หลังจากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 และ 900 MHz จบลง พร้อมกับ dtac ที่ไม่ได้คลื่นอะไรในมือเลย ทำให้เกิดคำถามขึ้นหนาหูว่า หรือ เทเลนอร์ จะถอนตัวจาก dtac ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ แล้วแบบนี้อนาคตของผู้ใช้งาน dtac กว่า 24.5 ล้านรายจะเป็นอย่างไร ครั้งนี้ ซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์กรุ๊ป พร้อมด้วย ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ dtac เลยจัด Round Table ชี้แจงแถลงไขถึงความเป็นไป และอนาคตของ dtac
1 เทเลนอร์เข้ามาลงทุนในเอเชียเป็นเวลา 15 ปี ทำให้เทเลนอร์มีความเป็นบริษัทเอเชีย โดยลงทุนใน dtac ตั้งแต่ปี 2000 ถึงปัจจุบันก้าวสู่ปีที่ 16 และยังมีประเทศอื่นๆ อีกเพียบ เช่น ปากีสถาน, อินเดีย, บังคลาเทศ, มาเลเซีย และล่าสุดคือ พม่า นับแล้วมีจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการบริษัทในเครือเทเลนอร์รวม 115 ล้านราย จากลูกค้าของเทเลนอร์ทั่วโลกรวม 200 ล้านราย เรียกว่าลูกค้าเกินกว่า 50% อยู่ในเอเชีย
2 ซิคเว่ บอกว่า การที่มีประสบการณ์ทำงานเอเชีย เช่น ปากีสถาน และไทยเป็นเวลาหลายปี ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เพราะคนไทยใช้มือถือเฉลี่ยวันละ 6-8 ชั่วโมง มากที่สุดในโลก ทำให้มีความรู้นำไปพัฒนาตลาดในประเทศอื่นๆ รวมถึงในยุโรปด้วย และถ้าดูถึงสัดส่วนรายได้แล้ว dtac สร้างรายได้ให้กับเทเลนอร์กรุ๊ป คิดเป็น 14.4% อยู่ในอันดับต้นๆ ดังนั้นถามว่า เทเลนอร์จะถอนตัวจากประเทศไทยหรือไม่ คำตอบแน่นอนชัดเจนว่า “ไม่”
3 ถ้าจะขอเหตุผลที่เป็นรูปธรรม เทเลนอร์มี 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1)เทเลนอร์ มีผู้ถือหุ้นคือ รัฐบาลนอร์เวย์ ซึ่งมีวิสัยทัศน์แบบ Long – Term Investor มองการลงทุนในระยะยาว 2) เทเลนอร์มีความเข้าใจธุรกิจโทรคมนาคม เรียกว่ามีขึ้นมีลงเป็นเรื่องปกติ จะพิจารณาเฉพาะช่วงขาขึ้น หรือช่วงขาลงเพื่อตัดสินใจไม่ได้ และ 3) ปัจจุบันเอเชียคือผู้นำด้าน digital ของโลก มือถือ 8 ใน 10 เครื่องเป็นแบรนด์จากเอเชีย 60% ของแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานมาจากเอเชีย ซึ่งเทเลนอร์ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในความเป็นผู้นำด้าน digital ครั้งนี้
4 แม้จะพลาดการประมูลคลื่น 900 ซึ่ง ซิคเว่ ยอมรับว่า “เซอร์ไพรส์” กับราคาการประมูลที่เกิดขึ้น เพราะสูงเกินกว่าที่ dtac ประเมินไว้ (dtac และ ais ประเมินอยู่ที่ 70,000 ล้านและ 75,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกัน) ดังนั้นจึงเลือกที่จะ “หยุด” เพราะเห็นว่าในอนาคตยังมีโอกาสในคลื่นความถี่อื่นๆ
5 นอกจากนี้ถ้าพิจารณาถึงคลื่นที่ dtac มีอยู่ในมือเวลานี้คือ 850, 1800 และ 2100 รวมแล้ว 50MHz เพียงพอสำหรับให้บริการได้สบายๆ ในระยะเวลา 5 ปีจากนี้ โดยไม่จำเป็นต้องมีคลื่นเพิ่มขึ้นเลย แต่ถ้าหลังจาก 5 ปีไปแล้ว อาจจะเป็นช่วงที่ยากลำบาก เพราะความต้องการและปริมาณการใช้งานจะสูงขึ้นอีกมหาศาล
6 สำหรับคลื่นความถี่ที่จะมีการประมูลในอนาคต คลื่น 1800 และ 850 ที่ dtac ถืออยู่ในมือเวลานี้ จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2018 เฉพาะคลื่น 1800 มีขนาดคลื่น 45MHz ซึ่งคาดว่าจะมีใบอนุญาตประมาณ 3 ใบ (ใบละ 15MHz) ซึ่งมีสภาพที่ดีกว่าการประมูลครั้งที่ผ่านมา และด้วยสถานะของ dtac ที่ไม่มีหนี้จากการประมูลในอดีตที่ต้องชำระภายในเวลา 3-4 ปี dtac จึงมีความพร้อมอย่างยิ่งในการประมูลครั้งต่อไป
7 นอกจาก 2 คลื่นความถี่นี้แล้ว ยังมีคลื่นอื่นๆ เช่น 700, 2300 และ 2600MHz ที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีการนำออกมาใช้งาน ซึ่งทั้งรัฐบาลและ กสทช. ควรวางโรดแม็พว่าจะนำคลื่นเหล่านี้ออกมาประมูลเมื่อใด เพราะจากประสบการณ์การประมูลที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่า การประมูล มีความยุติธรรม โปร่งใส และสร้างเงินให้กับรัฐบาลได้มหาศาล ซึ่งทาง dtac ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีแล้ว มีแนวโน้มว่าจะมีการประมูลเกิดขึ้นในอนาคต อยู่ระหว่างการหารือในเรื่องของระยะเวลา
8 ซิคเว่ มองว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย 3 ปีจากนี้ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดย 1) ความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตจะเพิ่มสูงขึ้น (ที่ผ่านมาเฉลี่ยมากกว่า 100% ต่อปี) ทั้งในมิติของจำนวนผู้ใช้และปริมาณการใช้งาน ซึ่งส่วนมากมาจากการบริโภค vdo steaming2) จะมีแอพพลิเคชั่นและบริการใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศไทย 3) จะเกิด Internet of Things ที่เพิ่มความต้องการใช้อินเทอร์เน็ต และเกิดอุปกรณ์ Smart ขึ้นอีกเพียบ
9 แน่นอน สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2016 คือ 4G Revolution จากการเกิดขึ้นของบริการ 4G อย่างเป็นทางการจากผู้ให้บริการทุกราย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านจาก 2G ไปสู่ 3G และ 4G เร็วติดอันดับต้นๆ ของโลก และไทยเป็นผู้นำการเปลี่ยนในภูมิภาคนี้ ดังนั้นจะเห็น dtac ลงทุน Super Speed 4G ขยายไปตามหัวเมือง 4G2100 กระจายทั่วประเทศ และเพิ่มผู้ใช้ 4G จาก 2 ล้านรายเป็น 4.5 ล้านรายในปีนี้ ซึ่งจะเห็น dtac ปรับเข้าสู่ Fight Mode ในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
10 มั่นใจเถอะว่า dtac ยังคงประสิทธิภาพการให้บริการ และแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม ตลาดที่มีการแข่งขันสูงที่สุดตลาดหนึ่งของประเทศไทย