Digital Disruption เป็นเหตุผลหนึ่งให้ผู้ประกอบการ SMEs ในวันนี้ ต้องปรับตัวอย่างมาก หากต้องการไปต่อ แบบไม่ตกขบวน การจะก้าวไปสู่ตลาดอนาคตได้ จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ใหม่ๆ เป็นใบเบิกทาง “บริษัท วันไทย ฟู้ดส์ จำกัด” ผู้ผลิตและจำหน่ายครีมเทียม กะทิผง เป็นตัวอย่างหนึ่งขององค์กรที่ไม่ยอมหยุดเรียนรู้ เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง โดยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการเสริมความรู้แก่ผู้ประกอบการผ่านระบบนิเวศน์การสร้างนวัตกรรม โครงการ “NIA SCB Innovation Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 3 Disruptive Business Innovation” ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้องค์กรเห็นเป้าหมายในอนาคตของตัวเองชัดเจนขึ้น
แม้จะเป็นบริษัทน้องใหม่ที่เดินทางมาเพียง 9 ปี แต่ “วันไทย ฟู้ดส์” ก็มีทิศทางการเติบโตที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่สร้างการเติบโตจากลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม (B2B) เป็นหลัก ผ่านความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีสเปรย์ดราย (Spray Drayer) มาสู่การแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ด้วยการเจาะกลุ่มผู้บริโภค (B2C) ปัจจุบันมากขึ้น
คุณธิดารัตน์ แก้วปลั่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน เล่าถึงการเติบโตของ “วันไทย ฟู้ดส์” ว่า ปัจจุบันสามารถผลักดันครีมเทียม ตรา ดีวัน (d – ONE) และกะทิผง ตรา ปรุง (Prung) ให้เป็นที่รู้จักในตลาดได้มากขึ้น ในปี 2560 ที่ผ่านมา โรงงานยังสามารถขยายการผลิตได้มากกว่า 16,000 ตันต่อปี นำไปสู่แนวทางนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
อย่างในปี 2563 ที่ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ในกลุ่มวิปปิ้งครีม (Whipping Cream) เป็นครั้งแรก ก่อนจะมาถึงผลิตภัณฑ์ที่เริ่มต้นจากการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง และก้าวให้ทันโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ อย่างไฟเบอร์ครีม ภายใต้แบรนด์ ฟิบิโอ (Fibio) ที่เริ่มต้นมาจากแนวคิดการผสานนวัตกรรมเข้าสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ
ในขณะเดียวกันก็เป็นความตั้งใจในการพาตัวเองฝ่ากระแส Digital Disruption โดยที่ฟิบิโอ (Fibio) เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน จนออกสู่ตลาดได้ จากการที่ “วันไทย ฟู้ดส์” ปรับตัวเข้าหาองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสครั้งใหม่ให้ตัวเอง
“Digital Disruption มีผลต่อการทำธุรกิจของเราค่อนข้างมาก และเห็นผลได้ชัดเจนในช่วงโควิด – 19 ที่ผ่านมา เดิมทีเราทำธุรกิจแบบ B2B เป็นหลัก เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ก็พบว่ากลยุทธ์แบบเดิมอาจไม่เพียงพออีกต่อไป จึงได้เริ่มปรับการขาย มาเป็น B2C มากขึ้น
วันไทย ฟู้ดส์ ก็ยังถือเป็นน้องใหม่มากในตลาด B2C ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะมาช่วยในการทำตลาดด้านนี้มากขึ้น อย่างองค์ความรู้เรื่องดิจิทัลที่เรายังขาด รวมถึงการปรับมุมคิดเพื่อสร้างสินค้านวัตกรรม ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากขึ้น”
พบองค์ความรู้ เพื่อทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ขับเคลื่อนผ่านนวัตกรรม
คุณธิดารัตน์ เล่าว่า การที่องค์กรเห็นข้อจำกัดของตัวเอง นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เนื่องจากทำให้กล้าที่จะก้าวออกไปหาองค์ความรู้ใหม่เข้ามาพัฒนาและเสริมศักยภาพเดิมได้
และการได้รู้จักกับ โครงการ “NIA SCB Innovation Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 3 Disruptive Business Innovation” จากความร่วมมือของ SCB SME และสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ต้องการเสริมความรู้เทรนด์การทำธุรกิจในอนาคต และเพิ่มโอกาสให้ SMEs ก้าวให้ทัน Disruption ก็เป็นจุดเปลี่ยนที่ดีสำหรับองค์กร
“เราสนใจโครงการ NIA -SCB IBE รุ่นที่ 3 เนื่องจากเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้สามารถสร้าง และนำนวัตกรรม มาพัฒนาธุรกิจได้ ไม่เพียงนวัตกรรมในการผลิตสินค้าเท่านั้น แต่รวมถึงนวัตกรรมด้านการขาย หรือช่องทางการจัดจำหน่ายที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์
ส่วนหนึ่งยังเล็งเห็นด้วยว่า สิ่งนี้ตอบโจทย์กับที่เราโดน Disruption อยู่พอดี เลยคิดว่าจะได้รับองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม”
สำหรับโครงการ NIA -SCB IBE รุ่นที่ 3 มีความน่าสนใจอยู่ที่การสร้างระบบนิเวศการสร้างนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้ SMEs สามารถออกแบบโมเดลธุรกิจ รวมถึงพัฒนาธุรกิจใหม่ให้เติบโตขึ้นได้
โดยเริ่มต้นจากการให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้กำหนดขอบข่ายปัญหาธุรกิจ ก่อนหาแนวทางตัววัดผลสำเร็จตามเป้าหมาย และทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าธุรกิจที่ทำอยู่นั้น มอบคุณค่าให้กลุ่มลูกค้าแท้จริงไหม เป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงหรือไม่ มากเกินความต้องการของลูกค้าหรือเปล่า ก่อนจะวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ต้องแก้ไขเพื่อลดต้นทุน สร้างคุณค่าใหม่ วิธีเพิ่มยอดขายและขยายตลาดให้ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ประโยชน์หนึ่งที่ผู้ประกอบการได้รับจากโครงการนี้ คือ การได้ศึกษาระบบ และกระบวนการทำงานในปัจจุบันขององค์กรของตัวเองอย่างแท้จริง เพื่อค้นหาไอเดียใหม่ในการปรับปรุง ผ่านกระบวนการปลดล็อกอคติ (Bias) หลุดจากความสำเร็จเดิมๆ ก่อนสรุปผลและการสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ
ทั้งนี้รูปแบบหลักสูตรจะเน้นไปที่ 3 แนวทาง เพื่อให้สามารถต่อยอดธุรกิจได้ในอนาคต ได้แก่ ความรู้ (Knowledge) ที่ใช้ “นวัตกรรม” มาเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ, การสร้างโอกาสทางธุรกิจ (Business Opportunities) โดยให้ผู้เข้าอบรมได้ทำการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) กับพันธมิตร และสุดท้ายคือการลงมือทำเวิร์คชอป
องค์ความรู้ใหม่ นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ และโอกาสครั้งใหม่
ในกรณีของ บริษัท วันไทย ฟู้ดส์ จำกัด คุณธิดารัตน์ ให้ข้อมูลว่า ความสำเร็จของไฟเบอร์ครีม แบรนด์ฟิบิโอ (Fibio) ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการได้รับองค์ความรู้ที่เป็นรูปธรรมขึ้นจาก NIA -SCB IBE รุ่นที่ 3 เช่นกัน เนื่องจากกระบวนการขัดเกลาความคิด ได้นำไปสู่การต่อยอดไอเดีย
นอกจากนี้การที่โครงการมีที่ปรึกษา (Mentor) ผู้มีประสบการณ์ด้านการจัดการและรับมือกับปัญหา คอยให้คำปรึกษา ก็ทำให้ผู้ประกอบการในโครงการ เห็นรอยทางความสำเร็จได้มากขึ้น
“มีหลายองค์ความรู้ที่เราเพิ่งมีโอกาสได้รับผ่านผ่านโครงการนี้ และพบว่ามีคุณค่าอย่างมาก ยกตัวอย่างการมีทำพิชชิ่งโปรเจ็ค (Pitching Project) และทำโปรโตไทป์ (Prototype) ขึ้นมาทดสอบไอเดีย รวมถึงการหาโซลูชั่น (Solution) ต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าสร้างจุดขายให้กับสินค้าของเราให้ได้มากขึ้น
จริงๆ การสร้างบิซิเนส โมเดล (Business Model) ผ่านโครงการนี้ เป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้นำโปรโตไทป์ (Prototype) มาทำแบรนด์ฟิบิโอ (Fibio) ของบริษัทด้วย เนื่องจากเรามองเห็นโจทย์ความต้องการใหม่ของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มสุขภาพมากขึ้น
และนอกจากไฟเบอร์ครีม แบรนด์ฟิบิโอ (Fibio) แล้ว ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ครีมเทียมแพลนเบส (Plant Based) ที่ตอบโจทย์กลุ่มสุขภาพ และครีมเทียมโฟมมิ่ง คาปูชิโน (Foaming Cappuccino) ที่เป็นเจ้าแรกของตลาดในประเทศไทย ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 นี้ เราได้ต่อยอดจากองค์ความรู้ที่ได้รับจากโครงการเช่นกัน”
โครงการ “NIA SCB Innovation Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 3 Disruptive Business Innovation” ยังเรียกได้ว่ามีส่วนผลักดันให้ วันไทย ฟู้ดส์ ก้าวต่อไปภายใต้คลื่นลมของ Digital Disruption ได้อย่างดีด้วย เนื่องจากหลายแนวทางจากการโครงการนี้ เสมือนการช่วยเสริมภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งขึ้นให้แก่ผู้ประกอบการ
อย่างในแต่ละสัปดาห์ ที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม อาทิ การชี้ให้เห็นถึงเทรนด์ธุรกิจอนาคต, ทักษะและ Mindset ของผู้บริหาร, การพูดในที่สาธารณะ, การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของไอเดียธุรกิจ, การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยทรานส์ฟอร์มธุรกิจ, การออกแบบโมเดลธุรกิจในยุคดิสรัปชั่น, การสร้างแบรนด์ การทำ UX UI & MVP รวมถึงการทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง เป็นต้น
“ตอนนี้เราสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้มากขึ้น ผ่านการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงยังมีแนวทางการทำธุรกิจที่ชัดเจน อย่างการวางแผนที่เป็นระบบเรื่องแผนการตลาด เช่นว่าไตรมาสไหนจะวางสินค้าใดให้สอดคล้องกับงานแสดงสินค้าใหญ่ประจำปี รวมถึงงานย่อยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
นอกจากนี้แล้ว การที่ได้ร่วมโครงการ ยังช่วยเปิดโลกกว้างให้เราได้มากขึ้น ยกตัวอย่างทีม R & D ของเราที่มีมุมมองที่เปิดกว้างขึ้น และสนุกที่จะเดินตามโจทย์และเทรนด์ใหม่ๆ มากขึ้น อย่างการมองตลาดเรื่องเมตาเวิร์ส หรือแต่การเดินหน้าเจาะตลาด B2C มากขึ้น”
คุณธิดารัตน์ กล่าวด้วยว่า เมื่อองค์ความรู้ในการทำธุรกิจแข็งแกร่งขึ้น ก็มีผลมีผลทำให้เป้าหมายในการทำธุรกิจขององค์กรชัดเจนขึ้นด้วย
“เป้าหมายระยะสั้นของเรา คือการสามารถเข้าไปในตลาด ทั้ง B2B และ B2C ได้มากขึ้น แค่มากขึ้นจากเดิม 70% ก็คือว่าประสบความสำเร็จแล้ว สำหรับน้องใหม่ในตลาดอย่าง วันไทย ฟู้ดส์ ยิ่งหากสามารถผลิตสินค้าให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศได้ ก็เท่ากับว่าสินค้าของเราได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขึ้น
ส่วนเป้าหมายระยะยาว ก็อยากจะสร้างความมั่นคงให้บริษัทมากขึ้น รวมถึงหากวันหนึ่ง วันไทย ฟู้ดส์ สามารถเดินหน้าเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ ก็อยากจะไปให้ถึงจุดนั้นเช่นกัน”
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน องค์ความรู้ที่เป็นรูปธรรมจาก โครงการ “NIA SCB Innovation Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 3 Disruptive Business Innovation” ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญหนึ่ง ที่ทำให้หลายองค์กรค้นพบตัวเองมากขึ้นด้วย หลายองค์กรข้ามผ่านวิกฤตได้อย่างดี ในขณะที่หลายองค์กรอย่าง บริษัท วันไทย ฟู้ดส์ จำกัด ก็พบแนวทางที่ชัดเจนขึ้น เพื่อรับมือกับ Digital Disruption
คุณค่าขององค์ความรู้ที่เป็นรูปธรรม จึงส่งผลอย่างมากต่อทั้งการเติบโตและเป้าหมายที่ชัดเจน
ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ NIA -SCB IBE รุ่นต่อไปได้ที่ https://www.scb.co.th/th/sme-banking/sme-academy.html