หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ต่างแจ้งผลประกอบการงวดครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน) 2561 กันออกมาครบแล้ว มีกำไรสุทธิรวมกันกว่า 5.51 แสนล้านบาท
Marketing Oops! จะพาไปดูกันว่า มีหุ้นบริษัทใดบ้าง ที่ทำ “กำไรสุทธิ” ได้มากสุด 10 อันดับแรก
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพิ่งจะรายงานผลการดำเนินงาน ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) งวดครึ่งแรกปี 2561 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ออกมา โดยไม่รวมหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ mai
ปรากฏว่า หุ้นเกือบ 600 บริษัท มีกำไรสุทธิรวมกันกว่า 5.51 แสนล้านบาท
ตัวเลขกำไรที่ว่านี้ หากนำไปเทียบกับงวดครึ่งปีแรกของปี 2560 เท่ากับว่าเพิ่มขึ้นกว่า 7.61%
กำไรที่ออกมานี้ไม่ถือว่าเป็น surprise อะไรมาก
เพราะก่อนหน้านี้บรรดานักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ต่างได้คาดกันว่า ในปี 2561 บจ.จะมีกำไรอยู่ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท
ดังนั้น กำไรในงวดครึ่งปีแรกกว่า 5.51 แสนล้านบาท จึงเท่ากับ 50% ของการประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี 2561
อุตสาหกรรมกำไรสุทธิโดดเด่น
แต่ก่อนที่จะพาไปดูว่า หุ้นตัวใด ทำกำไรมากสุด 10 อันดับแรก
ยังมีตัวเลขสำคัญทางการเงินที่น่าสนใจของหุ้นต่างๆ มานำเสนอกัน
หุ้นทั้งหมดนอกจากจะมีกำไรเป็นไปตามประมาณการกันแล้ว
ยังพบอีกว่า ต่างมียอดขายรวมกันทุกบริษัท คิดเป็นเงินกว่า 5,884,081 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.01% และมีกำไรขั้นต้น 1,382,837 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.58%
เมื่อถามว่ากลุ่มอุตสาหกรรมใดบ้าง ที่มีกำไรสุทธิโดดเด่นกลุ่มแรก
คำตอบคือ กลุ่มที่ได้อานิสงส์จาก “ราคาน้ำมัน”
เช่น หมวดพลังงาน และสาธารณูปโภค และหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์
กลุ่มต่อมา คือ กลุ่มบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในกลุ่ม Well-being ที่ประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขันสูง
และยังรวมหุ้นในหมวดพาณิชย์ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดขนส่งและโลจิสติกส์
และกลุ่มถัดมาเป็นกลุ่มธุรกิจการเงิน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเติบโตตามการขยายสินเชื่อ
นั่นคือ หมวดธนาคาร และหมวดเงินทุนและหลักทรัพย์
ฐานะการเงินของกิจการ ณ 30 มิถุนายน 2561 พบว่า
โครงสร้างเงินทุนของหลักทรัพย์จดทะเบียนยังคงแข็งแรง มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) ทรงตัวเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2560 ที่ 1.15 เท่า
หุ้นกำไรมากสุด 10 อันดับแรก
และเมื่อเจาะลึกลงไปว่า แล้วหุ้นบริษัทใดบ้างที่มีอัตรากำไรมากสุด 10 อันดับแรก
เริ่มจากอันดับ 1 คือ บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) หรือ PTT
ปตท.มีกำไรสุทธิรวมกว่า 69,816.78 ล้านบาท ลดลงจากงวดครึ่งปีแรก 2560 ที่มีกำไรสุทธิ 77,484.74 คิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะปรับลดลง 9.90%
ปตท. ปัจจุบัน มีสถานะเป็น Holding Company
Holding Company ก็คือการที่ ปตท. เข้าไปถือหุ้นยังบริษัทต่างๆ หลายแห่ง
เช่น บริษัท สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP , บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC , บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด หรือ PTTOR (อยู่ระหว่างเตรียมตัวเข้าตลาดหุ้น)
และยังรวมถึงการถือหุ้น ในบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP
และบริษัทอีกหลายๆ แห่งทั้งการผลิตไฟฟ้า และธุรกิจนอน-มอเตอร์ เช่น Café Amazon และร้านอาหารต่างๆ
ส่วนกำไรที่ปรับลดลงของ ปตท. มาจากสาเหตุอะไร
จากข้อมูลของ ปตท. ระบุว่า เป็นผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน ตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ทำให้บริษัทอย่าง PTTEP มีกำไรลดลง และบริษัทอื่นๆ ในกลุ่ม ก็มีปัญหาแบบเดียวกัน และผลการดำเนินงานของธุรกิจน้ำมัน ก็ปรับลดลงด้วยเช่นกัน
อันดับ 2 บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC
SCC ที่หลายคนมักจะเรียกว่า “ปูนใหญ่” มีรายได้จากการขาย 238,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
รายได้หลักของ SCC มาจากสินค้าเคมีภัณฑ์ ที่ปรับตัวสูงขึ้น
แต่ในด้านของกำไรสำหรับงวด มีจำนวน 24,808 ล้านบาท ลดลง 19% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
กำไรที่ปรับลดลงมาจากผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า ในธุรกิจเคมิคอลส์และธุรกิจแพคเกจจิ้ง และต้นทุน Naphtha ที่เป็นวัตถุดิบในธุรกิจปิโตรเคมีสูงขึ้น
อันดับ 3 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC
PTTGC มี ปตท.เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 48.79%
PTTGC มีกำไรสุทธิ 23,215.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.34% จากงวดครึ่งปีแรก 2560
กำไรที่เพิ่มขึ้น PTTGC รายงานว่า มาจากผลิตภัณฑ์ของธุรกิจปิโตรเคมี เช่น โพลีโอเลฟินส์ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากส่วนต่างของสินค้าฟีนอล และบิสฟีนอลเอที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน
อันดับ 4 คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB
ไทยพาณิชย์นั้น มีกำไรสุทธิ 22,475.65 บ้านบาท ลดลง 5.66% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2560
ไทยพาณิชย์ อยู่ในระหว่างการทำโครงการ SCB Transformation ที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการบริหารงานของธนาคารในด้านต่างๆ และรองรับกับการแข่งขัน รวมถึงธุรกรรมการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป
และนั่นทำให้ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่าย ในการขยายฐานลูกค้าใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล
อันดับ 5 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK
กสิกรไทย มีอัตรากำไรสุทธิจำนวน 21,682.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.18%
กำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากการรายได้ดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น และรายได้จากค่าฟี หรือค่าธรรมเนียมจากการขายประกันให้กับ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
ส่วนการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง จากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลง โดยมี NPL เพียง 3.29% จากสินเชื่อรวม
อันดับ 6 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL มีกำไรสุทธิ 18,198.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.30%
แบงก์กรุงเทพ หรือที่เรียกกันว่า “บัวหลวง” มีกำไรเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ย ตามการเติบโตของสินเชื่อที่ครึ่งปีแรกขยายตัวกว่า 3.1% และรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการขายประกัน
แบงก์กรุงเทพ เพิ่งจะเป็นพันธมิตรกับ “เอไอเอ” เมื่อปลายปี 2560
เอไอเอ เป็นบริษัทประกันชีวิตยักษ์ใหญ่ มีส่วนแบ่งการตลาดมากสุด เข้ามาเป็นพันธมิตรกับแบงก์กรุงเทพ ด้วยการนำสินค้าด้านการประกันชีวิตเข้ามาขายยังสาขาต่างๆ ของธนาคาร
ความร่วมมือกันครั้งนี้ เริ่มเมื่อต้นปี 2561
โดยเอไอเอสามารรถขายสินค้าประกันชีวิตได้มากขึ้น
และแบงก์กรุงเทพ มีรายได้จากค่าธรรมเนียม จากการขายประกันเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน
อันดับ 7 บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO
บริษัท ผลิตไฟฟ้า มีกำไรสุทธิ 17,807.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 174.22%
ความจริงแล้วในไตรมาส 2/2561 บริษัท ผลิตไฟฟ้า มีผลประกอบการการขาดทุนกว่า 2,363 ล้านบาท
แต่ในช่วงไตรมาส 1/2561 ได้สร้างกำไรไว้ค่อนข้างมาก โดยมีกำไรสุทธิ 20,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 17,208 ล้านบาท หรือคิดเป็น 581%
กำไรที่เพิ่มขึ้นเรียกว่ากำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์
โดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า ได้มีการขายสินทรัพย์ออกไป คือ ขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดใน “อีสท์ วอเตอร์”, บริษัท จีเดค จำกัด และ “โรงไฟฟ้ามาซินลอค” ประเทศฟิลิปปินส์
การขายสินทรัพย์ที่ว่านี้ ทำให้รับรู้กำไร (พิเศษ) กว่า 14,162 ล้านบาท
ส่วนเงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์ ทางบริษัทรายงานว่าจะเตรียมไว้เพื่อการขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
อันดับ 8 คือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP
PTTEP คือบริษัทลูกของ ปตท. โดย ปตท.ถือหุ้นจำนวน 65.29%
PTTEP มีกำไรในงวดครึ่งปีแรก 25661 จำนวน 16,970.98 ล้านบาท ลดลง 14.37%
ปัจจัยที่ทำให้กำไรลดลง มาจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น
แต่หากดูเฉพาะด้าน “ผลการดำเนินงานปกติ” PTTEP จะมีกำไรเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณขายและราคาขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น
อันดับ 9 บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP มีกำไรสุทธิจำนวน 16,042.41 เพิ่มขึ้น 7.61%
กำไรที่เพิ่มขึ้นของ ADVANC มาจากมีรายได้รวม 83,161 ล้านบาท เติบโต 6.7% เทียบกับปีก่อน
รายได้ที่ว่านี้มาจากรายได้การให้บริการ ส่วนรายได้จากการขายซิมและอุปกรณ์คงที่
และอันดับ 10 ธนาคารกรุงไทย จำกัน (มหาชน) หรือ KTB มีกำไรสุทธิจำนวน 14,498.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.24%
กำไรของกรุงไทยที่เพิ่มขึ้นมา จากการตั้งสำรองหนี้ปรับลดลง หลังจากในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ได้ตั้งสำรองหนี้กับลูกค้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ทำให้กำไรปรับลดลงค่อนข้างมาก
มีการคาดการณ์จากผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ด้วย โดยประมาณการว่า ผลประกอบการของหุ้นต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ช่วงครึ่งปีหลัง 2561 จะออกมาดีกว่าครึ่งปีแรก
ปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุน ก็มาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นช่วงไฮซีซั่นของหลายธุรกิจ
จึงต้องมาลุ้นกันว่าหลังจากปี 2560 หุ้นต่างๆ ทำกำไรรวมกันได้จำนวน 9.9 แสนล้านบาท และปีนี้จะสร้างกำไรทะลุ 1 ล้านล้านบาทตามที่คาดการณ์กันไว้ได้หรือไม่