[ข่าวประชาสัมพันธ์]
ธนาคารไทยพาณิชย์ พลิกโมเดลธุรกิจเอสเอ็มอี ต่อยอดวิสัยทัศน์กลับหัวตีลังกา (Going Upside Down) พร้อมเป็นทุกอย่างเพื่อเอสเอ็มอี ประกาศกลยุทธ์ Digital Partnership พัฒนาเครือข่ายพันธมิตรทางด้านดิจิทัลกว่า 50 องค์กร ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจต่างๆ อย่างกว้างขวาง เพื่อพลิกโฉมผู้ประกอบเอสเอ็มอีสู่ยุค 4.0 และช่วยตอบโจทย์ทางธุรกิจในทุกมิติ พร้อมลุยขยายฐานลูกค้าเอสเอ็มอี เดินหน้าเปิด Business Center ศูนย์รวมทุกคำตอบสำหรับผู้ประกอบการ หนึ่งในฟันเฟืองการร่วมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) หนุนเอสเอ็มอีไทยเติบโตเต็มศักยภาพอย่างยั่งยืน มั่นใจปีนี้สินเชื่อเอสเอ็มอีขยายตัว 7%
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของกระแสดิจิทัลส่งผลให้บริบทของโลกธุรกิจการค้าพลิกโฉมไปจากอดีต ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจึงไม่สามารถนิ่งเฉยแต่จำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ธนาคารไทยพาณิชย์มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เอสเอ็มอี Transform ตัวเองเพื่อพลิกโฉมสู่การเป็นเอสเอ็มอี 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ โดยวางกลยุทธ์ “Digital Partnership” เป็นแนวทางหลักในการดำเนินธุรกิจในปี 2561 เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีลูกค้าเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ยังต้องการเสริมความรู้ทางด้านดิจิทัล และยังนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในธุรกิจได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นภายใต้กลยุทธ์ Digital Partnership ธนาคารไทยพาณิชย์จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างลูกค้าเอสเอ็มอี กับสตาร์ทอัพผู้ให้บริการด้านต่างๆ ที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และระบบออนไลน์เป็นเครื่องมือในการบริการลูกค้า เพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจหรือแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการที่มีอยู่ (pain point) ด้วยต้นทุนที่ถูกลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มช่องทางการขายสินค้าบนระบบดิจิทัลที่จะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพลดขั้นตอนและความยุ่งยากทำให้สินค้าถึงมือผู้รับได้อย่างรวดเร็ว องค์ประกอบเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มยอดขายให้กับเอสเอ็มอีต่อไป ซึ่งขณะนี้สามารถขยายเครือข่ายพันธมิตรทางด้านดิจิทัลแล้วจำนวนกว่า 50 ราย ครอบคลุมทุกบริการที่สามารถเติมเต็มศักยภาพทางธุรกิจให้ลูกค้าเอสเอ็มอี อาทิ
- บริษัท เรดดี้ แพลนเน็ต จำกัด: ผู้ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูป การพัฒนาโมบายแอพลิเคชั่น และการตลาดออนไลน์ ช่วยให้เอสเอ็มอีมีหน้าร้านบนโลกดิจิทัลได้อย่างง่ายดาย พร้อมระบบที่ช่วยให้การจัดการหน้าร้านสะดวกและคล่องตัว โดยบริษัทมีประสบการณ์ในการให้บริการกับลูกค้ามาแล้วกว่า 17,000 ราย ซึ่งจะเป็นการช่วยเอสเอ็มอีขยายช่องทางการขายและมีหน้าร้านบนดิจิทัลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
- บริษัท ฟาสต์เวิร์ค เทคโนโลยี จำกัด: ศูนย์รวมฟรีแลนซ์ออนไลน์อันดับ 1 ของประเทศ ที่สามารถเชื่อมโยงฟรีแลนซ์จากทุกสาขาวิชาชีพกว่า 8,000 คน ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเลือกใช้บริการฟรีแลนซ์เพื่ออุดช่องว่างที่ตนเองไม่ถนัดด้วยค่าใช้จ่ายที่ลดลงแต่ได้ประสิทธิผลคุ้มค่า ซึ่งช่วยตอบสนองความต้องการได้ทุกรายละเอียดของธุรกิจอย่างครบวงจร
- บริษัท แอ็คเคาท์ติ้ง ทรานส์ฟอร์เมชั่นส์ จำกัด: ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม แอคเรโว ผู้ให้บริการทางด้านบัญชีบนระบบออนไลน์อย่างครบวงจร มีเครือข่ายสำนักบัญชีที่ได้รับการรับรองจากกรมสรรพากร อยู่บนแพลตฟอร์มมากถึง 18 สำนัก จำนวนกว่า 200 คน ช่วยให้เอสเอ็มอีมีระบบบัญชีที่ถูกต้อง รองรับการขยายธุรกิจในอนาคต และยังช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามสิทธิพึงได้ อีกทั้งมีต้นทุนที่ลดลงเนื่องจากไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานบัญชีประจำ
- บริษัท ซีแมนทิค ทัช จำกัด: ผู้ให้บริการระบบ E-commerce Web Application ที่มีชื่อว่า BentoWeb ระบบสำหรับช่วยผู้ประกอบการเปิดร้านเพื่อขายสินค้าหรือบริการบนอินเทอร์เน็ตผ่านช่องทาง Electronics ต่างๆ และยังให้บริการเช่าพื้นที่ฝากร้านค้า บริการตกแต่งออกแบบเว็บไซต์หน้าร้าน บริการข้อมูลและเครื่องมือในการทำการตลาด และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการขายสินค้า ช่วยให้เอสเอ็มอีมีช่องทางในการขายที่หลากหลาย และสามารถกระตุ้นยอดขายไปสู่ลูกค้าเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- MyCloudFulfillment: ผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรสำหรับร้านขายของออนไลน์หรือการขายในหลายช่องทางที่ช่วยจัดการเก็บสินค้าคงคลัง การตรวจและแพ็คสินค้า และการส่งสินค้าไปสู่ช่องทางการขายทุกช่องทาง พร้อมมีระบบจัดการ Supplychain และจัดการคำสั่งซื้อ ช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถส่งของถึงมือลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดเวลารวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการต้นทุนในการจัดเก็บสินค้า
“การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจให้กับลูกค้าเอสเอ็มอี เป็นแนวทางที่ธนาคารฯ มุ่งมั่นทำให้เกิดขึ้นจริง เราเชื่อว่าหากเอสเอ็มอีสามารถค้าขายและเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในวันนี้ คือความร่วมมือจากพันธมิตรต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนลูกค้าเอสเอ็มอีของเราต่อไป รวมถึงการให้บริการของศูนย์ลูกค้าธุรกิจ (Business Center) ที่มุ่งสู่การเป็นศูนย์รวมความรู้และรวบรวมบริการที่จำเป็นสำหรับเอสเอ็มอีในยุคปัจจุบันทั้งด้านธุรกรรมทางการเงินและด้านอื่นๆ ครอบคลุมทั้ง การทำ Digital Marketing การสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจ การหาโซลูชั่นทางด้าน Logistics และการทำธุรกิจเฟรนไชส์ พร้อมทั้งมีกูรูที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจเป็นที่ปรึกษาให้กับเอสเอ็มอีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอดจนการจัดสัมมนา และ Workshop เป็นประจำทุกสัปดาห์เพื่ออัพเดทความรู้ และพัฒนาทักษะให้กับผู้ประกอบการ สิ่งเหล่านี้นับเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง Business Ecosystem ที่ธนาคารตั้งเป้าหมายไว้ โดยจะยังเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายพันธมิตรในมิติอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เราสามารถขยายฐานลูกค้าเอสเอ็มอีไปยังกลุ่มใหม่ๆ ได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าเอสเอ็มอีอยู่ในพอร์ตราว 5 แสนราย และธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมที่จะเปิดรับพันธมิตรใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเพื่อร่วมสร้างเครือข่ายเอสเอ็มอีที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป”
นางพิกุล กล่าวต่อว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้นจะเป็นแรงส่งต่อการขับเคลื่อนธุรกิจเอสเอ็มอีในระยะต่อไป ธนาคารฯ จึงประเมินแนวโน้มทางด้านธุรกิจสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีในปี 2018 ในทิศทางที่เป็นบวก โดยมั่นใจว่าสินเชื่อคงค้างปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 7% โดยมียอดสินเชื่อคงค้างจำนวน 3.6 แสนล้านบาท ขณะที่คุณภาพของลูกค้าเอสเอ็มอีมีการปรับตัวดีขึ้น โดยพบว่าอัตราการอนุมัติสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารสูงถึง 80%
[ข่าวประชาสัมพันธ์]