“สิงคโปร์” เตรียมออกใบอนุญาตให้ “Non-Bank” เปิด “Digital Bank” ปูทางประเทศสู่ “เสรีทางการเงิน”

  • 311
  •  
  •  
  •  
  •  

Singapore Digital Bank

ในยุคดิจิทัล อุตสาหกรรมการเงินการธนาคารทั่วโลก ต่างเผชิญกับความท้าทาย “Technology Disruption” กันถ้วนหน้า โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของคู่แข่งหน้าใหม่ที่มาในรูปแบบ “FinTech” ยิ่งเจอกับ Tech Company ยักษ์ใหญ่ต่างมีนวัตกรรมทางการเงินในมือหลากหลายรูปแบบ ได้สั่นสะเทือนโครงสร้าง และระบบของธุรกิจการเงินการธนาคาร ถึงแม้หลายประเทศจะมีกฎหมายจำกัดบทบาทของ FinTech อยู่ก็ตาม

แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เวลานี้โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว และพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนเช่นกัน อยู่ที่ว่าใครปรับตัวได้เร็วกว่ากัน และใช้จังหวะนี้สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน มากกว่าจะมองว่าเป็นวิกฤต หรืออุปสรรค !!!

ดังเช่นกรณีศึกษา “สิงคโปร์” ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางทางการเงินสำคัญแห่งหนึ่งของโลก เลือกที่จะไม่ “ต่อต้านความเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้น หากแต่ “เปิดรับสิ่งใหม่” เพื่อเป็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเงินของตนเองไปอีกขั้น และตอกย้ำความเป็นศูนย์การทางการเงินที่ก้าวทันโลกทุกยุคสมัย

Singapore Bank Note

 

ปลดล็อคระบบการเงินแบบเก่า! ได้เวลา “Non-Bank” ท้าชน “ธนาคาร” สร้างการแข่งขันเท่าเทียม!

ล่าสุด “Monetary Authority of Singapore” (MAS) หรือ “ธนาคารกลางสิงคโปร์” ได้ประกาศเตรียมออกใบอนุญาต 5 ใบ เพื่อให้สิทธิ์เปิด “Digital Bank” ใหม่ สำหรับให้บริการทางการเงินอย่างเต็มรูปแบบ โดยไม่มีการเปิดสาขา (Physical Banking)

ใบอนุญาตดำเนินการเปิด Digital Bank ถือเป็นหนึ่งในนโยบายด้านการเงินใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ และจะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญที่ผลักดันให้สิงคโปร์เป็นประเทศ “เสรีทางการเงินการธนาคาร” อย่างแท้จริง

เพราะนโยบายดังกล่าว นับเป็นการปูทางให้กับ “Non-Bank” หรือผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ได้สิทธิ์ให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยโครงสร้าง และระบบการเงินการธนาคารไม่ผูกติดอยู่กับผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงินเดิมแต่เพียงฝ่ายเดียว

ในจำนวน 5 ใบอนุญาตนี้ แบ่งเป็น 2 ใบอนุญาต สำหรับเปิด Digital Bank ให้บริการการเงินแก่ “ลูกค้ารายย่อย” (Retail Customers) ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลาย

ขณะที่อีก 3 ใบอนุญาต สำหรับเปิด Digital Bank ให้บริการทางการเงินแก่ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก – ขนาดกลาง และลูกค้าเซ็กเมนต์อื่นที่ไม่ใช่ลูกค้าบุคคล” 

ทั้งนี้ผู้ที่จะมีสิทธิ์สมัคร เพื่อได้รับการคัดเลือกได้ใบอนุญาตเปิด Digital Bank เต็มรูปแบบ จะต้องมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ และควบคุมบริหารงานโดยชาวสิงคโปร์ แต่ถ้าบริษัทต่างประเทศที่ต้องการได้สิทธิ์ ต้องเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทสิงคโปร์ และมีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด ส่วนใบอนุญาตเปิด Digital Wholesale Bank ที่ให้บริการเฉพาะลูกค้าองค์กรใหญ่ เปิดกว้างให้กับทุกบริษัท

โดย MAS กำหนดระยะเวลาเปิดรับใบสมัครคัดเลือกได้ใบอนุญาตในเดือนสิงหาคม 2019

ขณะที่ 3 ธนาคารหลักของสิงคโปร์อย่าง “DBS – OCBC – UOB” เปิด Digital Bank ได้โดยไม่ต้องสมัครขอใบอนุญาตดังกล่าวแล้ว เพราะสามารถดำเนินการภายใต้กรอบโครงสร้างการจัดตั้ง Internet Banking ที่เขียนไว้เมื่อปี 2000

Monetary Authority of Singapore (MAS)
ธนาคารกลางสิงคโปร์ ยกระดับอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารในสิงคโปร์ ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล (Photo Credit : mimisim / Shutterstock.com)

Tharman Shanmugaratnam รัฐมนตรีอาวุโส และประธานธนาคารกลางสิงคโปร์ ได้กล่าวในงานเลี้ยงอาหารค่ำครบรอบ 46 ปีของธนาคารกลางสิงคโปร์ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ใบอนุญาตใหม่ที่ให้สิทธิ์เปิด Digital Bank เป็นการเดินทางบทต่อไปของอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารของสิงคโปร์ ในการเปิดเสรีทางการเงินการธนาคารได้อย่างแท้จริง ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าผู้ที่ได้ใบอนุญาต Digital Banking ไปนั้น จะทำให้อุตสาหกรรมการเงินการธนาคารในสิงคโปร์ มีความยืดหยุ่น และสามารถแข่งขันได้

เราต้องใช้โอกาสนี้ในการพัฒนา Digital Finance เพื่อไม่ให้ถูกครอบงำโดยคลื่นกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นเราต้องเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่”

Monetary Authority of Singapore (MAS)
Photo Credit : The Straits Times / LIANHE ZAOBAO

 

SingTel – Grab – Razer” ศึกษาความเป็นไปได้คว้าใบอนุญาต “Digital Bank”

เบื้องต้นเวลานี้พบว่ามี 3 บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสิงคโปร์ ต่างให้ความสนใจในการยื่นสมัครขอใบอนุญาตเปิด Digital Banking ได้แก่

  • “SingTel” เป็นบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่

  • “Grab” ที่เติบโตมาจากการเป็นสตาร์ทอัพ ปัจจุบันยกระดับเป็น Tech Company ใหญ่ระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • “Razer” ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์เกม และได้ต่อยอดธุรกิจไปสู่การพัฒนา Digital Payment Platform 

โฆษกของ “SingTel” เผยว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ขยายธุรกิจให้เป็นมากกว่าผู้ให้บริการโทรคมนาคม ด้วยการเข้าสู่การให้บริการ “Mobile Payment” ดังนั้น เรากำลังศึกษาความเป็นไปได้ของโอกาส และพิจารณาเงื่อนไขของใบอนุญาณ Digital Bank

SingTel
Photo Credit : madamF / Shutterstock.com

ขณะที่ฝั่ง “Grab” ที่ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก SoftBank Group และนักลงทุนรายใหญ่อื่นๆ พบว่าที่ผ่านมา “Tech Company” รายนี้ ไม่หยุดตัวเองอยู่แค่การให้บริการด้าน Ride Hailing, Food Delivery และบริการ On Demand Services ต่างๆ เท่านั้น แต่ยังได้กระโดดเข้ามาใน “ธุรกิจการเงิน” ด้วยเช่นกัน

เริ่มต้นจากการเป็น Payment Solution “GrabPay” ต่อมาขยายไปยังผลิตภัณฑ์การเงินอื่นๆ และเปิดตัว Grab Financial Group ให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SME, Micro Insurance และ Pay with GrabPay สำหรับผู้ค้าขายบนออนไลน์ ในการติดตั้ง GrabPay บนเว็บโซต์ หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ของผู้ค้าขาย เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถชำระเงินผ่าน GrabPay ได้สะดวก นอกจากนี้ยังได้จับมือกับ Credit Saison ของญี่ปุ่น เพื่อให้บริการผลิตภัณฑ์สินเชื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Grab
Photo Credit : TY Lim / Shutterstock.com

Reuben Lai กรรมการผู้จัดการอาวุโส Grab Financial Group กล่าวว่า บริษัทให้ความสนใจ และกำลังศึกษาใบอนุญาต Digital Bank อย่างใกล้ชิด รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรที่เหมาะสม

ทางด้าน Lee Li Meng ผู้บริหารด้านการวางกลยุทธ์ของ “Razer” เล่าว่าพิจารณาใบอนุญาต Digital Bank อย่างแน่นอน โดยบริษัทฯ ได้ประกาศวิสัยทัศน์ว่านับจากนี้ จะขยายการเติบโตไปยังธุรกิจ FinTech ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เนื่องจากทุกวันนี้บริษัทฯ มียอดธุรกรรมการเงินบนระบบ Digital Payment ไม่ต่ำกว่าหลักพันล้านดอลลาร์ และบริการ “Razer Pay” เป็นแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน “Digital Wallet” รายใหญ่ในมาเลเซีย โดยเร็วๆ นี้จะเปิดตัวให้บริการในสิงคโปร์

อีกทั้งยังได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ “Visa” เพื่อให้บริการ Pre-paid ผ่านแอปฯ Razer Pay ทำให้คนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือไม่สามารถเข้าถึงบริการธนาคารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถใช้จ่ายกับร้านค้าของ Visa กว่า 54 ล้านแห่งทั่วโลก

Razer
Photo Credit : Facebook Razer

ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า ธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non-Bank ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การขยายอาณาจักรมายังธุรกิจการเงิน

นั่นเพราะ การเงินคือ สิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ดังนั้น หากสามารถสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลให้บริการด้านการเงินได้สำเร็จในฐานะเป็น Digital Bank เต็มรูปแบบ ย่อมทำให้เห็นทั้ง Transaction หรือยอดการใช้จ่าย และความต้องการด้านผลิตภัณฑ์การเงิน และประกันประเภทต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

ข้อมูลการใช้จ่าย รวมไปถึงข้อมูลการขอสินเชื่อ – ประกัน หรือแม้แต่ข้อมูลการเงินประเภทต่างๆ คือ “Big Data” ชั้นดี ที่สามารถนำไปวิเคราะห์ต่อยอด สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ – บริการใหม่ใน Business Ecosystem ขององค์กร เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้แบบ Personalization

ที่สำคัญ การที่ Tech Company ขยับมาเป็นผู้ให้บริการการเงิน นั่นหมายความว่า ยิ่งมีโอกาสผลักดันให้ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่อยู่ใน Business Ecosystem ของบริษัทตนเอง เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค

Singapore Bank Note

 

 

Source : The Monetary Authority of Singapore 

Source : The Straits Times 1, 2

Source : Today Online


  • 311
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ