เจาะลึกกลยุทธ์พร้อมซึมซับบรรยากาศความสำเร็จของ Thailand Pavilion ที่สามารถไปสร้างชื่อเสียง คว้ารางวัล และสร้างแบรนด์ดิ้งให้ประเทศไทย ในงาน Astana Expo 2017 ณ กรุงอัสตานา ประเทศสาธารณรัฐคาซัคสถาน
งานสำคัญในวงการ Expo ระดับโลก
งาน Astana Expo 2017 ในวงการ Expo ระดับโลก ถือว่าเป็นงาน Specialized Expo ซึ่งเป็นงาน Expo ระดับโลก โดยมีระยะเวลาการจัดงานประมาณ 3เดือน จะจัดทุกๆ 5ปี และสถานที่จัดต้องมีเนื้อที่อย่างน้อย 250,000 ตร.ม คราวที่แล้วจัดที่ ยอซู ประเทศเกาหลีในปี 2012 งาน Specialized Expo นี้จะจัดขึ้นช่วงตรงกลางระหว่างงาน World Expo ที่เป็นงานระดับโลกอีกงาน และจัดทุกๆ 5 ปีเช่นกัน ส่วนงาน World Expo นั้นระยะเวลาจัดงานประมาณ 6เดือน ครั้งที่แล้ว ปี2015 จัดที่มิลาน ประเทศอิตาลี และ ครั้งต่อไปจัดในปี 2020 ที่ดูไบ ( น่าเสียดายที่ประเทศไทยได้เคยประกาศขอจัด World Expo ในปี 2020 แต่ก็พลาดไป ถ้าไม่พลาดประเทศไทยจะได้จัดงานใหญ่ระดับโลก ซึ่ง World Expo ถือว่าเป็นงานใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก โดยงานใหญ่ระดับโลกอีก2งานที่เทียบเท่า คือ ฟีฟ่าฟุตบอลโลก และ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิค )
งาน Astana Expo 2017
งาน Astana Expo 2017 จัดขึ้นในหัวข้อ พลังงานแห่งอนาคต ( Future Energy ) ณ กรุงอัสตานา ประเทศสาธารณรัฐคาซัคสถาน ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน – 10 กันยายน 2560 มีประเทศเข้าร่วมงานกว่า 115 ประเทศ และองค์กรระดับโลกกว่า 20หน่วยงาน บนพื้นที่จัดงานทั้งหมด 1,740,000 ตร.ม ( 1,087.5 ไร่ ) และพื้นที่จัดนิทรรศการ 250,000 ตร.ม ( 156.25 ไร่ ) ใจกลางเมือง โดยรัฐบาลคาซัคสถานได้ใช้เงินลงทุนจัดงานกว่า 200,000 ล้านบาท
งาน Astana Expo 2017 ถูกจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนทั่วโลกได้มีการรับรู้และเพิ่มความรู้ด้านพลังงาน และ รู้จักเทคโนโลยีต่างๆด้านพลังงานให้มากยิ่งขึ้น ประเทศต่างๆได้นำเทคโนโลยีด้านพลังงานของตัวเองมาแสดงในงาน Astata Expo 2017 แบบจัดเต็มเพื่อหน้าตาของประเทศ ซึ่งบางประเทศก็นำเทคโนโลยีใหม่ๆมาแสดง บางประเทศก็นำแร่ธาตุใหม่ที่สามารถนำมาใช้ด้านพลังงานมาแสดง ในแต่ละ Pavilion ของประเทศต่างๆ ก็จัดเต็มที่ ทุ่มงบประมาณกันระดับหลายร้อยล้านถึงเป็นพันล้านกันเลยทีเดียว
สำหรับประเทศไทยเข้าร่วมงาน Astana Expo 2017 มีกระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก สำหรับ Thailand Pavilion และมีหน่วยงานสนับสนุนหลักได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาชุมชน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ (มหาชน) จำกัด รับหน้าที่บริหารจัดการ Thailand Pavilion ตั้งแต่ การคิดออกแบบดีไซน์ การก่อสร้าง การวางแผนกลยุทธ์ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ รวมถึงกลยุทธ์ต่างๆเพื่อนำ Thailand Pavilion ให้ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย ภายใต้งบประมาณจำกัด เพียง 249 ล้านบาท
Thailand Pavilion
ประเทศไทยได้มีโอกาสเสริมสร้างแบรนด์ดิ้งประเทศไทยและความเชื่อถือของประเทศในสายตาชาวโลก เนื่องจากการจัดงาน Expo แบบนี้จะมีผู้เข้าร่วมงานหลายล้านคนจากทั่วโลก ประเทศไทยได้นำเสนอ Thailand Pavilion ในธีม การพัฒนาด้านพลังงานชีวภาพเพื่อมนุษย์ชาติ ( Bioenery for All ) โดยมีเนื้อหาสาระมุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจพลังงานชีวภาพของประเทศไทย ตลอดจนการนำเสนอข้อมูลด้านการเกษตรที่เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาพลังงาน การแก้ปัญหาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศแบบยั่งยืน เพื่อชีวิตที่ดียิ่งขึ้น พร้อมสอดแทรกวิธีการดำเนินชีวิต วัฒนธรรมแบบไทย และ ส่งเสริมการท่องเที่ยว
ภายใน Thailand Pavilion มีการนำเสนอแบบ Edutainment ประกอบไปด้วย 3ห้องหลักได้แก่
1. Live Exibition: Our Ways, Our Thai – วิธีเรา วิธีไทย
เป็นห้องที่นำเสนอเรื่องราวและภาพของประเทศไทยให้ผู้ชมรู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น มีการแสดงนิทรรศการจำลองภาพประเทศไทย มีการแสดงโชว์วัฒนธรรมไทย อาทิเช่น มวยไทย ผีตาโขน เป็นต้น
2. THEATER: Farming the Future Energy – ปลูกพลังงาน ปลูกอนาคต
เป็นห้องที่ฉายหนัง 4D ถ่ายทอดเรื่องราวพลังงานแห่งอนาคต พลังงานทดแทนเพื่อพัฒนามาใช้ในอนาคต รวมถึงพระอัฉจริยะภาพของในหลวงรัชกาลที่9 ที่ทรงมีวิสัยทัศน์และพระราชดำริเกี่ยวกับพลังงานทดแทน และประหยัดพลังงานช่วยประชากรไทยได้มีพลังงานใช้อย่างพอเพียง และพึ่งพาตัวเองได้
3. INTERACTIVE EXHIBITION: Energy Creation Lab – สร้างพลังงาน สร้างพลังไทย
เป็นห้องที่รวบรวมพลังงานชีวมวลและชีวภาพไว้ โดยเน้นไปที่พลังงานทดแทนจากเกษตรกรรม อาทิเช่น อ้อย ยูคาลิปตัส ยางพารา หญ้าโตเร็ว ข้าว ข้าวโพด มูลสัตว์/ของเสีย มันสำปะหลัง และปาล์ม นอกจากนั้นยังมีจัดการแสดงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น บูธแสดงสินค้าด้านพลังงานของกระทรวงพาณิชย์ การสาธิตผลิตภัณฑ์ของกรมพัฒนาชุมชน แสดงสินค้า OTOP และ อื่นๆ
ทีมงานที่จัดงานใน Thailand Pavilion จะมีทีมคนไทยเป็นหลัก โดยทุกคนจะมีความสามารถด้านภาษารัสเซีย หรือ คาซัค หรือ อังกฤษ เพื่อช่วยกันถ่ายทอดการสื่อสารออกไปได้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง ผู้เข้าชม Thailand Pavilion นั้นได้ประสบการณ์ ความสนุก ความสุข และความประทับใจกลับบ้านจนถึงขนาดมีบางคนมาชมซ้ำ 2-3รอบทีเดียว
รางวัลที่ได้รับ และ Key Success Factors
Thailand Pavilion ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ต้องยกเครดิตให้ทาง บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ (มหาชน) จำกัด ผู้บริหารจัดการ Thailand Pavilion ในครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับคำชมมากมายจากนานาประเทศที่เข้าร่วมงาน เพราะเป็นประเทศแรกจาก 115ประเทศ ที่พร้อมต้อนรับชาวคาซัคและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และ Thailand Pavilion คว้าที่2 พาวิลเลียนยอดนิยมที่ดีที่สุดของเด็ก และครอบครัวชาวคาซัค Best Pavilions to Visit with Children จากกว่า 115 พาวิลเลียนทั่วโลก จัดอันดับโดย ทีวี แชนแนล อัสตานา เอ็กซ์โป ทีวี
จากได้พูดคุยกับทาง คุณเมฆ – เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ (มหาชน) จำกัด ได้ข้อสรุป Key Success Factors สำหรับ Thailand Pavilion ในงาน Astana Expo 2017 ในครั้งนี้ ดังต่อไปนี้
– ทำการ Research เพื่อนำ Insight ของชาวคาซัคที่มีความชื่นชอบในเรื่องของเสียงดนตรี ความสนุก และความบันเทิง ทำให้สามารถออกแบบดีไซน์ในเชิงโครงสร้างและด้านคอนเท้นต์ได้ออกมาโดนใจและตรงใจผู้ชม
– จัดทำแคมเปญการโรดโชว์ตามแหล่งสถานที่สำคัญ และห้างสรรพสินค้าชื่อดังต่อเนื่องทั้งในเมืองหลวงเก่า Almaty และ เมืองหลวงใหม่ Astana ให้คนได้เห็นภาพ Thailand Pavilion ในรูปแบบ VR ก่อนเข้าชมสถานที่จริงในงาน
– มาสคอต “พลัง” เป็นที่ถูกใจของเด็กๆ
– มีการปรับแทคติคตลอดเวลา ระหว่างงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานะการณ์
บทสรุป
จากการได้เข้าชมงานในครั้งนี้ ทำให้จิตนาการไปได้ว่า ถ้าประเทศไทยมีโอกาสได้จัดงาน Expoใหญ่ระดับโลกแบบนี้น่าจะดีสำหรับประเทศไทย คนไทยจะได้ความรู้ ได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์ และอะไรอีกหลายๆอย่างมากมาย งาน Expo แบบนี้เป็นการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงานได้อีกมาก ผู้คนจะหลั่งไหลเข้ามาประเทศไทยแบบมากมาย เป็นโอกาสสร้างแบรนด์ดิ้ง หรือจะว่า เป็นการรีแบรนด์ดิ้งประเทศไทยก็ดี งานแบบนี้จะทำให้ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในแง่ที่ดี ที่งาม ที่ประทับใจ อย่างเช่นที่ประเทศคาซัคสถานได้ทำจากงาน Astana Expo 2017 ในครั้งนี้ เพราะตอนแรกทีมที่ไปร่วมเยี่ยมชมงานยังไม่รู้ว่า ประเทศนี้อยู่ส่วนไหนของโลก ประเทศเจริญขนาดไหน ยังขี่ม้า อยู่กระโจมกันหรือเปล่า จนได้มาเจอ ได้เห็นด้วยตาตัวเอง ถึงกับ อ้าปากค้างประทับใจหลายๆเรื่อง จนอยากจะกลับไปเที่ยวใหม่เลยทีเดียว
Copyright © MarketingOops.com