เพราะเราอยู่ในยุคที่ทุกคนยอมรับว่าเทคโนโลยี คือ ตัวช่วยสำคัญ ทั้งยังเป็นเครื่องมือสร้างความแตกต่างและความได้เปรียบทางธุรกิจ ซึ่งมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทางธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึง มุมมองของผู้บริหาร ที่ควรจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน นี่คือสิ่งที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญและเริ่มต้นอย่างเร่งด่วน
ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาด้านการสร้างและบริหารแบรนด์ “คุณไมเคิล เวนทูร่า ผู้ก่อตั้งและ CEO ซับ โรซ่า” ได้แนะนำแนวทางสำหรับผู้บริหารยุคใหม่ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง และความสำเร็จจากมุมมองใหม่ ภายในงานสัมมนาระดับโลกครั้งแรกของประเทศไทย ในหัวข้อ “The New Language of Leadership” โดย SEAC (ศูนย์พัฒนาภาวะผู้นำและผู้บริหารระดับสูง) กับเป้าหมายในการสร้างแรงกระเพื่อมให้ประเทศไทยตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในยุค Disruption ด้วยการเริ่มต้นปลุก ให้ผู้นำ ลุกขึ้นเปลี่ยน เพื่อขับเคลื่อนองค์กรและสร้างภาวะผู้นำในยุค Transformation อย่างสมบูรณ์ จนกลายเป็นที่มาของการนำเสนอเรื่องราวที่เรียกว่า “ภาษาใหม่” การทลายกำแพงที่กั้นความคิดของผู้นำ สู่การเป็นผู้นำยุคใหม่ที่สามารถพาองค์กรฝ่าวิกฤตยุค Disruption ไปได้
ธุรกิจต้องพึ่งกลยุทธ์ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”
คุณไมเคิล เริ่มต้นด้วยกลยุทธ์พื้นฐานในการสร้างความสำเร็จที่เรียกว่า Empathy หรือ การเข้าใจแบบหยั่งรู้ถึงความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการนำใจเขามาใส่ใจเรา เพราะการที่มนุษย์เข้าใจกันนั้นถือเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ในทางธุรกิจก็เช่นเดียวกัน อาจหมายถึงการเอาใจใส่ลูกค้าและผู้บริโภค แม้จะดูเป็นเรื่องพื้นฐานแต่เชื่อหรือไม่ว่านี่คือรูปแบบที่หลายๆ องค์กรไม่คุ้นเคย เนื่องจากองค์กรธุรกิจมักคุ้นเคยกับการดำเนินงานอย่างรวดเร็วจากการตัดสินใจขององค์กรเอง แต่การเข้าใจผู้บริโภคมากขึ้นก็เท่ากับความสามารถในการตอบสนองความต้องการผู้บริโภคจะมีศักยภาพมากขึ้นด้วย และในขณะที่ธุรกิจเข้าใจผู้บริโภค ก็จำเป็นต้องรู้ “จุดแข็ง” และ “จุดอ่อน” ของตนเอง เพื่อนำไปสู่การตอบโจทย์และต่อยอดเพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจของตนเองได้
ความล้มเหลว คือ บันไดนำสู่ความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้นำยุคใหม่จำเป็นต้องมีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งธุรกิจและการจูงใจผู้คน รวมถึงความสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นอีกประเด็นสำคัญในการสร้างความสำเร็จ ดังนั้น องค์กรจึงควรปรับรูปแบบการสื่อสารภายในองค์กรที่มักจะเป็น Top-Down เป็นวัฒนธรรมใหม่อย่าง Bottom-Up ดูบ้าง เพื่อเพิ่มความสร้างสรรค์ทั้งการบริหาร การทำธุรกิจ และค้นหาวิธีปฏิบัติการที่ดีที่สุดเพื่อธุรกิจ
ผู้นำที่ดีควร “หนักแน่นนำทีม” หรือ “รู้จักปล่อยวาง”
เพราะแต่ละองค์กรมีสไตล์แตกต่างกัน การผลักดันภายในองค์กรจึงมีความแตกต่างกันไป ดังนั้น ผู้นำที่ดีควรตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราควรเปลี่ยนแปลงอย่างไร” สิ่งที่เปลี่ยน คือ การปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสิ่งที่องค์กรต้องการ เพื่อรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน รวมถึงสิ่งสำคัญ 3 เรื่องที่ควรทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง คือ Company, Consumer, Context เพราะธุรกิจจำเป็นต้องรู้จักลูกค้า ผู้บริโภค และบริบทที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าเทรนด์ที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่คู่แข่งขันกำลังทำ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนมีความเกี่ยวข้องกันอยู่แล้ว ทำให้แบรนด์ควรย้อนมองทีมงานและกระบวนการขององค์กร ว่ามีความเหมาะสมแล้วหรือยัง
7 ลักษณะที่ผู้นำยุคใหม่ ควรมี!
นอกจากนี้ CEO ซับ โรซ่า ยังได้แนะนำคุณสมบัติที่ผู้บริหารยุคใหม่ควรมี ได้แก่…
SAGE ความเป็นนักปราชญ์ ต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับคู่สื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
INQUIRER เป็นนักสืบสวน เพื่อเป็นผู้ตั้งคำถามที่ดีเพื่อค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดและตรงเป้าหมาย
CONVENER เป็นผู้ดูแลทุกข์ สุข ของผู้คนรอบข้าง ทั้งลูกค้าและพนักงาน
CONFIDANT เป็นเพื่อนคู่คิด รับฟังผู้อื่นอย่างตั้งใจและจริงใจ
CULTIVATOR เป็นผู้เชื่อมโยง ที่สามารถเชื่อมโยงภาพใหญ่ขององค์กรเข้าด้วยกันและนำไปสู่ปลายทางที่ถูกต้อง
SEEKER เป็นผู้กล้า พร้อมเผชิญหน้ากับความเสี่ยง พร้อมกับสร้างความท้าทายและการเติบโตในองค์กร
ALCHEMIST เป็นนักเล่นแร่แปรธาตุ รู้จักทั้งการเป็นผู้สร้างและผู้ทำลาย เปรียบเสมือนการเป็นนักทดลองทีพร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ
สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน จากนี้…
การสร้างความเปลี่ยนแปลงเกิดจากการฝึกซ้อมและทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน ขณะเดียวกัน ก็ต้องมองหาความแตกต่างเพื่อสร้างผลลัพธ์และความสำเร็จที่แตกต่างไปจากเดิม โดยผู้นำต้องรู้จักการสร้าง Talent motivation เพราะหลายองค์กรยังไม่มีวัฒนธรรมในการสร้างแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน
“เพราะองค์กรไม่ได้มีหน้าที่ค้นหาคนเก่งแล้วจ้างงานเข้ามาใหม่ แต่คุณต้องมองหาคนเก่งที่มีอยู่แล้วในองค์กรของคุณให้เจอ”
วิธีการแก้ปัญหา ที่พบบ่อยในองค์กรต่างๆ คือ การย้ายปัญหาจากแผนกหนึ่งไปยังอีกแผนกหนึ่ง แทนที่จะเป็นความพยายามแก้ปัญหาให้หมดไปอย่างแท้จริง ซึ่งการประยุกต์ใช้การนำใจเขามาใส่ใจเรา และเรียนรู้จะใช้ความยืดหยุ่น ที่จะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในองค์กรได้ เพราะเราอยู่ในโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทุกวินาที และขาดความเห็นอกเห็นใจคนในความเป็นมนุษย์