‘ค้าปลีก’ ถือเป็นอีกดัชนีที่ชี้วัดถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งสมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้เผยภาพรวมค้าปลีกของปี 2562 จะมีการเติบโตเพียง 2.8% ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่เติบโต 3.2% ขณะที่ในปี 2563 ก็มีทั้งปัจจัยบวกและลบที่เข้ามากระทบต่อเนื่อง จนน่าสนใจว่า ธุรกิจค้าปลีก จะเดินไปในทิศทางใด
สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้ในปี 2562 มีการโตลดลง คือ กำลังซื้อกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลางลงล่าง ที่ต้องอาศัยรายได้จากผลผลิตภาคเกษตรยังคงมีกำลังซื้อที่อ่อนแออยู่ และรอการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐผ่านมาตรการต่างๆ รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง สะท้อนให้เห็นในหมวดสินค้าไม่คงทน (Nondurable Goods) เช่น เครื่องดื่ม อาหาร ที่เติบโตลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
ขณะที่ผู้บริโภคระดับกลางที่มีรายได้ประจำเริ่มแสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อที่อ่อนแอลง ส่งผลให้การเติบโตการบริโภคหมวดสินค้ากึ่งคงทน (Semi-Durable Goods) เติบโตถดถอยลง (หมวดสินค้ากึ่งคงทน เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องหนัง รองเท้า นาฬิกา ซึ่งหมวดนี้เคยมีการเติบโตเฉลี่ยที่ 8-12% ในช่วง 10 ปีผ่านมา) กลับเติบโตเพียง 3.2%
สถานการณ์ค้าปลีกแบ่งตามประเภทของธุรกิจค้าปลีก (by Segment)
Segment ที่มีการเติบโตมากยังเป็นหมวด Supermarket ซึ่งเป้าหมายกลุ่มผู้บริโภคเป็นกลุ่มกลางขึ้นบนที่ยังมีกำลังซื้อสูงอยู่ และในจังหวัดที่เป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อีก Segment ที่เติบโตก็คือ Health & Beauty ซึ่งมีการแตกเซ็กเม้นย่อยๆ (fragment) เป็นหมวด Beauty Store, Drug Store , และ Health & Personal Store อย่างชัดเจนมากขึ้น ผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากมายในหมวด Beauty ที่การเติบโตเกิดจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปจากโครงสร้างประชากรชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น
Department Store ยังคงได้รับผลกระทบจากบรรยากาศการจับจ่ายที่ยังไม่ปกติ และราคาสินค้าที่ไม่เอื้ออำนวยในการจับจ่ายแก่นักท่องเที่ยว เนื่องจากภาระภาษีนำเข้าของสินค้าแบรนด์หรูยังสูงเมื่อเทียบกับประเทศที่เขามีนโยบายให้เกิด Shopping Destination เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว
ส่วนหมวด Home Improvement และ Home Appliance and Electronic ยังไม่เติบโต ซึ่งเป็นผลจากความซบเซาของอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ แต่สำหรับ Home Improvement ที่มีเป้าหมายเจ้าของบ้านยังคงมีการเติบโตจากการขยายตัวของบ้านและคอนโดหรูระดับไฮเอน
หมวด Food Sector (Hypermart, Convenience) ที่จับกลุ่มลูกค้าระดับกลางลงล่างมีปัญหาการเติบโต เนื่องจากกำลังซื้อในกลุ่มกลางลงล่างยังอ่อนแอ มาตรการการผลักดันงบประมาณการใช้จ่ายภาครัฐผ่านบัตรสวัสดิการคนจนลงสู่รากหญ้าและมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ได้ผลเพียงระยะสั้นๆ และส่วนใหญ่ผลพวงจากมาตรการจะไปอยู่ที่ร้านค้าปลีกภูธร ซึ่งส่งผลให้ร้านค้าปลีกภูธรเติบโตอย่างมีนัยยะทุกภูมิภาค
ค้าปลีกไทย 2563 กับ “4 ความหวัง – 4 ความกังวล”
ในช่วงที่ค้าปลีกชะลอตัว คำถามคือ “ยังพอมีความหวังกับเรื่องอะไรได้บ้าง” สมาคมผู้ค้าปลีกไทย มองว่า ยังมีอีก 4 เรื่อง ที่ยังพอมีความหวังหรือปัจจัยบวก และอีก 4 เรื่องกังวล ที่จะมีผลต่อการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในปี 2563
“4 ความหวัง หรือ ปัจจัยบวก”
1.มาตรการกระตุ้นจากนโยบายการคลังออกมาเพิ่มอีก ที่ผ่านมานโยบายการคลังเน้น “บรรเทา” ช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบก่อน ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำในกลุ่มที่ยังมีกำลังจับจ่าย เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้จ่ายให้กลุ่มคนชั้นกลาง ลูกจ้างประจำ ที่ยังไม่ถูกลดการทำงานเหมือนลูกจ้างชั่วคราว เช่น ที่รัฐดำเนินการไปแล้วในโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” และโครงการ “100 บาท เที่ยวทั่วไทย”
2.การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2563 คาดว่าน่าจะเริ่มเห็นผลราวปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งจะถูกเร่งรัดใช้ให้หมดภายในเดือนกันยายน งบประมาณปี 2563 จึงเป็นงบประมาณที่จะถูกอัดฉีดเข้าไปในระบบภายใน 6 เดือน จะเป็นงบที่มาบรรเทาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวระยะสั้นได้
3.นโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่ยังมีช่องว่างให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยต่อจีดีพีอยู่ที่ 42% ยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จึงมีโอกาสที่จะใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เมื่อเศรษฐกิจฟื้น ก็เก็บภาษีมาใช้คืนหนี้ได้ตามนโยบายทางการเงิน คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในไตรมาสแรกปี 2563 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% หากปรับลดก็จะเป็นดอกเบี้ยระดับต่ำที่สุดที่เคยมีมา การลดดอกเบี้ยจะช่วยประคองเศรษฐกิจให้ดีขึ้น
4.ท่องเที่ยว ยังมีแนวโน้มเติบโต จากนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทย พบว่าช่วง 2 เดือนนี้นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาอย่างชัดเจน และประเทศไทยยังเป็นจุดหมายหลักอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวจีน และยังมีโอกาสได้ประโยชน์ระยะสั้นจากเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกง ที่อาจทำให้นักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ เบนทิศทางมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น
“4 ข้อกังวล หรือปัจจัยลบ”
1.ผลกระทบจากการเลิกจ้างและลดการผลิต ปัจจัยภายนอกประเทศ ทั้งสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ที่กระทบคู่ค้าตลาดส่งออกทั่วโลก รวมทั้งไทย, การถูกสหรัฐตัดสิทธิประโยชน์ GSP สินค้าไทย อุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกได้รับผลกระทบเต็มๆ จากสถิติอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มีการจ้างงานราว 2.5 ล้านคน หรือราว 40% ของการจ้างงานภาคการผลิตทั้งหมด ปรากฏการณ์การปิดหรือการลดกำลังการผลิต การลดกำลังคน การยกเลิกโอที จนถึง การเลิกจ้างงาน มีให้เห็นเป็นรายวัน ส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลงอย่างน่าตระหนกใจ
2.ผลจากภัยแล้งปี 2562 คาดว่ากระทบผลผลิตและรายได้ทางการเกษตรลดลง 16% จากปี 2561 สำหรับปี 2563 คาดว่ารายได้ทางการเกษตรจะทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อย ในกรอบ -0.5% ถึง 0.0% (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
3.ผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 5-6 บาทต่อวัน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 กระทบโดยตรงต่อการจ้างงานภาคบริการ โดยเฉพาะ SME ในธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้าปลีกค้าส่ง และก่อสร้าง เนื่องจากยังต้องใช้แรงงานทักษะต่ำเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถใช้เทคโนโลยีมาทดแทนได้ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ การจ้างงานของภาคบริการ โดยเฉพาะการจ้างงานในธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้าปลีกค้าส่ง และการก่อสร้าง มีจำนวนมากกว่า 11 ล้านคน
4.ผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวรอบนี้เป็นวงกว้างและเป็นเวลานาน แต่แตกต่างจาก วิกฤตการณ์เศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 โดยปี 2540 มีผลกระทบหลักต่อผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจชนชั้นบน ซึ่งมีราว 30% ของประชากร และหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ทางธุรกิจ ซึ่งการฟื้นฟูธุรกิจให้กลับเข้าสู่โหมดเดิม ใช้เวลาไม่นาน แต่ผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวในรอบนี้ (2556-2565) มีผลต่อชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเป็นหลัก ซึ่งมีสัดส่วนราว 70% ของประชากร หนี้ที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ครัวเรือน ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อเป็นสำคัญ ทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้มีผลกระทบเป็นวงกว้างและต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟูกลับมา