ยังจำกันได้หรือไม่ กับแบรนด์ iMobile by Samart ที่ครั้งหนึ่งคือเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนของคนไทยที่มียอดขายสูงสุด จนกระทั้งเมื่อยุคของเทคโนโลยี Disruption หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มบริษัทสามารถ (Samart Corp.) ที่ไม่อาจหลีกหนีคลื่นกระแสของการ Disrupt ได้ โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์กลุ่ม Consumer หรือ iMobile
ความรุนแรงของการ Disruption ในครั้งนั้นส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อกลุ่มสามารถตัดสินใจยุติการดำเนินการของ iMobile จนเหลือไว้เพียงตำนานแล้วหันมาเดินหน้าธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะการหันมาทำธุรกิจในรูปแบบ Solution มากขึ้น เน้นชูกลยุทธ์ Unlimited Solutions เพื่อตอบโจทย์ Digital Transformation แก่ภาครัฐและเอกชน โดยตั้งเป้าหมายรายได้ 20,000 ล้านบาท
4 ธุรกิจหลักที่ทำให้สามารถมาถึงวันนี้
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น ชี้ว่า ปีที่ผ่านมาเป็นปีแห่งการพลิกฟื้นและวางรากฐานธุรกิจใหม่ของกลุ่มสามารถทั้ง 4 ธุรกิจ ทั้งธุรกิจด้าน Banking Solutions ในการทำระบบ Core Banking ให้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารเอสเอ็มอี (SME), โครงการระบบคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์สำเร็จรูป (Instant Computer Software) สำหรับธุรกิจหลักให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กว่า 5,000 ล้านบาท,โครงการสถานีไฟฟ้าย่อย (Substation) และการนำสายไฟลงดิน (Underground Cable Services) ของบริษัท เทด้า ที่มีงานในมือแล้วประมาณ 3,500 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจที่มีโอกาสสร้างรายได้ในปีนี้คือ Digital Trunk Network ที่ติดตั้งเครือข่ายครอบคลุมไปแล้วประมาณ 90% ซึ่งจะเป็นโอกาสในการจำหน่ายเครื่อง Digital Trunk Radio เพิ่มขึ้น ในส่วนธุรกิจ Cyber Security Solution ได้มีการเปิดตัวบริษัท ซีเคียวอินโฟ อย่างเป็นทางการ โดย IBM ให้เราเป็นพันธมิตรรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยในการนำเทคโนโลยี Watson AI มาใช้ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการให้บริการ กลุ่มสามารถจึงมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 40 – 50% โดยจะเป็นงานของ สายธุรกิจ ICT มากถึง 9,500 ล้านบาท
นอกจากนี้ “กลุ่มสามารถ” ยังมั่นใจว่าจะเป็นปีแห่งการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ภายใต้กลยุทธ์ Unlimited Solutions แม้ในปีนี้จะมีการคาดการณ์ว่าสภาพเศรษฐกิจอาจจะยังไม่สดใส ซึ่งปัจจัยบวกที่ทำให้มั่นใจมาจาก นโยบายภาครัฐที่จะก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) ด้วยการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
3 กลุ่มธุรกิจหลักสร้างรายได้มหาศาล
เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตและการแข่งขัน กลุ่มสามารถจึงเน้นไปที่ 5 รูปแบบหลัก ทั้ง e-Public Services, Critical Infrastructure, Cyber Security, Green Technology และ Human Transformation ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจของกลุ่มสามารถ และมีการเจาะธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ทั้งกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ (High Demand Solutions for Critical Infrastructure)
โดยสามารถจะนำธุรกิจด้าน Banking Solutions เข้าไปรุกตลาดไม่ว่าจะเป็นระบบ Core Banking, Payment Service, Data Center for Banks จากลูกค้าในกลุ่มเป้าหมาย อย่างธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารเอสเอ็มอี (SME) เป็นต้น โดยคาดว่ากลุ่มธุรกิจดังกล่าวจะมีมูลค่ารวมกว่า 3,000 – 4,000 ล้านบาท
ที่สำคัญกลุ่มสามารถยังได้ดำเนินการให้บริการด้าน Airport Solutions จากโครงการระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (CUTE) และระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS) ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ที่มีมูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านบาท
ขณะที่บริการด้าน Cyber Security กำลังไดรับความสนใจจากสถานการณ์ภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการที่ พรบ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 2562 จะบังคับใช้กับหน่วยงานต่างๆ ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายมีทั้งภาครัฐและเอกชนรวมมูลค่า 200-300 ล้านบาท และบนิการด้าน Network Solution ที่เกี่ยวข้องกับ Nationwide Fiber Optic, IP Telephony จากกระทรวงมหาดไทย, การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท,) และอื่นๆ รวมมูลค่า 2,000 ล้านบาท
กลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (High Recurring Rev. Projects) โดยในปีที่ผ่านมา กลุ่มสามารถมีรายได้ประจำอยู่ที่ 5,400 ล้านบาท คาดว่าในปี 2563 นี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 6,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการของสายธุรกิจ ICT ที่คาดว่าปีนี้ กลุ่มสามารถจะมีโอกาสเข้าร่วมประมูลอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เช่น โครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT), กลุ่มธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงิน เป็นต้น
กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง (High Future Growth Business) ซึ่งในปีที่ผ่านมา กลุ่มสามารถได้ลงทุนในธุรกิจสถานีไฟฟ้าย่อย (Substation) และการนำสายไฟลงดิน (Underground Cable) รวมถึงธุรกิจด้าน พลังงานแวงอาทิตย์ (Solar Energy)
เล็งส่งบริษัทในเครือเข้าตลาดหลักทรัพย์
ในปีนี้กลุ่มสามารถเตรียมนำบริษัทในเครือเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงไตรมาส 2 อย่าง บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) ที่ดำเนินการร่วมลงทุนในบริษัทอื่น (Holding company) โดยเน้นลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจการจราจรทางอากาศหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจราจรทางอากาศ โดย SAV จะเข้าถือสัดส่วนหุ้น 100% ในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS)
สำหรับธุรกิจของ CATS เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำและมีการเติบโตขึ้นทุกปี เป็นผลมาจากอัตราการเติบโตด้านการท่องเที่ยวของประเทศกัมพูชา และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ที่ส่งผลต่อจำนวนเที่ยวบินที่ขึ้นลงในสนามบินและเที่ยวบินที่บินผ่านน่านฟ้ากัมพูชาเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ในปี 2563 คาดว่าการประมูล 5G จะเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจด้านการสื่อสารคึกคักมากขึ้น และจะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภครวมถึงพลิกโฉมเศรษฐกิจ ช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก IoT ได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สาธารณสุข การขนส่ง ความมั่นคง ระบบการเงินรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่จะส่งผลต่อโอกาสทางธุรกิจของกลุ่มสามารถ
เมื่อมองจากภาพรวมทั้งหมด กลุ่มสามารถมั่นใจในศักยภาพของตลาดที่พัฒนาขึ้นด้วยการตั้งเป้ารายได้ในปี 2563 จะสามารถเติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 40% หรือราว 20,000 ล้านบาท โดยยังคงมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มรายได้ประจำและการเติบโตแบบยั่งยืน