ในช่วงที่โลกเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล ความท้าทายในการบริหารจัดการทั้งภายในองค์กรและการวางแผนการตลาดยิ่งมากขึ้นตามเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาใหม่ หลายบริษัทรู้ทันความเปลี่ยนแปลงแต่ก็ยังมีหลายบริษัทที่ไม่ทันเตรียมตัวหรือเข้าใจสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่ผิดพลาด ซึ่งเทคโนโลยีเปรียบเสมือนดาบสองคมที่หากใช้ให้เกิดประโยชน์ก็สามารถฟันฝ่าทุกอุปสรรคได้อย่างสำเร็จ แต่หากชะล่าใจก็มีโอกาสบาดเจ็บจากความผิดพลาดนั้น
ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารระดับผู้นำองค์กรควรจะต้องเรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ผ่านบริษัท เอสอีเอซี (SEAC; South East Asia Center) ที่คร่ำหวอดในการเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผู้บริหารมากว่า 25 ปี และถือเป็นโอกาสพิเศษที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับ คุณอริญญา เถลิงศรี Managing Director บริษัท เอสอีเอซี (SEAC) ในการเปลี่ยนผ่านจากผู้บริหารสู่การเป็นผู้นำยุคใหม่ให้เข้าใจโลกในปัจจุบันและอนาคต
“SEAC คือเราไม่ใช่บริษัทใหม่ แต่เราปรับเปลี่ยนมาจาก APMGroup ก่อตั้งมาถึง 25 ปี ซึ่งเมื่อ 3 ปีที่แล้วเราเห็นว่ารูปแบบธุรกิจที่ปรึกษาหรือธุรกิจการพัฒนาแบบเดิมไม่ตอบโจทย์ในปัจจุบัน เนื่องจากโลกเปลี่ยนไปมากลักษณะของคนก็เปลี่ยนไปมากเช่นกัน หลายคนสามารถเรียนรู้ได้จากคอนเทนท์ต่างๆ ในระบบออนไลน์ เราจึงเริ่มคิดว่าการสร้างศักยภาพคนเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ และเรายังมองว่าแค่ในประเทศไทยอย่างเดียวไม่พอ เราต้องไปในระดับ ASEAN นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เราค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจาก APMGroup มาเป็น SEAC”
โดย SEAC จะเน้นการพัฒนาผู้บริหารหลายๆ องค์กร ด้วยแนวทางการพัฒนาถึง 4 ด้านทั้ง ด้านความเป็นผู้นำ (Leadership) ซึ่งผู้นำจำเป็นต้องบริหารองค์กรในรูปแบบใหม่ ด้านนวัตกรรม (Innovation)ซึ่งทาง SEAC มองว่าประเทศไทยถดถอยในเรื่องนวัตกรรม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันจะเห็นความถดถอยได้อย่างชัดเจน SEAC จะเข้ามาช่วยพัฒนาแนวความคิดเพื่อให้เกิดนวัตกรรมในบริษัทของไทย
“นอกจากด้านความเป็นผู้นำและด้านนวัตกรรมแล้ว เรายังเน้นไปที่ด้านการเปลี่ยนแปลง (Disruption) เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงถ้าองค์กรไม่มีการปรับเปลี่ยนก็จะไม่สามารถตามการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ซึ่งเราจะเน้นให้ผู้บริหารเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนที่จะไปเปลี่ยนแปลงผู้อื่น และด้านการปรับเปลี่ยน (Change)ช่วยให้ผู้นำมองเห็นถึงทิศทางหรือแนวทางการปรับเปลี่ยนองค์กรได้ โดยสรุปคือ SEAC เราจะเน้นไปในเรื่องการสร้างผู้นำ (Leadership), นวัตกรรม (Innovation), การเปลี่ยนแปลง (Disruption) และการปรับเปลี่ยน (Change) และเราต้องการเป็นตัวกลางที่จะทำให้ผู้บริหาร ผู้นำและองค์กรทั้งในไทยและในอาเซียนเดินทางไปสู่ภาพใหม่ในการทำธุรกิจแบบใหม่”
หลายคนคงคิดว่า ความรู้ในการพัฒนาเหล่านี้สามารถหาได้จากอินเตอร์เน็ต ซึ่งนั่นเป็นเรื่องจริง แต่คุณอริญญาชี้ว่า ที่ SEAC ไม่ได้เน้นความรู้ในเชิงทฤษฎีแบบที่สามารถหาได้ในอินเตอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว แต่ที่ SEAC ยังเน้นในเรื่องความรู้ในรูปแบบระดับโลกผ่านการใช้ผลวิจัยที่ทั่วโลกยอมรับเพื่อให้เกิดเป็นบทเรียนจากประสบการณ์จริง โดย SEAC มีพันธมิตรในต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและความร่วมมือกับหลายสถาบันในระดับโลก การสอนของ SEAC จะเน้นไปที่กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นและได้ผลสำเร็จจริง ผสมผสานกับวัฒนธรรมของไทยหรือของอาเซียนเพื่อให้ผู้บริหารสามารถปรับใช้ในองค์กรได้อย่างไม่ขัดขืน
“เราใช้วิธีการที่ทำให้เกิดความเชื่อว่าทำไมต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง เพราะปัจจุบันวิธีการบริหารองค์กรที่ผ่านมา 20-30 ปีไม่สามารถใช้ได้แล้วในปัจจุบัน เราต้องพาตัวเองออกจากรูปแบบการบริหารแบบเดิมๆ (Comfort Zone) และต้องพาตัวเองไปคุ้นเคยกับเรื่องใหม่ ดังนั้นกระบวนการที่ให้ละทิ้งความรู้แบบเดิมๆ (Unlearn) ยากกว่าการให้ความรู้ใหม่ๆ เข้าไป ซึ่งผู้บริหารจะต้องกลับมาเรียนรู้ใหม่ (Relearn) นั่นคือกระบวนการที่เราเน้นมากกว่าการสอนเพียงอย่างเดียว กระบวนการทั้งหมดจะค่อยๆ เปลี่ยนความคิด ความเชื่อและวิธีปฏิบัติ แล้วจะมาหาวิธีการจัดการใหม่ร่วมกัน”
สิ่งหนึ่งที่คุณอริญญาอธิบายได้อย่างชัดเจน คือการแยก 2 คำจากคำว่า Innovation Disruption โดยเริ่มจากคำว่า “Disruption” ซึ่งเกิดขึ้นมาก่อนโดยโลกในปัจจุบันถูกทำให้เปลี่ยนแปลงด้วยคนบางกลุ่ม เช่น ในอดีตใครจะคิดว่าคนมาซื้อของออนไลน์มากกว่าเดินห้าง ซึ่ง Amazon สามารถเปลี่ยนแปลงโลกจนสามารถสร้างพฤติกรรมการซื้อขายออนไลน์ได้ หรือใครจะคิดว่า Facebook ทำให้ทุกวันนี้แทบทุกเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตัวสามารถเปิดเผยสู่สาธารณะชนได้ ทั้งที่ในอดีตเวลามีอะไรก็แชร์กันเฉพาะในกลุ่มเพื่อนเล็กๆ
สิ่งเหล่านี้เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกส่งผลกระทบกับวิถีการใช้ชีวิตประจำวันของคน และทำให้คนเริ่มคาดหวังกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าควรจะต้องมีอะไรใหม่ๆ เข้ามา นั่นจึงทำให้เกิดคำว่า “Innovation” หรือนวัตกรรม เห็นได้ชัดจากธุรกิจท่องเที่ยวที่จากเดิมต้องผ่านบริษัททัวร์ แต่ปัจจุบันมีการใช้นวัตกรรมในการจองที่พักผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น
“นวัตกรรม (Innovation) ถูกบีบให้เกิดขึ้นจากกลุ่มบริษัทที่ออกมาเปลี่ยนแปลง (Disruption) โลกใบนี้ ทำให้เกิดการสร้างพฤติกรรมผู้บริโภครูปแบบใหม่” คุณอริญญาเน้นเรื่องนี้
จึงไม่แปลกที่ทำให้หลายองค์กรต้องเริ่มสร้างนวัตกรรมของตัวเองขึ้นมาเพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในรูปแบบใหม่ แต่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ คุณอริญญาชี้ว่า จำเป็นต้องทำการเปลี่ยนแปลงตัวเองเสียก่อน แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะสามารถทำได้อย่าง Facebook หรือ Amazon นี่คือที่มาว่าทำไมต้องมี Innovation และทำไมต้อง Disruption ซึ่งมันคือการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ
“ในส่วนของ HR ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในองค์กรในด้าน Disruption Innovation เพราะพฤติกรรมของพนักงานในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว เนื่องจากเทคโนโลยีทำให้คนรู้และเห็นอะไรมากกว่าเดิม บริษัทจะดูแลคนในรูปแบบเดิมไม่ได้ HR จึงจำเป็นต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน และต้องกล้าบอกว่าระบบที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ ซึ่งระบบการตอบแทนไม่ใช่แค่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น”
ในความเห็นของคุณอริญญามองว่า HR เป็นบุคคลที่สำคัญที่จะช่วยพาองค์กรไปสู่ภาพใหม่ ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงจะต้องเป็นคนนำองค์กรไปสู่จุดนั้นให้ได้ SEAC จึงเน้นไปที่การทำงานร่วมกับผู้บริหารระดับสูงและ HR ในการหาวิธีพาองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลง นั่นจึงทำให้หลักสูตรของ SEAC จะเน้นไปที่กลุ่มผู้นำทุกระดับตั้งแต่ C Level จนถึงหัวหน้างานและกลุ่ม HR ซึ่งหลักสูตรที่ออกแบบไว้จะไม่เหมือนกัน
“สำหรับ SEAC เราจะพุ่งไปที่ตลาด ASEAN ในช่วงระยะเวลา 5 ปี โดยในปีแรกจะพุ่งเป้าไปที่พม่า เวียดนามและสิงคโปร์และจะมีขยายตัวในเฟสอื่นๆ ตามมา นอกจากนี้ยังกำหนดเป้าหมายไว้ในการเป็นที่รู้จักในระดับโลกผ่านความสำเร็จของบริษัทที่เข้ามาพัฒนาผู้บริหาร ซึ่งต้องมีกรณีศึกษาจริงและสามารถแลกเปลี่ยนได้จริง เราอยากให้บริษัทระดับอาเซียนมีชื่อขึ้นไปติดอยู่ในระดับโลก” คุณอริญญา กล่าวสรุป
แน่นอนว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้บริหารหรือองค์กรที่ปรับตัวได้ช้าก็อาจจะตกขบวนรถไฟที่จะนำพาไปสู่จุดหมายปลายทางคือความสำเร็จ แต่มันจะไม่เกิดขึ้นหากผู้บริหารหรือองค์กรไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่แนวทางที่โลกกำลังพัฒนาไป โดยที่มี SEAC เป็นเพื่อนคอยชี้นำทาง