ทุกครั้งที่เกิดวิกฤต มีผู้คนต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุหรืออุบัติภัย เราจะได้เห็นน้ำใจจากคนไทยและภาคส่วนต่าง ๆ ออกมาให้ความช่วยเหลือคนไทยด้วยกันเองอย่างเร่งด่วน แน่นอนว่าความช่วยเหลือส่วนใหญ่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนและจบลงเมื่อสถานการณ์กลับเป็นปกติ แต่ไม่ใช่กับ โครงการไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาแล้วถึง 22 ปี
แน่นอนว่าแนวคิดแบบ สร้างความยั่งยืน ถูกพูดถึงอยู่บ่อยในระยะหลังโดยเฉพาะในองค์กรใหญ่ เพราะนอกจากความสำเร็จที่สามารถสร้างได้แล้ว ประเด็นของความยั่งยืน กลายเป็นหนึ่งแนวทางที่ช่วยสร้างคุณค่าให้กับสังคมและประเทศได้อย่างชัดเจน จึงไม่น่าแปลกใจที่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จะเลือกแนวทางดังกล่าวและดำเนินการมาอย่างยาวนาน
กว่า 21 ปี ที่ได้สร้างความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
หากมองจากภายนอกโครงการ ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าเป็นโครงการ CSR ตอบแทนสังคมเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว ไทยเบฟ ได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรที่ยั่งยืน ภายใต้การดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และพันธมิตรอีกหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและผลกระทบจากวิกฤตภัยหนาวแก่ผู้คนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ตลอด 21 ปีที่ผ่านมา มีผ้าห่มจำนวนกว่า 4 ล้านผืนถูกส่งถึงมือผู้ประสบภัยหนาวทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ถ้าต้องย้อนถึงจุดเริ่มต้นของโครงการดังกล่าว จะย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน คือปี พ.ศ.2543 ภัยหนาวครั้งใหญ่ได้แผ่เข้าปกคลุมประเทศไทยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ด้วยอุณหภูมิที่หนาวเย็นและลดลงอย่างต่อเนื่องจนเกือบจะติดลบ ทำให้พี่น้องประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง จนมีรายงานถึงผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นดังกล่าว
จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ได้ทราบถึงความเดือดร้อนและมีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งไปถึงพี่น้องคนไทยด้วยกัน และนำมาสู่จุดเริ่มต้นของการช่วยเหลือและแบ่งปัน
ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ของคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า ‘คนไทย ให้กันได้’ และก่อเกิดโครงการ ‘ช้าง รวมใจต้านภัยหนาว’ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น ‘ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว’ ด้วยการออกเดินทางเพื่อนำความอบอุ่นภายใต้ผ้าห่มผืนเขียวผืนนี้ไปมอบให้กับพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย เพื่อช่วยบรรเทาความหนาวเย็น
ทั้งหมดนี้ จึงกลายเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า 45 จังหวัด ทั่วภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีผ้าห่มผืนเขียว เป็นตัวแทนความอบอุ่นและความห่วงใย ถึง 200,000 ผืนต่อปี หรือรวมทั้งสิ้น 4,400,000 ผืน
แต่ไม่เพียงเท่านั้น เพราะนอกจากการช่วยเหลือเรื่องผ้าห่มแล้ว ไทยเบฟยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ให้ยั่งยืน ด้วยการโอกาส ด้านการศึกษา ด้านกีฬาและด้านสาธารณสุข พร้อมกิจกรรมสันทนาการที่มอบความสุขในทุกๆ ครั้งที่ลงพื้นที่แจกผ้าห่มอีกด้วย เพราะหัวใจหลักซึ่งเป็นความตั้งใจของไทยเบฟคือ การให้ที่ “มากกว่าความอบอุ่น คือการสร้างสังคมแห่งการให้ที่ยั่งยืน”
ผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก กับไอเดียที่มากกว่าความอบอุ่น
เพราะการให้ความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในเรื่องของการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าและประโยชน์สูงสุด ทางไทยเบฟ จึงได้เริ่มผลิต “ผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก” ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2563 และในปีนี้ยังคงผลิต “ผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก” อย่างต่อเนื่อง โดย“โครงการ เก็บกลับ–รีไซเคิล” ภายใต้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจรีไซเคิล จำกัด ซึ่งจะนำขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET) ส่งต่อให้กับบริษัทผู้ผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อนำไปผลิตเป็นเส้นใยเพื่อทอผ้าห่ม แต่ประโยชน์ยังมีมากกว่านั้น เพราะกระบวนการที่ว่านี้สามารถลดปริมาณขยะจากขวดพลาสติกได้มากถึงปีละ 7.6 ล้านขวดต่อปี รวมระยะเวลา 2 ปี เป็นจำนวน 15.2 ล้านขวด เพราะผ้าห่ม 1 ผืน ต้องใช้ขวดพลาสติกอยู่ที่ 38 ขวด
ไอเดียดังกล่าว สะท้อนประโยชน์หลากหลายช่องทาง แน่นอนว่าสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำลายหรือกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกได้อย่างดีเยี่ยม เพราะนอกจากปริมาณพลาสติกนับล้านขวดที่กลายเป็นขยะในแต่ละวัน จะสามารถกลายเป็นประโยชน์ให้ไออุ่นแก่หลายชีวิตไม่แตกต่างจากผ้าห่มที่ทำจากผ้า ขณะเดียวกัน ยังลดการใช้น้ำได้ถึง 94% เมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์แบบปกติ และใช้พลังงานในกระบวนการผลิตลดลง 60% ทั้งยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 32% นอกจากนี้ กระบวนการดังกล่าวยังสามารถนำไปรีไซเคิลเป็นสิ่งของประเภทอื่น เช่น สายรัดพลาสติก หรือถาดพลาสติก ก็ได้
จากแนวทางและความพยายามเหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ไทยเบฟ จะกลายเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนซึ่งได้รับการจัดอันดับให้เป็นองค์กรชั้นนำในระดับโลก โดย Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ติดต่อกันถึง 4 ปีซ้อน
ภารกิจที่ถูกส่งต่อ สู่…สังคมแห่งการให้ที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ไทยเบฟ มีเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่งเข้าร่วมคาราวานต้านภัยหนาวทุก ๆ ปี อาทิ บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชี จำกัด, โรงพยาบาลรวมแพทย์ยโสธร, บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด, บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด, บริษัท เสริมสุข จำกัด, บริษัท เอฟแอนด์เอ็นแดรี่ส์ (ประเทศไทย) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงมหาดไทย ที่เป็นกำลังหลักที่สำคัญตลอดมา
ขณะเดียวกัน จากการหยอดเมล็ดพันธุ์ทางด้านการศึกษาที่ไทยเบฟดำเนินการไว้ ก็ยังเห็นผลอย่างชัดเจน ยกตัวอย่าง น้องอาจัว เด็กชาวม้งที่เคยได้รับผ้าห่มจากโครงการรวมใจต้านภัยหนาวเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ซึ่งมีโอกาสได้รับทุนการศึกษาจากไทยเบฟ เข้ารับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จนจบ ก็ยังกลับมาร่วมงานกับไทยเบฟ พร้อมทั้งสานต่อการให้ จากการร่วมลงพื้นที่แจกผ้าห่มช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้สัมผัสถึงกิจกรรมจิตอาสาเปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้ และสะท้อนถึงคุณค่าที่ไทยเบฟสามารถ สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต จนกลายเป็นพลังแห่งความร่วมแรง ร่วมใจ อย่างแข็งแกร่งในปีที่ 22 และปีต่อ ๆ ไปของโครงการไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว (sustainability.thaibev.com) และสังคมไทยอีกด้วย