เป็นข่าวสร้างแรงสั่นสะเทือนไม่ใช่น้อย! เมื่อ CNBC รายงานถึงการขยับตัวของเชนร้านกาแฟ-อาหารยักษ์ใหญ่ “Starbucks” (สตาร์บัคส์) เตรียมปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ที่เรียกว่าได้เป็น “การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ” ที่จะเริ่มต้นในสัปดาห์นี้ และต่อเนื่องไปถึงเดือนพฤศจิกายน
ภายใต้แผนการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้ ยังรวมถึง “การปลดพนักงาน” บางส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขาย นอกจากนี้ในปีหน้า “Starbucks” เล็งปิดสาขาที่มีประสิทธิภาพด้านยอดขายต่ำ จำนวน 150 สาขา
ในบันทึกภายในองค์กรที่ “Kevin Johnson” ซีอีโอ Starbucks ส่งให้กับพนักงาน ระบุว่า “พวกเราต้องเพิ่มความเร็วในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า, คู่ค้า และเป็นนวัตกรรมที่มีความหมายสำหรับธุรกิจของพวกเรา ดังนั้นเพื่อให้แผนการมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่สำเร็จ พวกเราจะต้องลงมือทำการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพื่อให้ Starbucks ยังคงรักษาความเป็นผู้นำ”
ขณะนี้ระดับบริหารของ “Starbucks” กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับบุคลากรระดับหัวหน้างาน เพื่อค้นหาแนวทางในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้ได้เร็ว ภายใต้สภาพแวดล้อมธุรกิจค้าปลีกที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันในแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้ ยังรวมถึงการควบรวมบางตำแหน่งงานเข้าด้วยกัน การโยกย้าย หรือขยับปรับเปลี่ยนบางตำแหน่ง และการปลดพนักงานบางส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับด้านการขาย-การให้บริการ
นอกจากนี้ ในปี 2019 เป็นปีที่ “Starbucks” เพิ่มความระมัดระวังในแผนการขยายธุรกิจมากขึ้น เห็นได้จากแผนการปิดสาขา จากปกติ “Starbucks” จะปิดสาขาที่ทำผลประกอบการด้านยอดขายไม่ดี โดยเฉลี่ย 50 สาขาต่อปี แต่ในปีหน้า แผนปิดสาขาจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 150 สาขา พร้อมทั้งลดการเปิดสาขาใหม่
“การเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องยาก แต่เพื่อรักษาวัฒนธรรมองค์กร และมรดกที่สั่งสมมายาวนานให้ยังคงอยู่สืบไป ท่ามกลางสภาวะความท้าทายรอบด้านในยุคนี้ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงองค์กร” Kevin Johnson เผยเหตุผลที่ทำให้เชนยักษ์ใหญ่ธุรกิจกาแฟ-อาหาร ถึงคราวต้องปรับตัว
ทั้งนี้เป็นเวลาหลายไตรมาสแล้ว ที่ “Starbucks” ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นดินแดนบ้านเกิด และเป็นหนึ่งในตลาดหลัก ต้องเผชิญกับสถานการณ์ยอดขายลดลง ทำให้ที่ผ่านมา เชนยักษ์ใหญ่กาแฟและอาหารรายนี้ เน้นการนำเสนอเมนูเครื่องดื่มและอาหารใหม่ๆ เช่น เมนูเครื่องดื่มเย็น และอาหารกลางวัน เพื่อดึงคนเข้ามาใช้บริการที่ร้านมากขึ้น
การขยับตัวครั้งนี้ของ “Starbucks” ตอกย้ำให้เห็นว่าการเป็นองค์กรใหญ่ ใช่ว่าจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันยุคนี้ทุกทาง เพราะในขณะที่มีเงินทุนมหาศาล – บุคลากรมากมาย – มูลค่าแบรนด์สูงลิ่ว แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อาจประสบกับปัญหาความไม่คล่องตัว ยิ่งในยุคดิจิทัล ที่ทุกอย่างมาเร็ว-ไปเร็ว ทำให้องค์กรใด ที่มีความคล่องตัวสูง และมี Mindset เปิดกว้าง-พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง จะเป็นองค์กรที่สามารถดำรงอยู่ได้
Source : CNBC