ในขณะที่ใครๆ ต่างมุ่งประเด็นว่าประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัย” (Aging Society)ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วน 10% ของประชากรทั้งประเทศ และอีก 3 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Aged Society) นั่นคือ ประชากรกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งประเทศ
และคาดการณ์ว่าปี 2574 ประเทศไทยขยับเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างเต็มที่” (Super-Aged Society) หมายความว่า ประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ
แต่ยังมีประชากรอีกกลุ่มที่มีฐานใหญ่ไม่น้อยกว่าไปกลุ่มผู้สูงวัย คือ วัยกลางคน อายุ 40 – 50 ปี หรือช่วงวัย Generation X คิดเป็นสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งประเทศ และในอนาคตวันข้างหน้าคนกลุ่มนี้ จะเข้าสู่วัยเกษียณ
ปัจจุบันผู้บริโภคกลุ่มวัยกลางคน ถูกเรียกว่าเป็น “Sandwich Generation” เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ถูกบีบรัดด้วยภาระต่างๆ รอบด้าน ทั้งการงาน – การเงิน – ครอบครัว จึงเปรียบเสมือน “Sandwich” ที่ประกอบด้วย 3 ชั้น ขนมปังชั้นแรก คือ ภาระในการรับผิดชอบ “พ่อแม่” – ตรงกลาง “ตัวเอง” และขนมปังอีกชั้น หมายถึง การดูแล “บุตร – คู่สมรส”
ทำความรู้จักประชากรกลุ่ม “Sandwich Generation”
ลักษณะเด่นของประชากรกลุ่ม “Sandwich Generation” ประกอบด้วย
– คนวัยทำงาน อายุ 40 – 50 ปี อยู่ในระดับ Middle Management
– คนที่มีครอบครัว มีภาระในการรับผิดชอบทั้ง “พ่อแม่” – “ตัวเอง” – “บุตร-คู่สมรส”
– แบกรับภาระการทำงาน และค่าใช้จ่ายครอบครัว
– ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน
– ใช้ “Social Network”
– ชื่นชอบการซื้อสินค้าผ่าน “E-Commerce”
– ทำธุรกรรมการเงินผ่าน Mobile Banking / Internet Banking
– แสวงหา “Health & Wealth Protection” เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับชีวิตวัยเกษียณ ทั้งการดูแลสุขภาพ – การเงิน – ที่พักอาศัย
– จัดสรรรายได้ส่วนหนึ่ง ไปลงทุนเพื่อสุขภาพ
– มีอำนาจการตัดสินใจซื้อสูง
จากลักษณะเด่นของประชากรวัยกลางคน จะพบว่าหนึ่งใน Consumer Insight สำคัญของผู้บริโภคกลุ่มนี้ กังวลถึงอนาคตข้างหน้าทั้งต่อตัวเองในวันที่เข้าสู่วัยเกษียณว่าเมื่อถึงวันนั้น จะเป็นเช่นไร และต่อพ่อแม่ – บุตร ?! ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการเตรียมความพร้อมทั้งการดูแลสุขภาพ และสร้างความมั่นคงด้านการเงิน เพื่อหวังว่าในเมื่อถึงวันที่ตนเองเข้าสู่วัยเกษียณ จะเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพชีวิตดี และสมาชิกในครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดี
นอกจากคนวัยทำงาน มีครอบครัวแล้ว ด้วยความที่สังคมยุคนี้ “คนโสด” เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ เตรียมความพร้อมทั้งด้านสุขภาพ และการเงินในวัยเกษียณให้กับตัวเอง และพ่อแม่ด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ สองคำที่มีความหมายสำหรับผู้บริโภควัยกลางคน คือ “Health & Wealth” นั่นคือ การมีสุขภาพดี ซึ่งการมีสุขภาพดีในที่นี้ หมายความรวมถึงทั้งด้านกาย – ใจ – จิตวิญญาณ (Body – Soul – Spirit) และมีความ “มั่นคงทางการเงิน” เพื่อในที่สุดแล้วจะมี “Wellness” ในชีวิตตนเอง และครอบครัว
“Pint Point ของคนกลุ่มนี้ คือ ข้อจำกัดทางกาย และข้อจำกัดทางใจที่มีความเครียด บางคนประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ก็มีความเครียดสะสมเยอะมาก ทำให้แทบจะไม่มีเรียวแรงเหลืออยู่ เพราะฉะนั้นการทำให้ชีวิตก้าวต่อไปได้ ต้องแก้ที่ทัศนคติ เพื่อ Transform ตัวเอง
เริ่มตั้งแต่การออกกำลังกาย – มีดนตรี หรือศิลปะ หล่อเลี้ยงชีวิต – คิดดี และมีการวางแผนทางการเงินที่ดี ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ได้ จะตอบโจทย์ชีวิตทั้งด้าน Health & Wealth ซึ่งทุกวันนี้เราเริ่มเห็นว่าคนไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ และป้องกันการเกิดโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น โดยจัดสรรเงินก้อนหนึ่ง สำหรับใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยเฉพาะ เช่น เข้าคอร์สสุขภาพ” แพทย์หญิงกอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกุล, Chief Medical Officer บริษัท Premiere Home Healthcare ในเครือธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าสถานการณ์ที่ประชากรวัยกลางคนในประเทศไทย
นอกจากให้ความสำคัญกับ “Health & Wealth” แล้ว ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังมี “อำนาจตัดสินใจสูง” ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน นี่จึงทำให้ประชากรกลุ่ม “Sandwich Generation” กลายเป็นที่หมายปองของหลายแบรนด์ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ – การเงิน เปรียบดั่ง “Sandwich” ขนมปังประกบที่ “ส่วนกลาง” มีทั้งแฮม ชีส ไข่ และผัก เป็นส่วนอร่อยสุด ใครก็หมายปอง เหมือนกับ “ผู้บริโภควัยกลางคน” ที่แบรนด์ต่างๆ มองเห็นโอกาสธุรกิจมหาศาลจากผู้บริโภคกลุ่มนี้
ธุรกิจ “Healthcare” ปั้นสินค้า-บริการ เจาะคนวัยทำงานกลางคน
เวลานี้ธุรกิจ Healthcare โฟกัสผู้บริโภคกลุ่ม Sandwich Generation มากขึ้น เพราะตามที่กล่าวกรณีศึกษา คนกลุ่มนี้กังวลเรื่อง Health & Wealth ของตัวเอง และครอบครัว ขณะเดียวกันเป็นผู้บริโภคที่มี “อำนาจตัดสินใจซื้อ” ทั้งการเลือกแพ็คเกจตรวจสุขภาพ – รักษาพยาบาล ให้กับสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ตัวเอง – คู่สมรส และบุตร หรือแม้แต่การเกิดขึ้นของเซ็กเมนต์ใหม่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทย นั่นคือ โครงการที่พักอาศัยเพื่อสุขภาพ สำหรับเจาะกลุ่ม Sandwich Generation และกลุ่มผู้สูงวัยโดยเฉพาะ
หนึ่งในกรณีศึกษา ที่เจาะตลาด Sandwich Generation โดยเฉพาะ คือ “เครือธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป” ได้ต่อยอดจากธุรกิจโรงพยาบาล และธุรกิจ Home Healthcare ให้บริการดูแล-รักษาทางการแพทย์ถึงบ้าน ไปสู่การสร้างโครงการเมืองเพื่อวัยเกษียณ “Jin Wellbeing County” ที่รังสิต เปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว พบว่ากลุ่มลูกค้าที่เยี่ยมชมโครงการส่วนใหญ่ซื้อให้พ่อแม่อายุ 60 กว่าปีขึ้นไป
ขณะเดียวกันพบ Insight ผู้บริโภคกลุ่มอายุ 40 – 50 ปี ให้ความสนใจโครงการ Jin Wellbeing County เช่นกัน แต่ยังไม่ตัดสินใจซื้อ เพราะต้องการโครงการทำเลใกล้เมือง และระดับราคา 2 ล้านบาท
ในที่สุด “เครือธนบุรีฯ” ได้ตัดสินใจสร้างโครงการเมืองเพื่อสุขภาพแห่งสองในชื่อ “ธนบุรี เฮลท์ วิลเลจ ประชาอุทิศ” (Thonburi Health Village Pracha Uthit) เพื่อเป็น Community ที่พักอาศัยสำหรับคนรักสุขภาพ วางกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นกลุ่ม “Sandwich Generation” ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาพ สำหรับเตรียมไว้ให้กับตัวเองในวันที่เข้าสู่วัยเกษียณ และซื้อให้พ่อแม่อยู่อาศัย
โครงการ “ธนบุรี เฮลท์ วิลเลจ ประชาอุทิศ” บนที่ดินรวมทั้งหมด 8 ไร่ ตั้งอยู่บนถนนประชาอุทิศ 60/1 เริ่มพัฒนาเฟสแรก 4 ไร่ มูลค่าโครงการ 849 ล้านบาท ประกอบด้วย “คอนโดมิเนียม” 11 ชั้น จำนวน 2 อาคาร อาคารละ 206 ยูนิต แต่จะเปิดขายก่อน 1 อาคาร มี 2 ขนาดห้อง ได้แก่ 32 ตารางเมตร และ 64 ตารางเมตร ราคา 2 – 4 ล้านบาท หรือราคาเฉลี่ย 64,000 บาทต่อตารางเมตร และอีกหนึ่งอาคาร พัฒนาเป็น “ศูนย์สุขภาพ” ( Wellness Center ) สูง 8 ชั้น สำหรับให้บริการการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน เช่น สระว่ายน้ำระบบเกลือ พร้อมคลาสออกกำลังกายในน้ำ, ศูนย์ฟิตเนส และ Personal Trainer, บริการนวด-สปา, คลินิกฟื้นฟูสุขภาพ, ร้านค้าปลีก และกิจกรรมส่งเสริมความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ
โดยมีค่าส่วนกลาง 38 บาทต่อตารางเมตร และมี Service Charge 500 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับการดูแลระบบความปลอดภัย และการให้บริการด้านสุขภาพต่างๆ ในโครงการ
ขณะที่อีก 4 ไร่ที่จะพัฒนาในอนาคต วางแผนใช้ 2 ไร่สำหรับพัฒนา “โรงพยาบาลธนบุรี บูรณา” (Thonburi Burana Hospital) เป็นโรงพยาบาลเพื่อการฟื้นฟู มูลค่าการลงทุนกว่า 200 ล้านบาท และเครือธนบุรีมั่นใจว่าหลังจากโครงการที่ 2 แล้ว จะมีการพัฒนาโครงการที่ 3
กรณีศึกษา “ประกันผู้สูงวัย” สินค้าตอบแทนคุณที่ “คนซื้อไม่ได้ใช้ – คนใช้ไม่ได้ซื้อ”
หนึ่งในเซ็กเมนต์ลูกค้าที่กลุ่มธุรกิจประกันให้ความสำคัญ คือ กลุ่มผู้สูงวัย ที่ปัจจุบันค่ายต่างๆ พัฒนากรมธรรม์สำหรับผู้บริโภคกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ เช่น AIA ออกประกันชีวิตอาวุโสโอเค, เมืองไทยประกันชีวิต ออกกรมธรรม์เมืองไทยวัยเก๋า คุ้มทั่วไทย, อยุธยา อลิอันซ์ ออกประกันชีวิตสูงวัย สุขใจ ฯลฯ
รู้หรือไม่ว่า ทุกวันนี้การตัดสินใจทำประกันให้กับผู้สูงวัย คนที่ตัดสินใจคือ “ลูกหลาน” ทำประกันให้กับพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย ซึ่งสินค้า และการตลาดลักษณะนี้ ในมุมมองการตลาดเรียกว่า “สินค้าตอบแทนคุณ” หรือ “การตลาดแทนคุณ” โดยลูกหลานที่มีอำนาจการตัดสินใจ คือ กลุ่ม “Sandwich Generation” ที่ต้องการสร้างหลักประกันให้กับพ่อแม่ทั้งในยามป่วย – อุบัติเหตุ – เสียชีวิต
ถึงตรงนี้ คงพอเห็นภาพแล้วว่า ในปัจจุบันนอกจากกลุ่มผู้สูงวัยแล้ว ยังมีกลุ่ม “Sandwich Generation” เป็นประชากรที่มีศักยภาพสูง หากแบรนด์ใดพัฒนาสินค้า-บริการมาโฟกัสผู้บริโภคกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ก็จะได้ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่มี Demand มหาศาล และอำนาจการตัดสินใจสูง