตลาดหลักที่จะผลักดันการเติบโตธุรกิจอีคอมเมิร์ซของ TikTok คือ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่ตลาดอีคอมเมิร์ซขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น ตลาดอินโดนีเซีย พบว่าเหล่า Influencer ไลฟ์ขายสินค้าตั้งแต่ผลิตภัณฑ์เดนิม ไปจนถึงลิปสติก ซึ่ง GMV ของ TikTok Shop เฉพาะในอินโดนีเซียตลาดเดียวสูงถึง 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตามแม้ปัจจุบัน TikTok Shop ยังมีสัดส่วนที่เล็ก เมื่อเทียบกับยักษ์ใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง Sea Group ที่แพลตฟอร์ม Shopee มีมูลค่า GMV อยู่ที่ 73,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว
แต่ TikTok มุ่งหวังว่าผู้บริโภคจะใช้ TikTok Shop เป็นอีกทางเลือกของการช้อปปิ้ง นอกเหนือไปจาก Shopee (ของ Sea Group) และ Alibaba โดยชูจุดเด่นในการผสาน “ความบันเทิง” เข้ากับ “การช้อปปิ้ง” เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
ส่วนการทำตลาดอีคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ และยุโรป TikTok ยังคงเผชิญกับความท้าทายในการถูกตรวจสอบจากรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากกังวลด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเมื่อปีที่แล้ว Financial Times รายงานว่า TikTok กำลังเจรจาจับมือกับ TalkShopLive บริษัทในลอสแองเจลิส เพื่อเปิดตัวบริการ Live Shopping ในอเมริกา
ดังนั้นในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจกระทบกับรายได้ฝั่งโฆษณา และยังต้องเจอกับโจทย์ความท้าทายในตลาดสหรัฐ และยุโรป ทำให้การรุกหนักตลาดอีคอมเมิร์ซของ TikTok โดยเล็งเป้าหมายมายัง “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เป็นหนึ่งในตลาดสำคัญ เชื่อว่า TikTok ต้องการปักธงเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายหลักของตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้ เช่นเดียวกับค่าย Sea Group ที่บุกด้วยแพลตฟอร์ม Shopee และ Alibaba ที่รุกตลาดด้วย LAZADA
- อ่านเพิ่มเติม: “TikTok” ถอดรหัส “Shoppertainment” โมเดลการค้าผ่านความบันเทิง ดันแบรนด์สร้างยอดขายสุดปัง!
- อ่านเพิ่มเติม: 12 เรื่องน่ารู้ “e-Conomy SEA Report 2022” เศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – “ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย” ใหญ่อันดับ 2 ของภูมิภาค
Source: Bloomberg , Inside Retail