วันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ณ ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ มีการลงมติเห็นชอบ 144 ต่อ 1 เสียง ในที่ประชุม สปท. หรือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ สำหรับข้อเสนอ ‘แผนควบคุมสื่อออนไลน์เพื่อลดความรุนแรงทางสังคม’ ซึ่งผ่านการเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ ขั้นตอนต่อไปคือการส่งรายงานฉบับนี้ไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามขั้นตอน
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ให้ข้อมูลข่าวสารไปถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว สื่อออนไลน์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย แต่กลับมีการใช้ที่ไม่เหมาะสม ผู้ใช้สื่อขาดความรู้เท่าทันสื่อ ขาดความรู้และความเข้าใจในการใช้สิทธิเสรีภาพการสื่อสารบน พื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม หรือขาดมาตรฐานจริยธรรมในการใช้สื่อออนไลน์ ขาดประสิทธิภาพในการกำกับดูแลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง จนส่งผลกระทบต่อสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และสถาบันหลักของประเทศ
พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร – ประธาน คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน
เสนอแนวทางปฏิรูปเป็น 2 ระยะ
ระยะที่ 1
ระยะเร่งด่วน ต้องทำให้แล้วเสร็จในปี 2562 อาทิ การเพิ่มมาตรการจัดระเบียบการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะ ระบบเติมเงิน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกสทช.ควรมีมาตรการเสริมการจัดระเบียบการลงทะเบียน โทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินที่จะใช้ลายนิ้วมือ ใบหน้า ควบคู่กับการ ลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือด้วยบัตรประชาชน
ระยะที่ 2
ระยะยาว ควรดำเนินการให้สอดคล้องกับช่วงเวลาของแผนยุทธศาสตร์ ชาติ 20 ปี อาทิ การเสริมสร้างปลูกจิตสำนึกที่ดีมีจริยธรรมในการใช้สื่อออนไลน์ การให้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี การสร้างภูมิคุ้มกัน และความตระหนักรู้ รวมถึงการใช้มาตรการทางกฎหมาย
ควรมีการจัดตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ รวมถึงกำหนดให้ระบบจัดเก็บข้อมูลของบริการ CDN (Content Delivery Network) และ Caching Server ของสื่อออนไลน์ต่างประเทศที่ติดตั้งในประเทศต้องขึ้นทะเบียนการให้บริการกับกสทช.และต้องกำหนดให้จัดเก็บ log เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนทางคดี โดยกสทช.ประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รวมทั้งการเร่งรัดให้ใช้มาตรการทางภาษีกับผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ต่างประเทศโดยเร็ว เพื่อใช้ควบคู่กับการบังคับใช้มาตรการการเก็บภาษีผู้บริโภค กับการใช้โฆษณาหรือการซื้อขายผ่านสื่อออนไลน์ให้เป็นจริง โดยกรมสรรพากรเป็นเจ้าภาพหลัก
พล.ต.ต.พสิษฐ์ เปาอินทร์ – รองประธาน คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน
สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นต่อจากนี้
1. สแกนลายนิ้วมือ ใบหน้า และบัตรประชาชนก่อนซื้อซิม (แผนปฏิบัติเร่งด่วน)
มีแผนให้ กสทช.ควรมีมาตรการเสริมการจัดระเบียบการลงทะเบียน โทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินที่จะใช้ลายนิ้วมือ ใบหน้า ควบคู่กับการ ลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือด้วยบัตรประชาชน
2. สื่อออนไลน์ต่างประเทศต้องขึ้นทะเบียน (แผนปฏิบัติเร่งด่วน)
กำหนดให้ระบบจัดเก็บข้อมูลของบริการ CDN (Content Delivery Network) และ Caching Server ของสื่อออนไลน์ต่างประเทศที่ติดตั้งในประเทศไทย ต้องขึ้นทะเบียนการให้บริการกับกสทช. และต้องกำหนดให้จัดเก็บ log เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนทางคดี โดยกสทช.ประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)
3. เรื่องของภาษี (แผนปฏิบัติเร่งด่วน)
มีการเร่งรัดให้ใช้มาตรการทางภาษีกับผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ต่างประเทศโดยเร็ว เพื่อใช้ควบคู่กับการบังคับใช้มาตรการการเก็บภาษีผู้บริโภค (VAT) กับการใช้โฆษณาหรือการซื้อขายผ่านสื่อออนไลน์ให้เป็นจริง โดยกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานหลัก
4. ศูนย์เฝ้าระวังการกระทำผิดบนสื่อออนไลน์ (แผนปฏิบัติระยะยาว)
กำหนดการรวมมือกันจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงานตำรวจแห่งชาต และ TCSD (กองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) เพื่อพิจารณาหามาตรการการลงโทษปรับเจ้าของสื่อออนไลน์ต่างประเทศ ที่ได้ปล่อยให้มีการเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่ถูกละเมิดด้วยความรุนแรง หรือปล่อยให้มีการเผยแพร่เนื้อหาที่มีลักษณะชักชวนหรือโน้มน้าวให้นำไปสู่การกระทำที่รุนแรง หวาดกลัวอย่างมากกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ เพื่อให้เจ้าของสื่อออนไลน์ต่างประเทศ เช่น เฟสบุ๊ค ยูทูป มีส่วนร่วมรับผิดชอบในฐานะเป็นเจ้าของพื้นที่ที่ทำให้เกิดการแพร่หลายของเนื้อหาดังกล่าว
5. ปลูกจิตสำนึกที่ดีในการใช้สื่อออนไลน์ (แผนปฏิบัติระยะยาว)
การเสริมสร้างปลูกจิตสำนึกที่ดีมีจริยธรรมในการใช้สื่อออนไลน์ การให้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี การสร้างภูมิคุ้มกัน และความตระหนักรู้ กลไกภาครัฐที่เกี่ยวข้องในข้อปฏิบัตินี้ ได้แก่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
6. โซเชียลมีเดียไทย
รัฐบาลควรมีนโยบาลส่งเสริมการผลิตซอฟต์แวร์ที่ใช้งานในสื่อโซเชียลมีเดียเป็นของตัวเอง ด้วยเหตุผลว่า การพึ่งพาระบบสื่อโซเชียลของต่างประเทศจะทำให้สูญเสียการกำกับดูแลที่กฎหมายไทยครอบคลุมไม่ถึง รวมถึงรัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีต่างๆมากยิ่งขึ้น ซึ่งควรพัฒนาซอฟต์แวร์ของรัฐบาลไทยให้ไปถึงระดับ Global ที่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย
เวลานี้มีการก่ออาชญากรรมในโลกออนไลน์อยู่ทั่วไป ซึ่งเรียกได้ว่ามีผู้ร้ายทั้งในและนอกประเทศโดยดำเนินการผ่านสื่อออนไลน์ แต่ปัญหาของไทย คือ เราไม่มีระบบปฏิบัติการหรือเซิฟเวอร์เป็นของตัวเอง การที่ไทยจะไปเจรจากับบริษัทกูเกิ้ลหรือแอปเปิ้ล ต้องยอมรับเป็นไปได้ลำบากเพราะอำนาจต่อรองของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสายตาของพวกเขา ดังนั้น เราต้องสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างความร่วมมือให้มากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากเอกชน เพราะถ้าให้หน่วยงานรัฐดำเนินการฝ่ายเดียว มันจะเหมือนกับการขี่ช้างจับตั๊กแตน
นายกษิต ภิรมย์ – สมาชิกสปท.
รายงานฉบับเต็มดาวน์โหลดได้ที่ edoc.parliament.go.th
ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบ: edoc.parliament.go.th, bangkokbiznews.com, linkedin.com