เมื่อวัคซีนและยารักษายังไม่มี ไทยพีบีเอสชวนคนไทยเตรียมรับมือการระบาดระลอก 2 ของ COVID-19

  • 102
  •  
  •  
  •  
  •  

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่สามารถจำกัดการแพร่ระบาด COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพจนได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่ามีระบบการจัดการด้านโรคระบาดที่ดี ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับหน่วยงานระดับท้องถิ่นอย่างอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการระงับการแพร่ระบาด

แม้จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่ตราบเท่าที่ยังไม่มียารักษาและวัคซีน การแพร่ระบาด COVID-19 ก็จะยังคงอยู่ต่อไปและมีแนวโน้มที่จะกลับมาระบาดใหม่อีกครั้งในประเทศที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดได้ โดยเฉพาะปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กัน และเป็นโอกาสที่ก่อให้เกิดการระบาดระลอกที่ 2 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส (Thai PBS) โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ และ The Active ร่วมกับ สำนักข่าว Hfocus จัดการประชุมในรูปแบบ Virtual Policy Forum ภายใต้หัวข้อ Virtual Policy Forum : เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่สองของ COVID-19 เมื่อสุขภาพกำหนดสังคม”

โดยด้าน รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ชี้ว่า ไทยพีบีเอสได้ทำหน้าที่สำคัญในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เพื่อประเมินแนวโน้มสถานการณ์และแสวงหาแนวทางการป้องกัน สร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข  ไทยพีบีเอสเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์และความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ จะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ ทั้งด้านสาธารณสุข สังคมและเศรษฐกิจ

ขณะที่ ศ.นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้ว่า ในช่วง 7 เดือนหลังการระบาดของ COVID-19 ยังคงมีผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องทะลุ 15 ล้านคน โดยเฉลี่ยแล้วมีคนไข้เพิ่มขึ้นทุกๆ 2 แสนคนต่อวัน และเนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ ทำให้ยังไม่มียารักษา ยาที่ใช้อยู่ก็เป็นยาที่ไม่ตรงกับโรค เป็นยายืมจากที่อื่นมาใช้ และยังไม่มีวัคซีน สิ่งที่ต้องทำเมื่อยังไม่มียาและวัคซีนก็คือวิธีการล็อกดาวน์ แต่ที่ได้ผลดีที่สุดคือการเว้นระยะห่างทางสังคม

ประเทศไทยถือว่าทำได้ดี แต่ก็ต้องสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและการควบคุมโรค เพราะหากรอดตายจากโรคได้ ก็อาจจะต้องตายเพราะอดตายแทน ประชาชนต้องทำใจว่ามันอาจจะมีการระบาดอีกหลายรอบ แต่ต้องควบคุมให้ได้ ยิ่งในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงจะมีคนต่างชาติหนีเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ถ้ามองว่านี่คือโอกาส ก็ไม่ต้องไปกลัว เพราะเป้าหมายตอนนี้ไม่ใช่ต้องการให้ผู้ป่วยติดเชื้อเป็นศูนย์ แต่ต้องควบคุมการระบาดให้เป็นรอบเล็กๆ อยู่ในวงจำกัด ต้องมีการสื่อสารใหม่สู่ประชาชน

ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ประเทศไทยจำเป็นต้องเปิดประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจดำเนินต่อได้ ซึ่งสามารถแบ่งออกมาได้ 3 ช่วง ทั้งช่วงการควบคุมอย่างเต็มที่ หลังปลดล็อกทุกภาคธุรกิจ รวมทั้งการเดินทางภายในและระหว่างประเทศ คาดว่าอาจจะพบผู้ป่วยบ้างราว 15-30 คนต่อวัน โดยจะเน้นการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มข้น

ช่วงการเตรียมระบาดระลอก 2 สถานการณ์จะยังคงอยู่ในการควบคุม การระบาดจะอยู่ในวงจำกัด ธุรกิจและการเดินทางจะดำเนินการได้เกือบ 100% คาดว่าจะพบผู้ป่วยราว 50-150 คนต่อวัน โดยที่ยังคงมีการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข และช่วงเอาไม่อยู่ สถานการณ์จะเริ่มควบคุมได้ยากจะมีการระบาดซ้ำ ไม่มีการกักกันเพื่อติดตาม อาจจะพบผู้ป่วยตั้งแต่ 500-2,000 คนต่อวัน หากถึงช่วงระยะดังกล่าวระบบสาธารณสุขอาจไม่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วย

สำหรับประเทศไทยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 1-2 ปัจจัยหลักที่อาจทำให้เกิดการระบาดอีกครั้งในประเทศไทย ส่วนใหญ่มาจากแรงงานที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะตามด่านพรมแดนธรรมชาติ ข้อมูลล่าสุดตอนนี้ มีแรงงานชาวเมียนมาจำนวน 60,000 คน ที่ลงทะเบียนขอเข้าไทย และอีก 40,000 คน กำลังทำเรื่อง นับเป็นแสนคนที่จะเข้ามาอย่างถูกต้อง แต่ก็ยังมีที่มาแบบใต้ดินอีกจำนวนไม่น้อย

ศ.นพ.อุดม คชินทร ยังชี้ว่า มี 3 ทางที่จะยุติ  COVID-19  ได้ทั้งการพัฒนาวัคซีน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหนึ่งปี หรือหนึ่งปีครึ่งอย่างเร็วที่สุด การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยต้องมีประชากรในประเทศติดเชื้ออย่างน้อยถึง 70% แต่จากการสุ่มตรวจภูมิคุ้มกันของคนไทยพบว่า มีภูมิคุ้มกัน COVID-19 น้อยกว่า 10% และไวรัสกลายพันธุ์ จนไม่สามารถแพร่เชื้อได้ แต่เป็นเรื่องยากเกินไป

สำหรับการระบาดของ COVID-19 แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะแรก พยายามควบคุมผู้ติดเชื้อ ซึ่งประเทศไทยผ่านระยะนี้มาแล้ว ระยะที่ 2 ผ่อนคลายมาตรการ เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาคล่องตัว และระยะที่ 3 ฟื้นตัวและปรับตัว โดยประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะนี้ คาดว่าจะยาวไปถึงปลายปีหรือกลางปี 2564 และระยะสุดท้าย การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งบางมาตรการอาจต้องทำไปตลอด นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าหากมีคนหลุดมาจากชายแดนจะเสี่ยงแพร่เชื้อสะสมถึง 7 พันคนใน 15 เดือน

ด้าน นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า ประเทศไทยมีโอกาสสูงมากที่จะมีการระบาดรอบสอบในครึ่งปีหลัง โดยปัจจัยที่จะทำให้ระบาดรุนแรงหรือไม่นั้น มี 3 ปัจจัย ทั้งตัวเชื้อ ตัวคน และสังคม ปัจจัยตัวเชื้อไม่เท่าไหร่  แต่ตัวคนสำคัญกว่าเพราะต้องยังคงมาตรการป้องกันเหมือนเดิม  ส่วนปัจจัยสังคมมีระบบค่อนข้างพร้อมมากจึงไม่ต้องกังวล

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้ว่า กรมควบคุมโรค มีการประมาณการกรณีมีผู้ติดเชื้อเดินทางข้ามชายแดนมา โดยหากเดินทางเข้าประเทศมา 50 คนต่อเดือน ก็จะมีการประมาณการณ์ผู้ป่วย 7,000 กว่าคนใน 15 เดือน ตกเดือนละ 500 คน แต่ระบบการบริการทางการแพทย์มีเตียงรองรับทั้งหมดกว่า 22,052 เตียงทั่วประเทศ ดังนั้นถ้ามีการระบาดระลอกสองจะก่อให้เกิดการแพทย์วิถีใหม่

ส่วน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ชี้ว่า เพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้นก็ต้องแลกกับความเสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งหากมีมาตรการควบคุมที่ดี หากรักษาระยะห่างและสวมหน้ากากอนามัยก็จะลดความเสี่ยงลงได้มาก ยิ่งล้างมือบ่อยๆ ก็จะยิ่งดี ไม่ต้องรอวัคซีนแต่ช่วยกันเองได้

ทั้งนี้ นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่สามารถที่จะผลิตยาเองได้ ขณะที่ชุด PPE (Personal Protective Equipment) สามารถผลิตขึ้นใช้เองได้ ปัจจุบันมีจำนวนผู้ประกอบการ 25 ราย ที่สามารถผลิตชุด PPE เพื่อรองรับได้เป็นล้านตัว เป็นโอกาสที่จะควรเปิดตลาดและส่งออก สำหรับวัคซีนกำลังหารือว่าจะลงทุนเรื่องนี้อย่างไร ทั้งหมดก็เพื่อให้ไทยพึ่งพาตนเองให้ได้

ด้าน รศ.ภกญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม ชี้ว่า ธุรกิจยาค่อนข้างซับซ้อน วัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาน่าจะเป็นสินค้าของสังคมโลก ไม่ควรมีการผูกขาดประเด็นคือจะบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไร หากเราไม่เตรียมตัวในคลื่นลูกที่ 2 จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ ภาครัฐจึงควรสนับสนุนอุตสาหกรรมยา ด้วยการวางแผน ข้อมูลเรื่องห่วงโซ่อุปทาน และการทรานเฟอร์เทคโนโลยีก็มีส่วนในการช่วยพัฒนา

นพ.ทวิราป ตันติวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMa) กล่าวว่า ปัจจุบันยาและวัคซีน COVID-19 มีการผลิตในหลายประเทศ ต้องถามทางภาครัฐว่าจะมียุทธศาสตร์ในการเจรจาเรื่องนี้อย่างไร โดยสิ่งสำคัญต้องเจรจาหลากหลายประเทศที่แตกต่างกันไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ขณะที่ นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เห็นว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนช่วยประสานหาเครื่องมือแพทย์ในการรับมือโรคระบาด ล่าสุดมีการเจรจากับต่างประเทศที่จะทานเฟอร์เทคโนโลยีด้านวัคซีนหากประเทศใดสามารถผลิตได้ก่อน เพื่อให้คนไทยได้ใช้วัคซีนเร็วที่สุด ขณะเดียวกัน หลังจากปิดประเทศทำให้เห็นความจำเป็นของอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ควรพัฒนา และมีโอกาสเติบโต คือ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยาและการแพทย์ แต่วิกฤตตอนนี้คือมีคนตกงานจำนวนมาก

ส่วน นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขด้านต่างประเทศ เสนอเชิงนโยบาย 3 ข้อ ทั้ง การเปิดประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้คนมีงานทำ โดยอยู่บนหลักการ 3 อย่างคือ เลิกตั้งเป้าหมายผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์ แต่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำควรมีกี่รายที่สามารถรับได้ เปิดประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยต้องไม่มีเงื่อนไขข้อยกเว้น และเปิดให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาผู้ที่กำหนดทิศทางเป็นรัฐและภาคเอกชน ข้อเสนอเชิงนโยบาย

กระตุ้นให้ประชาชนในประเทศรักษาระดับการป้องกันอย่างเข้มงวด ทั้งการใส่หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้งใช้แอปพลิเคชันไทยชนะมากที่สุด และต้องพัฒนาระบบการเยียวยาเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว และใช้โอกาสนี้ในการลดความเหลื่อมล้ำสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง


  • 102
  •  
  •  
  •  
  •