SCB กางแผนครึ่งปีหลัง ชวน SME ‘กลับหัวตีลังกา’ Transform สู่ธุรกิจ 4.0

  • 867
  •  
  •  
  •  
  •  

“เราอยากจะชวนลูกค้า SME ตีลังกาไปกับเราด้วย มา Upside Down ไปกับ ไทยพาณิชย์”

นี่คือข้อความที่ คุณพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด SME Segment ธนาคารไทยพาณิชย์ ย้ำกับเราอยู่หลายครั้ง หลังประกาศกลยุทธ์ครึ่งปีหลังของการจับมือร่วมกับพันธมิตรหนุน SME ให้เดินหน้า Transform ด้วยเทคโนโลยี ผลักดันธุรกิจ SME สู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องบนโลกธุรกิจในยุคดิจิทัล

SCB_1

โดยกลยุทธ์ดังกล่าวนี้สืบเนื่องมาจากการวางวิสัยทัศน์ “กลับหัวตีลังกา” (Going Upside Down) ที่ระบุว่า จะทำให้ไทยพาณิชย์ขับเคลื่อนให้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพขึ้นผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม จนเป็นที่มาของความฮือฮาว่าจะมีการลดสาขาจำนวนกว่า 1,200 สาขา เหลือแค่ 400 สาขา แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ ก็เป็นที่ชัดเจนว่า สาขาต่าง ๆ ไม่ได้ลดทอนสมรรถภาพของธนาคารเลย แต่กลายเป็นการติดอาวุธใหม่ให้กับไทยพาณิชย์ นั่นคือการร่วมเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับผู้ประกอบการ SME มากขึ้น

“จริง ๆ เราไม่ได้หายไปไหน ยังให้บริการลูกค้ามากขึ้น แต่จะเปลี่ยนมาเป็นศูนย์ธุรกิจ หรือ SCB Business Center ที่วางเป้าหมายไว้ว่าจะมี 200 ศูนย์ทั่วประเทศ เป็นศูนย์ธุรกิจที่จะคอยให้คำแนะนำแก่ SME ในการผลักดันธุรกิจให้เข้าใจเทคโนโลยีและก้าวทันพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว”

SCB_2

ปัจจุบัน SCB Business Center มีในกรุงเทพฯ 4 ที่ด้วยกันคือ สยามสแควร์ ซอย 1 เซ็นทรัลเวิร์ล เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ และสำเพ็ง ส่วนต่างจังหวัดมีที่ อ.หนองมน จ.ชลบุรี

เป้าหมายในการตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าวนี้ คุณพิกุลบอกว่าหลัก ๆ เลยคือการช่วยให้ลูกค้า SME ทำมาหากิน ช่วยผู้ประกอบการทำธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจของกลุ่ม SME ดีขึ้น เมื่อลูกค้าดีขึ้นก็มีเงินที่จะลงทุน มีความกล้าที่จะมากู้แบงก์ และที่สำคัญคือลดปริมาณหนี้เสีย NPL อีกด้วย

คุณพิกุลบอกว่าเรามองว่าด้วยความที่เราเป็นองค์กรใหญ่ แต่โลกในวันนี้มันเปลี่ยนและหมุนเร็วมาก พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคก็เปลี่ยนชนิดแบบวันต่อวันหรือแทบจะชั่วโมงต่อชั่วโมง ดังนั้นเราจะมาทำธุรกิจในรูปแบบเดิม ๆ ไม่ได้ แต่เราต้อง “ทำตัวให้เบา” ด้วยการชวนลูกค้ามาร่วม Lean ไปกับเรา มาทำตัวเบาไปกับเรา คือมาช่วยเขาในการลดต้นทุนโดยการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ

“การ Lean คือการทำตัวเราเองให้เบา โลกนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยเราแล้ว ซึ่งจริง ๆ ตอนนี้ไทยพาณิชย์เราอ้วนมากเนื่องจากไซส์ขององค์กรเรา แต่ด้วยเราอยากให้ช้างตัวนี้เต้นได้ ดังนั้นก่อนที่ช้างจะเต้นได้ก็ต้องทำตัวเองให้เบา นั่นก็คือการ Lean โดยการลดต้นทุนปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ๆ และ SME ก็เป็นหนึ่งในนั้นเหมือนกัน”

SCB_3

ดังนั้น ในครึ่งปีหลังนี้ หลักในการตีลังกาของ SCB SME ที่จะชวนผู้ประกอบการ SME ร่วมกลับหัวกลับหางผ่าน SCB Business Center ไปด้วยกัน จึงมีดังนี้

1. เป็นตัวกลางระหว่างผู้ประกอบการ SME และบริษัทเทคโนโลยี เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มยอดขาย ซึ่งปัจจุบันนี้ไทยพาณิชย์ได้เป็นพันธมิตรร่วมกับบริษัทน้อยใหญ่ด้านเทคโนโลยีกว่า 50 รายแล้ว เป็นการช่วยให้ลูกค้าตีลังกาตามยุทธศาสตร์หลัก ยกตัวอย่าง Partner เด่น ๆ ที่ร่วมเป็นพันธมิตรกัน ได้แก่ ReadyPlanet, Fastwork, AccRevo, BentoWeb, MyCloudFulfillment ฯลฯ

2. การทำ Branding ไทยพาณิชย์จะช่วย SME ทำ Branding เพราะถ้ามุ่งแต่ผลิตสินค้าแล้วขายเหมือนกับสินค้าทั่ว ๆ ไป ก็ไม่เกิดความแตกต่างในท้องตลาด แต่การทำ Branding จะช่วยให้สินค้าของเขามีความโดดเด่นและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคได้ง่าย ซึ่งในตัว SCB Business Center จะมีการสอนเรื่องการทำ Branding ด้วย

3. การขนส่ง (Logistics) เมื่อผลิตแล้วก็ขนส่ง แต่ปัญหาที่ SME พบคือจัดส่งช้า ไม่รวดเร็ว หรือเกิดความผิดพลาด จะด้วย Order ล้นหรือการจัดการไม่ดีก็แล้วแต่ โดยที่ SCB Business Center ก็จะให้คำแนะนำเรื่องระบบการขนส่งรวมทั้งแนะนำ Partner ที่ดีให้ด้วย

4. การทำแฟรนไชส์ หากผู้ประกอบการอยากได้แฟรนไชส์จากเซเว่นฯ แฟมิลี่มาร์ท ตำมั่ว หรือกาแฟอเมซอนก็ดี ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้จะมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ให้ นอกจากนี้ ยังเชิญ Partner มาพูดให้ฟัง พร้อมกับบริการสินเชื่อ SME จากไทยพาณิชย์ เพียงแต่ต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ต้องเตรียมตัวอย่างไร หรือแม้แต่การสร้างแฟรนไชส์เป็นของตัวเอง ที่ศูนย์ฯ ก็มีสอนให้เหมือนกัน

5. การแปลงร่างพนักงาน จากเดิมที่เป็นพนักงานธนาคารหรือ Banker ไทยพาณิชย์ก็จะทำให้พนักงานกลายเป็น “เพื่อนคู่คิดทางธุรกิจ” ที่พร้อมจะยืนเคียงข้างกับ SME ไทยตลอดไป

Digital Ventures ผลักดัน SME

SCB_4

นอกเหนือจากแผนกลยุทธ์ผลักดัน SME ผ่าน SCB Business Center แล้ว ไทยพาณิชย์ยังมุ่งหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อธุรกิจ SME ด้วย คุณพิกุลบอกว่า ปีนี้เป็นปีที่ไทยพาณิชย์ลงทุนด้านเทคโนโลยีเยอะมาก และก็ได้ตั้งบริษัทที่เอาตัวเข้าไปใกล้ชิดเทคโนโลยี ได้แก่ Digital Ventures ซึ่งหนึ่งในการทดสอบของเราคือการพัฒนาแอปฯ “Chatuchak Guide”

นอกจากนี้ หลังจากที่ประสบความสำเร็จมากมายกับ SCB Easy App รอบแรก เน้นการบริการเพื่อบุคคลทั่วไป แต่ต่อไปนี้เราจะเริ่มมีบริการเพื่อเอื้อธุรกิจ SME มากขึ้นไปอีกระดับกับ SME Easy App รวมทั้งในอนาคตจะมีการสร้าง SCB Business Center ในรูปแบบที่ไปอยู่บนอากาศ เรียกว่า BusinessLinx ซึ่งรูปแบบจะไม่แตกต่างกันกับ SCB Business Center เลย ยังคงมี Mentors มีการให้ความรู้และคำปรึกษาเช่นเดิมเพียงแต่เป็น Platform บนอากาศ

ท้ายที่สุด คุณพิกุลกล่าวว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้นจะเป็นแรงส่งต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ SME ในระยะต่อไป ไทยพาณิชย์จึงประเมินแนวโน้มทางด้านธุรกิจสำหรับกลุ่ม SME ในปี 2018 ในทิศทางที่เป็นบวก โดยมั่นใจว่าสินเชื่อคงค้างปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 7% โดยมียอดสินเชื่อคงค้างจำนวน 3.6 แสนล้านบาท ขณะที่คุณภาพของลูกค้า SME มีการปรับตัวดีขึ้น โดยพบว่าอัตราการอนุมัติสินเชื่อ SME ของไทยพาณิชย์สูงถึง 80% ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

SCB_5

และนี่คือภาพรวมทั้งหมดของ กลยุทธ์ผลักดัน SCB SME ซึ่งมีการดึงทั้ง Partner และนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้มากมาย ซึ่งเราจะได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในครึ่งปีนับจากนี้


  • 867
  •  
  •  
  •  
  •