ที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินคำว่า Unlearn – Relearn – Upskills บ่อยขึ้นมากในยุคดิจิทัล ที่ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น การพัฒนาต่างๆ ต้องมีจุดเริ่มต้นที่ดีมีพื้นฐานที่แน่นมาจาก ‘ทรัพยากรมนุษย์’ ขณะเดียวกันการปรับ Mindset ด้านการศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการเรียนรู้ ต้องหมายถึง ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
อย่างที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ร่วมกับ SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน ลงนามความร่วมมือเปิดตัว โครงการ “ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Lifelong Learning) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตอกย้ำวิสัยทัศน์ ‘Empower Living’ ของ SEAC เองที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของคนไทย และเติมเต็มทุกเป้าหมายของการใช้ชีวิต
ความน่าสนใจของโครงการนี้ ก็คือ การยกระดับการศึกษาไทย เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมทุกระดับ ด้วยการติดอาวุธเพิ่มทักษะ Hard Skills (ทักษะด้านความรู้เชิงเทคนิค) และ Hyper-relevant Skills (ทักษะและวิธีคิดที่สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน) ซึ่งทั้ง 2 ทักษะนี้กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั่วโลก
ทั้งนี้ ทั้งสองสถาบันจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตร ‘Non-degree’ ทั้งในรูปแบบ หลักสูตรประกาศนียบัตรระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-learning), ระบบออนไลน์ (Online Learning ) และแบบห้องเรียน (Classroom Learning) โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก 3 กลุ่มด้วยกัน เพื่อจุดประสงค์ในการสร้างคน และเพิ่มองค์ความรู้เพื่อพัฒนางานวิจัย ได้แก่
- บุคคลภายนอก เพื่อสร้าง New Learning Facilitators / Data Scientist Facilitators และพัฒนา Business Mindset สำหรับการทำงานวิจัยที่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศ
- กลุ่มบุคคลภายในรั้วมจธ. เพื่อสร้างทักษะบุคลากรสู่ Future of University และทักษะ Entrepreneurial สำหรับนักวิจัยของ มจธ.
- กลุ่มนักศึกษาของมจธ. ที่กำลังศึกษาอยู่ในทุกระดับ รวมถึงศิษย์เก่าที่จบการศึกษาแล้ว
โลกยุคใหม่ต้องนิยามคำว่า ‘นักศึกษา’ ใหม่ด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้พูดว่า เมื่อเราก้าวเข้าสู่โลกในยุคใหม่ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วไปหมด ดังนั้นนิยามใหม่ของคำว่า ‘นักศึกษา’ จึงเกิดดีมานด์ใหม่ขึ้นเช่นกัน หมายความว่า คนในวัยทำงานกว่า 38 ล้านคนในไทย ต้องการยกระดับศักยภาพของตนเองเพื่อให้ทันโลกแห่งเทคโนโลยีด้วย มหาวิทยาลัยจึงเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถมาเรียนรู้ทักษะใหม่ (re-skill) หรือ ต่อยอดทักษะเดิมให้ดีขึ้น (up-skill)
“มหาวิทยาลัยจะมองแต่ผู้เรียนที่จบ ม.6 ไม่ได้ แต่ต้องมองคนที่อยู่ในระบบการทำงานแล้วด้วย เพราะทุกคนมีความหมาย และเป็นผู้นำที่สามารถสร้างงานที่มีคุณค่า และเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้
ดังนั้น สมการใหม่ของระบบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว เราเรียกมันว่า ‘หลักสูตรตามใจฉัน’ เพราะจะไม่ใช่การเรียนแค่ 4-5 ปีอีกต่อไป แต่มันคือการเรียนรู้แบบทั้งชีวิต “เราจะข้ามพ้นกรอบเรื่องของเวลาแบบเดิมๆ เพราะนักศึกษาในนิยามใหม่จะไม่มีมิติของอายุ มหาวิทยาลัยจะเปิดรับผู้เรียนรู้ทุกช่วงวัยหลายเจเนอเรชั่น และรูปแบบหลักสูตรการเรียนการสอนก็จะไม่ถูกจัดแบ่งเป็นภาคการศึกษา, จำนวนหน่วยกิต หรือ วิธีการวัดผลด้วยการสอบแบบเดิมๆ อีกต่อไป”
ดร.สุวิทย์ พูดย้ำอีกว่า ผู้ที่สนใจจะเข้ามาเรียนเมื่อสนใจ พอได้ทักษะแล้วก็ออกไปปรับใช้กับที่ทำงาน เมื่อคิดว่าต้องการทักษะเพิ่มขึ้นอีก ก็สามารถกลับมาเรียนเพิ่มได้เรื่อยๆ เป็น Lifetime University หรือ มหาวิทยาลัยเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั่นเอง
โลกยุคใหม่ต้องการ ‘Hard Skills’ และ ‘Hyper-relevant Skills’
ไม่ปฏิเสธว่า คนเก่ง หรือคนที่มีทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการ ต้องแม่นยำในความรู้เชิงวิชาการของวิชาชีพ แต่โลกในยุคใหม่ที่มีความท้าทายขึ้น ไม่ใช่แค่มนุษย์ที่ต้องเพิ่มศักยภาพ แต่เริ่มมีตำแหน่งงานบางอย่างถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือ หุ่นยนต์บ้างแล้ว ดังนั้น จะพูดว่า Hard Skills สำคัญอย่างเดียวคงไม่พออีกต่อไป
คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (Southeast Asia Center) ได้กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง มจธ.กับ SEAC จะสามารถพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างนักศึกษาให้สามารถเตรียมตัวเข้าสู่โลกของการทำงานจริงๆ ทั้งด้านวิชาชีพ และวิชาชีวิต (Skillset & Mindset) ที่จะนำไปสู่โอกาสมากมายในการทำงาน ทั้งจะช่วยให้สามารถประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้ในมหาวิทยาลัยกับบริบทที่จะได้เจอจากการทำงานด้วย
พูดง่ายๆ ก็คือ จุดประสงค์ที่สำคัญของการร่วมมือครั้งนี้ ก็เพื่อการสร้างให้คนเหล่านี้เป็น Preferred Choices หรือ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ตอบโจทย์อุตสาหกรรมในโลกอนาคต เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ
นอกจากนี้ ก็เพื่อลดจำนวนงานวิจัยที่ยังไม่สามารถต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ ด้วยการปรับเพื่อนำเอาทักษะใหม่ๆ เช่นเรื่อง Business Mindset ไปพัฒนานักวิจัยให้สามารถผลิตงานวิจัยคุณภาพที่สังคมต้องการ และนำไปประยุกต์ใช้หรือแก้ปัญหาได้จริง เพราะในความเป็นจริง ประเทศที่ลงทุนและให้ความสำคัญในเรื่องการทำวิจัย (R&D) หรือ มีนักวิจัยที่มีคุณภาพมาก และเป็นวิจัยที่นำไปประยุกต์ใช้ได้จริง จะส่งผลโดยตรงต่ออัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ให้สูงขึ้นตามอย่างมีนัยยะสำคัญ
ตัวอย่างอาชีพ หรือทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อโลกในอนาคต ภายใต้โครงการดังกล่าวนี้ นอกจากจะช่วยสร้างและพัฒนานักวิจัยไทยแล้ว ยังมีอาชีพ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist), อาจารย์เกื้อหนุนสาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist Facilitator) ที่ล้วนเป็นกลุ่มอาชีพใหม่ที่สำคัญและต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วนเพื่อยกระดับประเทศ
นอกจากนี้ โครงการนี้ยังจะช่วยอัพสกิลครูและอาจารย์ ให้เพียบพร้อมไปด้วยวิธีคิดและทักษะจำเป็นแห่งโลกอนาคต ซึ่งสถาบันการศึกษา มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบุคลากรคุณภาพให้กับประเทศ
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว มีขอบเขตภายใต้โครงการเป็นระยะเวลา 3 ปี (ระหว่างวันที่ 18 มิ.ย. 2563 – 17 มิ.ย. 2566) โดยในปีแรกจะมีโครงการนำร่องภายในประเทศก่อน ได้แก่ ร่วมมือกันออกแบบคอร์สเพื่อสร้างกลุ่มอาชีพใหม่ป้อนภาคการศึกษา เช่น Online Instructional Designer (นักออกแบบการสอนแบบออนไลน์), Virtual Learning Facilitator (อาจารย์เกื้อหนุนสำหรับการเรียนแบบออนไลน์) และ Data Scientist Facilitator (อาจารย์เกื้อหนุนด้าน Data Science)
และในปีต่อๆ ไป ทั้งมจธ. และ SEAC มีแผนจะขยายโครงการนี้ไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลด Gap ด้านการศึกษาและแรงงาน พัฒนาศักยภาพของกำลังคนให้มีคุณภาพเท่าเทียมกัน
เห็นได้ชัดเจนว่าทั้งสองสถาบัน ถือว่าเป็น Leader ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาโครงการรูปแบบนี้แห่งแรกของโลก ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมให้คนไทย และประเทศอื่นๆ สามารถเดินหน้าสู่เป้าหมายได้สมบูรณ์แบบ ซึ่งเต็มไปด้วยความหมายของชีวิต และเพิ่มมูลค่าในตนเอง