“เติมสบายพลัส” หวังชิงบัลลังก์ “ผู้นำ” ธุรกิจระบบรับชำระเงิน

  • 388
  •  
  •  
  •  
  •  

เติมสบายพลัส

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สาขาธนาคารและตู้เอทีเอ็มค่อยๆ ลดจำนวนลงเรื่อยๆ  สวนทางกับตู้เติมเงินที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่พอกระแส Mobile Banking พัดมา ไม่เพียงดิสรัป (Disrupt) รูปแบบการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ยังส่งผลต่อปริมาณธุรกรรมผ่านตู้เติมเงินในช่วง 1-2 ปีนี้ด้วย ส่งผลให้ “ผู้เล่น” ในตลาดต้องปรับตัวอย่างหนัก โดยเฉพาะ “เติมสบายพลัส” มวยรองในธุรกิจตู้เติมเงินที่เร่งเครื่องเต็มที่ พร้อมกับเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ​ เพื่อหวังพลิกสู่ “เบอร์หนึ่ง” ในเกมระบบรับชำระเงิน (Payment Solution)

“เติมสบายพลัส” หรือที่หลายคนคุ้นในชื่อ “ตู้เติมสบาย” เริ่มเข้ามาสู่ตลาดตู้เติมเงินเมื่อปี 2558 ใช้เวลาไม่ถึง 2 ปีก็ก้าวขึ้นมาเป็น “เบอร์สอง” ในตลาด ด้วยกลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง” ที่เริ่มจากชุมชนในต่างจังหวัดก่อนเข้ามายึดหัวหาดในกรุงเทพฯ โดยกระจายไปตามห้าง ร้านซีพีเฟรชมาร์ททั่วประเทศ รวมถึงหน้าร้าน 7-11 สาขาที่เปิดใหม่กว่า 600 สาขา ปัจจุบัน มีสัดส่วนอยู่ตามชุมชนถึง 90% อีก 10% อยู่ตามห้าง และอยู่ในต่างจังหวัด ​80% ขณะที่อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑลเพียง 20% ​

ใช้สูตรลัดเร่งโตด้วยแฟรนไชส์

ณ สิ้นปี 2561 จำนวนตู้เติมสบายพลัสทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 47,000 ตู้ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณ 16% แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังตามหลังเจ้าตลาดอย่าง “ตู้บุญเติม” อยู่หลายขุม เพราะรายนี้มีจำนวนตู้มากถึง 130,000 ตู้​ ด้วยความที่บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เจ้าของตู้บุญเติม เข้าสู่ตลาดนี้มาแล้วนับ 10 ปีบวกกับได้เข้าระดมทุนในตลาด mai มาแล้วกว่า 4 ปีทำให้มีแต้มต่อในการขยับขยายธุรกิจมากกว่า 

ดังนั้น การที่ “เติมสบายพลัส” จะเร่งขยายจำนวนตู้ให้ทันหรือใกล้เคียงกับ “เบอร์หนึ่ง” โดยอาศัยการทำธุรกิจรูปแบบเดิม คือเน้นขายตู้เติมเงิน (แบบขายขาด) จึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างย่ิงภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวเช่นนี้ด้วยแล้ว

เติมสบาย-franchise

ด้วยเหตุนี้ เมื่อต้นเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา คุณชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) จึงได้ประกาศกลยุทธ์ใหม่ในการขยายจำนวนตู้เติมสบายพลัส ด้วยการใช้ระบบแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นสูตรลัดเร่งโตที่หลายธุรกิจประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยแทนที่ผู้ที่สนใจอยากเป็นเจ้าของและมีรายได้จากตู้เติมเงินจะต้องใช้เงินก้อนโตเพื่อซื้อตู้ ก็เปลี่ยนมาลงทุนด้วยเงินเริ่มต้นเพียง 7,000 บาท โดยผลตอบแทนโดยรวมที่จะได้รับอยู่ที่ 4.5% ​

“เทียบเป็นอัตราส่วนแล้วเราให้ผลตอบแทนสูงกว่าแบรนด์อื่นประมาณ 15% เพราะตอนนี้ในตลาดให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 2.8-3.5% หลังใช้ระบบแฟรนไชส์เชื่อว่าอีก 12-18 เดือนข้างหน้าจะเห็นการขยายตัวของเราอย่างมีนัยสำคัญและอาจทำให้เราพลิกเป็นผู้เล่นหลักในธุรกิจนี้”  

เพื่อเตรียมรองรับการขยายจำนวนตู้ที่อาจโตก้าวกระโดด ในช่วงที่ผ่านมา คุณชูเกียรติจึงได้ตระเตรียมกำลังพลทั้งทีมงานขายและทีมบริการหลังการขายกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งมีกว่า 700 คน โดยเขาบอกว่าตอนนี้ระดมประกาศรับสมัครพนักงานผ่านหลากหลายช่องทาง เพราะต้องการคนอีกเป็นจำนวนมาก 

ย้ำจุดแข็ง “จุดบริการครบวงจร”

​จากฟังก์ชั่นเติมเงินค่าโทรศัพท์มือถือแบบพรีเพด (Online Top-up) ที่เคยเป็นจุดขายหลักในวันแรกๆ ที่เปิดตัวนวัตกรรมตู้เติมเงิน มาวันนี้ ตู้เติมเงินได้กลายเป็นตู้รับชำระสารพัดค่าใช้จ่าย ยิ่สามารถรับชำระบิลให้กับหลากหลายหน่วยงานมากเท่าไหร่​ ก็ยิ่งทำให้ตู้แบรนด์นั้นได้รับความสนใจจากผู้ที่ต้องการลงทุนมากขึ้น นี่จึงเป็นเหตุให้บรรดาผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจต่างออกหาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อจับมือขอรับสิทธิ์เป็นตัวแทนรับชำระเงินเป็นรายแรก (และรายเดียว) ของหน่วยงานนั้นๆ 

เติมสบายพลัส

ล่าสุด คุณชูเกียรติย้ำว่า ตู้เติมสบายพลัสเป็นตัวแทนรายแรกและรายเดียว (ในขณะนี้) ที่รับชำระบิลค่าน้ำและค่าไฟส่วนภูมิภาคอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่เปิดให้บริการชำระผ่านตู้​ โดยสามารถชำระบิลที่เกินงวดชำระแล้วได้ด้วย รวมทั้ง ยังมีบริการจำหน่ายซิมมือถือและลงทะเบียนยืนยันตัวตน (KYC) เพื่อเปิดใช้งานซิมได้ที่ตู้ และมีบริการแลกคะแนนสะสม TrueYou เป็นค่าโทรศัพท์หรือค่าอินเตอร์เน็ตได้ที่ตู้เติมสบายพลัส​

นอกจากนี้ ตู้เติมสบายพลัสยังเป็น Banking Agent (บริการโอนเงิน-ชำระสินเชื่อ/บัตรเครดิตด้วยระบบออนไลน์) ให้กับธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และในเดือน เม.ย. นี้ก็จะเป็น Banking Agent ให้กับธนาคารออมสินด้วย อีกทั้งยังมีบริการซื้อสติ๊กเกอร์ไลน์ ซื้อประกันภัย และพรบ. รถยนต์/รถมอเตอร์ไซค์ ตลอดจนรับชำระค่าโทรศัพท์รายเดือน ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึง เติมเงินเกมมือถือ และ e-Wallet ต่างๆ ผ่านตู้เติมสบายพลัสได้ทันที​ และ เพราะความ “ครบจบในที่เดียว” นี้ทำให้ปีที่แล้ว ยอดการใช้งานผ่านตู้เติมสบายพลัสเฉลี่ยสูงกว่า 10 ล้านรายการ/เดือน

“การที่ธนาคารทุกแห่งมี Mobile Banking Application ถามว่าธุรกิจตู้เติมเงินกระทบไหม มันก็มีบ้าง โดยเฉพาะตู้ตามห้าง แต่ถึงยังไงฐานลูกค้าเราก็ยังใช้บริการต่อ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักของเรา คือคนไทยที่ไม่มีบัญชีเงินฝาก (แบงก์ชาติให้ตัวเลขไว้ที่ 30% ของประชากรไทยทั้งหมด) และคนงานต่างด้าวที่ทำงานในไทยอีกกว่า 14 ล้านคน ปัจจุบัน ตู้เติมเงินของเรามี 5 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ เมียนม่า กัมพูชา และมลายู นอกจากนี้ เรายังมี  Call Center รองรับภาษาเมียนม่า และสิ้นปีนี้ เราจะทำให้ตู้ของเราโอนเงินไปเมียนม่า กัมพูชา และลาว ผ่านหน้าตู้ได้เลย โดยโอนครั้งละน้อยๆ อย่าง 1,000 บาทก็โอนได้”

คุณชูเกียรติย้ำว่า ในธุรกิจตู้เติมเงิน เป้าหมายของบริษัทคือ การเข้าถึงที่ครอบคลุมเพื่อให้บริการลูกค้าได้มากที่สุดและง่ายที่สุดในต้นทุนที่ถูกที่สุด ส่วนจำนวนตู้จะเบียด “เบอร์หนึ่ง” ขึ้นไปได้หรือไม่นั้น ไม่สำคัญเท่าการครอง “อันดับหนึ่ง” ในใจลูกค้ามากกว่า​ 

“ตู้กดสินค้า” เทรนด์ธุรกิจน่าจับตา

คุณชูเกียรติมองว่า ธุรกิจตู้เติมเงินอาจจะเริ่มเข้าสู่ช่วงชะลอตัว จากปัจจุบันที่จำนวนตู้ทั้งตลาดทุกแบรนด์รวมกันน่าจะมีมากกว่า 2 แสนตู้ ขณะที่ตลาดที่มีคุณภาพควรมีไม่เกิน 2.5 แสนตู้ แต่ทั้งนี้ ทั้งเบอร์หนึ่งและเบอร์สองในตลาดต่างก็ตั้งเป้าจะขยายตู้ใหม่อีก 4,000-5,000 ตู้ นั่นแปลว่า ตู้ใหม่ของแบรนด์ที่แข็งแรงกว่าจะเข้าทดแทนตู้เก่าที่ไม่สร้างรายได้เป็นที่น่าพอใจให้กับผู้ลงทุน

Vending Machine

สวนทางกับธุรกิจตู้กดสินค้า (Vending Machine) ซึ่งคาดว่าจำนวนตู้ในตลาดอยู่ที่ประมาณ 15,000 ตู้ ขณะที่ปี 2563 จำนวนตู้อาจเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 25,000 ตู้โดย “เบอร์หนึ่ง”ในตลาดนี้ได้แก่ “ซันร้อยแปด” ของเครือสหพัฒน์ตามมาด้วย “ทีจีเวนดิ้ง” ของค่ายกระทิงแดงส่วน “เวนดิ้งพลัส” ของกลุ่มเติมสบายพลัส ก้าวสู่อันดับ 3 ในตลาดหลังเปิดตัวตู้แรกเพียงไม่ถึง 15 เดือน

“ตลาดตู้กดสินค้ามีปัจจัยบวกจากปัญหาค่าแรงงานที่สูงขึ้น และมีการขยายตัวของโรงงาน ปั๊มน้ำมัน ศูนย์กระจายสินค้า และห้างสรรพสินค้า ที่ถือเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูงของธุรกิจนี้”

คุณชูเกียรติให้ข้อมูลว่า ในปี 2560 เวนดิ้งพลัสมียอดจำหน่ายน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ล้านบาท/เดือนในปี 2561 ยอดขายพุ่งขึ้นมาเป็น 21 ล้านบาท/เดือน ในปีนี้เขาตั้งเป้ายอดขายเกิน 100 ล้านบาท/เดือน  

ปัจจุบัน “เวนดิ้งพลัส” มีตู้กดน้ำกระป๋องอัตโนมัติราว 1,400-1,600 ตู้ ชูจุดขายด้วยราคาสินค้าที่ต่ำกว่าร้านสะดวกซื้อ และความหลากหลายของสินค้า รวมถึง มีการใช้ข้อมูล (Big Data) มาจัดสินค้าให้สอดคล้องกับผู้บริโภคในทำเลนั้น โดยในปลายปีนี้ บริษัทมีแผนจะผลิตตู้กาแฟชง มาม่าพร้อมทาน และมีความเป็นไปได้ที่จะเปิดตัวตู้ไอศกรีม ​พร้อมกันนี้ยังเตรียมอัพเกรดระบบชำระเงินให้รองรับการจ่าย QR Code, e-Wallet, Alipay, WeChat Pay และระบบ NFC เพื่อรองรับการจ่ายเงินผ่านบัตร Rabbit Line Pay และบัตร TrueYou โดยเอาคะแนนมาแลกสินค้าที่ตู้เวนดิ้งพลัสได้​

“ต่อไปเราอาจจะมี Face Recognition มีจอโฆษณาที่ตู้ด้วย มีระบบยิงโฆษณาผ่านบลูทูธจากตู้ส่งไปยังมือถือคนที่อยู่บริเวณนั้นฯลฯความสามารถในการอัพเกรดตามเทรนด์เทคโนโลยีได้อย่งรวดเร็วถือเป็นจุดแข็งของเรา และเราตั้งใจจะทำให้ตู้เวนดิ้งพลัสเป็นมากกว่าตู้กดสินค้า และท่ีสำคัญ เราตั้งเป้าจะเป็นผู้นำในตลาดนี้ให้ได้ภายในปี 2563 ด้วยจำนวนตู้มากกว่า 1 หมื่นตู้” ​

รุก 2 ธุรกิจใหม่ต่อยอดธุรกิจตู้ 

“คนบอกว่าตู้เติมเงินอาจจะไปไม่รอด แต่วันนี้ผมเปิดบริการที่ยังไงคนก็ต้องจ่าย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ และเราไม่กลัวเพราะเราเป็นเจ้าของ Ecosystem เราจับมือกับพาร์ทเนอร์ระดับประเทศ สร้าง Ecosystem ในวิถีของเรา ซึ่ง Ecosystem นี้เองที่จะทำให้เรารอดและโดดเด่น”

ชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม เติมสบายพลัส
คุณชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม เติมสบายพลัส

ปัจจุบัน บริษัทได้ขยายธุรกิจออกมาจนมีถึง 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1) กลุ่มตู้เติมเงิน 2) กลุ่มตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเวนดิ้งพลัส” (Vending Machine) 3) ระบบจัดการศูนย์อาหาร (ระบบบัตรบาร์โค้ดชำระค่าอาหาร) ให้กับศูนย์การค้าชั้นนำกว่า 250 แห่ง และ 4) กลุ่มบริการทางการเงินและอุปกรณ์รับชำระเงิน (Financial Service & Payment Facilities) ภายใต้ชื่อสบายมันนี่ ให้บริการแพลตฟอร์มชำระเงินและเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money/ e-Wallet) 

ทั้งนี้ ธุรกิจระบบศูนย์อาหารเปิดตัว ภายใต้ชื่อ บริษัท สบาย ซิสเต็มส์ แอนด์ เมเนจเม้นท์ จำกัด (SSM) นับเป็นบริษัทน้องใหม่ในกลุ่มสบายเทคโนโลยี ปัจจุบัน ถือเป็น “ผู้นำ” ด้านการจัดการศูนย์อาหารที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น เทสโก้ โลตัส, ท๊อป ซูเปอร์มาร์เก็ต, เทอร์มินัล 21 และอีกหลายแห่ง ปัจจุบัน มียอดการใช้งานในศูนย์อาหารรวมกันทุกที่ 12 ล้านรายการ/เดือน

“เราเป็นผู้นำในตลาดนี้ มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 60% เราตั้งใจว่าภายใน 3 ปี เราจะครองส่วนแบ่งเกือบ 100% เพราะเราตั้งใจจะซื้อทุกธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้มารวมกับของเรา และปีนี้เราตั้งใจจะพัฒนาระบบชำระเงินที่จะช่วยให้ลูกค้าจ่ายเงินได้ง่ายๆ ตามไลฟ์สไตล์ เช่น Rabbit, QR Promptpay, True Money, Alipay, WeChat Pay รวมถึงบัตร Pay Wave ของ VISA หรือ MasterCard และ e-Wallet ต่างๆ เพื่อลดความซับซ้อนและเพิ่มความรวดเร็วในการบริการ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นระบบจัดการศูนย์อาหารที่ทันสมัยที่สุดในเอเชีย และเรายังมีแผนจะขยายไปสู่ศูนย์อาหารในโรงงานและสถานศึกษาด้วย”​

สำหรับ “สบายมันนี่” คุณชูเกียรติเล่าว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างศึกษาว่าจะสร้าง e-Wallet ภายใต้แบรนด์ของบริษัทเองหรือจะร่วมกับแบรนด์ในตลาดที่แข็งแกร่ง ซึ่งถือเป็น “จิ๊กซอว์” ที่จะต่อยอดอีก 3 ธุรกิจให้ครบวงจรโดยใช้ตู้เติมเงินเป็นจุดเติมเงินเข้า Wallet แล้วนำเงินอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้จ่ายผ่านตู้เติมเงิน ตู้กดสินค้า และศูนย์อาหารในเครือของบริษัท​ โดยทุกช่องทางจะเป็นจุดป้อนข้อมูลลูกค้า (Data) และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาสินค้า และเพิ่มประสิทธิภาพบริการให้ตอบโจทย์ยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะนำเสนอแอปพลิเคชั่นสำหรับเป็น Payment Solution ให้กับร้านค้าขนาดเล็ก  ร้านอาหารข้างทางฯลฯ รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้า (Logistics) ที่ติดข้อจำกัดในเรื่องปริมาณธุรกรรมที่อาจไม่มากพอ ทำให้ไม่ได้รับเครื่อง POS จากธนาคาร โดยแอปฯ นี้จะเปลี่ยนให้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตกลายเป็น POS ที่สามารถรับชำระด้วยรูปแบบต่างๆ ที่อยู่ใน Ecosystem ของบริษัทได้​อย่างง่ายดาย  

“e-Payment จะเติบโตก็ต่อเมื่อ Offline แข็งแรง พอเรามี e-Wallet มันจะทำให้ภาพธุรกิจของเราแข็งแรง และเป็นภาพที่สมบูรณ์ครบวงจร ซึ่งน่าจะเห็นได้ภายในปีนี้ จริงๆ เรายังมีอีกหลายโปรดักส์ที่จะเสนอในอนาคต ซึ่งจะต่อยอดให้เราเข้าสู่การเป็น “ผู้นำ” ในนิเวศที่จะทำให้เทคโนโลยีเข้าถึงคนได้มากที่สุดและสะดวกที่สุดภายใน 2-3 ปี ถ้าเวลานั้นมาถึง เติมสบายพลัสจะเป็นช่องทางที่ทุกคนจะวิ่งมาหา เพราะเราอยู่ใกล้ลูกค้ามากที่สุดและครอบคลุมที่สุด”

“บุญเติม” ไม่ยั้ง เร่งสร้าง Ecosystem ของตัวเอง

boonterm

ขณะที่ “เบอร์สอง” กำลังเร่งหาเส้นทางธุรกิจใหม่เพื่อสร้างแนวทางเติบโต และรับมือกับเทรนด์การถดถอยของตลาดตู้เติมเงิน เจ้าตลาดอย่าง “ตู้บุญเติม” เองก็พยายามแสวงหาไลน์ธุรกิจใหม่ๆ ​นอกเหนือจากการสรรหาบริการใหม่ๆ มาเพิ่ม และการปรับปรุงทำเลของตู้ แนวทางดังกล่าวก็เช่น การสร้าง BeMall เพื่อลุยตลาด e-Commerce และการเปิดตัว BeWallet เพื่อต่อยอดธุรกิจตู้เติมเงินและ e-Commerce รวมถึงธุรกิจใหม่ๆ พ้อมกับเชื่อมโยงข้อมูลลูกค้าจากทุกช่องทาง มาวิเคราะห์หาสินค้าและบริการที่ตรงใจยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ​บริษัทยังอยู่ระหว่างรอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและละสินเชื่อนาโน​ (Nano Finance) จากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 2 ปีนี้ ​​ซึ่งวิธีการคือจะปล่อยสินเชื่อผ่านตู้เติมเงิน “บุญเติม” และเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทยังได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ DTAC และ MVP เพื่อทำธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ EV ​ 

และเพื่อเร่งการเติบโตในธุรกิจตู้กดสินค้าอัตโนมัติ แว่วมาว่า ผู้บริหารกลุ่มตู้บุญเติมยังมีแผนที่จะผลักดันบริษัท “ฟอร์ท เวนดิ้ง” เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นภายในอีก 2 ปีข้างหน้าด้วย​ อีกทั้่งยังมีแผนที่จะขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งคาดว่าอาจจะได้เห็นภายในปีนี้​

“เข้าตลาด” สปริงบอร์ดการเติบโต   

 ขณะที่เมื่อราว 4 ปีก่อน บริษัท ฟอร์ท สมาร์ทฯ ยักษ์ใหญ่แห่งตลาดตู้เติมเงิน เลือกเข้าตลาด mai แต่คุณชูเกียรติวางแผนจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ (SET) ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ เพื่อเสริมศักยภาพและรองรับแผนการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง นั่นจึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนบริษัทจาก “บมจ. เวนดิ้ง คอร์ปอเรชั่น” มาเป็น “บริษัท สบาย เทคโนโลยี” เมื่อ 2 ม.ค. 2562 และมีการปรับโครงสร้างบริษัทและเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)” เมื่อ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมตัวยื่นไฟลิ่ง (Filing) ราวสิ้นเดือน มี.ค. หรือ ต้นเดือน เม.ย. นี้

“วัตถุประสงค์ของการเข้าตลาดฯเรื่องแรกคือต้องการทำให้บริษัทมีความคล่องตัวในฐานะทางการเงิน  โดยเฉพาะเพื่อการขยาย 2 ธุรกิจที่ใช้เงินค่อนข้างสูง อย่าง Vending Machine และระบบศูนย์อาหาร ซึ่งเราต้องการขยาย 2 ธุรกิจนี้ไปทั่วประเทศ แต่ถึงเข้าตลาดฯ ไม่ทันในปีนี้ เป้าหมายการเป็น “ผู้นำ” ในอุตสาหกรรม ภายใน 2-3 ปีของเราก็จะไม่สะดุด เพราะทุนจดทะเบียนของเราสูงถึง 887.9 ล้านบาท (ชำระเต็ม) ซึ่ง ณ เวลานี้ ต้องถือว่าทุนจดทะเบียนใหญ่ที่สุดในกลุ่มธุรกิจการค้า (Commerce) ที่เราต้องการเข้าแล้ว”

สำหรับการไปตลาดต่างประเทศ คุณชูเกียรติระบุว่า เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่กลุ่มเติมสบายพลัสจะมุ่งไป แต่นั่นหมายความว่า ธุรกิจในประเทศต้องแข็งแรงก่อน แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็มีความตั้งใจว่า ภายในสิ้นปีนี้จะพยายามพัฒนาให้ตู้เติมสบายพลัสสามารถโอนเงินไปเมียนม่า ลาว และกัมพูชาได้ และในปีหน้า เขาเชื่อว่าบริษัทน่าจะมีความพร้อมแล้วที่จะนำตู้เติมเงิน ตู้กดสินค้าอัตโนมัติ และสบายมันนี่ ไปให้บริการในประเทศเมียนมา กัมพูชา และอินโดนีเซีย โดยคงไปในลักษณะร่วมทุน​​

จะเห็นได้ว่า​ ที่ผ่านมา “มวยรอง” อย่างเติมสบายพลัส มีการสุ้ยิบตาได้อย่างสูสี ​แต่ทันทีที่บริษัทสามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ​ น่าจะได้เห็นก้าวสำคัญของ “เติมสบายพลัส” อีกหลายก้าว ซึ่งนั่นอาจทำให้ “บัลลังก์ผู้นำ” สั่นคลอนได้บ้าง ไม่มากก็น้อย​


  • 388
  •  
  •  
  •  
  •  
Tummy
เมื่อไหร่ที่หยุดพัฒนาตัวเอง ถึงแม้เราไม่ได้ถอยหลัง แต่โลกก็จะทิ้งเราไว้ข้างหลังและหนีห่างออกไป จนวันหนึ่งเมื่อตื่นมา เราอาจรู้สึกแปลกแยก ... มาเปิดโลกทัศน์ แล้วสนุกกับทุกความเคลื่อนไหวในโลกใบนี้ไปพร้อมกันนะคะ