The One Enterprise ทำอย่างไร? เมื่อธุรกิจสื่อและความบันเทิงแข่งขันกันด้วย Content

  • 4.6K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ถ้าพูดถึง ‘บมจ. เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์’ (ONEE) คนส่วนใหญ่อาจคิดว่า ทำธุรกิจดิจิทัลทีวี หรือเป็นเจ้าของช่อง ONE31 เท่านั้นแต่ความจริงแล้ว ONEE ดำเนินธุรกิจในฐานะ Holding Company ที่มีธุรกิจครอบคลุมอุตสาหกรรมสื่อและความบันเทิงแบบต้นน้ำถึงปลายน้ำจากรากฐานการเป็นผู้ผลิตและสร้างสรรค์คอนเทนต์หลายประเภทที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมตามกลุ่มคนดูที่มีความหลากหลาย ตลอดจนการนำคอนเทนต์ดังกล่าวไปเผยแพร่ผ่านช่องทางที่หลากหลาย ได้แก่ ทีวี วิทยุ ช่องทางออนไลน์ ทั้ง Social Media และ OTT Platform ทั้งในและต่างประเทศ มาดูกันว่า มีคอนเทนต์อะไรบ้างที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นผลงานของ ONEE

นอกจากละครยอดฮิตเรื่องวันทอง ที่คว้าเรตติ้งอันดับ 1 ของปี 2564 ในกลุ่มผู้ชมอายุ 15 ปีขึ้นไปแล้ว (ข้อมูลจาก Nielsen ณ วันที่ 30 เมษายน 2564) ซีรีส์เพราะเราคู่กัน (2gether The Series) ที่สร้างปรากฏการณ์คู่จิ้นสุดฮอตอย่างไบรท์-วิน และเด็กใหม่ ซีซั่น 2 หรือแนนโน๊ะ ซึ่งครองแชมป์ Netflix ใน 5 ประเทศทั่วโลก ก็เป็นผลงานของบริษัทในกลุ่ม ONEE ทั้งสิ้น

แต่ทว่า ในวันที่ภูมิทัศน์สื่อทั่วโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงจากกระแส Digital Disruption ผู้ประกอบการสื่อและความบันเทิงต่างต้องหาคอนเทนต์มาเป็นตัวชูโรงของตนเพื่อแย่งชิงเวลาจากผู้บริโภค แล้ว ONEE จะสร้างโมเดลธุรกิจอย่างไร เพื่อรับมือและสร้างการเติบโตให้เกิดขึ้นท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้?

 

Traditional Media และพฤติกรรมการใช้สื่อของผู้บริโภค

แน่นอนว่า Digital Disruption ทำให้มูลค่าตลาดของ Traditional Media หรือสื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์และวิทยุ ค่อนข้างทรงตัวชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการโฆษณากลับพบว่า โทรทัศน์ยังเป็นสื่อที่ถูกเลือกและมีการลงโฆษณามากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 59.5% (ข้อมูลจาก Nielson ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563) ของมูลค่าการใช้จ่ายสื่อโฆษณาทั้งหมด เพราะเป็นสื่อหลักที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคแทบทุกเพศทุกวัย

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ช่องโทรทัศน์รายใหญ่ที่อยู่ในตลาดมานานอย่างช่อง 7 และช่อง 3 ก็เสียส่วนแบ่งสัดส่วนผู้ชม (Audience Share) ให้กับดิจิทัลทีวีช่องใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยช่อง ONE31 เป็นหนึ่งในช่องที่สามารถเพิ่มเรตติ้ง ทั้งในกลุ่มผู้ชมอายุ 15 ปีขึ้นไป และเรตติ้งช่วง Prime Time ที่แซงหน้าคู่แข่งจนขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (ข้อมูล จาก Nielsen ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564)

 

 

New Media ผ่านช่องทางออนไลน์มาแรง

ข้อมูลนี้แสดงให้เราเห็นว่า Gen Y และ Gen Z ซึ่งจะกลายเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในอนาคตนั้น ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นหลัก โดยในประเทศไทยพบว่า ผู้ชม 84.5% ใช้เวลารับชมรายการทางออนไลน์มากกว่า 1 ชั่วโมง (ข้อมูลปี 2563 จากสำนักงาน กสทช.) และยังมีการคาดการณ์ว่า จำนวนสมาชิก (Subscriber) ของแพลตฟอร์มออนไลน์จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยประเภทรายการที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ชมออนไลน์คือ ละคร ซึ่งมีการรับชมย้อนหลังสูงสุดคิดเป็นสัดส่วนกว่า 46.9% ของยอดรับชมรายการทุกประเภท (ข้อมูลจากสำนักงาน กสทช. ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2563) จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มต่าง ๆ เริ่มมองหาคอนเทนต์ที่น่าสนใจ มาเผยแพร่ในแพลตฟอร์มของตนเอง รวมถึงมีการผลิต Original Contents ทั้งละครและซีรีส์ เพื่อดึงดูดให้ผู้ชมเข้ามาใช้บริการ

 

 

ถึงเวลา ONEE คว้าโอกาสในฐานะ Content Creator 

อย่างที่บอกไปว่า รูปแบบธุรกิจของ ONEE คือเป็น Holding Company ที่เข้าลงทุนในบริษัทต่าง ๆ  ซึ่งในบรรดาบริษัทที่ ONEE ถือหุ้นอยู่นั้น ก็เป็น Content Creator ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยประกอบไปด้วย 8 บริษัท ดังนี้

  1. ONE31 : ผลิตคอนเทนต์และบริหารช่อง ONE31
  2. GMMTV : ผลิตคอนเทนต์สำหรับวัยรุ่น เช่น ซีรีส์เพราะเราคู่กัน และ รายการเทยเที่ยวไทย และบริหารจัดการศิลปิน เช่น ไบร์ท–วิน
  3. Change2561 : ผลิตคอนเทนต์ดราม่าชีวิตจริง เช่น ใบไม้ที่ปลิดปลิว กระเช้าสีดา
  4. GMM Media : ผลิตรายการวิทยุ GREENWAVE, EFM, Chill Online
  5. A Time Media : ร่วมผลิตและจัดรายการวิทยุบนคลื่น EFM 94.0 เมกะเฮิรตซ์
  6. GMM Studios : ผลิตคอนเทนต์ เช่น เด็กใหม่ ซีซั่น 2 และ เคว้ง Netflix Original เรื่องแรกของประเทศไทย
  7. Exact Scenario : บริหารจัดการศิลปิน เช่น ป้อง ณวัฒน์ บี น้ำทิพย์
  8. ACTS : เป็นเจ้าของสถานที่ถ่ายทำรายการ

 

 

อะไรทำให้ ONEE ประสบความสำเร็จ?

การที่ ONEE สามารถปั้นคอนเทนต์ให้เป็นไวรัลและดึงดูดผู้ชมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ชมอยู่ตลอดเวลา โดยบริษัทฯ จะใช้ข้อมูลจากการสำรวจและฟังเสียงกระแสสังคม (Social Listening) ทำให้เข้าใจความต้องการที่แตกต่างกันของผู้ชมแต่ละกลุ่ม

ที่สำคัญคือ การมีธุรกิจอยู่ในมือแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ไปจนถึงการเลือกช่องทางที่เหมาะกับคอนเทนต์ ทำให้ทีมงานทำงานร่วมกันได้อย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ หากความต้องการของผู้ชมหรือกระแสในขณะนั้นเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน ONEE ก็สามารถที่จะปรับคอนเทนต์ได้อย่างทันท่วงที

และอีกหนึ่งไฮไลต์ของ ONEE คือ ประสบการณ์ของทีมผู้บริหาร ภายใต้การนำของ ‘บอย – ถกลเกียรติ วีรวรรณ’ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและ Group CEO ซึ่งอยู่ในธุรกิจสื่อและความบันเทิงมากว่า 30 ปี นอกจากนี้ ยังมีทีมงานที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ พร้อมทั้งผู้บริหารระดับขุนพลอย่าง สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา หรือพี่ฉอด Club Friday, นิพนธ์ ผิวเณร ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของละครหลายเรื่องที่เรียกได้ว่า พูดชื่อมาหลายคนจะต้องรู้จัก รวมถึง สุธาสินี บุศราพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญรายการวาไรตี้ที่มีผลงานกำลังออนแอร์อย่าง The Star Idol

 

 

ในวันที่ธุรกิจสื่อแข่งขันอย่างดุเดือด ผู้ประกอบการต่างแย่งชิงเวลาจากผู้บริโภคด้วยคอนเทนต์  สิ่งที่น่าติดตามต่อจากนี้ ไม่ได้อยู่แค่ที่ว่า ONEE จะนำเสนอคอนเทนต์อะไรอีกบ้าง แต่อยู่ที่การวางกลยุทธ์และทิศทางที่ไปต่อจะอย่างไร เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ใหม่และแตกต่าง โดยใช้ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจ …

 

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.one31.net

 

 

References

– ร่างแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวนฉบับเต็มของ บมจ. เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งได้ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ www.sec.or.th


  • 4.6K
  •  
  •  
  •  
  •