ปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงถูกสหรัฐอเมริกาจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่ม PWL (กลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ) เนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์สูงทั้งด้านซอฟต์แวร์และสินค้า แต่ล่าสุด อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในไทยมีแนวโน้มลดลง กลายเป็นสัญญาณอันดีว่าสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอาจลดอันดับไทยออกจากกลุ่ม PWL และเกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจร่วมกับประเทศไทยมากขึ้น
โดย นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยว่า ปัจจุบันปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในไทยมีสัดส่วนราว 20% มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นที่น่าพอใจ จึงมีการตั้งเป้าหมายลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์เป็น 0% ภายในเดือนสิงหาคมนี้ จากความร่วมมือเพื่อปราบปรามการจำหน่ายและการใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของทุกภาคส่วน
ขณะเดียวกัน ก็มีสัญญาณอันดีจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐเกี่ยวกับอันดับของไทยที่ยังติดอยู่ในกลุ่ม PWL ว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ ค่อนข้างพึงพอใจในผลและการดำเนินงานปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจังของไทย รวมถึงการจัดโปรโมชั่นและการขายรูปแบบใหม่ๆ ของผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ เช่น การลดราคา หรือการเปิดให้เช่าใช้ เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายในราคาที่เข้าถึงได้ง่าย
“อยากให้ภาคธุรกิจเข้าใจถึงความสำคัญและตระหนักถึงผลที่ตามมาจากการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะไม่ใช่แค่ธุรกิจของท่านจะตกอยู่ในความเสี่ยง แต่หมายถึงการสร้างช่องโหว่และเพิ่มความเสี่ยงให้กับคู่ค้า ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ประเทศ จากตัวอย่างการโจมตีของมัลแวร์ WannaCry ซึ่งสร้างความเสียหายและทำให้เหยื่อต้องสูญเสียเงินค่าไถ่แลกกับข้อมูล ยิ่งแสดงให้เห็นว่าทุกภาคส่วนควรเลือกใช้แต่ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย”
นอกจากนี้ พ.ต.อ.วินัย วงษ์บุบผา รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ยังกล่าวว่า สถิติดำเนินคดีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคมของปีนี้ มีทั้งสิ้น 78 คดี พบคอมพิวเตอร์ละเมิดลิขสิทธิ์กว่า 881 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ประมาณ 130 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุด ได้แก่ ภาคการผลิต 39% , ตัวแทนจำหน่ายและค้าส่ง 27% , ออกแบบก่อสร้าง 20% , ธุรกิจการให้บริการ 12% และอื่นๆ 2% โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นพื้นที่ที่พบการใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มากที่สุด
ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา บก.ปอศ. และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย จึงเดินหน้าสานต่อโครงการรณรงค์ Safe Software Safe Nation ปีที่ 2 “ลดเสี่ยงภัยไซเบอร์ ร่วมมือใช้ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์” เพื่อรณรงค์ให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเลือกใช้งานซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์เพื่อปิดกั้นช่องทางไม่ปลอดภัยจากอาชญากรไซเบอร์.
Copyright © MarketingOops.com