เปิดกลยุทธ์ “SCB 2025 – 2027” ปรับโครงสร้างใหญ่ มุ่งสู่ธนาคารแห่งอนาคต “AI-First Bank” พร้อมรับมือการแข่งขัน “Virtual Bank”

  • 19
  •  
  •  
  •  
  •  

SCB

หลังจาก ธนาคารไทยพาณิชย์” (SCB) ขับเคลื่อนองค์กรด้วยกลยุทธ์ “Digital Bank with Human Touch” และประกาศยุทธวิธี “AI-First Bank”  ถึงวันนี้ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์และยุทธวิถีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และเข้มข้นขึ้น! เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นธนาคารแห่งอนาคต พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมรับความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจ, หนี้ครัวเรือน และการมาของ Virtual Bank

นี่จึงเป็นที่มาของแผน SCB 3 ปีจากนี้ (2568 – 2570) ด้วยการปรับโครงสร้างการทำงานครั้งใหญ่ เพื่อมุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการบริหารทรัพยากรบุคคล และการลงทุนด้าน Core Banking, Data Platform และ AI

 

ความสำเร็จในรอบ 9 เดือนของปี 2567

ผลการดำเนินงานของธนาคารไทยพาณิชย์ตาม Digital Bank with Human Touch ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปีนี้

– กำไรสุทธิ 3.85 หมื่นล้านบาท เติบโต 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (yoy)

– รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโต 3.1% yoy

– รายได้จากธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งเติบโต 19% yoy

– อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นที่ระดับ 12.1% ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ (Domestic Systemically Important bank: D-SIBs)

– มีต้นทุนต่อรายได้ที่ 36.7% ต่ำที่สุดในระบบ D-SIBs

นอกจากนี้ ในเรื่องความยั่งยืนนั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ตอกย้ำบทบาทพันธมิตรในการพาลูกค้าทุกกลุ่มเร่งปรับตัวสู่สังคมคาร์บอนต่ำมากที่สุดในประเทศไทย ด้วยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนกว่า 1.34 แสนล้านบาท (ณ พ.ย. 2567) จากเป้าหมาย 1.5 แสนล้านบาทในปี 2568

SCB

SCB

จากผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 แสดงให้เห็นพัฒนาการทางด้านดิจิทัลแบงก์ ด้วย 5 ผลงานสำคัญ ได้แก่

1. รายได้จากช่องทางดิจิทัลต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นสู่ 15% จาก 7% ณ ปลายปี 2566 และในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นเป็น 25%

2. ใช้ AI ครอบคลุมมิติสำคัญของธนาคาร อาทิ การใช้ AI อนุมัติสินเชื่อ 100% และเพิ่มขีดความสามารถด้านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการแบบเฉพาะบุคคล (Hyper-personalization) รวมถึงการใช้ AI เสริมประสิทธิภาพให้กับพนักงานดูแลลูกค้าและบริการสาขา เป็นต้น

3. การเปลี่ยนกระบวนการจากระบบมือสู่อัตโนมัติได้มากกว่า 1,000 กระบวนการ

4. การเพิ่มเสถียรภาพให้แก่ SCB EASY ซึ่งสามารถลด Downtime จาก 4 ช.ม. ในปี 2566 เป็น 1 ช.ม. ในปีนี้

5.การวางรากฐานการเป็นธนาคารแห่งอนาคต ด้วยการลงทุนระบบหลักของธนาคาร (Core Bank) บนระบบ Cloud

ขณะที่ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ได้สร้างผลงานโดดเด่นเชิงประจักษ์อย่างมาก โดยรายได้การบริหารความมั่งคั่งเติบโต 19% yoy  ขณะที่มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการในส่วนของการลงทุน (Asset Under Advisory) เติบโต 11% สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่เติบโต 1.5%

นอกจากนี้ ธนาคารยังครองอันดับหนึ่งสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการประเภทอนุพันธ์แฝง (Structured Product) ครองอันดับหนึ่ง Wealth Lending และรักษาอันดับหนึ่งยอดประกันผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านธนาคาร (Bancassurance) ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 23%

SCB

 

จับตาความท้าทายใหญ่ประเทศไทย ภาคธนาคาร

คุณกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ฉายภาพความท้าทายใหญ่ของไทย และอุตสาหกรรมธนาคารในปี 2568 ประกอบด้วย

1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง โดยคาดการเติบโตของ GDP อยู่ที่ 2.4%

“GDP ประเทศไทย ค่อยๆ ลดเพดานการเติบโตจากกว่า 4% ลงมาอยู่ที่ 3% และพอเจอโควิด-19 ลงเหวเลย ขณะที่หลังผ่านโควิด-19 แม้จะฟื้นขึ้นมา แต่อยู่ในระดับไม่ถึง 3%

สำหรับ GDP ประเทศไทยปีนี้ คาดว่าอยู่ที่ 2.7% มาจากการแจกเงิน 10,000 บาท, การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และรัฐบาลเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตามในปี 2568 เชื่อว่า GDP จะลดลงมาอยู่ที่ 2.4% มาจากหลายปัจจัยทั้งภูมิรัฐศาสตร์โลก การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ คาดว่าจะมีผลกระทบทั้งกับเศรษฐกิจโลก และไทย เนื่องจากนโยบายการตั้งกำแพงภาษีจากจีน ทำให้สินค้าจีนต้องหาตลาดอื่น ซึ่งประเทศไทยคือหนึ่งในนั้น ส่งผลให้ SME ไทยและเศรษฐกิจไทยจะเหนื่อยเช่นกัน”

2. ระดับหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังสูง เพิ่มความท้าทายในธุรกิจสินเชื่อมากขึ้น

คุณกฤกษ์ แสดงมุมมองว่าในปี 2568 ความท้าทายของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยยังคงมีอยู่ แม้ว่ารัฐบาลจะแจกเงิน 10,000 บาทรอบสอง อาจช่วยให้ช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า มีชีวิตชีวามากขึ้น แต่เป็นระยะสั้น เพราะสุดท้ายปัญหาของไทย คือ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ในการสร้างรายได้และทำให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ขณะที่มาตรการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผลบวกกับภาคธนาคารและลูกค้า แต่ก็ไม่ได้ช่วยด้านโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น เพียงแต่เป็นการลดเพดานหนี้ให้กับคนที่เป็นหนี้เรื้องรัง ทว่าไม่ได้แก้ปัญหาด้านการสร้างรายได้ และอัตราดอกเบี้ยคาดว่าจะลดในช่วงกุมภาพันธ์เหลือ 2% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม แต่ไม่ได้หมายความว่าธนาคารจะมีศักยภาพในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยยังคงสูงอยู่

เพราะฉะนั้นในปี 2568 ยังคงมีความเปาะบางในกลุ่มลูกค้ารายย่อยพอสมควร อย่างไรก็ตามมีปัจจัยบวกเช่นกัน ทั้งรัฐบาลมีเสถียรภาพขึ้น และการเบิกจ่ายของภาครัฐที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น”  

3. เทรนด์ AI และกฎกติกาด้าน ESG ยังคงมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank)

คาดว่าจะมีการประกาศผู้ที่ได้ใบอนุญาต Virtual Bank อย่างเป็นทางการภายในไตรมาส 2 ของปี 2568 จะเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญในระบบการเงินของไทย

SCB

“การมาของ Virtual Bank จะทำให้มีผู้เข้าสู่สนามผู้ให้บริการทางการเงินมากขึ้น ซึ่ง Virtual Bank ทั่วโลกมี Cost to Income (ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเทียบกับรายได้รวม) อยู่ที่ 30% ขณะที่ปัจจุบันไทยพาณิชย์ มี Cost to Income 36.7% ลดลงจากเดิม ซึ่งอยู่ที่ 41%  

ด้วยความที่ Virtual Bank เป็นผู้เล่นรายใหม่ ต้องมีดอกเบี้ยถูก ทำโปรโมชั่นต่างๆ มานำเสนอลูกค้า ดังนั้นในช่วงที่เขากำลังทุ่มตลาด เราเตรียมเกาะกำบังตัวเองในการรักษาลูกค้า และพยายามกด Cost to Income ให้ใกล้เคียงกับ Virtual Bank เพราะฉะนั้นไทยพาณิชย์พร้อมที่จะแข่งกับ Virtual Bank ทุกเจ้า โดยเตรียมตัวให้เข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันที่ดี และส่งมอบประสบการณ์ให้กับลูกค้าที่ไม่เหมือนคนอื่น” 

SCB
คุณกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์

 

ปรับโครงสร้างใหม่ วางรากฐานดิจิทัลให้แข็งแกร่ง

หลังจากในช่วง 2 ปีกว่าที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับทิศทางธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch แต่นับจากนี้ไปในปี 2568 จะมุ่งสร้างการเติบโตธุรกิจและพัฒนากระบวนการภายใน (Scale & Operate) ให้เป็นธนาคารดิจิทัลที่เหนือกว่าทั้งเทคโนโลยีและบริการ เพื่อเป็นรากฐานไปสู่องค์กรยั่งยืนจากนี้ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับความท้าทายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยจะดำเนินการบน 3 แนวทางคือ

1. ปรับโครงสร้างการดูแลลูกค้า โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง โดยควบรวมช่องทางให้บริการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกันเพื่อมอบประสบการณ์ไร้รอยต่อให้เกิดขึ้นจริง ทั้งยังสร้างความคล่องตัวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม

2. วางรากฐานดิจิทัลให้แข็งแกร่ง เร่งเสริมความสามารถทางด้าน Digital และ AI ให้ครอบคลุมทั้งองค์กร และแบ่งทีมดิจิทัลเป็นสองส่วน

– ส่วนหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน AI & DATA Intelligence (Center of Excellence: COE) เป็นศูนย์กลางสนับสนุนการพัฒนาทางด้านดิจิทัลโดยเฉพาะ

– อีกส่วนหนึ่งจะถูกจัดลงสู่ทีมธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินของแต่ละกลุ่มธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มอย่างแท้จริง

3. เสริมศักยภาพในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ ภายใต้โจทย์ เร็ว ดี มีนวัตกรรม เพื่อให้รูปแบบการทำงานแบบใหม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เข้าถึงความต้องการลูกค้าอย่างแท้จริง และไม่หยุดที่จะพัฒนาเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบเฉพาะบุคคล (Hyper-personalization)

“โครงสร้างใหม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ ต้องการลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้การส่งมอบบริการไปสู่ลูกค้าไม่ต้องผ่านจำนวนคนที่มากเกินไป”

SCB

 

กลยุทธ์ “SCB2568 – 2570

นอกจากนี้ท่ามกลางสภาพเศษฐกิจและธุรกิจที่มีความท้าทายรอบด้าน และสร้างการเติบโตของกำไรอย่างยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ได้กำหนดกลยุทธ์ปี 2568 – 2570 ประกอบด้วย

1. Value Driven Customer Centric Proposition: มอบคุณค่าให้แก่ลูกค้า โดยมุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และให้บริการลูกค้าสอดคล้องกับมูลค่าทางเศรษฐกิจของลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น ลูกค้าที่มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงอย่างลูกค้ากลุ่ม Wealth และลูกค้า SME จะใช้คนให้บริการมากกว่าลูกค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจน้อยกว่าจะให้บริการผ่านดิจิทัล

2. Productivity Optimization: จากการลงทุนด้าน Core Banking ใหม่, เทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มผลิตภาพและการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

3. AI-First Bank: ลงทุนวางรากฐานให้องค์กรสามารถนำ AI มาใช้ทุกส่วนงาน ควบคู่กับการนำ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพพนักงาน กระบวนการทำงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ

ดังนั้นเพื่อต่อจิ๊กซอว์กลยุทธ์ 3 ปีจากนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในปี 2568 งบลงทุนหลักจะถูกนำไปใช้ ทั้งด้าน Core Banking, การพัฒนา Unified Data Platform เป็นการเก็บข้อมูลรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูล เช่น ทีมวิเคราะห์ข้อมูล สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เลย ถือเป็นอีกหนึ่งการลงทุนเตรียมตัวไปสู่ AI-First Bank อย่างสมบูรณ์แบบในอนาคต

รวมทั้งลงทุนพัฒนาบุคลากร เพื่อเตรียมตัวไปสู่ AI-First Bank, ลงทุน Cloud ตามนโยบายของ SCBX และลงทุนในธุรกิจ Wealth Management อีกหนึ่งธุรกิจที่ไทยพาณิชย์ให้ความสำคัญ เพื่อพัฒนาการบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบถ้วน ดีขึ้นกว่าเดิม

SCB

“ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจและธุรกิจที่มีความท้าทาย ธนาคารต้องเร่งเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันเพื่อสร้างการเติบโตของกำไรอย่างยั่งยืน ความสำเร็จที่เราเป็นในวันนี้อาจไม่เพียงพอต่อการเป็นผู้นำในวันข้างหน้า

ดังนั้น เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันในอนาคต ธนาคารไทยพาณิชย์จึงต้องเร่งพัฒนาเพื่อให้เรายังคงวิ่งไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วและเป็นผู้นำต่อไปได้  

โดยมีเป้าหมายในการนำยุทธวิธี AI-First Bank มาเป็นเครื่องยนต์หลักในการยกระดับธนาคารสู่ “ธนาคารแห่งอนาคต” ด้วยการนำ AI เข้ามาขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างสมบูรณ์ และมีลูกค้าเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงสร้างความพึงพอใจ แต่ต้องสามารถคาดการณ์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้าได้แบบรายบุคคล

รวมถึงการนำ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและเตรียมความพร้อมของบุคลากร และสร้างไทยพาณิชย์ให้เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่สร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้นคุณกฤษณ์ สรุปทิ้งท้าย

SCB

SCB
ทีมผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์

  • 19
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ