ถอดบทเรียนเอเยนซีโฆษณา จากยุค “มนุษย์ทองคำ” สู่ยุค “Solution Partner” ทางรอดเมื่อถูก Disrupt

  • 1.5K
  •  
  •  
  •  
  •  

ogilvy

เมื่อใดก็ตามที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อนั้น “อุตสาหกรรมโฆษณา” จะเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบ ดังเช่นในวันนี้ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค Technology Disruption “วงการโฆษณา” ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ต้องเผชิญกับความท้าทายที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ทำให้ “เอเยนซี” ในวันนี้ ต้องปรับโมเดลธุรกิจครั้งใหญ่ จากเคยให้บริการลูกค้า ในฐานะ “ลูกค้า” เปลี่ยนมุมมอง และวิธีการใหม่ ให้บริการลูกค้าในฐานะเป็น “พาร์ทเนอร์” ร่วมกัน ด้วยการนำเสนอ Solution ครบวงจร มากกว่าแค่ทำโฆษณาเป็นชิ้นๆ หรือทำแคมเปญสื่อสารการตลาดเป็นโปรเจคๆ

4 ยุคแห่งความเปลี่ยนแปลวงการเอเยนซีไทย

ในช่วงกว่า 50 ปีมานี้ อุตสาหกรรมโฆษณาในไทย ผ่านคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงมาแล้วมากมายตามยุคสมัยของสังคม และการตลาด ถ้าดูในภาพรวม สามารถแบ่ง “จุดเปลี่ยน” เป็น 4 ยุค ดังนี้

– ยุค “Sale Oriented” เมื่อกว่า 40 – 50 ปีที่แล้ว เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เปลี่ยนโลกการผลิตให้กลายเป็นระบบ “Mass Production” คือ ผลิตจำนวนมาก เมื่อผลิตสินค้าออกมามาก จึงทำให้เกิดการแข่งขันด้านการขาย และการทำตลาด

วงการโฆษณาในไทยช่วงเวลานี้ เป็นยุคของ “In-house Advertising Agency” สมัยนั้นบริษัทใหญ่ จัดตั้งแผนกโฆษณาภายในบริษัทของตัวเอง เพื่อทำโฆษณาสินค้าแบรนด์ในเครือ

เช่น “ลินตาส” ของลีเวอร์ บราเธอร์ หรือยูนิลีเวอร์ในปัจจุบัน, “สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง” ของโอสถสภา (ต่อมาควบรวมกับ Hakuhodo เปลี่ยนชื่อเป็น Spa-Hakuhodo), “ดีทแฮล์ม แอดเวอร์ไทซิ่ง” ของดีทแฮล์ม (ปัจจุบันคือ Leo Burnett)

ต่อมา In-house Agency เหล่านี้เติบโตขึ้น จึงได้แยกออกมาตั้งบริษัท เพื่อรับทั้งงานโฆษณาสินค้าในเครือ และสามารถรับงานลูกค้านอกได้

ขณะเดียวกันอีกหนึ่งเสือ FMCG ของไทย “สหพัฒน์” ได้จัดตั้งบริษัทเอเยนซีโฆษณาเช่นกัน ในชื่อ “ฟาร์อีทส์ แอดเวอร์ไทซิ่ง” ที่ต่อมาควบรวมกับ “ดีดีบี” พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น “ฟาร์อีทส์ ดีดีบี” และเมื่อต้นปี 2561 ได้ควบรวม “ฟาร์อีสท์ ดีดีบี” เข้ากับ “เฟมไลน์” อีกหนึ่งเอเยนซีในเครือสหพัฒน์ และเปลี่ยนชื่อเป็น “บมจ. ฟาร์อีสท์ เฟมไลน์ ดีดีบี”

ภาพรวมวงการโฆษณาไทย มีทั้งเอเยนซีไทยรายเล็ก-รายใหญ่มากมาย เพราะมีครีเอทีฟแยกออกมาตั้งบริษัทของตัวเอง ขณะเดียวกันเริ่มมีเอเยนซีจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทย แต่ยังไม่ได้มาในรูปแบบ Network ระดับโลก

 

การทำงานของบริษัทโฆษณาในยุคนั้น ทั้งทำหน้าที่ทั้งสร้างสรรค์งานโฆษณา และซื้อสื่อโฆษณาเอง เนื่องจากในอดีต ช่องทางสื่อในเมืองไทย ไม่ได้หลากหลาย และซับซ้อนอย่างทุกวันนี้ มีแค่สื่อทีวี, วิทยุ, สื่อสิ่งพิมพ์

Resize Old Television

– ยุค “Branding” ทันทีที่ประเทศไทยเผชิญช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ส่งผลต่อ “อุตสาหกรรมโฆษณาไทย” กระทบอย่างรุนแรง แต่หลังจากผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ เกิด “จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่” ในวงการเอเยนซีทั่วโลก รวมทั้งในไทย ได้เข้าสู่ยุค “ควบรวมกิจการ” จากยักษ์ใหญ่เอเยนซีระดับโลก เช่น WPP Group, Publicis

ประกอบกับเป็นยุค “Branding” ที่เจ้าของสินค้า นักการตลาด – นักโฆษณา หันมาให้ความสำคัญกับการ “สร้างแบรนด์” ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการเกิดขึ้นของกลยุทธ์ “IMC” (Integrated Marketing Communication) เนื่องจาก “มีเดีย” เริ่มมีความหลากหลาย – ซับซ้อนขึ้น อีกทั้งโลกการตลาด ได้แตกศาสตร์แขนงต่างๆ มากมาย เช่น Event Marketing, PR

ทำให้เกิด “เอเยนซีเฉพาะทาง” (Specialist Agency) เช่น การแยกแผนกมีเดียที่เคยอยู่ใน Creative Agency มาตั้งเป็นบริษัท “Media Agency” โดยเฉพาะ เพื่อรับซื้อสื่อให้กับเอเยนซีในเครือ สำหรับในกรณีที่เป็น Network Agency ระดับโลก และยังเกิดเอเยนซีวิจัยการตลาด เป็นผลมาจากนับตั้งแต่ยุค Branding ทำให้แบรนด์ต้องเข้าใจ Consumer Insight และ Market Insight ลงลึกมากขึ้น

Resize Branding

ขณะเดียวกันเป็นยุคที่เกิด “Independent Agency” โดยคนที่เคยทำงานในเอเยนซีใหญ่ ออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง

ส่งผลให้สถานการณ์การแข่งขันรุนแรงขึ้น ในที่สุดเกิดการแข่งขันลดค่าเอเยนซีฟี (Agency Fee) เป็นค่าที่เอเยนซีเก็บจากลูกค้า ที่แต่เดิมเก็บในอัตรา 17.65% มาตลอด กลับแข่งตัดราคากัน จนในที่สุดถึงคราอวสาน Agency Fee 17.65% ในวงการเอเยนซีไทย

นับตั้งแต่ยุค “Sale Oriented” มาถึงยุค “Branding” ถือเป็น “ยุคเฟื่องฟู” ของอุตสาหกรรมโฆษณาไทย เพราะเป็นทั้งยุคที่โฆษณาไทย พิสูจน์ความสามารถในระดับโลกได้สำเร็จ ด้วยการไปคว้ารางวัลมากมายบนเวทีสากล ทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ และกระบวนการผลิต

 

ขณะเดียวกันทำให้ “ครีเอทีฟ” กลายเป็นอาชีพในฝันของคนหนุ่มสาวยุคนั้น ทำให้เวลานั้นคณะนิเทศศาสตร์ และสาขาโฆษณา กลายเป็นคณะ-สาขาอันดับต้นๆ ที่คนรุ่นใหม่สมัยนั้นเลือกเรียกมากสุด ซึ่งคนทำโฆษณาในช่วงเวลานั้น ถูกขนานนามว่าเป็น “มนุษย์ทองคำ” และได้แจ้งเกิดครีเอทีฟ – ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณามือทองหลายคนที่มีชื่อเสียงทั้งในไทย และระดับโลก !!

Resize Media

– ยุค “Digital Agency” การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์ม Social Media และคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ส่งผลให้เกิด “จุดเปลี่ยนใหญ่” อีกครั้ง เพราะนอกจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมเสพสื่อของผู้บริโภค ที่เชื่อมต่อกับออนไลน์ตลอดเวลาแล้ว ผู้บริโภคยังเป็น “ผู้สร้างคอนเทนต์” เอง (User Generated Content) และเชื่อแบรนด์น้อยลง แต่เชื่อเพื่อนมากกว่า ขณะเดียวกันเกิด Influencer ที่ไม่ใช่แค่ดารานักแสดงคนดัง แต่เป็นคนทั่วไป ที่กลายมาเป็น Blogger และในปัจจุบันขยายไปสู่ Micro Influencer แล้ว

ขณะที่ในฝั่งแพลตฟอร์ม “Social Media” ได้พัฒนาเครื่องมือ สำหรับ Advertiser หรือแบรนด์ที่ต้องการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์ม social media โดยเฉพาะ

ทำให้ Advertiser เทงบโฆษณาบนสื่อออนไลน์มากขึ้น ซึ่งรูปแบบการสื่อสารบนดิจิทัล มีเดีย แตกต่างจากสื่อดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง ทั้งวิธีคิดงานครีเอทีฟ, กระบวนการทำงาน และการวางแผนสื่อ ตรงนี้เองทำให้คนที่อยู่ในแวดวงโฆษณาต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ยิ่งกว่าในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง

ด้วยปัจจัยดังกล่าว ทำให้เกิด “Digital Agency” ที่มาจากคนในวงการโฆษณา ออกมาตั้งบริษัท ดิจิทัล เอเยนซีเอง รวมถึงคนที่อยู่ในแวดวงอื่น ก็มาเปิด Digital Agency ด้วยเช่นกัน ทำให้เกิด “Independent Agency” จำนวนมาก โดยหลายรายสามารถก้าวไปได้ไกล จึงขยับจากเอเยนซีเล็ก ไปสู่ขนาดกลาง – ใหญ่

 

ส่วนทางด้านเอเยนซีรายใหญ่ ที่เคยเน้น Creative ไม่อาจต้านทานความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ จึงต้องตั้งหน่วยงานดูแลด้านสื่อดิจิทัล หรือบางรายจัดตั้งเป็นบริษัท Digital Agency โดยเฉพาะ เพื่อรับงานทั้งในเครือ และงานลูกค้านอกเครือ

Resize Digital Agency

– ยุค Solution Partner เป็นยุคปัจจุบันที่ต่อเนื่องมาจากการบูมของ Digital Agency แต่ทว่าทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะช่วงเวลานี้อุตสาหกรรมโฆษณาทั่วโลก ต้องเผชิญกับ “Digital Disruption” อย่างหนัก เพราะ “คู่แข่ง” ไม่ได้มีแค่เพียงบริษัทเอเยนซีด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังมี “เทคโนโลยี แพลตฟอร์ม” ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค เข้ามาเป็นคู่แข่ง

ไม่ว่าจะเป็น Social Media ตามที่กล่าวข้างต้นว่าแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ พัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการโฆษณาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังใช้โมเดล Open Ecosystem ที่เปิดให้ Content Creator เข้ามาสร้างสรรค์คอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม เพื่อดึงฐานคนดู

รวมถึงแพลตฟอร์มในกลุ่ม Online Streaming เช่น Netflix, Spotify, JOOX แพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ได้มองตัวเองเป็นเพียง Music Streaming หรือ Movie-Series Streaming เท่านั้น แต่ยังขยายการเติบโตไปสู่การเป็น “Marketing Platform” ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งสื่อ และการตลาดให้กับแบรนด์ต่างๆ ด้วยเช่นกัน

นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมเอเยนซี ที่เกิดและเติบโตมาในยุค Analog ต้องปรับโครงสร้างองค์กรขนานใหญ่ หรือปรับวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ครั้งใหญ่ เพื่อทำให้องค์กรสามารถเดินหน้าต่อ และสร้างการเติบโตระยะยาว

Resize Partnership

กลยุทธ์ที่ต่อไปจะเริ่มเห็นหลายเอเยนซี เดินไปในทิศทางนี้มากขึ้น คือ การเปลี่ยนจาก “ลูกค้า คือ ลูกค้า” ไปเป็น “ลูกค้า คือ พาร์ทเนอร์” และนำเสนอ Solution ครบวงจรตาม Pain Point ของลูกค้าแต่ละราย

การเปลี่ยนแปลงรอบนี้ สอดคล้องกับพัฒนาการทางการตลาด ที่เปลี่ยนจากยุค “Branding” ไปสู่ยุค “Human Centric” นั่นคือ องค์กรธุรกิจต้องการมี “Brand Purpose” คือ จุดมุ่งหมายที่ต้องการเป็นทั้งแบรนด์เก่ง + ดี ทั้งต่อผู้บริโภค – พันธมิตรธุรกิจ – ผู้ถือหุ้น – สังคม จึงทำให้เป็นยุค “สร้างความร่วมมือ” หรือ “Collaboration” ในแต่ละ Stakeholders หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบนิเวศธุรกิจ

“ทุกวันนี้ Competitive Landscape วงการโฆษณาเปลี่ยนไป ไม่ได้แข่งแค่บริษัทโฆษณาด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังแข่งกับบริษัทด้าน Consulting แข่งกับบริษัทขนาดเล็ก แข่งกับแพลตฟอร์ม ที่แม้กระทั่งแข่งกับ Netflix เพราะเป็นการแข่งบนคอนเทนต์ เพราะฉะนั้นเอเยนซีต้องปรับตัว แต่จะปรับแบบไหน ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร เช่น บางแห่งลดคน บางแห่งปรับโครงสร้างให้ Lean ขึ้น

 

หรือของ “Ogilvy” ปรับรูปแบบการทำงานกับลูกค้า ในฐานะ “พาร์ทเนอร์” ด้วยการนำเสนอ Business Solution ที่เป็นมากกว่าการทำหนังโฆษณา อย่างในอดีตที่ลูกค้าเข้ามาหา เพื่อให้สร้างหนังโฆษณาอย่างเดียว” คุณนพดล ศรีเกียรติขจร ประธานร่วม กลุ่มบริษัท โอกิลวี่ ประเทศไทย ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงของวงการโฆษณาไทยระลอกใหญ่

Resize Creativity

 

กรณีศึกษา “Ogilvy” ปฏิวัติองค์กรครั้งใหญ่ในรอบ 70 ปี – ผสาน “Data + Creativity + Technology”

นับตั้งแต่ยุค “Digital Agency” เป็นต้นมา ที่ทำให้เกิดเอเยนซีโฆษณาสายดิจิทัลโดยเฉพาะจำนวนมาก ส่งผลให้ลูกค้า Switch ไปใช้บริการ Digital Agency และสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น เพราะสามารถวัดผลได้ชัดเจนแบบ Real-time และต้นทุนการทำโฆษณา หรือแคมเปญการตลาดบนออนไลน์ ต่ำกว่าสื่อดั้งเดิม โดยเฉพาะสื่อทีวี ที่ต้องทุ่มเงินหลักล้าน ให้กับ Creative Agency, Production House ฯลฯ

ต่อเนื่องมาถึงยุค Technology Disruption ที่เกิด Technology Platform มากมาย พัฒนาเป็นแพลตฟอร์มด้านสื่อสาร และการตลาดสำหรับแบรนด์สินค้า-บริการต่างๆ

อีกทั้งยังเจอกับ “เอเยนซีอิสระ” หรือ “Independent Agency” ที่ลูกค้ามองว่าอัตราค่าบริการถูกกว่าการไปเอเยนซีใหญ่ และเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ด้านดิจิทัล โดยไม่ต้องทุ่มเงินหลักล้าน เพื่อให้ได้งานโฆษณา หรือแคมเปญโฆษณาสักชิ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ เอเยนซีโฆษณาที่เกิดในยุค Analog หากจะอยู่รอดได้ จึงต้องปรับตัวขนานใหญ่ !!!

Resize Ogilvy_13

หนึ่งในเอเยนซีที่ปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่ คือ “Ogilvy” ปรับองค์กร และอัตลักษณ์แบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 70 ปี ภายใต้พันธกิจ “สร้างแบรนด์ให้มีความหมาย” (Makes Brands Matter) ดังที่ คุณจอห์น ไซเฟิร์ท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Ogilvy Group กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

“การปฏิวัติดิจิทัลได้พลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมด้านการตลาดอย่างถึงราก ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ภูมิทัศน์สื่อ และสภาวะการแข่งขัน แนวทางของโอกิลวี่ในการตอบสนองความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือทำความเข้าใจให้ถึงแก่นของวิสัยทัศน์ คุณค่า และวิธีการคิดเกี่ยวกับแบรนด์ ซึ่ง “David Ogilvy” ใช้มาตลอดตั้งแต่ก่อตั้งเอเจนซี่ เน้นย้ำถึงสิ่งที่โอกิลวี่ผลักดันและเชื่อมั่นมาตลอด นั่นคือ แบรนด์จะมีความหมายมากขึ้นในทุกวัน

 

แบรนด์ Ogilvy ที่ผสานเป็นหนึ่งเดียว จะรวมเอากลุ่มธุรกิจใหญ่ 3 กลุ่ม คือ Ogilvy & Matter Advertising, OgilvyOne, Ogilvy Public Relations ตลอดจนแบรนด์ย่อยต่าง ๆ ในเครือบริษัทเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มเดียว โดยมีอัตลักษณ์องค์กร การวางตำแหน่ง โมเดลการบริการลูกค้า และงบกำไรขาดทุนร่วมกัน”

กลุ่ม Ogilvy ที่รวมเป็นหนึ่งเดียว สร้างขึ้นจาก 5 องค์ประกอบหลัก ประกอบด้วย

1. การออกแบบโครงสร้างองค์กรใหม่ ปฏิรูปจากบริษัทโฮลดิ้ง ที่ประกอบด้วยแบรนด์ย่อยต่าง ๆ สู่แบรนด์หนึ่งเดียวซึ่งประกอบด้วย 12 ทักษะ (Craft) และ 6 ความสามารถ (Capabilities)

– 12 Crafts นั้นประกอบด้วย ความคิดสร้างสรรค์, กลยุทธ์, การส่งมอบ, การบริการลูกค้า, ดาต้า, การเงิน, เทคโนโลยี, พรสวรรค์, การพัฒนาธุรกิจ, การตลาดและการสื่อสาร, งานธุรการ และการผลิต

– 6 Capabilities ประกอบด้วย กลยุทธ์แบรนด์, โฆษณา, การสร้างความผูกพันกับลูกค้าและการขาย, ประชาสัมพันธ์และการสร้างอิทธิพล, การปฏิวัติดิจิทัล และการสร้างพันธมิตร

2. บริการใหม่ในการเป็นที่ปรึกษา ในชื่อ Ogilvy Consulting ซึ่งสร้างขึ้นจากความสำเร็จของ Ogilvy Red ที่มุ่งเน้นด้าน บริการที่ปรึกษาเพื่อการปฏิวัติดิจิทัล (Digital Transformation) การสร้างความเติบโต การออกแบบรูปแบบธุรกิจใหม่ และสร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ

Resize Ogilvy_11

3. อัตลักษณ์และระบบการออกแบบแบรนด์ใหม่ มีการออกแบบโลโก้ใหม่ รวมทั้งเว็บไซต์บริษัทโฉมใหม่ซึ่งสะท้อนแบรนด์ Ogilvy ที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว

4. โมเดลการสร้างพันธมิตรใหม่ เพื่อการบริหารโมเดลธุรกิจเครือข่ายที่ผสานเป็นหนึ่งเดียว เราจัดตั้งโครงสร้างพันธมิตรทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้เกิดความหลากหลายของกลุ่มผู้บริหาร ที่มาจากตลาดต่าง ๆ ทั่วโลก มีความสามารถที่แตกต่าง และช่วงวัยอันหลากหลาย ซึ่งส่งผลดีต่อแบรนด์และบริษัทอย่างเด่นชัดทั้งในปัจจุบันและอนาคต

5. แพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ โดยมีการสร้างเครื่องมือเพื่อใช้แบ่งปันความรู้ การพัฒนาความเชี่ยวชาญ และการสร้างเครือข่ายที่เรียกว่า Connect เพื่อใช้อบรมพนักงานและจัดทีมที่เหมาะสมที่สุดเพื่อให้บริการลูกค้าได้ดีที่สุด

httpv://www.youtube.com/watch?v=gC1RVzQNxUc

ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนองค์กร ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ จะปรับมุมมองจาก “ลูกค้า คือ ลูกค้า” เป็น “ลูกค้า คือ พาร์ทเนอร์ธุรกิจ” ที่ลงลึกในกระบวนการธุรกิจของลูกค้า ไม่ใช่แค่เพียงทำงานตามโจทย์ที่ได้รับจากลูกค้าเท่านั้น โดยใช้ 3 ส่วนสำคัญ คือ “Data – Creativity – Technology” เพื่อนำเสนอ “Seamless Solution” และ “More Personalization” ให้กับธุรกิจของลูกค้าแต่ละราย

“ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคไปอย่างมาก การที่เราจะบรรลุเป้าหมายหลัก คือ การช่วยให้ลูกค้าสร้างแบรนด์ที่ครองใจตลาด หรือ Make Brand Matter เรายังคงยึดหลัก Creativity ซึ่งเป็นจุดแข็งของ Ogilvy Group ผสานเข้ากับ Data และ Technology เพราะในยุคนี้ใช้แค่ความคิดสร้างสรรค์อย่างเดียวไม่พอ หรือจะใช้ Data หรือแม้แต่เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้ทั้ง 3 อย่าง เพื่อนำเสนอ Seamless Solution ให้กับลูกค้า เพื่อช่วยให้ลูกค้าเห็นแผนการตลาดทั้ง “ระยะยาว” 2 – 3 ปี – “ระยะกลาง” รายไตรมาส และ การสื่อสารแบบ Real-Time ที่เข้าถึงและเข้าใจกลุ่มเป้าหมายได้ทันที

 

ขณะที่ Independent Agency อาจทำได้บางส่วน แต่สำหรับ Ogilvy ทำได้ครบวงจร และเวลาเรามี Data มาก ถึงจุดหนึ่งเราสามารถทำ Predictive ได้ โดยบอกได้ถึงความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต เพื่อทำให้ลูกค้ามีประสิทธิภาพในการขายของได้มากขึ้น และทำแบรนด์ได้ดีขึ้น” คุณนพดล อธิบายเพิ่มเติม

Resize Ogilvy_12

 

ดึง “คนสายเทคโนโลยี – ดาต้า” ร่วมงาน และต้องมี “Multiple Skill”

ตามที่กล่าวข้างต้นถึงที่ผ่านมาคนในวงการเอเยนซี ส่วนใหญ่เติบโตในสายครีเอทีฟตลอด แต่ปัจจุบันด้วยความที่เข้าสู่ยุคเทคโนโลยี จำเป็นอย่างยิ่งที่เอเยนซีในวงการโฆษณา ต้องปรับตัวที่นอกจากกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจแล้ว ยังรวมถึงการเปิดรับบุคลากรจาก “วงการเทคโนโลยี” และ “สายดาต้า” เข้ามาผสมผสานกับคนครีเอทีฟ

เช่นกรณี “Ogilvy ประเทศไทย” ตั้งส่วนงานเทคโนโลยีโดยเฉพาะ มีบุคลากรด้านนี้ 10 คน ที่มีประสบการณ์จากวงการเทคโนโลยี และดาต้า เช่น คนจาก Agoda, Grab ทำให้สภาพแวดล้อมขององค์กรต่างไปจากเมื่อก่อนที่เน้นคนจบสายโฆษณา หรือนิเทศศาสตร์เป็นหลัก แต่ปัจจุบันมีคนจากสายเทคโนโลยีมาผสมผสาน เพื่อออกแบบ Solution ให้กับลูกค้า ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ และด้านเทคโนโลยี – ดาต้า เช่น พัฒนาบิลบอร์ด ที่สามารถพูดคุยกับคนได้

“คนทำงานในอุตสาหกรรมโฆษณาปัจจุบัน ต้องมีทักษะความรู้-ความสามารถที่ขยายออกไป เป็น “Multiple Skill” อย่างสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เวลาสัมภาษณ์งานของ Ogilvy ประเทศไทย เราจะถามถึง Skill และประสบการณ์การทำงานด้านอื่นๆ ด้วย เช่น เป็น Blogger หรือเปล่า หรือขายของบนออนไลน์หรือเปล่า ชอบทำอะไร หรือบางคนเคยเป็นสตาร์ทอัพ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

 

เพราะเราอยากรับคนที่เคยเป็น Entrepreneur มาก่อน หรือเป็นครีเอทีฟ แต่ขณะเดียวกันเขาก็ขายของอยู่ด้วย เป็น Multiple Skill เราจะชอบเป็นพิเศษ เพราะคนกลุ่มนี้สามารถหยิบทักษะ และประสบการณ์ต่างๆ ที่เขาเรียนรู้มา ผสมผสานเข้ากับการทำงานได้” คุณนพดล สรุปทิ้งท้ายถึงทักษะ-ความรู้ความสามารถที่เปลี่ยนแปลงของบุคลากรในวงการโฆษณายุคนี้

Resize P Nid-3__

 

Copyright © MarketingOops.com

 

 


  • 1.5K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ