การเกิดขึ้นของ “รถไฟฟ้า” เขย่า Landscape กรุงเทพฯ พลิกโฉมครั้งใหญ่ จากในอดีต “ย่านธุรกิจการค้า” กระจุกตัวแต่ในพื้นที่เศรษฐกิจอย่าง “สาทร – สีลม” ที่เป็นแหล่งธุรกิจ และ “สยามสแควร์” แหล่งแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ แต่หลังจากกรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้า ทั้ง BTS และ MRT ทำให้เกิด “ย่านการค้าใหม่” ที่มีความครบวงจรของการใช้ชีวิต ทั้งโครงการ Mixed-use Development ประกอบด้วยอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ช้อปปิ้งมอลล์ ที่อยู่อาศัย โดยส่วนใหญ่จะพัฒนาในรูปแบบคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นการอยู่อาศัยของมหานครใหญ่ทั่วโลกที่เป็นสังคม Vertical Living ผนวกกับการมีพื้นที่สีเขียว และระบบคมนาคมที่สะดวก-รวดเร็ว
ความเป็น “ย่านการค้า” จะดึงดูดทั้งความเจริญ การลงทุน และเป็นแหล่งรวมบริษัท-ร้านค้าใหญ่เล็กมากมาย จนทำให้กลายเป็น “Destination” ที่คนไทย และคนต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Expat และกลุ่มนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้ชีวิต ซึ่งจะสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับที่ดินในย่านการค้านั้นๆ
หนึ่งในตัวอย่างชัดเจนของ “ย่านการค้าใหม่” คือ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่ต้องการยกระดับที่ดิน “สุขุมวิทช่วงกลาง” (อโศก-เอกมัย) ให้เป็นย่านการค้าระดับโลก เทียบชั้นกับย่านการค้าสำคัญของโลก เช่น ย่าน SoHo และย่าน Fifth Avenue ในมหานครนิวยอร์ก, ย่านโอโมเตะซานโดะ และย่านกินซ่า ในกรุงโตเกียว, ถนนออชาร์ด ในสิงคโปร์ ด้วยการพัฒนา “The EM District” ประกอบด้วย 3 โครงการใหญ่ ได้แก่ The Emporium, The EmQuartier, The Emsphere (ยังไม่ก่อสร้าง) บนพื้นที่กว่า 50 ไร่ และพื้นที่โครงการกว่า 650,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งดึงอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ และมี Developer อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย เข้ามาสร้างคอนโดมิเนียมหรูในย่านนี้
“พระราม 4” ทำเลทองแห่งใหม่ที่กลุ่มเจ้าสัวเจริญ ดันให้เป็น “New CBD” เทียบชั้น “สุขุมวิท”
ทำเล “โซนพระราม 4” ตั้งแต่สามย่าน ไปบรรจบถนนสุขุมวิท กำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่ง “ทำเลทอง” ของกรุงเทพฯ เพราะเชื่อมต่อกับโซนสำคัญ และสามารถเดินทางสะดวกได้ด้วย “รถไฟฟ้า MRT” จากสถานีหัวลำโพง และต่อไป “BEM” ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน จะเปิดให้บริการสถานีวัดมังกรในปี 2562 นั่นหมายความว่าจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาเยาวราช เข้ามาในโซนพระราม 4 ขณะเดียวกันถนนพระราม 4 คู่ขนานกับ “ถนนสุขุมวิท” โดยมีซอยที่สามารถทะลุไปยังย่านสุขุมวิทได้ เพราะฉะนั้นในอนาคตเมื่อพระราม 4 ได้รับการเติมเต็มความครบวงจรของการเป็น “ย่านการค้า” ย่อมมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะดึงคนจากย่านสุขุมวิท ที่มีทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ เข้ามายังโซนนี้ได้
โดยมีกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ “ทีซีซี กรุ๊ป” อาณาจักรธุรกิจของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ต้องการปลุกปั้นให้เป็น “New CBD” หรือ “ย่านการค้าแห่งใหม่” ของกรุงเทพฯ ด้วยการสร้าง “3 อภิมหาโปรเจค” ตามแนวรถไฟฟ้า MRT จากสถานีสามย่าน – สถานีลุมพินี – สถานีคลองเตย และสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 148,500 ล้านบาท !!!
ถ้าเริ่มจาก “สามย่าน” จะเจอกับโครงการ “สามย่านมิตรทาวน์” จากนั้นขยับขึ้นไปบริเวณหัวมุมถนนวิทยุ ตัดกับถนนพระราม 4 และติดกับสวนลุมพินี จะเป็นที่ตั้งของโครงการ “One Bangkok” และเมื่อมุ่งหน้าตรงไป จะเจอโครงการ “The PARQ” ติดกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ – อาคาร FYI Center – สวนสาธารณะเบญจกิติ โดยทั้ง 3 โครงการยักษ์วาง Position แตกต่างกัน
“สามย่านมิตรทาวน์” พลิกโฉมตลาดเก่าสามย่าน สู่มิกซ์ยูส 8,500 ล้านบาท
โครงการ “สามย่านมิตรทาวน์” ตั้งอยู่หัวมุมถนนพญาไท-พระราม 4 หรือที่เรียกกันติดปากว่าสามย่าน (ติด MRT สถานีสามย่าน) โครงการนี้เกิดจาก “บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)” หรือ “โกลเด้นแลนด์” (Golden Land) เป็นบริษัทในเครือทีซีซี กรุ๊ป ได้ร่วมทุนกับ “ทีซีซี แอสเซ็ท” อีกหนึ่งบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรในอาณาจักรเจ้าสัวเจริญ ร่วมกันจัดตั้ง “บริษัท เกษมทรัพย์ภักดี จำกัด” (โกลเด้นแลนด์ ถือหุ้น 49% – ทีซีซี แอสเซ็ท ถือหุ้น 51%) และให้โกลเด้นแลนด์ เป็นผู้พัฒนาและบริหารโครงการนี้ เพื่อพัฒนาตลาดเก่าสามย่าน ที่ดิน 13 ไร่ ให้เป็นโครงการ Mixed-use มูลค่าลงทุน 8,500 ล้านบาท พื้นที่ใช้สอยรวม 222,000 ตารางเมตร เตรียมเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2562 โดยภายในประกอบด้วย 3 ส่วนผสม คือ
– โซนรีเทล Urban Life Library สูง 6 ชั้น พื้นที่ให้เช่ารวม 36,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็น 30% ของโครงการ โดยออกแบบให้พื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้ใช้งาน (Smart) และ เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน (Friendly) ภายใต้คอนเซ็ปต์“Urban Life Library” หรือ “คลังแห่งอาหารและการเรียนรู้” ชูจุดเด่น 3 ย่าน 3 Library ประกอบด้วย The Eating Library, The Learning Library, The Living Library
– โซนอาคารสำนักงานเกรด A สูง 31 ชั้น พื้นที่เช่ารวม 48,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็น 30% ของโครงการ ซึ่งจะพัฒนาเป็นอาคารที่ใช้งานโดยใช้ระบบอัจฉริยะ เข้ามาเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ในอาคาร เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ Smart Working
– โซนที่พักอาศัย Neo Explorer Living Platform มีโรงแรม และคอนโดมิเนียม สูง 33 ชั้น หรือคิดเป็น 15% ของโครงการ จำนวน 554 ยูนิต พร้อมทั้งแยกส่วนกลางของ 2 ส่วนออกจากกัน
“One Bangkok” อภิมหาโปรเจคแสนล้าน
โครงการที่พัฒนาโดยกิจการร่วมทุนระหว่าง “ทีซีซี แอสเซ็ท” ถือหุ้น 80.1% กับ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ ประเทศไทย” (เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้) ถือหุ้น 19.9% ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนวิทยุ ตัดกับถนนพระราม 4 ติดกับสวนลุมพินี เชื่อมต่อโดยตรงกับระบบขนส่งมวลชน MRT ขนาดที่ดิน 104 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 1.83 ล้านตารางเมตร มูลค่าการลงทุนมากกว่า 120,000 ล้านบาท
ถือเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย ภายในโครงการประกอบด้วย
– อาคารสำนักงานเกรด A สร้างตามมาตรฐาน LEED และ WELL
– โรงแรมหรูที่มุ่งเน้นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ 5 โรงแรม
– ที่พักอาศัยระดับ Ultra Luxury จำนวน 3 อาคาร
– ร้านค้าปลีก และพื้นที่ทำกิจกรรมที่หลากหลายครบครันซึ่งจัดสรรไว้ในบริเวณต่างๆ
– พื้นที่สีเขียว และพื้นที่เปิดโล่ง 50 ไร่
คาดว่าจะมีผู้คนมากกว่า 60,000 คนเข้ามาทำงานและพักอาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการ โดยเฟสแรกของโครงการจะเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2564
“The PARQ” โครงการมิกซ์ยูส ที่มาพร้อมโมเดลค้าปลีกเจาะคนรักสุขภาพ
อีกหนึ่งโครงการ Mixed-use พัฒนาขึ้นโดย “ทีซีซี แอสเซ็ท” และ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด” (เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้) ภายใต้แนวคิด “Life Well Balanced” มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท บนถนนพระราม 4 ติดกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, อาคาร FYI Center, สวนเบญจกิติ (ติดกับสถานี MRT คลองเตย และสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์) โดยในเฟสแรก มีมูลค่าการลงทุน 8,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
– The PARQ Workplace” พื้นที่สำนักงานเกรด A สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรชั้นนำในประเทศ และระดับสากล
– The PARQ Life เป็นแหล่งรวมร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และศูนย์อาหาร บนพื้นที่ 12,000 ตารางเมตร ภายใต้แนวคิด “Eat Well and Shop Well” รวมถึงการนำเสนอบริการด้านสุขภาพ-ความงาม และร้านค้าที่ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม-สิ่งแวดล้อม
– พื้นที่สีเขียว มากกว่า 7,000 ตารางเมตร โดยผสมผสานอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโครงการ
เผยโฉมโมเดล “ค้าปลีกใหม่” เจาะกลุ่มคนเมืองรักสุขภาพ
หนึ่งในความน่าสนใจของ “The PARQ” คือ การพัฒนาโมเดลค้าปลีก บนพื้นที่ 12,000 ตารางเมตร ให้เป็นค้าปลีกที่ตอบโจทย์ Healthy Lifestyle ประกอบด้วย “ซูเปอร์มาร์เก็ตพรีเมียม” เน้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอาหารปลอดสารพิษ อาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงอาหารมังสวิรัติ
ขณะเดียวกันยังมีพื้นที่ศูนย์อาหาร เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคด้วยอาหารโซเดียมต่ำ ใช้น้ำตาล และน้ำมันในปริมาณน้อยกว่าอาหารปกติ และร้านค้าสุขภาพ – ความงาม ตลอดจนบริการที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน เช่น ธนาคาร. ร้านซักอบรีด, ร้านดอกไม้สด ฯลฯ
นอกจากนี้มีพื้นที่เป็น “Public Spaces” สำหรับจัดอีเว้นท์ทั้งภายใน-ภายนอกอาคาร, สวนลอยฟ้า Q Garden ขนาด 3,400 ตารางเมตร และที่จอดรถจักรยาน เป็นต้น
Market Potential ของโครงการ The PARQ อยู่ที่ Traffic คนทำงาน และใช้บริการที่ The PARQ Workplace ซึ่งคาดว่ามี 15,000 คน และคนที่อยู่โดยรอบโครงการฯ ที่ประมาณการณ์ว่ามีไม่ต่ำกว่า 85,000 คน (คนมาเดินศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 50,000 คนต่อวัน / คนที่ทำงานอยู่ในอาคารสำนักงาน FYI Center 5,000 คน / แขกที่มาพักโรงแรม 1,000 คน / คนที่เดินทางโดยรถไฟฟ้า MRT (สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์) 14,000 คน รวมทั้งอาคารสำนักงานอื่นๆ, โรงพยาบาล และโครงการคอนโดมิเนียมที่ตั้งบนถนนพระราม 4
การสร้าง 3 อภิมหาโปรเจค เพื่อเป็นทัพหน้าของการผลักดัน “พระราม 4” เป็น New CBD ที่กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำคัญของกรุงเทพฯ ดูดดูดทั้งคนไทย-คนต่างชาติเข้ามาในย่านแห่งนี้ และการพัฒนา “พระราม 4” ในครั้งนี้จะทำให้เราเห็นพลัง Synergy กลุ่มธุรกิจต่างๆ ในเครือทีซีซี กรุ๊ป