แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่โลกเคยเผชิญมาจะค่อยๆ คลี่คลายลง หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค เปิดชายแดนรับนักท่องเที่ยวและนักเดินทางต่างชาติ พยายามทุกวิถีทางเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ซบเซาลงไปให้ฟื้นตัว แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาเหมือนกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดได้
เช่นเดียวกับประเทศไทยที่เผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน การจะพลิกฟื้นประเทศจากวิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นยากอย่างยิ่ง และยิ่งยากมากขึ้นหากพูดถึงการกระจายรายได้ให้ลงไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งหลายคนอาจไม่ทราบว่ามีอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สามารถเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจไทยไปสู่เป้าหมายที่ว่านั้นได้นั่นก็คือ “อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE)” นั่นเอง แต่คำถามก็คือ “ไมซ์” จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศกลับมาได้อย่างไร? ในเรื่องนี้ คุณจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์โดยตรงจะฉายภาพให้เห็นกลยุทธ์ที่ทีเส็บนำมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
อุตสาหกรรม MICE คืออะไร?
“ไมซ์” คือ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์งานอีเวนต์ เป็นอุตสาหกรรมที่พัฒนาการจัดงานทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประชุม อบรม สัมมนา ขององค์กร บริษัทและสมาคมตั้งแต่ระดับองค์กรภูมิภาคไปจนถึงระดับนานาชาติ การเดินทางเพื่อให้รางวัลพนักงาน รวมถึงการจัดงานแสดงสินค้า งานเมกะอีเวนต์และเทศกาลนานาชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นงานที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับคำว่า “ไมซ์” ซึ่งประกอบด้วยตัวอักษร M I C E นั้น อักษร “M” ย่อมาจาก Meetings การประชุมสัมมนาระดับองค์กร หรือศึกษาดูงานทั้งระดับกลุ่มบุคคลมาจากองค์กรเดียวกันหรือต่างองค์กร โดยจะเป็นการประชุมเฉพาะกิจหรือมีการวางแผนล่วงหน้าก็ได้ ตัวอักษร “I” ย่อมาจาก Incentives การจัดการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลแก่พนักงานหรือบุคคลที่ปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายขององค์กร ตัวอักษร “C” ย่อมาจาก Conventions การประชุมสมาคมวิชาชีพของสมาคมวิชาชีพเดียวกันหรือแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการจัดประชุมระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับนานาชาติ จัดโดยองค์กรสมาคมระดับชาติหรือรัฐบาล และตัวอักษร “E” ย่อมาจาก Exhibitions คือ การจัดงานแสดงสินค้าเพื่อกลุ่มเป้าหมายแต่ละอุตสาหกรรมและธุรกิจ โดยอาจจะเป็นการแสดงสินค้าสำหรับธุรกิจด้วยกัน Business to Business (B2B) หรือ จะเป็นการจัดแสดงที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้ Business to Consumer (B2C) เป็นต้น
TCEB หน่วยงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของไทย
การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ ในประเทศไทยให้เดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ นั่นก็คือสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ โดยคุณจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บก่อตั้งขึ้นในปี 2004 หลังการก่อตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ไม่นาน โดยในอดีตอุตสาหกรรมไมซ์ สร้างเม็ดเงินให้ประเทศได้ราว 40,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันภายใต้การดำเนินงานของทีเส็บสามารถสร้างรายได้สูงถึง 200,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในปี 2019 ที่ผ่านมา และในปัจจุบันทีเส็บพัฒนาจากการทำหน้าที่สนับสนุนไปสู่การอำนวยความสะดวก และล่าสุดก้าวไปสู่การเป็นตัวแทนประเทศในการประมูลสิทธิ์ดึงงานใหญ่ๆ เข้าสู่ประเทศไทย
5 เทรนด์ของ MICE ที่เปลี่ยนไปในยุคหลังโควิด
การคิดกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ ไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนั้น จำเป็นต้องเข้าใจเทรนด์ผู้บริโภคของอุตสาหกรรมไมซ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคหลังโควิด ซึ่งคุณจิรุตถ์ เล่าให้ฟังว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคไมซ์ในปัจจุบันนั้นมีสิ่งที่สำคัญที่ต้องพิจารณาอยู่ 5 เรื่องด้วยกัน
1.Health – การให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพอนามัย และสุขลักษณะของการเดินทางในทุกกิจกรรม ซึ่งความใส่ใจในเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะโรคระบาดในยุคนี้ที่ไม่ได้มีแต่เฉพาะโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายโรคที่น่ากังวลเช่นกัน
2.Experience – คุณค่าที่ได้รับนอกเหนือจากการเข้าร่วมกิจกรรมหรือการท่องเที่ยว ที่ผู้บริโภคคาดหวังประสบการณ์ใหม่ๆ ที่สร้างความประทับใจมากขึ้น และคุ้มค่ากับการลงทุนมากขึ้นกว่าในอดีต
3.Green – การรักษาและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะองค์กรและบริษัทในยุโรปซึ่งมีสัดส่วนถึง 70% ให้ความสำคัญกับการจัดงานที่ไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม อย่างการจัดงานที่มีการคำนวน Carbon Footprint การจัดอาหารที่ไม่เป็น Food Waste หรือเหลือทิ้ง หรือเน้นการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น
4.Technology – เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ และปัจจุบัน Technology ก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์แล้ว ซึ่งคุณจิรุตถ์ยืนยันว่า Technology ไม่ได้เข้ามา Disrupt อุตสาหกรรมแน่นอน เนื่องจากคนก็ต้องเดินทางมาพบหน้ากันเช่นเดิม แต่ Technology จะเข้ามาช่วยสร้างความสะดวกให้เกิดขึ้นมากกว่า
5.For All – เป็นเทรนด์ของสถานที่ประชุม ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก และบริการต่างๆ ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน ทุกกลุ่ม เช่น การสร้างทางลาดสำหรับรถวีลแชร์ การสร้างห้องละหมาดสำหรับชาวมุสลิม การมีห้องน้ำที่ใส่ใจถึงกลุ่มคน LGBTQ+ หรือแม้แต่การมีห้องบรรเทาความเครียดสำหรับคนสมาธิสั้น เป็นต้น
TCEB เดินหน้าเชิงรุกเริ่มตลาดในประเทศก่อน
คุณจิรุตถ์ ระบุว่า นับเป็นการเดินหน้า “เชิงรุก” อย่างเต็มตัวของทีเส็บเป็นครั้งแรกหลังจากต้องดำเนินกลยุทธ์แบบ “ตั้งรับ” มาตลอด 3 ปีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อประคับประคองให้อุตสาหกรรมไมซ์อยู่รอดต่อไปได้ แต่หลังจากโควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย นักเดินทางก็เริ่มกลับมา ทีเส็บจึงต้องเร่งเดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์อย่างเต็มกำลัง
สำหรับกลยุทธ์ในการใช้อุตสาหกรรมไมซ์กระตุ้นเศรษฐกิจของทีเส็บดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การผลักดันไมซ์ซิตี้จนถึงการมีโรดแมปที่เป็นภาพใหญ่อย่าง Thailand MICE Back ที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยทีเส็บหันมามุ่งเน้นตลาดในประเทศผ่านแบรนด์การสื่อสาร “ไมซ์ไทย มนต์เสน่ห์สู่ความสำเร็จ” มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มการประชุม อบรม สัมมนา (Meetings) และการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Incentives) เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีอำนาจในการตัดสินใจจัดกิจกรรมไมซ์ได้รวดเร็วที่สุดโดยมุ่งสื่อสารไปยังภาครัฐและภาคเอกชนให้ใช้งบประมาณกับการจัดงานเหล่านี้ในประเทศไทยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ลงไปถึงท้องถิ่น
“อุตสาหกรรมไมซ์ พร้อมที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาอีกครั้ง เหมือนกับทุกวิกฤตที่ผ่านมา เช่น เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2004 ธุรกิจไมซ์ที่เป็นกลุ่มบริษัท ก็เป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้าไปจัดกิจกรรมในพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาได้สำเร็จ เช่นเดียวกับวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ซึ่งเรียกได้ว่าหนักหนาสาหัสยิ่งกว่า แต่อุตสาหกรรมไมซ์ก็พร้อมเป็นทัพหน้ากระตุ้นตลาดให้กลับมาคึกคักอีกครั้งเช่นกัน“ คุณจิรุตถ์ ระบุ
ใช้กลยุทธ์ Music Marketing ผ่านหนังโฆษณาทางทีวี หรือ TVC
ทีเส็บ ได้ปล่อย TVC ที่ดึงเอากลยุทธ์ Music Marketing ด้วยเพลงจังหวะฮึกเหิม มาใช้ดึงดูดความสนใจและสร้าง Awareness กับกลุ่มเป้าหมายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ลุกขึ้นมาจัดงานในสถานที่ต่างๆ โดยโฆษณาได้แสดงให้เห็นถึงการเชิญชวนให้ออกมาจากห้องประชุมสี่เหลี่ยมสู่สถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมกลางสายหมอก การประชุมท่ามกลางน้ำตกและขุนเขา เรียกได้ว่าสร้างกระแสให้เกิดการพูดถึงได้อย่างดีทีเดียว
“ต้องชื่นชมทีมงานของเรา ที่มีความเข้มแข็งและฝันว่าอยากจะทำโฆษณาดีๆ แบบนี้ เป็นโฆษณาที่เป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมไมซ์ และเป็นตัวกระตุ้นให้คนรู้สึกว่าอยากจะออกมาจัดกิจกรรม ออกมาจัดประชุม ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่แต่ง โดยเพลงที่เราเลือกกันมานี้ได้สื่อถึงความฮึกเหิม ถึงเวลาที่เราต้องช่วยกัน ได้ทั้งมุมของความสนุกสนานและยังทำประโยชน์ ช่วยสังคมได้อีกด้วย” คุณจิรุตถ์ ระบุ
ชู 5 มนต์เสน่ห์จัดไมซ์ทั่วไทย
นอกจากนี้ ยังแนะนำสถานที่จัดประชุมทั่วไทย ในบรรยากาศทะเล ภูเขา น้ำตก ชุมชน ที่จะช่วยเติมไอเดียสดใหม่ให้กับพนักงาน เพื่อแนะนำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนออกไปจัดงานประชุมสัมมนา อาทิ มนต์เสน่ห์…ห้องประชุมกลางสายหมอก อัยเยอร์เวง จ.ยะลา, มนต์เสน่ห์…ห้องประชุมกลางทะเล เรือรตีเภตรา จ.ประจวบคีรีขันธ์, มนต์เสน่ห์…ห้องประชุมกลางชุมชน ชนเผ่าไทกวนบ้านนาถ่อม จ.นครพนม, มนต์เสน่ห์…ห้องประชุมกลางธรรมชาติภักดีฟาร์ม จ.พิษณุโลก และ มนต์เสน่ห์…ห้องประชุมกลาง ทุ่งนา นาเฮียใช้ จ.สุพรรณบุรี
“เป็นอะไรที่สร้างความประทับใจและทำได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการประชุมในเรือ หรือการประชุมในสายหมอก เป็นส่วนหนึ่งของการผจญภัย นำไปสู่การสร้างสรรค์การจัดประชุมในรูปแบบต่างๆ เพราะความคิดสร้างสรรค์ สร้างความสุข สร้างความประทับใจ ทำให้เกิดการจดจำ ไม่ลืมเลือน” คุณจิรุตถ์ ระบุ
คุณจิรุตถ์ ยกตัวอย่างสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นจริงแล้วจากบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่ให้รางวัลพิเศษกับพนักงานที่ทำยอดขายได้สูงสุดคนหนึ่ง ด้วยการมอบประสบการณ์ดินเนอร์ในแบบ Private ท่ามกลางบรรยากาศปราสาทหินพิมาย พร้อมกับอาหารโดยมีพนักงานบริการแบบจัดเต็ม ซึ่งได้สร้างความประทับใจไม่ลืมเลือนให้กับพนักงานคนนั้น และแน่นอนว่าเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นที่มีส่วนสร้างให้เกิดกิจกรรมนั้นด้วย
จัดงานไมซ์ ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 200%
นอกจากการสร้างการรับรู้แล้ว ในเชิงนโยบายของรัฐบาลก็มีการออกมาสนับสนุนภารกิจของทีเส็บด้วยเช่นกัน โดยบริษัทที่จัดอบรมสัมมนาและจัดนิทรรศการงานแสดงสินค้าสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้สูงสุดถึง 200% เลยทีเดียว ซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2565
“สำหรับการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ สามารถหักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าตั๋วเครื่องบิน โดยจัดในเมืองหลักหักภาษีได้ 150% และหากจัดในเมืองรองหักได้ 200% ส่วนการจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าภายในประเทศให้หักรายจ่ายค่าเช่าพื้นที่หรือค่าบริการในการเข้าร่วมงาน ออกร้านได้ 200% ซึ่งนี่คือนโยบายที่กระทรวงการคลังสนับสนุนให้กับทีเส็บ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจัดกิจกรรมไมซ์มากขึ้น”
เตรียมรุกตลาดต่างประเทศ
นอกจากตลาดในประเทศแล้ว การดึงงานจากต่างประเทศให้เข้ามาจัดในประเทศไทยก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งของทีเส็บในการดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ ซึ่งคุณจิรุตถ์ ก็เปิดเผยว่า ทีเส็บ มีแผนที่จะเปิดแคมเปญสำหรับการดึงดูดการลงทุนผ่านอุตสาหกรรมไมซ์จากต่างประเทศในเร็วๆ นี้
ขณะที่งานประชุมระดับนานาชาติขนาดใหญ่ที่เตรียมจะเข้ามาจัดในประเทศไทยหลังจากนี้ก็มีหลายงานด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นงานประชุมวิชาการวางแผนครอบครัวนานาชาติของ “มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์” ที่จะจัดขึ้นที่พัทยา จังหวัดชลบุรี ในช่วงปลายปีนี้โดยมีผู้เข้าร่วมงานมากถึง 5,000 คน ในเวลาใกล้เคียงกับการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก หรือ APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นอีกงานสำคัญที่จะเป็น First Launch แคมเปญในระดับนานาชาติของทีเส็บด้วย
นอกจากนี้ ยังมีอีเวนต์ใหญ่ระดับโลกที่ทีเส็บดึงเข้ามาและเตรียมจัดขึ้นในประเทศไทยอีกหลายงาน เช่น “งานมหกรรมพืชสวนโลก” จะจัดขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี ในปี พ.ศ. 2569 รวมไปถึงงาน Thailand International Air Show ที่จะจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยที่สนามบินอู่ตะเภา จังหวัดระยอง ซึ่งจะมีขึ้นหลังจากสนามบินอู่ตะเภาสร้างเสร็จโดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย เป็นต้น ซึ่งงานต่างๆ เหล่านี้นอกจากจะดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศแล้วยังเป็นการกระจายรายได้ไปสู่แต่ละท้องถิ่นด้วย
คุณจิรุตถ์ ปิดท้ายด้วยการฝากถึงภาคประชาชนให้เข้าใจว่า การจัดงานเหล่านี้จะช่วยประชาชนและชุมชนในเรื่องของการพัฒนาความรู้ พัฒนาศักยภาพ เพราะเรื่องของการจัดประชุมนั้นมีหลายมิติ นอกจากจะเป็นการสร้างความรู้ที่ก่อให้เกิด Mutual Agreement หรือข้อตกลงร่วมกันแล้ว ยังสร้างความสามัคคี เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาตนเอง พัฒนาองค์กรแล้ว ในที่สุดคุณก็จะพัฒนาสังคมต่อไป
“ในส่วนของอุตสาหกรรมไมซ์เองนั้น ก็ต้องปรับตัวไปตามเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไป คนพร้อมที่จะ Invest เพื่อที่จะมีประสบการณ์ที่ดีขึ้น คนพร้อมที่จะลงทุนกับเรื่องราวของการช่วยโลกมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราในฐานะที่ดูแลภาคอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ เราก็มีความภูมิใจที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยด้วยเช่นกัน” คุณจิรุตถ์ ระบุ