SCG พลิกองค์กรเป็นยักษ์ใหญ่ ขยับเร็ว! ผนึกบริษัทเทคฯ เร่งสปีด R&D จาก 2 ปี เหลือ 5 เดือน

  • 197
  •  
  •  
  •  
  •  

SCG-cover1
Photo Credit : Quality Stock Arts / Shutterstock.com

ความเป็นองค์กรใหญ่ เปรียบเสมือนยักษ์ใหญ่ ดูภายนอกมีความแข็งแกร่ง และมีสรรพกำลังความพร้อมรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร, เงินทุน, การวิจัยและพัฒนา, การผลิต การจัดจำหน่าย ไปจนถึงการตลาด

แต่ในยุคนี้ วัฏจักรการหมุนของโลกธุรกิจเปลี่ยนเร็วขึ้น เกิดสตาร์ทอัพมากมาย ที่กำลังคนไม่ถึง 10 คน แต่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้เร็ว ในต้นทุนต่ำกว่าองค์กรใหญ่ ทำให้หลายๆ ครั้งจะเห็นองค์กรใหญ่ที่มีอาวุธเต็มมือ กลับก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง หรือขยับตัวได้ช้า เพราะติดอยู่กับขนาดองค์กร และบุคลากรที่ยังยึดติดอยู่กับทักษะ – การทำงานรูปแบบเดิม และที่สำคัญคือ Mindset ของระดับบริหารและพนักงาน จนในที่สุดแล้วองค์กรนั้นๆ ต้องเจอกับ “Technology Disruption” ที่ในบางครั้งกลายเป็นความท้าทายใหญ่ และบางคราก็เป็นโอกาสธุรกิจได้เช่นกัน !!

อย่างไรก็ตาม ยังมีองค์กรใหญ่หลายแห่ง ตระหนักต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และเร่งปรับตัว เพื่อเปลี่ยนจาก “ยักษ์ใหญ่ ขยับช้า” เป็น “ยักษ์ใหญ่ ขยับเร็ว”

“Open Collaboration” กลยุทธ์เปิดกว้างจับมือสตาร์ทอัพ-บริษัทเทคฯ

หนึ่งในยักษ์ใหญ่ ที่ต้องการขยับเร็ว คือ “SCG” องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย “นวัตกรรม” ใน 3 กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจเคมีภัณฑ์, ธุรกิจซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เจอกับคลื่น “Technology Disruption” เมื่อ 4 ปีที่แล้ว กับ “กลุ่มธุรกิจกระดาษ” หรือชื่อเดิมคือ “SCG Paper” ต้องเจอกับยุคที่คนใช้กระดาษน้อยลง และหันไปใช้อุปกรณ์ดิจิทัลมากขึ้น

ทำให้ในที่สุด “SCG” ตัดสินใจเปลี่ยน Business Model กลุ่มธุรกิจกระดาษ เป็น “SCG Packaging” เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์หลากหลาย รองรับ Demand ทั้งในประเทศ และอาเซียน นี่คือ การปรับตัวใหญ่รอบแรก

Resize SCG - Fest
Photo Credit : Fest

 

กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวใหญ่ของ “SCG” ในการเตรียมความพร้อมรับ “Technology Disruption” ด้วยการใช้กลยุทธ์ “Open Collaboration” คือ การเปิดโอกาสให้กับทั้ง “SCG” และ สตาร์ทอัพ – องค์กรชั้นนำทั่วโลก มาร่วมเรียนรู้ และพัฒนาเทคโนโลยี กระบวนการ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ร่วมกัน

เริ่มจากเมื่อปีที่แล้ว ได้จัดตั้งบริษัทรูปแบบ Corporate Venture Capital (CVC) ในชื่อ “AddVentures” ที่จะเข้าเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพที่พัฒนานวัตกรรม ทั้งในไทยและระดับโลก โดยในช่วง 3 – 5 ปีนี้ จัดสรรงบลงทุนไว้ที่ 2,000 – 3,000 ล้านบาท

และล่าสุดเป็นพันธมิตรกับ “Digital Ventures” บริษัทเทคโนโลยีและนวัตกรรมในเครือ SCB เปิดตัว “B2P” (Blockchain Solution for Procure-to-Pay) แพลตฟอร์มจัดซื้อจัดจ้างกับคู่ค้าอย่างครบวงจรบน R3 Blockchain ซึ่งเดิมทีมีขั้นตอนการตรวจสอบที่ต้องใช้เวลา แรงงานคน เอกสารที่เกี่ยวข้องมากมาย รวมถึงเชื้อเพลิงในการขนส่งเอกสารต้นฉบับ และสำเนาไปมา ทั้งฝั่งผู้ซื้อ – ผู้ขาย – คู่ค้าทางธุรกิจอื่นๆ

SCG มองว่าเทคโนโลยี B2P จะช่วยให้ Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ได้รับความสะดวก ปลอดภัย และโปร่งใสของกระบวนการ โดยช่วงทดลองนำร่องใช้กับเครือข่าย Supplier ของ SCG ในกลุ่มเคมีภัณฑ์ 10 รายเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และจะขยายผลครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ

“SCG โดน Technology Disruption ครั้งแรกตอนที่อุตสาหกรรมกระดาษเขียน มีความต้องการลดลงอย่างมาก ทำให้เราต้องปรับธุรกิจกระดาษเป็น SCG Packaging และจากครั้งนั้นเรามีความกระตือรือร้นมุ่งพัฒนาตัวเองให้เร็วขึ้น จากเมื่อก่อนเราทำ R&D อยู่แล้ว และยังคงคิดค้นและพัฒนาต่อเนื่อง ซึ่งในอดีต 1 นวัตกรรม ใช้เวลาอย่างเร็วสุด 14 เดือนและช้าสุด 24 เดือน

แต่ปัจจุบันเราอยากทำให้กระบวนการ R&D เร็วขึ้น ดังนั้นเราต้องเปิดบ้านเราเอง ให้คนที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาร่วมกันพัฒนา หรือเรียกว่า “Open Collaboration” เพื่อให้มีสินค้าและบริการเร็วขึ้น และสร้าง Business Model ใหม่ เพราะเทคโนโลยีหลายด้าน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล มีส่วนสำคัญต่อการใช้ชีวิต อย่างการจับมือกับ “Digital Ventures” ใช้เวลา 5 เดือนในการพัฒนาได้ออกมาเป็นเทคโนโลยี B2P” คุณยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารกลาง เอสซีจี เล่าถึงการปรับตัวรับ Technology Disruption

Resize SCG - SCB_02

 

ทางด้าน คุณอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ขยายความเพิ่มเติมว่า Blockchain เป็นเทคโนโลยีใหม่มาก และทุกคนมีความเชื่อว่า Blockchain ในอนาคตอันใกล้นี้ จะเข้ามา Disrupt หลายๆ ธุรกิจ ซึ่ง Digital Ventures มีโอกาสได้เอาเทคโนโลยี B2P ถึงแม้ใหม่มากก็ตาม มาศึกษา ทดลองใช้งานจริง และพัฒนา

“เทคโนโลยี B2P ครอบคลุมทุกขั้นตอนตั้งแต่การสั่งซื้อสินค้า จนถึงขั้นตอนชำระค่าสินค้าผ่านธนาคาร ดังนั้นถ้า Supplier อยากได้สภาพคล่องจากธนาคาร ในอดีตต้องเอา Invoice มาที่ธนาคาร แต่สำหรับระบบใหม่นี้ ทำให้ธนาคารเห็นข้อมูลการค้าตั้งแต่ต้นจนจบ สามารถนำข้อมูลของลูกค้า ซึ่งจะเห็นข้อมูลเท่าที่ SCG อนุญาต นำไปประกอบการพิจารณาสินเชื่อ หรือนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และบริการทางการเงินต่างๆ ให้กับ Supplier รายนั้นๆ”

Resize SCG - SCB_01

 

ปรับโมเดลการทำงานเป็น “Agility”

นอกจากจับมือสตาร์ทอัพ และบริษัทเทคโนโลยีแล้ว กระบวนการทำงานภายในองค์กร “SCG” ปรับเป็นรูปแบบ “Agility” เป็นวิธีการทำงานที่เริ่มต้นจากวงการสตาร์ทอัพ และไอทีมาก่อน ที่เน้นกระบวนการทำงานคล่องตัว และสามารถปรับเปลี่ยน หรือปรับปรุงได้รวดเร็ว โดยเมื่อพัฒนาสินค้า หรือเทคโนโลยีเสร็จแล้ว จะทำไปทดลองใช้จริง ในระหว่างนี้จะดูการตอบรับจากผู้ใช้งาน พร้อมๆ ไปกับเรียนรู้ข้อผิดพลาด หรือสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไข และศักยภาพของเทคโนโลยีนั้นๆ ว่าสามารถต่อยอดได้อย่างไร เพื่อนำมาพัฒนา และปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

แตกต่างจากกระบวนการทำงานในอดีต ที่ใช้เวลาการทำ R&D ไม่ต่ำกว่า 1 – 2 ปี จนได้ออกมาเป็นสินค้า จากนั้นเปิดตัวเข้าสู่ตลาด และใช้เวลา 3 – 6 เดือนเก็บผลสำรวจการใช้งาน แล้วจึงวิเคราะห์ถึงปัญหา หรือสิ่งที่ต้องปรับปรุง ทำให้สินค้านั้นๆ ไม่สามารถตอบโจทย์ Customer Insight ได้อย่างทันที สวนทางกับความต้องการ หรือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็ว

ทำให้ปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่ง ดึงแนวคิด “Agility” มาประยุกต์ใช้ในการคิดค้น และพัฒนาสินค้า-บริการ เหมือนเช่น “SCG” ปรับแนวคิดการทำงานสู่ยุคใหม่

คุณยุทธนา เล่าว่า “การทำงานสมัยก่อน เปรียบเหมือนการสร้างตึก ที่ต้องสร้างตั้งแต่ฐานราก ไปจนถึงตกแต่งเสร็จ พร้อมเข้าใช้งาน แต่ปัจจุบันทำในรูปแบบ Agile ทำให้ในระหว่างใช้เทคโนโลยี ก็สามารถเรียนรู้ว่าเทคโนโลยีนี้มีศักยภาพอย่างไร มีความยาก หรือความซับซ้อนแค่ไหน สิ่งไหนต้องพัฒนาปรับปรุง”

Resize SCG - SCB_03


  • 197
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ