ในยุค Technology Disruption ไม่มีอะไรที่ไม่ได้รับผลกระทบ แม้แต่ “ภาคการศึกษา” ที่ผู้คนยุคดิจิทัล โดยเฉพาะคนในสังคมเมืองมีวิถีชีวิตเร่งรีบ ไม่ได้ใช้ชีวิตแบบ 9 to 5 คือ เข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมง หรือ 6 โมงเย็น แต่วิถีชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน และคนต้องการความสะดวกมากขึ้น ประกอบกับในยุคดิจิทัล คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และเชื่อมต่อออนไลน์เกือบตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน
ด้วยเหตุนี้เอง จะเห็นได้ว่า “ภาคการศึกษา” ในหลายประเทศทั่วโลก ปรับตัวครั้งใหญ่ ด้วยการเปิดหลักสูตร “เรียนออนไลน์” มากขึ้น โดยมีทั้งหลักสูตรเฉพาะทางระยะสั้น เช่น เรียน 3 เดือน และหลักสูตรระยะยาว เพื่อลดข้อจำกัด หรืออุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา และออกแบบระบบที่ทำให้คนสามารถเรียนได้จากทุกที่ ทุกเวลา
Insight คนยุคดิจิทัล อยากเรียน แต่ตารางชีวิตไม่แน่นอน
Insight หนึ่งที่พบ คือ คนอยากอัพเดทองค์ความรู้ใหม่ เพื่อก้าวให้ทันโลกยุคดิจิทัล เพราะความรู้ที่เขาเคยเรียนมา บางอย่างกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว แต่ด้วยชีวิตการทำงานที่รัดตัว และการเดินทางที่กว่าจะไปถึงมหาวิทยาลัย หรือห้องเรียน ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง ทั้งฝ่ารถติด หรือเบียดเสียดคนบนรถไฟฟ้ายามเลิกงาน หรือในวันหยุด ทั้งยังต้องเจียดเวลาการทำงานที่แสนยุ่ง มีทั้งงานแทรก งานซ้อนเข้ามาไม่ขาดสาย เพื่อมาเข้าห้องเรียนให้ทันเวลา!
ขณะเดียวกันบางคนอยากเรียนเป็นคอร์สระยะสั้น ซึ่งเป็นความรู้เฉพาะทางที่เขาสนใจ และเป็นประโยชน์นำไปต่อยอดการทำงานจริง ขณะที่บางคนอยากเรียนเป็นหลักสูตรระยะยาว
ดังนั้น เพื่อก้าวให้ทันกับโลกยุคดิจิทัล และไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไป เวลานี้มหาวิทยาลัยในเมืองไทยหลายแห่ง ได้ปรับตัว ด้วยการออกหลักสูตรปริญญาโทเรียนออนไลน์แล้ว
อย่างล่าสุด “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ได้จับมือกับ “SkillLane” ซึ่งเป็นบริษัท Online Learning Platform และ Digital Training Platform ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในความร่วมมือกันจัดทำหลักสูตร “ปริญญาโทออนไลน์” เพื่อเผยแพร่ความรู้และทักษะของยุคดิจิทัล โดยจะเปิดเผยรายชื่อหลักสูตรและรายละเอียดเพิ่มเติมในเดือนพฤษภาคม
ขยายโอกาสการศึกษา ให้คนทั่วไปเข้าถึงความรู้โลกยุคใหม่
“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” และ “SkillLane” มองว่าการร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงองค์ความรู้ของโลกยุคใหม่ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นนักศึกษาภาคปกติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น
โดยเป็นการเรียนออนไลน์ 100% เรียนได้จากทุกที่ และตามเวลาที่สะดวก ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเพื่อเพิ่มพูนความรู้เพียงอย่างเดียว หรือจะเรียนเพื่อเก็บหน่วยกิตไปจนถึงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทได้เช่นเดียวกัน โดยผู้เรียนจะสามารถเก็บหน่วยกิตไว้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 8 หรือ 10 ปี
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในโลกปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธรรมศาสตร์ต้องกล้าที่จะสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไทยไปข้างหน้าท่ามกลางความท้าทายใหม่ๆ เราเห็นความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเผยแพร่ความรู้ของคณาจารย์ธรรมศาสตร์ และความเชี่ยวชาญของอาจารย์รับเชิญซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ ไปสู่คนไทยในวงกว้าง
“ทางธรรมศาสตร์มองว่าการร่วมมือกับ SkillLane เป็นโอกาสในการส่งเสริมความเท่าเทียมของการเข้าถึงการศึกษา เพราะการเรียนออนไลน์ช่วยลดอุปสรรคต่างๆ ในการเข้าถึงองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุ สุขภาพ เวลา สถานะ หรือที่อยู่อาศัย”
ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ในการคิดหลักสูตร เราใช้วิธีการคิดแบบ Learner First เริ่มจากการทำความเข้าใจว่ากลุ่มผู้เรียนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้อะไรในการทำงานในยุคปัจจุบัน
จากนั้นเราจึงสร้างเนื้อหา และสรรหาอาจารย์ที่เหมาะสมมาร่วมสร้างหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์ผู้เรียน วิชาส่วนใหญ่ในหลักสูตรจะเน้นเรื่องที่เป็น Practical Skills กล่าวคือสามารถนำไปประยุกต์ในการทำงาน เน้นความเข้าใจ สามารถนำไปคิดวิเคราะห์ ต่อยอด แทนที่จะเน้นการท่องจำ”
ขณะที่ คุณฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ SkillLane กล่าวว่า ทีมงาน SkillLane ทุกคนรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สร้างแนวทางใหม่ๆ ให้กับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย เราเชื่อมั่นว่าหลักสูตรปริญญาโทออนไลน์จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย
“จากการสำรวจของ SkillLane เราพบว่า มีคนไทยจำนวนมากที่คิดว่าองค์ความรู้ของการทำงานในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยที่พวกเขาเรียนในสถาบันการศึกษาเมื่อหลายปีที่แล้ว เขามีความประสงค์ที่จะเรียนต่อเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของตัวเอง แต่ยังเข้าใจว่าการเรียนต่อต้องเรียนเต็มเวลาในเวลาปกติ ซึ่งต้องตัดสินใจว่าจะเรียนหรือทำงาน ทำให้เสียโอกาสในการเรียนรู้
เพราฉะนั้น ด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ SkillLane เขาเหล่านั้นจะสามารถเรียนทักษะของยุคดิจิทัลผ่านระบบออนไลน์ตามเวลาที่เขาสะดวก โดยที่สามารถทำงานควบคู่ไปได้”