หลังจากประเทศต่างๆ ทยอยเปิด ทำให้เกิดเทรนด์ “Revenge Travel” หรือเที่ยวล้างแค้นที่ผู้คนแห่เดินทางไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกพลิกฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็ว หลายประเทศใช้จังหวะนี้ ปล่อยแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
หนึ่งในนั้นคือ “ไต้หวัน” (Taiwan) ก่อนสถานการณ์ COVID-19 ในปี 2019 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 11.6 ล้านคน ขณะที่ปี 2023 ตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม ไต้หวันมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 2 ล้านคน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปีอยู่ที่ 6 ล้านคนของปีนี้ แม้จะยังไม่ฟื้นกลับมา 100% แต่ถือว่ามีสัญญาณเชิงบวก ซึ่ง “นักท่องเที่ยวไทย” ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการท่องเที่ยวไต้หวันที่ต้องการเจาะตลาดมากขึ้น
นักท่องเที่ยวไทย ติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่เดินทางเข้าไต้หวันมากที่สุด
“ไต้หวัน” เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทย ด้วยองค์ประกอบหลากหลาย ที่เมื่อรวมกันแล้ว กลายเป็น “เสน่ห์” ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยไปเยือน ไม่ว่าจะเป็น
– ใช้เวลาเดินทางจากไทยไม่นานนัก ประมาณกว่า 3 – 4 ชั่วโมง
– สถานที่ท่องเที่ยว มีทั้งในเมือง ย่านช้อปปิ้งใหญ่ และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
– การเดินทางในไต้หวัน สะดวกสบาย และง่าย
– ค่าครองชีพ และค่าเงินใกล้เคียงกับไทย
– อาหารการกินหลากหลาย ตั้งแต่สตรีทฟู้ด ไปจนถึง Fine Dining ที่ได้ดาวมิชลิน
– มีนโยบายและกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว
– ความเป็นมิตรของคนไต้หวัน ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้สึกอบอุ่น สบายใจ
สำหรับ 5 อันดับสถานที่ท่องเที่ยวในไต้หวันที่คนไทยนิยมเดินทางมามากที่สุดคือ
1. จิ่วเฟิ่น เมืองนิวไทเป
2. พื้นที่ชุ่มน้ำเกาเหม่ย เมืองไถจง
3. ถนนโบราณต้าซี เมืองเถาหยวน
4. ตึกไทเป 101 เมืองไทเป
5. ป้อมอันผิง เมืองไถหนาน
“ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวไทยติด 1 ใน 10 อันดับประเทศที่เดินทางเข้าไต้หวันมากที่สุด โดยในปี 2019 นักท่องเที่ยวไทยมาไต้หวันมีจำนวนกว่า 410,000 คน ขณะที่ปี 2023 นับตั้งแต่มกราคม – เมษายน ยอดนักท่องเที่ยวไทยเข้าไต้หวันอยู่ที่ 130,397 คน และตั้งเป้าว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวไทยกว่า 320,000 คนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไต้หวันในปีนี้ 6 ล้านคน
“หลังจากที่ไต้หวันได้เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาสัมผัสกับสถานที่ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของไต้หวันได้อย่างเป็นทางการไปเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลก
ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2023 การท่องเที่ยวไต้หวันฟื้นขึ้นกว่า 80% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายและคาดการณ์ว่าตลอดทั้งปีจะสามารถทำได้ตามเป้าที่วางไว้จากแผนนโยบายและมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ และเชื่อว่าปี 2024 การท่องเที่ยวของไต้หวันจะฟื้นกลับมาได้อย่างเต็มรูปแบบ 100%” คุณเซีย ซิ่ว เม่ย รองผู้แทนประจำสำนักงานาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย เล่าภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไต้หวัน
4 กลยุทธ์ “ไต้หวัน” ปักธง Destination การท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ
เมื่อพูดถึงการไปเที่ยวไต้หวัน เชื่อว่าหลายคนมักนึกถึงไทเป, ตึกไทเป 101 ซึ่งเป็น Landmark ใหญ่ของเมือง, ย่านช้อปปิ้งซีเหมินติง (Ximending) ที่เต็มไปด้วยของกิน ของช้อปมากมายให้นักท่องเที่ยวได้ตะลุยกิน ตะลุยช้อป และตลาดกลางคืนอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิตที่ใครไปไต้หวันต้องไม่พลาด check-in
นอกจากแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมดังกล่าวแล้ว “ไต้หวัน” ต้องการแบรนด์ดิ้งการเป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ ที่มีหลากหลายมิติผสมผสานกัน ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่, วัฒนธรรมอาหารการกิน, งานเทศกาล และวิถีชีวิตชาวไต้หวัน, แหล่งช้อปปิ้ง เพื่อปักธงการเป็น Destination ด้านการท่องเที่ยวที่ครบวงจร
กลยุทธ์แบรนด์ดิ้งและการทำตลาดที่การท่องเที่ยวไต้หวันใช้ดึงนักท่องเที่ยวไทย ประกอบด้วย
1. นโยบายและกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว ทั้งกลุ่ม FIT และ Group Tour
ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ด้วยการออกนโยบายส่งเสริมกมารท่องเที่ยว โปรโมท และกิจกรรมดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา
ไต้หวันออกนโยบายและกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวเช่นกัน อาทิ นโยบายฟรีวีซ่า 14 วันสำหรับนักท่องเที่ยวไทย, กิจกรรม Taiwan the Lucky Land ลุ้นเงินรางวัลมูลค่า 5,000 ดอลลาร์ไต้หวันใหม่ (NTD) หรือประมาณ 5,600 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาด้วยตนเอง (FIT) โดยสามารถเลือกรับอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างบัตรแทนเงินสด Easy Pass หรือ iPass และคูปองส่วนลดที่พัก
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวไต้หวันประจำประเทศไทยยังได้ซัพพอร์ตในส่วน Travel Agent เพื่อกระตุ้นให้คนไทยซื้อทัวร์มาเที่ยวไต้หวัน ด้วยการแจกบัตรเติมเงิน Easy Pass, ปกพาสปอร์ต, กระเป๋าใส่ของชิ้นเล็กติดตัวเดินทาง และ Handbook ข้อมูลการท่องเที่ยวไต้หวัน ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้า เทศกาลท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยวที่ต่างฤดูกาล ก็ต่างกิจกรรม
วัตถุประสงค์หลักที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไต้หวัน ส่วนใหญ่เพื่อการพักผ่อน (Leisure) 80% โดยเป็นกลุ่มเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) 70% และรูปแบบ Group Tour 30%
2. เปิดตัวแคมเปญ “All is just right in Taiwan ทุกอย่างใช่ โดนใจที่ไต้หวัน”
เพื่อสร้างการรับรู้ และสื่อสารให้นักท่องเที่ยวไทยเห็นว่าไต้หวันมีสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมหลากหลาย ด้วย 4 แนวคิด ได้แก่
– Just Fun ชวนรู้จักกับสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในไต้หวัน มีทั้งสถานที่ทางธรรมชาติมากมาย และจุดเช็คอินในเมืองที่นักท่องเที่ยวชาวไทยจะได้เปิดประสบการณ์แบบไม่ซ้ำใคร
– Just Eat สัมผัสอรรถรสอาหารไต้หวันที่มีความหลากหลายและขึ้นชื่อในเรื่องรสชาติที่อร่อย จนได้รับรางวัลจากมิชลิน ทั้งมิชลินสตาร์และรางวัลบิบกูร์มองด์ รวมถึงอาหารท้องถิ่นสไตล์ไต้หวัน
– Just Shopping ช้อปสนุกไม่มีเบื่อกับพิกัดแหล่งชอปปิงในไต้หวันที่รวบรวมของฝาก สินค้าท้องถิ่นและแบรนด์ดังชั้นนำจากทั่วโลก
– Just Feel สัมผัสวัฒนธรรม วัดวาอาราม งานเทศกาลต่างๆ วิถีชีวิต และความเป็นมิตรของชาวไต้หวัน
“เหตุผลที่นำเสนอการท่องเที่ยวไต้หวันผ่าน 4 แนวคิดนี้ เราได้ทำสำรวจทางออนไลน์ จนได้ออกมาเป็น 4 เรื่องนี้ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมีการพูดถึงไต้หวัน เมื่อมารวมกันแล้ว คลอบคลุมทุกอย่างของไต้หวัน และเราอยากแนะนำให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย” คุณซินดี้ เฉิน ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ (กทท.) เล่าที่มาของแคมเปญใหม่
3. ดึง “บอย–ปกรณ์” เป็น Brand Ambassador คนไทยคนแรกของการท่องเที่ยวไต้หวันประจำประเทศไทย
เพื่อเข้าถึงคนไทยมากขึ้น การท่องเที่ยวไต้หวันได้ดึง “บอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์” มาเป็น Brand Ambassador คนแรกของการท่องเที่ยวไต้หวันประจำประเทศไทย เพื่อโปรโมทแคมเปญและนำแสดงในภาพยนตร์โฆษณาชุด “All is just right in Taiwan ทุกอย่างใช่ โดนใจที่ไต้หวัน” เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวแนะนำแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่ต่างๆ เช่น
– เส้นทางเดินป่าและรถไฟสายอาลีซาน (Alishan Forest Railway)
– เส้นทางจักรยานทะเลสาบสุริยันจันทรา (Sun Moon Lake)
– ถนนโบราณหูโข่ว (Hukou Old Street)
– ตึกไทเป 101 (Taipei 101) และสถานที่อื่นๆ อีกมากมาย
โดยจะเผยแพร่โฆษณษผ่านช่องทางออนไลน์และช่องทางอื่นๆ เหตุผลที่เลือก “บอย–ปกรณ์” ผู้บริหารการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ บอกว่า เพื่อทำตลาดเข้าถึงกลุ่มอายุ 20 – 29 ปี และด้วยคาแรกเตอร์ของบอย-ปกรณ์ อารมณ์ดี บุคลิกที่มีชีวิตชีวาและสไตล์ที่เป็นมิตร สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของไต้หวันที่มีความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ ทางการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ ยังหวังว่าความดังและเสน่ห์นักแสดงหนุ่มมากความสามารถจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวไปเที่ยวไต้หวันมากยิ่งขึ้น
4. ใช้พลัง KOL และออกงานการท่องเที่ยวในไทย เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
นอกจากมี Brand Ambassador คนไทยคนแรกของการท่องเที่ยวไต้หวันประจำประเทศไทยแล้ว ยังเตรียมใช้พลัง KOL ทั้งสายท่องเที่ยว สายไลฟ์สไตล์ สายกิน เดินทางไปเที่ยวไต้หวัน เพื่อร่วมโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่
รวมทั้งมีแผนเชิญบอย-ปกรณ์ ไปเข้าร่วมกิจกรรมนิทรรศการของการท่องเที่ยวไต้หวัน และร่วมออกบูธในงานมหกรรม “เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลก” ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมกราคม 2024 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อนำเสนอโปรโมชั่นเด็ดๆ และในอีเว้นท์นี้จะมีบอย-ปกรณ์ไปพบแฟนๆ ในอีเว้นท์นี้
“นักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการท่องเที่ยวไต้หวันมาโดยตลอด เมื่อเราได้เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามา นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกก็มาจากประเทศไทย ทำให้ตระหนักได้ว่านักท่องเที่ยวชาวไทยชื่นชอบและให้ความสนใจไต้หวันเป็นอย่างมาก
เพื่อเป็นการขอบคุณ และเพิ่มโอกาสขยายฐานนักท่องเที่ยวชาวไทยให้เดินทางท่องเที่ยวไปที่ไต้หวันเพิ่มมากขึ้น เราจะเดินหน้าส่งเสริมนโยบายและกิจกรรมต่างๆ เพื่อเชื้อเชิญชาวไทย ให้มาสัมผัสประสบการณ์อันล้ำค่าที่ไต้หวันและมุ่งหวังให้ไต้หวันเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กในใจที่ชาวไทยนึกถึง” คุณเซีย ซิ่ว เม่ย กล่าวสรุป