ที่ผ่านมาเคยได้ยินกันมาแล้วว่า “กากกาแฟ” ที่เกิดการกระบวนการชงกาแฟ ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ตั้งแต่นำมาขัดผิว ทำปุ๋ย ดับกลิ่นในตู้เย็น ใส่ถุงผ้ากำจัดกลิ่นรองเท้า – กลิ่นในตู้เสื้อผ้า และอีกมากมาย
แต่ประโยชน์ของ “กากกาแฟ” ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น! เพราะต่อไปในอนาคตเราอาจได้เห็น “กากกาแฟ” ช่วยสร้างการเติบโตมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาลก็เป็นไปได้ ขณะเดียวกันเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
เพราะเวลานี้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพน้องใหม่ชื่อว่า “Revive Eco” ก่อตั้งโดยสองหนุ่มชาวสกอตแลนด์ คือ “Fergus Moore” และ “Scott Kennedy” คิดค้นวิธีการสกัด “น้ำมันบริสุทธิ์จากกากกาแฟ” ซึ่งน้ำมันที่ได้นี้ มีคุณสมบัติสามารถนำไปต่อยอดได้มากมาย ทั้งใช้ประกอบอาหาร และเครื่องดื่ม, เครื่องสำอาง ไปจนถึงเวชภัณฑ์
คนทั่วโลกดื่มกาแฟ 2.25 พันล้านถ้วยต่อวัน! สร้างปริมาณขยะฝังกลบมากกว่า 6 ล้านตัน!
ถ้าไม่นับน้ำเปล่า สองเครื่องดื่มยอดนิยมที่คนทั่วโลกดื่มมากที่สุด คือ 1. ชา และ 2. กาแฟ
รู้หรือไม่ว่า ?!? ทุกวันนี้ปริมาณการดื่มกาแฟทั่วโลก อยู่ที่ 2.25 พันล้านถ้วยต่อวัน และผลจากการชงกาแฟ ก็นำมาซึ่ง “กากกาแฟ” มหาศาลเช่นกัน
เช่น เฉพาะในสหราชอาณาจักร มีขยะกากกาแฟ มากกว่า 500,000 ตันต่อปี และถ้านับทั่วโลก พบว่าปัจจุบันขยะกากกาแฟที่นำไปทำลายด้วยวิธีฝังกลบมีปริมาณมากกว่า 6 ล้านตัน !!
Passion ชุบชีวิตกากกาแฟ จากขยะ สู่ “น้ำมันบริสุทธิ์” สร้างคุณค่าต่อโลก
จุดประกายไอเดียเปลี่ยนกากกาแฟ จากขยะ ให้กลายเป็นวัตถุดิบน้ำมัน ที่สร้างคุณค่าต่อโลกใบนี้ เริ่มต้นจากเมื่อครั้งที่ “Fergus Moore” และ “Scott Kennedy” กำลังศึกษาที่มหาวิทยาลัย Strathclyde ในเมือง Glasgow ประเทศสกอตแลนด์ ได้ทำงานที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในขณะที่เรียนไปด้วย เห็นปริมาณขยะกากกาแฟทุกๆ วัน จึงรู้สึกว่าเป็นการทิ้งทรัพยากรอันสูญเปล่า
สองนักศึกษาจึงมีความคิดว่าจะทำอย่างไรให้ “กากกาแฟ” เหล่านี้ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“Fergus Moore” ให้สัมภาษณ์ในรายการ Good Morning Scotland ของ BBC Radio ว่า “ประมาณ 60% ของขยะในร้านกาแฟ คือ กากกาแฟ และถ้านับปริมาณกากกาแฟเหลือทิ้งในสกอตแลนด์ มีมากกว่า 40,000 ตันต่อปี”
ว่าแล้วสองหนุ่มนักศึกษา ได้เริ่มต้นคิดค้นกระบวนการสกัดน้ำมัน จากกากกาแฟ โดยต้องการให้เป็น “น้ำมันทางเลือกยั่งยืน” เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถนำไปใช้ประกอบอาหาร ทำเครื่องดื่ม เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง และเวชภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างมีคุณภาพ และปลอดภัย
ขณะเดียวกัน “Fergus Moore” และ “Scott Kennedy” ต้องการให้น้ำมันบริสุทธิ์จากกากกาแฟ เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนให้กับทุกอุตสาหกรรมที่ใช้ “น้ำมันปาล์ม”
“ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับพวกเรา ที่เราจะสามารถจัดหาน้ำมันทางเลือกที่ยั่งยืนให้กับประเทศ และทุกอุตสาหกรรมที่กำลังใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตสินค้าต่างๆ”
ทดแทนการใช้น้ำมันปาล์ม – ลดการทำลายป่า
นับตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน “น้ำมันปาล์ม” ยังคงเป็นน้ำมันพืชที่มีการใช้มากที่สุดในโลก และเป็นวัตถุดิบที่ได้รับความนิยมจากผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลในหลายชนิด รวมไปถึงยังเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักใช้ผลิตไบโอดีเซล
แต่ท่ามกลางการเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ในอีกมุมหนึ่งกลับต้องแลกมาด้วยการสูญเสียผืนป่า จากการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มมากขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทำให้เวลานี้เกิดกระแสต่อต้านน้ำมันปาล์ม
National Geographic รายงานถึงความต้องการน้ำมันปาล์มในตลาดโลก และผลกระทบจากการปลูกปาล์มว่า อินเดีย เป็นประเทศที่บริโภคน้ำมันปาล์มมากที่สุด ตามมาด้วยอินโดนีเซีย สหภาพยุโรป และจีน ส่วนสหรัฐฯ ติดอันดับ 8 ของประเทศที่มีการบริโภคน้ำมันปาล์มมากสุดของโลก
ประเทศที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย (ข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ทั้งสองประเทศ มีกำลังผลิตน้ำมันปาล์มรวมกัน 85% ของผลผลิตทั่วโลก)
เพื่อรองรับ Demand ในตลาดโลกที่นับวันยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลป่าดิบชื้นในบอร์เนียว ซึ่งเป็นเกาะที่มาเลเซียและอินโดนีเซียถือครองร่วมกัน ถูกแผ้วถางเพื่อทำไม้ เผา และไถปราบเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน กระทบต่อระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมของป่า และลุกลามไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
ทั้งนี้ ผลกระทบไม่ใช่เกิดขึ้นประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ แต่เป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องร่วมกันหาหนทางแก้ไข
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันปาล์มในตลาดโลกว่า กลุ่มสหภาพยุโรปในฐานะที่เป็นตลาดใหญ่ที่มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มกว่า 6 ล้านตันต่อปี ได้ประกาศมาตรการ Zero Palm Oil เพื่อยกเลิกการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตเชื้อเพลงไบโอดีเซล ภายในปี 2564 ย่อมส่งผลต่อผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ทั้งอินโดนีเซีย และมาเลเซีย รวมทั้งไทย เป็นผู้ผลิตอันดับ 3 ของโลก แต่ด้วยผลผลิตเพียงไม่มาก เมื่อเทียบกับสองประเทศผู้ผลิตรายใหญ่
สร้างวิถี “Circular Economy” ในอุตสาหกรรมอาหาร
“Revive Eco” ได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวน 235,000 ปอนด์ จากหน่วยงาน Zero Waste Scotland และได้รับเงินทุน 20,000 เหรียญสหรัฐ จากเวทีการแข่งขัน Chivas Venture เป็นโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพ ด้านธุรกิจเพื่อสังคม
“ความสำเร็จของพวกเรา คือ การผสมผสานของบุคคลที่มีแนวคิดเดียวกัน ที่มุ่งมั่นให้เกิดวิถีชีวิต และการทำงานในรูปแบบ “Circular Way” ร่วมกัน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม และเราเชื่อว่าการนำกากกาแฟ มาสกัดเป็นน้ำมันบริสุทธิ์ จะเปลี่ยนอุตสาหกรรมกาแฟตลอดไป” Scott Kennedy หนึ่งในสองผู้ร่วมก่อตั้ง Revive Eco กล่าว
ทั้งนี้ Circular Economy คือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการบริหารจัดการ และลดของเสียที่เกิดการผลิต การบริโภค และการใช้ กลับเข้าสู่กระบวนการที่สามารถนำกลับมาสร้างคุณค่าได้อีก เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากการบริโภค-ใช้สิ่งของต่างๆ และทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น Reuse, Refurbishing, Recycling, Upcycling
ขณะนี้ Revive Eco เป็นพาร์ทเนอร์กับ “Cauda” สตาร์ทอัพด้านรีไซเคิลในสกอตแลนด์ เพื่อร่วมกันจัดเก็บกากกาแฟเหลือทิ้ง ตามร้านกาแฟ ร้านอาหาร และสำนักงานบริษัทต่างๆ ทั่วสกอตแลนด์ และจะเริ่มดำเนินการผลิตน้ำมันบริสุทธิ์ในช่วงฤดูร้อนหน้า
ส่วนแผนธุรกิจในระยะยาวทั้ง ทั้ง Fergus Moore และ Scott Kennedy ต้องการให้ธุรกิจ “Revive Eco” ขยายในรูปแบบแฟรนไชส์ เพื่อสามารถขยายโมเดลธุรกิจนี้ในประเทศอื่น โดยเน้นเมืองใหญ่ที่มีอัตราการดื่มกาแฟสูง
Source : World Economic Forum
Source : BBC
Source : National Geographic
Source : KResearch Center