5 เหตุผลที่ ‘กลุ่ม TCP’ เลือก ‘เวียดนาม’ เป็นสปริงบอร์ดบุกตลาดโลกและดันยอดขายแตะแสนล้านในปี 2565

  • 95
  •  
  •  
  •  
  •  

tcp

เป็นเรื่องน่าจับตาไม่น้อย กับการที่ ‘กลุ่มธุรกิจ TCP’ เจ้าของแบรนด์ดัง อาทิ กระทิงแดง , สปอนเซอร์ , เรดดี้ ฯลฯ ได้ประกาศตั้ง ‘บริษัท TCPVN จำกัด ’ ขึ้นที่เวียดนาม โดยเป็นบริษัทแห่งแรกในต่างประเทศที่กลุ่ม TCP ถือหุ้น 100%  ที่นอกจากจะใช้บุกตลาดเวียดนาม ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วแล้ว

ความน่าสนใจมากไปกว่านั้น ยังวางให้บริษัทแห่งนี้เป็นสปริงบอร์ด เพื่อบุกตลาดโลก และเป็นหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญในแผนธุรกิจ 5 ปี ที่ประกาศไว้เมื่อปี 2560 กับการผลักดันยอดขายของทั้งกลุ่ม TCP อยู่ที่ 100,000 ล้านบาท

คำถาม คือ ทำไมต้อง ‘เวียดนาม’

tcp-cover1

 “ไทยยังคงเป็น Base ที่สำคัญของเราอยู่ ส่วนเวียดนาม จะเป็นฐานที่มั่นแห่งที่ 2 เพราะเป็นตลาดที่เติบโตสูง มีไดนามิกมาก โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่เราจะเห็นว่า ทุกประเทศมุ่งมาลงทุนที่นี้ เราถึงมาตั้งสำนักงาน เพื่อจะขยับตัวให้ทันการแข่งขัน” สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP อธิบาย

5 เหตุผลเลือก เวียดนามเป็นที่มั่นแรกบุกตลาดโลก

ส่วนสาเหตุที่เลือกเวียดนาม เป็นประเทศแรกในการตั้งสำนักงาน เพื่อบุกตลาดโลกนั้น  มีด้วยกัน 5 เหตุผล ประกอบด้วย

1. ไลฟ์สไตล์ของคนเวียดนามที่ปัจจุบันมีจำนวนประชากรราว 96 ล้านคน จะนิยมบริโภคเครื่องดื่มชูกำลัง เพื่อใช้ในการดับกระหาย รวมถึงใช้บริโภคควบคู่ไปพร้อมกับมื้ออาหาร ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการบริโภคของคนที่ทำงานหนัก และต้องการพลังงานจากเครื่องดื่มชูกำลังมาช่วยเสริม ทำให้ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในเวียดนามมีการเติบโตสูง ขณะเดียวกันการแข่งขันก็รุนแรงไปด้วย จึงถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของกลุ่ม TCP

IMG_2728

2. ด้วยไลฟ์สไตล์ข้างต้น ทำให้ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของเวียดนาม มีศักยภาพที่จะเติบโตต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท มีการเติบโต 6% ซึ่งอัตราการโตดังกล่าวเป็นที่สอง รองลงประเทศจีนเท่านั้น

3. ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่มีจำหน่ายอยู่แล้วมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องกว่า 25% มากกว่าตลาดรวม

4. เวียดนาม เป็นตลาดที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะกลุ่ม  Middle income ที่ตอนนี้เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทางกลุ่ม TCP มองว่า ผลิตภัณฑ์ในเครือเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกทั้งในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม พรีเมี่ยม โดยเฉพาะ ‘กระทิงแดง’ หรือที่คนทั่วโลกรู้จักกันในชื่อ ‘เรดบลู’

ประเด็นนี้ ถือเป็นจุดได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับกลุ่มธุรกิจ TCP ในการนำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เข้าสู่ตลาดเวียดนาม

tcp-share

5. กลุ่มธุรกิจ TCP ได้มีการวางรากฐานทางธุรกิจในเวียดนามมานานกว่า 30 ปี นั่นคือ การนำ ‘กระทิงแดง’ มาจัดจำหน่าย ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จมาตลอด

วาง 3 กลยุทธ์ สร้างสปริงบอร์ดโตนอกบ้าน

นอกจากการเติบโตและไลฟ์สไตล์ที่เอื้อต่อธุรกิจของกลุ่ม TCP แล้ว ทางสราวุฒิ บอกว่า การตั้งสำนักงานแห่งนี้ จะช่วยให้เข้าใจและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น  ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกบริษัทต้องการ

“ความท้าทายสำคัญของธุรกิจตอนนี้ คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปมากและรวดเร็ว แต่คุณไม่รู้ มั่วแต่ไปแข่งกันเอง ทั้งลด แลก แจก แถม คุณจะไม่รอด”

ดังนั้น การตั้ง TCPVN ขึ้นมาได้มีงบลงทุนไว้ 4,000 ล้านบาท เพื่อทำการตลาดในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ โดยให้ความสำคัญใน 3 เรื่องหลัก ๆ

1. เพิ่มศักยภาพของทีมวิจัยตลาดและผลิตภัณฑ์ ด้วยการพัฒนาให้ทีม TCPVN เป็นหน่วยธุรกิจที่เชี่ยวชาญข้อมูลเชิงลึก โดยตั้งเป้า อีก 3 ปี จะมีการพัฒนาสินค้าใหม่อย่างน้อย 1 ตัววางจำหน่ายในเวียดนาม ที่อาจจะเป็นสินค้าใหม่ที่คิดค้นเพื่อคนในท้องถิ่น หรืออาจเป็นแบรนด์ที่มีอยู่แล้ว และมาวางจำหน่าย

ปัจจุบันกลุ่ม TCP มีสินค้าและแบรนด์ที่จำหน่ายทั้งในไทยและทั่วโลกด้วยกัน  6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ รวม 8 แบรนด์ ได้แก่กลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง – กระทิงแดง , เรดดี้ , โสมพลัส และวอริเออร์ , กลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่ – สปอนเซอร์ , กลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนอล  – แมนซั่ม , กลุ่มชาพร้อมดื่ม – เพียวริคุ , กลุ่มผลิตภัณฑ์เม็ดทานตะวัน – ซันสแนค และ กลุ่มหัวเชื้อเครื่องดื่ม

J1DX8239

สำหรับตลาดเวียดนามตอนนี้สินค้าที่วางจำหน่าย ก็คือ เครื่องดื่มชูกำลัง อย่าง ‘กระทิงแดง’ และ ‘วอริเออร์’ โดยวอริเออร์ ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่ทางกลุ่ม TCP ภูมิใจ เพราะเป็นแบรนด์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาเมื่อปี 2558 สำหรับเจาะตลาดเวียดนามโดยเฉพาะ  และปัจจุบันเป็นอันดับที่ 5 ของตลาด มีมาร์เก็ตแชร์ราว 5%

โดยคาดว่า เมื่อจบปี 2561 ยอดขายสินค้าของกลุ่ม TCP ในตลาดเวียดนามรวมทุกแบรนด์ จะอยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท และในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

2. เน้นการบริหารจัดการด้านการตลาดและการขายอย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยการพัฒนาทีมการตลาดแบบมืออาชีพ และ 3. เพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการช่องทางการจัดจำหน่าย ที่ไม่เพียงจะขยายช่องทางให้ครอบคลุมเท่านั้น ยังมายถึงการแสวงหาและพัฒนาช่องทางใหม่ ๆ ในการเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายและรวดเร็ว

“เราไม่เพียงต้องการให้ TCPVN สร้างความแข็งแกร่งที่เวียดนามเท่านั้น ยังต้องการให้เป็นสปริงบอร์ดให้เราไปแข่งขันในเวทีระดับโลกได้ด้วย และผลักดันยอดขายของทั้งกลุ่มให้อยู่ที่ 100,000 ล้านบาทในปี 2565 ”

อย่างไรก็ตาม ‘เวียดนาม’ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งบริษัทแห่งแรกนอกประเทศไทยที่ทางกลุ่มธุรกิจ TCP ถือหุ้น 100 % เพื่อบุกตลาดโลกเท่านั้น เพราะตามแผนที่วางไว้ ทางกลุ่มธุรกิจ TCP จะมีการเปิดสำนักงานในต่างประเทศปีละ 1 แห่ง

ส่วนประเทศต่อไป จะเป็นที่ไหนนั้น  ทาง สราวุฒิ ไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียด เพียงบอกหลักเกณฑ์ในการเลือกว่า 1. ต้องมีวอลุ่มในการขาย และมีการเติบโตที่ดี  2. ต้องเป็นประเทศที่ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงสูง และมีไดนามิก โดยเบื้องต้นยังโฟกัสประเทศใกล้บ้านอย่าง กัมพูชา , ลาว , เมียนม่า และเวียดนาม หรือ CLMV

IMG_2713

 


  • 95
  •  
  •  
  •  
  •