เรียกว่าเป็นหนึ่ง “เบื้องหลัง” ความสำเร็จของแบรนด์ต่าง ๆ ก็คงไม่ผิด เพราะชื่อของ “เต็ดตรา แพ้ค” (Tetra Pak) อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภค ทั้งที่อาจเคยหยิบ จับ ใช้งานเป็นประจำ! แต่ในกลุ่มแบรนด์และภาคอุตสาหกรรม เต็ดตรา แพ้ค คือ แบรนด์อันดับต้น ๆ ที่มีชื่อเสียงอย่างยาวนาน เฉพาะในประเทศไทยก็ราว 40 ปีมาแล้ว ยังไม่นับรวมผลงานกว่า 60 ปีในระดับโลก และความสำเร็จจากการจำหน่ายแพคเกจจิ้งในปีที่ผ่านมา ถึง 1.89 แสนล้านกล่องทั่วโลก! ส่วนในไทย…ก็มีลูกค้าแบรนด์ชั้นนำไม่ต่ำกว่า 50 แบรนด์
แต่ “ความสำเร็จ” และ “เป้าหมาย” ที่ยั่งยืนตามพันธกิจของเต็ดตรา แพ้ค กลับไม่ได้จำกัดอยู่แค่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ แต่ยังครอบคลุมถึงสายธุรกิจอื่นขององค์กรอย่างกระบวนการผลิตอาหาร – เครื่องดื่ม และบริการครบวงจรด้านเครื่องจักร – อุปกรณ์ในกระบวนการผลิต ตลอดจนการให้ความสำคัญกับแนวคิด “Protects What’s Good” เพื่อปกป้องทุกคุณค่าของโลกใบนี้ตั้งแต่เรื่องอาหาร ผู้คน และอนาคตของสิ่งแวดล้อมรวมถึงธุรกิจของคู่ค้า ซึ่งเราได้รับรู้ประเด็นน่าสนใจเหล่านี้ จาก คุณสุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นผู้เปิดโลกอีกใบของเต็ดตรา แพ้ค ให้เรารู้จัก
“แนวคิด Protects What’s Good เป็นการตอกย้ำว่าเราคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ เพราะองค์กรตระหนักว่ากิจกรรมต่าง ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมแม้จะสร้างคุณค่าทางธุรกิจ เราจึงต้องการลดผลกระทบเหล่านั้นพร้อมทั้งสร้างการรับรู้สู่สังคมเพื่อต่อยอดเป็นความสำเร็จระยะยาว”
ไม่ใช่แค่กระบวนการผลิต! “Sustainable” เป็นเรื่องของทุกคน
ประเด็นที่ภาคธุรกิจหันมาใส่ใจโลก สนใจสิ่งแวดล้อมอาจไม่ใช่ประเด็นใหม่ แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเทรนด์ที่แบรนด์ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ และเรื่องนี้ยิ่งพิสูจน์ความสำเร็จอย่างยั่งยืนของเต็ดตรา แพ้ค ได้เป็นอย่างดี เพราะองค์กรแห่งนี้ดำเนินงานมาแล้วหลายสิบปี ทั้งยังมี “Sustainability Report 2019” รายงานความยั่งยืนของเต็ดตรา แพ้ค ซึ่งจัดทำมาอย่างยาวนานถึง 21 ปี เพื่อยืนยันแนวทางการปกป้องทุกคุณค่าขององค์กรและกระตุ้นให้ผู้คนเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว โดยสอดคล้องกับแนวทาง Protects What’s Good ที่ให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องหลัก คือ Protect Food, Protect People และ Protect Futures
อย่างที่บอกไปแล้ว ว่าตอนนี้ทั่วโลกต่างมุ่งสู่เทรนด์รักษ์โลกโดยเฉพาะเรื่องแพคเกจจิ้ง ในส่วนนี้ คุณสุภนัฐ แสดงมุมมองว่า เทรนด์หลักถูกมุ่งไปที่ 2 ส่วน คือ “เทคโนโลยี” และ “การสร้างความอย่างยั่งยืน” โดยเรื่องเทคโนโลยีนั้นถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบแพคเกจจิ้งใหม่ ๆ สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้มากขึ้นด้วยลูกเล่นไฮเทค เช่น การสแกน การติด QRcode การติดตั้ง RFID เพื่อทำให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์คุณภาพได้ด้วยตนเอง ขณะเดียวกันก็ทำให้สนุกสนานกับการซื้อและการใช้งานได้มากขึ้น ส่วนการสร้างความยั่งยืนนั้น เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องจากการรักษาสิ่งแวดล้อมที่แบรนด์ต้องดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ เพราะเทรนด์ดังกล่าวกลายเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคให้ความสนใจและมองหาแบรนด์ที่ดำเนินการเช่นนั้น
“การรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว ตอนนี้ผู้บริโภคต่างมองหาแพคเกจจิ้งและธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด และเมื่อแบรนด์ใดทำได้ ผู้คนก็ต่างชื่นชอบและมองหาแบรนด์เหล่านั้นก่อน นั่นทำให้เราริเริ่มเรื่องนี้มานานแล้วและทำอย่างต่อเนื่องเพื่อยืนยันความสำเร็จว่าเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ตลอดจนการเลือกใช้วัสดุทดแทนได้ กระบวนการรีไซเคิลและนำมาผลิตเพื่อใช้ใหม่ แม้ในประเทศไทยยังอยู่ในขั้นตอนเร่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจ แต่นี่เป็นเรื่องที่หยุดทำไม่ได้”
ใส่ใจคุณภาพ “อาหาร” ต้องไม่มีคำว่า “Compromise”
คุณสุภนัฐ อธิบายว่า เรื่องนี้เป็นการทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับสังคม ทั้งเรื่อง Food Safety และเต็ดตรา แพ้ค จะไม่ Compromise กับคุณภาพอาหาร เพื่อทำให้ผู้บริโภคได้ดื่มและกินของที่มีคุณภาพและปลอดภัยเท่านั้น ซึ่งตามแนวคิดการ Protect Food ของเต็ดตรา แพ้ค นอกจากระยะเวลาดำเนินงานในหลักสิบปีมาแล้ว ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินโครงการใหม่ใน Golden Land อย่างประเทศพม่า เนื่องจากเป็นประเทศที่มีผู้ลงทุนเข้าไปให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก รวมถึงลูกค้าในธุรกิจเครื่องดื่มประเภทนมของเต็ดตรา แพ้ค ซึ่งพบว่าชาวพม่ายังคงมีพฤติกรรมการดื่มนมสดที่มีอายุการบริโภคเพียง 2-3 วัน จึงทำให้เกิดโอกาสใหม่ของตลาดนมกล่องที่ปลอดสารกันบูดและสามารถจัดเก็บได้นานหลายเดือน ซึ่งเต็ดตรา แพ้ค ไม่ได้เข้าไปกับคู่ค้าเพื่อทำตลาดเน้นการจำหน่ายเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องการให้ความรู้ในกระบวนการผลิตแบบปลอดเชื้อ หรือระบบ UHT พร้อมกับบรรจุภัณฑ์ที่สามารถปกป้องคุณค่าของนมได้สูงสุด พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ผ่าน KOL, Facebook, การประชาสัมพันธ์ผ่านบทความให้ความรู้ รวมถึงการจัดอีเวนท์เพื่อสร้างการรับรู้ในเรื่องอาหารปลอดภัยและนม UHT ไปพร้อมกันในประเด็นนี้
เพราะ “คน” คือพื้นฐานความสำเร็จ
ตามแนวคิดของเต็ดตรา แพ้ค ยังให้ความสำคัญกับเรื่อง Protect People ซึ่งหมายถึงบุคลากรขององค์กร เรามีโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาจบใหม่ที่รับเข้ามาเป็นพนักงานในอนาคตขององค์กรได้ศึกษาระบบงานในองค์กรโดยมีทั้งหลักสูตรความเป็นผู้นำและด้านเทคนิค เนื่องจากองค์กรมองว่า บุคลากร คือ ปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จซึ่งแน่นอนว่าหมายถึงเวลาระยะยาว โดยเต็ดตรา แพ้ค มองว่าหลักสูตรการเรียนรู้ภายในองค์กรแบบ 3-6 เดือน อาจเป็นระยะสั้นเกินไป หลักสูตรการเรียนรู้ของโครงการนี้จึงอยู่ที่ 1-2 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้โดยละเอียดและมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเต็มที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ยังมีการเปิดรับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทในเครือจากต่างประเทศด้วย ทำให้ตลอด 2 ปีที่เริ่มดำเนินการ มีผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้วกว่า 350 คนทั่วโลก ขณะเดียวกัน การเอาใจใส่ดูแลพนักงานก็สอดคล้องกับสถิติการทำงานภายในองค์กร ที่พบว่าพนักงานส่วนใหญ่มีอายุงานยาวนาน สะท้อนถึงความพึงพอใจในการทำงานกับองค์กร
ปลูกฝัง “ความยั่งยืน” สู่ “สังคมอนาคต”
แม้การเอาใจใส่ในคุณภาพและบุคลากรจะเกิดขึ้นแล้ว แต่แนวคิดแบบปกป้องทุกคุณค่าของเต็ดตรา แพ้ค ยังให้ความสำคัญกับเรื่อง Protect Futures ด้วย ทำให้เต็ดตรา แพ้ค ให้ความสำคัญประเด็นต่าง ๆ เพื่อสร้างพื้นฐานความสำเร็จสู่สังคมที่ยั่งยืนในอนาคต อาทิ การใช้ทรัพยากรทดแทน การใช้ต้นไม้ที่มาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์ที่มีการจัดการอย่างรับผิดชอบเท่านั้น เครื่องจักรต้องมีประสิทธิภาพสูงแต่ต้องสามารถลดการใช้น้ำและพลังงานได้ หรือแม้แต่การรณรงค์นำกล่องเครื่องดื่มกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอีกครั้ง และการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนจากแพคเกจจิ้งที่เกิดคาร์บอนต่ำในตลอดวงจรของกระบวนการผลิต เป็นต้น
“หนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของเต็ดตรา แพ้ค คือความร่วมมือกับหน่วยงานจำนวนมาก ทั้งระดับท้องถิ่น หน่วยงานกำกับดูแล และภาคเอกชนต่าง ๆ เพื่อช่วยกันสร้างความรู้ ความเข้าใจ ทำให้เกิดสังคมคุณภาพที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องภายนอกองค์กร เพราะในองค์กรเราก็มีกิจกรรมลดใช้พลังงานไฟฟ้า 50% โดยเฉพาะโรงงานผลิตที่ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เช่น ลม แสงอาทิตย์ แม้แต่การเลือกใช้ทรัพยากรทดแทนเป็นวัตถุดิบหลักกับแพคเกจจิ้ง เราเลือกแล้วว่าหากจะใช้ต้นไม้ก็ต้องมาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์ที่จัดการอย่างรับผิดชอบเท่านั้น และตั้งเป้าหมายไว้ที่การใช้ทรัพยากรทดแทนได้ 100% ในเร็ว ๆ นี้ จากที่ปัจจุบันทำได้แล้ว 75% รวมไปถึงการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยกระบวนการจัดการวัตถุดิบอย่างมีคุณภาพ”
เลือก “ปลูกฝัง” ความสำเร็จ ไม่ใช่แค่การต่อยอด
คุณสุภนัฐ ย้ำว่า เพราะเต็ดตรา แพ้ค ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน การเติบโตโดยมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรยึดถือมาโดยตลอด เชื่อว่านี่เป็นความแตกต่างและความสำคัญที่ทำให้บริษัทสามารถแข่งขันได้อย่างยาวนานในธุรกิจ ขณะเดียวกันก็ยังสร้างคุณค่าแก่เต็ดตรา แพ้ค ได้เป็นอย่างดีทั้งในสายตาคู่ค้าและผู้บริโภค โดยเราอยากดำเนินการสิ่งเหล่านี้เป็นแบบ Collaboration ร่วมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่เราทำเพียงคนเดียวหรือบอกให้คนอื่นทำ แต่ทั้งหมดคือการปลูกฝังจิตสำนึกให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งองค์กรของเราให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้เช่นกัน เราปลูกฝังพนักงานในการจัดเก็บกล่องและพับกล่องเครื่องดื่มอย่างถูกวิธี จนกลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง รวมถึงการใช้วัสดุต่าง ๆ อย่างรู้คุณค่าเพื่อนำกลับไปสู่กระบวนการรีไซเคิล ยังไม่รวมถึงการปรับวิธีการทำงานสู่ออนไลน์เพื่อลดใช้กระดาษและทำให้องค์กรในเครือข่ายสามารถส่งต่อข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
คืนกำไรสู่สังคม…ตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายทาง และกลับสู่จุดเริ่มต้น
มีเรื่องที่เราอยากส่งต่อถึงทุกท่าน เกี่ยวกับการคืนคุณค่าสู่สังคมซึ่งเต็ดตรา แพ้ค ดำเนินการร่วมกับหลากหลายองค์กรทั้งภาคธุรกิจและภาคสังคม ยกตัวอย่างเช่น การได้รับการรับรองตามหลักเกณฑ์ขององค์การจัดการด้านป่าไม้ (FSC™) ซึ่งถือเป็นมาตรฐานรับรองการบริหารจัดการป่าไม้ด้วยความรับผิดชอบที่ดีที่สุดในโลก โดยผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลาก FSC จะต้องผ่านเกณฑ์ห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ ในทุกแหล่งผลิต ซึ่งเต็ดตรา แพ้ค ได้ผ่านการรับรองทั้งหมด จึงสามารถจัดสรรบรรจุภัณฑ์ที่ติดฉลาก FSC ได้ทั่วโลก ซึ่งในปีที่ผ่านมาแพคเกจจิ้งของเต็ดตรา แพ้ค กว่า 62% ติดฉลาก FSC สำหรับในประเทศไทยเองเกือบ 100%
หรือแม้แต่ประเด็นการใช้ทรัพยากรทดแทนกับส่วนอท่นๆ ของแพคเกจจิ้ง ในปีที่ผ่านมาเต็ดตรา แพ้ค ก็สามารถเปลี่ยนฝาปิดกล่องเครื่องดื่มแบบเดิมให้เป็นฝาที่ทำจากพืชได้แล้วถึง 11%
รวมถึงประเด็นการช่วยเหลือสังคมโดยตรงอย่าง “โครงการหลังคาเขียว” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก, บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, และรายการทีวี 360 องศา จัดตั้งจุดรับกล่องเครื่องดื่มตาม Big C สาขาต่าง ๆ เพื่อรับบริจาคกล่องเครื่องดื่มโดยนำมารีไซเคิลเป็นแผ่นหลังคาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ ซึ่งจากการดำเนินงานมากว่า 8 ปี สามารถรวบรวมกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วได้ถึง 200 ล้านกล่อง และสามารถผลิตเป็นแผ่นหลังคา ช่วยผู้ประสบภัยในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ได้แล้วกว่า 60,000 แผ่น
ความท้าทาย VS เป้าหมาย “สังคม – คุณภาพ – ยั่งยืน”
ถึงจะเป็นองค์กรธุรกิจ แต่เป้าหมายของเต็ดตรา แพ้ค ยังคงมุ่งเน้นที่การสร้างสังคมยั่งยืน โดย คุณสุภนัฐ ขยายความเรื่องดังกล่าวว่า การรีไซเคิลยังคงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เราต้องทำงานกันอย่างหนักและต่อเนื่อง แม้ในช่วง 3-5 ปีมานี้ จะเห็นพัฒนาการของคนไทยในแง่การรับรู้และพฤติกรรมที่เปิดรับมากขึ้นแล้ว แต่การสร้างความรู้และกระตุ้นให้เกิดการกระทำนั้นยังเป็นความท้าทายที่ต้องดำเนินการต่อ เพื่อส่งต่อพฤติกรรมเหล่านี้ให้ขยายวงกว้างสู่สังคม
ส่วนเป้าหมายขององค์กรในเชิงธุรกิจนั้น เต็ดตรา แพ้ค ยังมุ่งมั่นนำเสนอนวัตกรรมแพคเกจจิ้งและโซลูชั่นการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแก่แบรนด์และผู้บริโภค เราไม่เคยหยุดพัฒนาเรื่องเหล่านี้เลย รวมถึงการใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่ต้องรบกวนพลังงานและสิ่งแวดล้อมน้อยลงด้วย
ติดตามอ่านสรุปรายงานความยั่งยืนของเต็ดตรา แพ้ค ได้ที่ http://www.tetrapak.com/th/about/cases-articles/thailand-sustainability