บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังคงติดโผหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาหนักจากการขาดทุนและระบบการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีการจัดการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2561 โดยมีพลอากาศเอก ตรีทศ สนแจ้ง รักษาการประธานกรรมการบริษัทฯ เป็นประธานในการประชุม ภายในงานจะมีการชี้แจงเรื่องผลการดำเนินงานประจำปี 2560 การชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้น และโชว์แผนในการปฏิรูปองค์กร
รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2560 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงานธุรกิจการบิน (Operating profit) จำนวน 2,856 ล้านบาท แม้การบินไทยจะยังมีผลกำไรอยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกับปีก่อนพบว่ากำไรในส่วนของธุรกิจการบินลดลงถึง 29.8% ซึ่งสาเหตุหลักคือ อัตราค่าน้ำมันเครื่องบินที่ปรับตัวสูงขึ้น (สูงกว่าปีก่อน 24.2%) รายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยต่ำกว่าปีก่อน 7.7% นอกจากนี้การบินไทยยังการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมัน (Fuel Surcharge) แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแล้ว ส่งผลบริษัทฯ และบริษัทย่อย ขาดทุนสุทธิ 2,072 ล้านบาท
สำหรับสินทรัพย์รวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีทั้งสิ้น 280,775 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2559 จำนวน 2,349 ล้านบาท (0.8%) หนี้สินรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เท่ากับ 248,762 ล้านบาท ลดลง 774 ล้านบาท (0.3%) และส่วนของผู้ถือหุ้น มีจำนวน 32,013 ล้านบาท ลดลง 1,575 ล้านบาท (4.7%) สาเหตุหลัก เกิดจากผลขาดทุนจากการดำเนินงานของบริษัทฯ
ทั้งนี้ ผลจากการขาดทุนอย่างต่อเนื่องและไม่มีผลกำไรจากการดำเนินงาน ส่งผลให้ที่ประชุมมีมติงดจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2560 ให้แก่ ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ
ด้านแผนการปฏิรูปองค์กรเพื่อให้เกิด “การเติบโตอย่างยั่งยืน” ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ได้เข้าสู่ระยะที่ 3 ของแผน มีกลยุทธ์ 6 ข้อดังนี้
- พัฒนาเครือข่ายการบินที่แข่งขันได้ ทำกำไรและลดความซับซ้อนของฝูงบิน
- เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเสริมสร้างรายได้
- สร้างความเป็นเลิศในการให้บริการ (Service Ring)
- มีต้นทุนที่แข่งขันได้ และการดำเนินงานมีประสิทธิภาพ
- สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนความยั่งยืนและพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพดีเยี่ยม
- บริหารบริษัทในเครือและกลุ่มธุรกิจ และพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจใหม่เพื่อความยั่งยืน โดยได้มีการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การเปิดเส้นทางบินตรงสู่กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในจุดบินที่มีศักยภาพและขยายเส้นทางบินในภูมิภาคอาเซียนโดยใช้สายการบินไทยสมายล์
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักที่การบินไทยต้องเผชิญแบกรับอัตราค่าน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่สูงขึ้น และการแข่งขันที่รุนแรงจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับเหตุการณ์เครื่องยนต์โรลส์รอยซ์รุ่น TRENT1000 ที่ติดตั้งกับเครื่องบินโบอิ้ง 787-8 จำนวน 6 ลำ ที่ประสบปัญหาจากตัวใบพัดในเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสายการบินทั่วโลกที่ใช้เครื่องยนต์รุ่นดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ ได้รับผลกระทบกับการให้บริการและกระทบต่อตารางการบิน ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ตลอดจนสูญเสียโอกาสในการหารายได้ตามแผนที่วางไว้ ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาเรียกค่าชดเชยจากผลกระทบดังกล่าว
ที่มา bangkokbiznews ที่มาภาพ Thai Airways