จุดประกายเปลี่ยนโลก ปล่อยพลังคน Gen Z ผ่านไอเดียสร้างสรรค์การออกแบบบรรจุภัณฑ์ กับเวที ‘SCGP PACKAGING SPEAK OUT 2022’

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

 

บรรจุภัณฑ์ หรือแพคเกจจิ้ง (Packaging) มีหน้าที่หลักคือการปกป้องสินค้า รวมถึงการสื่อสารภาพลักษณ์ของแบรนด์ โดยส่วนใหญ่นั้น บรรจุภัณฑ์จากสินค้าที่เราซื้อ เมื่อหมดหน้าที่ก็จะถูกทิ้งให้เป็นขยะ แต่จะดีกว่าไหมถ้าสิ่งเหล่านั้นจะสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ โดยการ Recycle หรือ Upcycle เพื่อกลับเข้าสู่วงจรการใช้งานอีกครั้ง และเป็นเทรนด์สำคัญของการสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม

ด้วยเล็งเห็นปัญหาขยะและมองว่าแนวทางในการลดปัญหาขยะให้เริ่มต้นง่าย ๆ จากสิ่งใกล้ตัวอย่างการนำบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ  กลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ รวมทั้งเห็นถึงพลังและความสำคัญของคนรุ่นใหม่ ที่จะร่วมผลักดันและเปลี่ยนโลกไปสู่อนาคต บริษัทเอสซีจีแพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP จึงชวนคน Gen Z ร่วมประชันไอเดียออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน ในโครงการประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์ ภายใต้ชื่องานว่า SCGP Packaging Speak Out 2022 ส่งเสียง เปลี่ยนโลก ด้วยแพคเกจจิ้งภายใต้แนวคิด RETHINK FOR BETTER NORMAL เพื่อร่วมสร้างโลกใบนี้ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในงานนี้ทำให้เราได้เห็นไอเดียของคนรุ่นใหม่มากมาย ที่จะขับเคลื่อนช่วยกันรักษ์โลก ภายใต้โจทย์การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ Easy to Recycle หรือ Upcycle อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งได้ประกาศผลผู้ชนะรางวัลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

 

รางวัลชนะเลิศ The Best Of Challenge

ผลงาน : Shoes-Able

ออกแบบโดย ทีม ส้มป่อย : นางสาวอิษยา ตระการสาธิต และ นางสาวจินตภา สว่างปัญญากูล คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

Shoes-Able มาจากแนวความคิด Package as a Product เพื่อลดการก่อขยะจากบรรจุภัณฑ์ และสามารถยืดอายุการใช้งานของบรรจุภัณฑ์ ด้วยการเปลี่ยนรูปร่าง (Transform) จากกล่องรองเท้าเป็นชั้นวางรองเท้าแบบวางซ้อนกัน  ที่ช่วยจัดระเบียบและยังช่วยประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บรองเท้าด้วย เป็นการใช้ประโยชน์จากกล่องรองเท้าที่มักจบลงเป็นขยะให้ได้คุ้มค่าที่สุด

 

 

รางวัล Runner-Up

ผลงาน : Choo

ออกแบบโดย ทีม i_deasign : นายสกรรจ์ เกียรติบุญศรี คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

CHOO (เสียงหวูดรถไฟในภาษาอังกฤษ) เป็นบรรจุภัณฑ์น้ำยาอาบน้ำสำหรับ​เด็ก ออกแบบภายใต้แนวคิด  Upcycle for Easy to Recycle กล่าวคือบรรจุภัณฑ์นี้เมื่อใช้หมดแล้วจะสามารถ UPCYCLE เพิ่มมูลค่าเป็นของเล่นรถไฟและรางรถไฟได้ โดยกระบวนการที่แปลงขวดเป็นของเล่น ออกแบบให้ต้องแยกชิ้นส่วนและล้างบรรจุภัณฑ์โดยอัตโนมัติ ทำให้เด็กนอกจากจะได้สนุกไปกับการเล่นแล้วยังได้รับการปลูกฝังพฤติกรรมการล้างและแยกชิ้นส่วนบรรจุภัณฑ์หลังใช้ไปด้วยในตัว โดยเมื่อเด็กเล่นจนเบื่อหรือโตแล้วนำรถไฟนี้ไปทิ้ง ก็จะเป็นขยะคุณภาพดีที่แยกชิ้นส่วนและล้างทำความสะอาดเรียบร้อย ง่ายต่อการนำไป RECYCLE

 

 

นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 รางวัล Honorable Mentions ได้แก่ 1) ผลงาน : CAT BOX ออกแบบโดย ทีม B2B : นางสาวธนัญญา ชำนาญกิจ และนางสาวเบญจวรรณ แพลอย คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง CAT BOX บรรจุภัณฑ์ทรายแมวที่สามารถประกอบตัวเป็นห้องน้ำแมวเพื่อใส่ทรายแมวได้ แถมพับเก็บเคลื่อนย้ายได้สบายและไม่ต้องซื้ออุปกรณ์ห้องน้ำแมวแยกให้ยุ่งยาก แถมผลิตภัณฑ์ก็ยังรีไซเคิลได้ 2) ผลงาน : วงเวียน “เมเซอร์เคิล” ออกแบบโดย ทีม Jirat Chamsai : นายจิรัจ แจ่มใส  คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Measurecle คือแบรนด์เครื่องเขียน ที่มี Product ชิ้นหลักเป็นวงเวียน โดยที่มีคอนเซปต์ในการ Upcycle ด้วยตัวบรรจุภัณฑ์ของสินค้าเอง โดยสามารถตัดออกมาตามรอยปะ แล้วได้มาเป็น ไม้โปรแทรคเตอร์ ไม้สามเหลี่ยม ไม้ครึ่งวงกลม และนำมาใช้งานกับสินค้าที่เป็นวงเวียนได้ 3) ผลงาน : STANDGUIN  (สแตนด์กวิน) ออกแบบโดย ทีม Standguin : นางสาวจิดาภา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, นางสาวญาณิกา สมบูรณ์ทรัพย์ และ นางสาวมนัสนันท์ หงส์วัฒนกุล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับ STANDGUIN คือตัวกล่องบรรจุภัณฑ์สำหรับหูฟังที่สามารถพับกลายเป็นแท่นวางหูฟังได้ จึงอำนวยความสะดวกและเพิ่มความสวยงามในการจัดเก็บหูฟัง นอกจากนี้ตัวกล่องที่เหลืออยู่ยังสามารถนำไปใช้งานต่อเป็นอุปกรณ์จัดเก็บของได้อีกด้วย ทั้งหมดนี้จะทำให้บรรจุภัณฑ์ STANDGUIN ไม่กลายเป็นขยะ

 

 

คน Gen Z กับแนวคิดลดขยะผ่านการออกแบบสร้างสรรค์บนบรรจุภัณฑ์สุดล้ำ

โครงการนี้เป็นการกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของการลดขยะผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยการพัฒนาให้บรรจุภัณฑ์สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด  SCGP เล็งเห็นพลังของไอเดียสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่  จึงจัดโครงการเพื่อดึงศักยภาพเหล่านี้ออกมา ที่สำคัญหลังการประกวดจบแล้ว บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ยังจะนำมาพัฒนาใช้จริงในเชิงธุรกิจอีกด้วย

ประกอบกับในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ Gen Z ไม่ได้แคร์แค่ตัวเอง แต่ยังแคร์ไปถึงคนรอบข้าง และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและโลกในอนาคตมากขึ้น ดังนั้น การผลักดันโครงการผ่านไอเดียสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ยังเป็นการจุดประกายไอเดียต่อยอดไปสู่เรื่องอื่น ๆ ได้อีกด้วย

 

 

สำหรับผลงานทั้งหมดที่นำมาแสดง ต้องขอชื่นชมเลยว่า แต่ละชิ้นงานยอดเยี่ยมกันทั้งนั้น และที่สำคัญนำไปใช้งานได้จริง ใช้งานได้ไม่ยาก และลดปริมาณขยะได้ทันทีเลย นับเป็นไอเดียที่สร้างสรรค์ซึ่งไอเดียเหล่านี้อาจจะไปจุดประกายให้แบรนด์หรือนักการตลาดปรับนำมาใช้ต่อยอดในการทำแคมเปญการตลาดใหม่ ๆ น่าสนใจได้ เพราะเรื่องของการที่แบรนด์ให้ความสำคัญกับ Sustainability ความยั่งยืนนั้นสำคัญต่อภาพลักษณ์แบรนด์ในปัจจุบันมากทีเดียว ดังนั้น การที่แบรนด์ให้ความสำคัญกับเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ดี หรือบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ไอเดียสร้างสรรค์ไม่สร้างขยะเพิ่ม เชื่อว่าได้ใจคนรุ่นใหม่อย่างแน่นนอน และนี่ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของการเปลี่ยนโลก เป็น Butterfly effect ที่กระเพื่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับมหภาคได้อย่างไม่น่าเชื่อก็เป็นได้


  •  
  •  
  •  
  •  
  •