แม้ว่าร้านสะดวกซื้อแบรนด์ที่คุ้นตาจะมีหลายพันแห่งทั่วประเทศแล้ว แต่ถ้าพูดถึงรูปแบบร้านค้าปลีก ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ทั้งหมดในประเทศไทยคงนับได้ถึงหลายหมื่นแห่ง! ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีกแบบดั้งเดิมหรือแบบสมัยใหม่ คุณเชื่อหรือไม่ ทุกวันนี้ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการบริหารจัดการและกระตุ้นยอดขายทั้งนั้น
เพราะร้านค้าจำเป็นต้องมีสินค้าหลากแบรนด์ หลายรูปแบบ เตรียมพร้อมให้ผู้บริโภคได้เลือกสรรตามต้องการ แต่การบริหารจัดการสินค้าด้วยตนเองอาจทำให้เจ้าของร้านหรือแม้แต่ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าต้องปวดหัวไม่น้อย ไม่ว่าเพราะจะขาดทักษะ ความเข้าใจ หรือความเชี่ยวชาญ ทำให้โอกาสตกอยู่กับผู้ที่มีความถนัดมากกว่า จนเกิดบริการที่เรียกว่า “การให้บริการขยายตลาด” (Market Expansion Services)
เจ้าของแบรนด์อาจคิดว่าตนเองจำเป็นต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงและเข้าใจผู้บริโภคให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ค้า หรือ ร้านค้า ก็ต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มยอดขายและครองใจผู้บริโภคเช่นกัน
“DKSH เป็นบริษัทสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ให้บริการด้านขยายตลาดในไทยกว่า 111 ปีมาแล้ว ภายใต้การผสมผสานทัศนคติแบบตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกันเพื่อขยายบริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวเอเชีย ซึ่งบริษัทให้บริการใน 4 กลุ่มหลัก คือ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเพื่อสุขภาพ สินค้าวัตถุดิบด้านอุตสาหกรรม และธุรกิจเทคโนโลยี โดยสามารถสร้างยอดขายสุทธิให้บริษัทคู่ค้า 543 ราย รวม 122,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา” เลียวนาด ตัน รองประธานกรรมการบริหาร หน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด อธิบาย และเล่าอีกว่า…
บริการขยายตลาดของ DKSH ให้บริการอย่างครอบคลุม อาทิ การจัดหาแหล่งผลิต การวิเคราะห์ตลาด การตลาด การขาย การกระจายสินค้า โลจิสติกส์ บริการหลังการขาย หรือแม้แต่การทำอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งจุดเด่นของ DKSH คือ การทำตลาดภาคสนาม (Field Marketing) ซึ่ง DKSH ร่วมกับ Smollan ในการให้บริการทำตลาดแบบ Field Marketing ภายใต้ชื่อ DSFM หรือบริษัท ดีเคเอสเอช สมอลลาน ฟิลด์ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้บริการขยายตลาดในเอเชีย 8 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย , สิงคโปร์ , เวียดนาม , พม่า , อินโดนีเซีย , ฮ่องกง , ไต้หวัน และไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขยายธุรกิจเพิ่มอีก 2 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยระดับโลกเปิดเผยพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคโดยระบุว่า “70% ของผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อสินค้าในขณะที่อยู่ภายในร้าน ซึ่งมีแนวโน้มเปลี่ยนใจไปซื้อแบรนด์ที่ไม่ได้ตัดสินใจเลือกเอาไว้ และอีก 20% อาจตัดสินใจซื้อเพราะถูกกระตุ้นด้วยโปรโมชั่นหรือปัจจัยส่งเสริมการขายอื่น”
จากภาพรวมธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มการเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่อง จากในช่วง 8 ปีก่อนหน้าซึ่งมีการเติบโตแบบเลขสองหลักมาโดยตลอด แต่ขณะเดียวกันร้านค้าปลีกแบบโมเดิร์นเทรดกลับเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะปัจจัยต่างๆ อาทิ สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว , จำนวนเฉลี่ยประชากรในครัวเรือนลดลง , จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น , ราคาสินค้าไม่แตกต่างจากร้านค้าขนาดใหญ่ , ภาครัฐมีการจำกัดพื้นที่ตั้งร้านค้าขนาดใหญ่ เป็นต้น จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ DKSH ต้องการนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อกระตุ้นยอดขายให้ลูกค้าโดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อกลับมาเติบโตอีกครั้ง บริษัทจึงนำเสนอกลยุทธ์การทำตลาดแบบ Field Marketing ที่เน้นการวางสินค้าให้มีอยู่บนชั้นวางตลอด ราคาที่ทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจ และมีโปรโมชั่นสนับสนุนการขาย เป็นหลัก
ส่วน สาริศ เกษมเศรษฐ ผู้จัดการทั่วไปของ DSFM เล่าว่า บริษัทเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทยประมาณ 5 ปี ปัจจุบันมีพนักงานราว 1,800 คน และมีลูกค้าที่ใช้บริการทำตลาดแบบ Field Marketing รวมกว่า 8,000 ร้านค้า โดยกว่า 7,000 แห่งเป็นร้านค้าสะดวกซื้อ เนื่องจากสินค้าประเภทขนมและเครื่องดื่มนั้นได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
“เป้าหมายอันใกล้ของ DSFM คือการขยายตลาดแบบ Field Marketing ให้ครอบคลุมร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทั่วกรุงเทพฯ ให้ได้ 100% ภายใน 3 เดือนนับจากนี้”
ภายใต้จุดเด่นของ Field Marketing บริษัทนำเสนอเทคโนโลยีสนับสนุนการทำตลาดรูปแบบดังกล่าวได้เรียลไทม์ ผ่านเทคโนโลยี SMART แอปพลิเคชันที่ช่วยให้พนักงานสามารถจัดการสินค้าให้ร้านค้าได้ง่าย สะดวก และเป็นระบบ ตั้งแต่การเข้าระบบเพื่อยืนยันการเริ่มงานของพนักงาน การจัดสินค้าหน้าร้าน เช็คสต็อกสินค้า แจ้งปัญหาขาดสินค้าบนชั้นวาง หรือสินค้าขาดสต็อก พร้อมแจ้งข้อมูลออกมาในรูปแบบรายงาน ทำให้ง่ายต่อการบริหารและจัดการสินค้าบนชั้นวาง ทั้งยังทำให้แบรนด์หรือเจ้าของร้านค้ารู้ปัญหาในการจำหน่ายสินค้าได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 วัน หลังจากข้อมูลเข้าสู่ระบบ
ปัจจุบัน เรามีลูกค้าในไทยประมาณ 80 แบรนด์ที่เลือกใช้การตลาดแบบ Field Marketing ทั้งยังสามารถปรับรูปแบบการใช้งานได้ตามความต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกัน ร้านค้าปลีกทั้งระดับย่อย กลาง และใหญ่ ก็นิยมใช้การทำตลาดแบบดังกล่าวเนื่องจากสามารถบริหารสินค้าภายในร้านได้ดีขึ้น โดยพบว่าจากเดิมอาจมีสินค้าจำหน่ายภายในร้านประมาณ 85% จากสินค้าทั้งหมดในตลาด แต่เมื่อใช้งานแล้วก็สามารถเติมสินค้าบนชั้นวางได้มากขึ้นเป็น 95%.
Copyright © MarketingOops.com